Battle Royale (2000) เกมนรก โรงเรียนพันธุ์โหด

Battle Royale (2000)
เกมนรก โรงเรียนพันธุ์โหด
Director: Kinji Fukasaku
Genres: Action | Adventure | Drama | Sci-Fi | Thriller

ผลงานชิ้นโหดขึ้นหิ้งอีกหนึ่งเรื่องที่ทำเพื่อเย้ยหยันสังคมด้วยการฆ่าที่ไม่ใช่แค่ฆ่าธรรมดาๆเพียงเพื่อสนองความโหด แต่เป็นการฆ่าที่เหยียบย้ำจิตใจได้แม้กระทั่งเด็กที่เต็มไปด้วยเพื่อนร่วมห้องที่ต้องมาลงเอยด้วยผลลัพธ์ของการฆ่ากันเองเพื่อให้ตัวเองรอด เรื่องนี้ได้ก่อตั้งขึ้นจากรัฐบาลที่ลงความเห็นอย่างจริงจังอันแสนเด็ดขาดด้วยการปฏิรูปการศึกษายุคใหม่ด้วยเกมที่มีชื่อว่า Battle Royale หรือ BR โดยมีกติกาอันแสนง่ายและสะดวกเพียงแค่เฝ้ารอผู้ที่มาเล่นด้วยการสุ่มโรงเรียนที่มีนักเรียนโคตรแย่มาเล่นเกมส์ ซึ่งการดำเนินการนั้นมาจากการคัดเลือกของแต่ละปีจากนักเรียนวัยประมาณ 15 ปีขึ้นมา 1 ชั้นเรียนจากนั้นพาไปปล่อยทิ้งไว้บนเกาะร้าง แต่ก่อนที่จะปล่อยนั้นนักเรียนถูกคนต้องได้รับการชี้แจงวัตถุประสงค์ของเกมครั้งนี้ก่อนว่าต้องทำยังไงบ้างจึงจะไม่เป็นการแหกกฎกติกาเพื่อที่ว่าจะได้ไม่ตายฟรีๆเสียก่อน โดยกติกาของผู้เข้าร่วมเกมครั้งนี้จะมีอยู่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันทุกคน คือโดนสวมปลอกคอระเบิดที่สามารถถูกสั่งการให้ระเบิดเมื่อไหร่ก็ได้ตามสบายแล้วแต่ผู้สั่งเริ่มเกมนี้ ซึ่งก็คือคนที่นักเรียนคุ้นหน้ารู้จักกันอย่างดีในห้องเรียนกับใครไม่ได้แต่เป็นอาจารย์ที่สอนนักเรียนนั่นแหละ ถ้าคิดว่านี่คือเรื่องตลกที่ตั้งใจจะอำแล้วล่ะก็ จะบอกว่าคิดผิดอย่างแรงเพราะเมื่อได้รับการคัดเลือกให้เล่นแล้วต้องห้ามเลิกเป็นอันขาด เว้นเพียงอยู่แค่ 2 ทางเลือกที่ยุติเกมนี้ได้คือไม่ตายก็รอดเป็นคนสุดท้ายเท่านั้น


กติกาของเกม Battle Royale มีอยู่ง่ายๆเพียงแค่รอดเป็นคนสุดท้ายเท่านั้นภายใน 3 วันเกมก็จะยุติลงพร้อมกับปลดล็อคปลอกคอระเบิดออกให้เป็นอิสระ ทว่ารายละเอียดปลีกย่อยไม่ได้ทำกันง่ายๆซะเมื่อไหร่เมื่อถูกอย่างนั้นล้วนกระทำด้วยการฆ่าเพียงอย่างเดียวจึงจะรอดตาย เนื่องจากทุกคนต้องหันหน้าสู้กันเองเพื่อให้รอดจากกติการ BR และเพื่อให้ตัวเองรอดจากการถูกบังคับให้ต้องฆ่า โดยเริ่มแรกทุกคนจะได้กระเป๋าเป๋คนละหนึ่งใบซึ่งประกอบด้วยอาหารและน้ำเท่าที่จำเป็น เข็มทิศ แผนที่ ไฟฉาย รวมทั้งอาวุธป้องกันตัวที่ล้วนแล้วแต่โชคเพราะแต่ละคนจะได้อาวุธไม่เหมือนกัน ที่จะมีทั้งปืนอาวุธแรงสูงที่หาได้ในสงครามตลอดจนอาวุธพกติดตัวประเภทของมีคมอย่างมีด ขวาน หน้าไม้ และอีกหลายรูปแบบที่สุดแล้วแต่โชคจะได้รับเลือกกระเป๋าว่าบรรจุอะไรให้ไว้บ้างในการเอาตัวรอด และหลังจากได้กระเป๋ายังชีพออกไปข้างนอกยังตัวเกาะเป็นที่เรียบร้อยจึงจะเริ่มการฆ่าได้ทันทีโดยไม่ต้องรอนับสัญญาว่าจะกระทำกันเมื่อใดเพราะเมื่อทุกคนมาที่แห่งนี้ย่อมต้องเตรียมใจไปแล้วว่าคนที่อยู่ตรงหน้าจะต้องฆ่าเราสักวันใดวันหนึ่งอย่างแน่แท้ อย่าว่าแต่อาวุธสุดสารพัดที่อันตรายอย่างเดียวเลยเพราะยังอุตส่าห์วางแนวแบ่งพื้นที่เป็นโซนๆที่จะระบุตามเวลามาเรื่อยๆว่าที่ตรงนั้นอันตรายเป็นเขตอันตรายห้ามเข้าไปทางนั้น ทว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่ยังให้ความรู้สึกอึดอัดใจไม่หายคือเรื่องปอกคอระเบิดที่ติดอยู่ตลอดเวลา ถ้ามันระเบิดก็คือจบกันแต่อีกแง่หนึ่งถ้าถูกฆ่าก็จบเหมือนกัน ดังนั้นจะดิ้นรนยังไงก็ล้วนมีโอกาสตายมากกว่ารอดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เหตุผลที่กฎ BR ถูกจัดตั้งขึ้นนั้นมาจากสภาพสังคมความอยู่รอดที่ย่ำแย่เกินเหยียวยาจะยอมรับได้ในหลายๆแง่ทั้งสภาพตัวผู้คนในสังคม เศรษฐกิจ ศีลธรรม ตลอดจนการนำไปสู่ภาวะล่มสลายของตัวประเทศญี่ปุ่นที่ส่วนหนึ่งมาจากระบบการศึกษาที่ไม่ได้เรื่องได้ราวอย่างที่ควรจะเป็นโดยเฉพาะกับตัวนักเรียนเองที่ไม่มีกฎระเบียบวินัย ไม่สนใจการเล่าเรียน ไม่แม้กระทั่งที่จะเคารพเชื่อฟังคำสั่งของผู้ใหญ่ กระด้างกระเดื่องต่อครูบาอาจารย์จนไม่เห็นหัวหรือแคร์ว่าจะต่างวุฒิแค่ไหน อนึ่งจึงเป็นปัญหาอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยวัยรุ่นที่ปรากฏขึ้นมากมายจากสาเหตุของการปลูกจิตสำนึกที่ดี ฉะนั้นแล้วการรื้อฟื้นประเทศที่กำลังล่มสลายเพราะฐานประเทศไม่แข็งแรงจำต้องมีการปรับเปลี่ยนฐานที่ไร้ค่าด้วยการจำกัดเพื่อให้ฐานที่สมควรอยู่ยังคงอยู่ได้ต่อไปโดยไม่โดนฐานอื่นพิงหล่นทับเสียก่อน ซึ่งวิธีการของกฎ BR นั้นจงใจเป็นการคัดเลือกผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดเพื่อมารับใช้ประเทศที่กำลังเน่าเฟาะนี้ด้วยการกำจัดคนที่ไร้คุณค่าออกไปจากประเทศ จากสังคม จากโลกใบนี้ให้หมดๆไปแบบเด็ดขาด


"เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ถ้าเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าไม่ดีก็ฆ่าเด็กเลยในวันนี้"

Battle Royale จัดว่าเป็นหนังที่พล็ตเรื่องค่อนข้างใหม่และแปลกในแง่การกล้านำเสนอเรื่องราวที่เสียดสีสังคมในเชิงประชดประชันที่มีแต่จะตอกย้ำให้เลวร้ายมากขึ้นและมากขึ้นด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดศีลธรรมโดยอย่างยิ่งยวดที่ความเห็นนี้เป็นของฝ่ายรัฐบาลที่ไม่รู้ว่าได้แจ้งให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้มากแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ทำให้รู้เลยว่ากฎ BR ที่สร้างขึ้นนั้นยังใหม่และกระทำอย่างรวดเร็วจนแม้แต่เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมเกมยังงงเป็นไก่ตาแตกอยู่เลยว่าจับมาเพื่ออะไร และแน่นอนว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงออกมาด้วยว่าเรื่องเช่นนี้ยังไม่เป็นที่เปิดเผยให้ประชาชนรู้นัก เว้นแต่ว่าจะไม่รู้จักหาแหล่งข่าวให้ทันเหตุการณ์เสียเองเช่นนักเรียนที่ไม่รู้จักหาความรู้นอกห้องเรียนจนไม่รับรู้อะไรเลยกับการโดนจับร่วมเกมครั้งนี้ แต่ถึงยังไงตัวหนังก็ไม่ได้ใจร้ายให้นักเรียนต้องหาความรู้ประสบการณ์ด้วยตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองตั้งคำถามนั้นใครจะบอกคำตอบ เนื่องจากการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้นั้นส่วนหนึ่งต้องมีครูสอนแนะนำจึงจะสัมฤทธิ์ผล และในเรื่องนี้คือทาเคชิ คิตาโน (Takeshi Kitano) ผู้เคยเป็นอาจารย์ประจำชั้นของนักเรียนทั้งหลายที่มาร่วมเล่นเกมในหนนี้ ประเด็นแรกที่ตัวหนังกำลังจะเล่นงานตัวละครคือการนำบุคคลที่น่าเชื่อใจมาบดจิตใจจนพังไม่เป็นชิ้นดีด้วยการนำอาจารย์ที่เคยสอนมาอธิบายกฎ BR อย่างไม่ลังเลว่าลูกศิษย์ตัวเองต้องพบชะตากรรมเช่นไร ในจุดนี้เองที่ตัวละครทั้งหลายจะเริ่มเห็นวัตถุประสงค์ของเกมนี้แล้วว่ามันมีที่มาที่ไปยังไงบ้าง ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาก็ควรตัดไฟแต่ต้นลมให้มันหมดๆไป


จริงอยู่ที่ตัวละครในเรื่องค่อนข้างมากและหลากหลายเกินจะแจกบทบาทได้หมด ดังนั้นสิ่งที่สมควรทำมากที่สุดคือการเรียกจุดเด่นของตัวเองในทันทีอย่างไม่ต้องใส่ใจว่าผู้ชมจะรักตัวละครหรือรู้สึกกับตัวละครมากแค่ไหน เพราะสุดท้ายตัวละครแทบทั้งสิ้นล้วนมีหนทางข้างหน้าของตัวเองเหมือนกันหมด นั่นคือการ"ดิ้นรน"ให้ตัวเองรอดจนได้ กระนั้นยังอุตส่าห์เข้าใจหาตัวละครเอกมาให้ผู้ชมรู้สึกอยากเอาใจช่วยที่มีอยู่หลัก 3 คนคือซูยะ นานาฮาระ (Tatsuya Fujiwara) เด็กผู้ชายที่ไม่ได้เลวร้ายอะไรและต้องการหาวิถีทางสงบศึกกับเพื่อนๆคนอื่น ทว่าเขาเองยังคงมีปมในใจเกี่ยวกับพ่อที่ฆ่าตัวตายเพราะถูกบั่นทอนจิตใจไปมากกับสภาพสังคม,โนริโกะ นาคากาวา (Aki Maeda) เด็กหญิงที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ว่าทำไมทุกคนต้องฆ่ากันเองจนรู้สึกว่าสังคมมันเลวร้ายเกินกว่าที่คิด เป็นอีกคนที่อยู่ร่วมกับซูยะตลอดเกมด้วยความเชื่อใจที่มีสัมพันต่อกัน และอีกคนที่น่าจะเรียกว่าพระเอกของเรื่องที่ทำให้ซูยะกับโนริโกะอยู่รอดได้ คือคาวาดะ (Taro Yamamoto) เป็นหนึ่งในคนที่ไม่ได้มาจากโรงเรียนเดียวกันแต่ถูกจับให้มาเข้าเกมนี้อีกครั้งหลังเคยเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย ด้วยความที่เคยผ่านประสบการณ์ร้ายๆมาก่อนจึงเข้าใจหลักการเอาตัวรอดได้อย่างดี ซึ่งเขาเองไม่ใช่คนที่อยากจะฆ่าใครแต่แค่อยากให้ผ่านๆไปเท่านั้น ฉะนั้นไม่แปลกใจเลยว่าทำไมตลอดทั้งเรื่องจึงไม่เห็นเขาลงมือฆ่าใครก่อนเอาแต่เก็บตัวเพื่อรักษาชีวิตให้นานที่สุด และถึงแม้จะเป็นคนที่ไปไหนมาไหนคนเดียวก็จริงแต่เมื่อพบซูยะกับโนริโกะทำให้แนวคิดของเขาได้เปลี่ยนแปลงไปและเหมือนจะได้คำตอบที่ตัวเองอยากได้มานานกับสิ่งที่ค้างคาใจเมื่อตอนที่เล่นเกมครั้งก่อน

จริงที่ว่าตัวละครหลักๆที่มีให้ติดตามนั้นมีอยู่ไม่กี่ตัวแต่ใช่ว่าตัวละครอื่นๆจะไร้บทบาทเช่นปมในใจหรือข้อประเด็นต่างๆที่เก็บงำเอาไว้ที่จะค่อยๆเปิดออกมาผ่านความวิตกกังวลใจ ถ้าเป็นไปได้แล้ว Battle Royale อาจไม่จบแค่ภาคนี้ภาคเดียวด้วยเนื้อเรื่องของการเอาตัวรอด เพราะตัวหนังได้แสดงแล้วว่าทุกตัวละครมีปมในใจแทบทั้งสิ้นจนไม่แปลกใจถ้าในฉบับหนังสือการ์ตูนจะลงรายละเอียดในส่วนนี้มากกว่าเพื่อให้เข้าไปถึงตัวละครได้อย่างเต็มที่เสมือนเปิดอกคุยท่ามกลางความเป็นความตาย


สิ่งนี้เองที่ทำให้เนื้อเรื่องดูซีเรียสตลอดเวลาที่เห็นใครต่อใครตายอย่างไม่มีทางเลือก ซึ่งการเริ่มเกมนั้นเปิดตั้งแต่เดินออกจากห้องทันทีอย่างไม่ลังเลว่าคนตรงหน้าจะเป็นเพื่อนที่สนิทแค่ไหน แต่ถ้าทำให้ตัวเองมีชีวิตกลับบ้านได้จริงๆก็จะฆ่าเพื่อตัวเองให้ยังอยู่ต่อไป ประเด็นคืออะไรแรงจูงขนาดหนักจนคำว่าเพื่อนยังเอาไม่อยู่กับการห้ามว่าอย่าทำล่ะ ทำไมทุกคนที่เคยเป็นเพื่อนร่วมห้องที่อยู่ด้วยกันจำต้องหันหน้าเข้าหากันด้วยการฆ่า ทำไมมันลงเอยเช่นนั้นได้ราวกับยอมรับโชคชะตาแล้วปล่อยไปตามมีตามเกิด ทำไม?!

ถ้าถามว่าทำไมจำต้องย้อนกลับไปมองตัวละครอื่นๆที่ตัวหนังได้ถ่ายทอดค่อนข้างหลากหลายมุมมองผ่านทัศนคติของแต่ละคนที่เดี๋ยวอยากรอด อยากไปให้พ้นๆ อยากยุติด้วยสันติ หรือแม้กระทั่งอยากใช้จุดนี้เพื่อระบายอารมณ์ แล้วบวกกับแรงกดดันที่มีในตอนนี้จึงเสมือนกับไปกระตุ้นความเก็บกดที่มีอยู่ให้ปลดปล่อยในสิ่งที่ตัวเองทนมาตั้งนานสองนานด้วยการระบายความในใจ ทว่าความในใจนั้นมีหลายรูปแบบที่แล้วแต่เจ้าตัวเองว่าเป็นคนยังไงและมีสภาพจิตใจในระดับใดบ้างในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์บังคับเช่นนี้


เห็นได้ว่าบางคนใช้โอกกาสนี้บอกความจริงในใจว่าแอบชอบคนๆนี้มานานแล้วแต่ไม่กล้าบอก ซึ่งในกรณีฟังดูซาบซึ้งในบางส่วนเพียงแค่ว่าสถานะอยู่ก่ำกึ่งระหว่างจริงและไม่จริงปะปนกันอยู่ด้วย หรือจะบอกว่าเป็นการหยิบใช้ฉวยโอกาสเพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองกำลังคิดพิจารณาอยู่โดยมีผลประโยชน์ตามแฝงมา เช่น ที่ใช้วิธีการแสดงหน้าม้าหลอกให้เชื่อใจว่าอยู่ด้วยกันได้อย่างสบายใจไม่ระแวงต่อกันว่าอาจถูกฆ่าได้ แล้วสุดท้ายผลลัพธ์คือคนที่เชื่อใจจำต้องถูกฆ่าตายเพียงเพราะยังเข้าใจในความเป็นเพื่อนมากกว่าทิ้งเพื่อนของตัวเอง แน่นอนว่าตัวละครในเรื่องนี้มีหลักการเอาตัวรอดของตัวเองบางคนค่อนข้างสูงในแง่การลุยเดี่ยวเพราะไม่ต้องคอยพะวงถึงคนข้างหลัง ซ้ำยังรู้สึกอิสระในการทำอะไรก็ได้อย่างสบายใจและสะดวกต่อการเข้าหาคนอื่นโดยไม่ต้องสงสัยอะไรมาก กระนั้นตัวละครประเภทนี้เห็นชี้ชัดว่ามีปมในใจที่สอดคล้องกับการเก็บกดพอสมควร

การเก็บกดแล้วมาระบายด้วยวิธีรุนแรงถือเป็นการหาความสุขอย่างหนึ่งให้ตัวเองรู้สึกมีค่าขึ้นมาอย่างท่วมท้น หรืออีกแง่คือการหลีกเลี่ยงความวุ่นวายของสังคมคนมากที่ปรับตัวได้ยากลำบากเวลาต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เช่นในเรื่องกับมิตซูโกะ (Ko Shibasaki) เป็นผู้หญิงเด็ดเดี่ยวลุยเดี่ยวจนผู้ชมหวั่นกลัวกับตัวละครนี้ราวด้วยความโหดเหี้ยมชนิดที่ฆ่าเพื่อนด้วยกันอย่างสุดโฉดได้อย่างหน้าตาเฉยแถมสะใจกับการกระทำอีกต่างหาก ทว่าในทางกลับกันตัวละครนี้จะเลวร้ายแค่ไหนยังคงมีปมในใจที่น่าเห็นใจไม่แพ้กันในฉากบาสเก็ตบอลที่แสดงความเป็นหนึ่งเดียวในเพื่อนร่วมชั้นอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา


สำหรับมิตซูโกะแล้วกลับรู้สึกหวาดหวั่นกับการไร้ความสนใจจากคนรอบข้าง แต่ถ้าจะมองให้ลึกลงไปตั้งแต่สมัยเด็กคือปมที่มาจากชีวิตครอบครัวที่เริ่มกับการสั่งสอนได้ไม่ดีเท่าไหร่อย่างตุ๊กตาที่นำมาชำแหละแยกชิ้นส่วนจนเด็กที่ไม่คิดอะไรมากยังต้องคิดว่าถ้านี่คือคนล่ะจะเป็นยังไง และยังมีปมอีกหลายอย่างอันเป็นแรงจูงใจให้ต้องเลือกตัวเองมากกว่าเพื่อนอย่างเรื่องปลอกคอระเบิดที่บอกปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆว่าทำไมในเมื่อมันเด่นชัดขนาดนี้ เพราะคำตอบมันอยู่ใกล้จนเราเองยังต้องผวาทุกครั้งที่มองย้อนกลับมาที่ตัวเอง


และถึงแม้ทุกคนที่เรียกตัวเองว่าเพื่อนจะเข้าหากันด้วยการฆ่าก็ใช้ว่าจะใครอยากทำตามเกมเหล่านั้นอย่างใสซื่อและพร้อมจะจบชีวิตลงด้วยภาวะความตึงเครียดจากรอบด้าน กับ Battle Royale นี้ได้แสดงชี้ชัดในช่วงวัยรุ่นอย่างเข้าใจด้วยว่าถ้าเด็กเครียดจนเกินจะหาทางออกให้กับตัวเองได้แล้วสุดท้ายนั้นคือจบชีวิตลงด้วยการตัวตาย อนึ่งสาเหตุจากการฆ่าตัวตายโดยส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่เพราะเครียดจนเกินไปก็มาจากความผิดหวังจนรู้สึกตัวเองอยู่อย่างไร้ค่า

ในเกม BR ถ้าต้องฆ่าเพื่อนให้ตายต่อหน้าแล้วรู้สึกเป็นตราบาปไปชั่วชีวิตงั้นขอจบชีวิตลงเองให้เพื่อนที่เหลือมีโอกาสรอดยังดีกว่า ฟังดูยุติธรรมดีในความเป็นพวกพ้องแต่มันเหมาะสมแล้วอย่างงั้นหรือที่เอาชีวิตมาจบลงเพียงเพื่อเกมที่ผู้ใหญ่ได้สร้างขึ้น(ประเด็นนี้จะถูกขยายมากขึ้นใน Battle Royale 2 ว่าอะไรคือผู้ใหญ่และอะไรคือเด็ก) ทว่าคนที่ไม่เล่นตามเกมใช่จะรู้สึกว่ามันโหดร้ายเกินไปเกินจะแก้ไขเนื่องจากทุกคนคือเพื่อนและคิดว่าเพื่อนน่าจะเข้าใจดีกับสันติวิธีมาช่วยกันแก้ปัญหาด้วยกันดีกว่ามาฆ่ากันเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ตัวหนังได้แสดงการอยู่ร่วมกันแล้วช่วยเหลือกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว คงนับได้ว่าเป็นห้วงเวลาที่ดีที่สุดของเรื่องกับรอยยิ้มที่แสดงออกมาอย่างจริงใจหาใช่การแสแสร้ง ทว่าเมื่ออยู่ด้วยกันสิ่งแรกที่ต้องทำคือการเชื่อใจต่อทุกคนอย่างไม่มีอคติต่อกัน ปัญหาคือจะทำได้ยังไงถ้าเราเห็นเพื่อนสนิทในกลุ่มถูกเพื่อนอีกคนฆ่าแม้จะเป็นแค่อุบัติเหตุ คำถามคือจะเชื่อใจได้มากแค่ไหนถ้านั้นเป็นการจงใจมากกว่าทำเป็นอุบัติเหตุ บางทีเราคงแค้นมากที่เพื่อนสนิทตายต่อหน้าและกลายเป็นว่าเพื่อนที่ฆ่าคือศัตรูที่ต้องกำจัด 


กระบวนการมันง่ายมากราวกับจดหมายลูกโซ่ที่แพร่ข่าวตามอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว เมื่อมีใครตายก็จะระบุให้ฟังตามเวลานั้นเวลานี้จนใครที่ฟังอยู่คงต้องรู้สึกอึ้งจนสะเทือนใจที่ได้ยินชื่อเพื่อนที่ตัวเองหวังจะได้พบไปปรากฏในรายการชื่อคนตายที่ประกาศให้ฟังทั่วเกาะ โดยเฉพาะการประกาศรอบแรกที่ได้ฟังก็ไม่อยากเชื่อว่าจะมีคนตายเกิดขึ้นในที่สุดทำให้สิ่งที่ตระหนักได้คือใครคือมิตรแท้กันล่ะในเมื่อเพื่อนฆ่าเพื่อนที่ไม่ต่างกับ และแล้วสิ่งที่หลายคนคิดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด

ในตอนนี้ที่ทำได้คือต้องลุยอย่างเดียวตามเจตนารมณ์ของเกมที่ไม่อยากเล่นด้วยแต่ต้องทำตามกฎเพื่อให้ตัวเองรอด ประเด็นคือทำไมน่ะทำไมต้องเป็นเด็กนักเรียนมาเล่นเกมฆ่าตัวตายแบบนี้ด้วย คำตอบคือเหตุผลที่ได้กล่าวข้างต้นไปแล้วเมื่อนักเรียนเป็นคนไม่ดีและแย่สุดคือทำให้สังคมเสื่อมทรามได้ ทว่าเจ้าเกมนี้เป็นเพียงแค่ความมักง่ายของคนเบื้องบนอย่างรัฐบาลที่สรรคสร้างเกมบ้าพวกนี้ออกมาเพื่อแสดงศักยภาพของตัวเองถึงการเอาจริงกับสังคมโดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่ห้องไหนมีเกณฑ์เข้าขั้นแย่จนใช้การไม่ได้ก็นำมาฆ่าเลยดีกว่า


สิ่งแรกที่คิดได้คือฝ่ายไหนกันแน่ที่ไร้การพัฒนาการ ฝ่ายไหนกันแน่ที่เลวร้ายกว่ากันจนต้องกำจัดทิ้ง ไม่ใช่ฝ่ายที่คิดเกม BR หรอกเหรอที่นำวิธีการอันแสนหัวโบราณนำสิ่งที่ไม่ดีออกด้วยการกำจัดมากกว่าทำให้เปลี่ยนแปลงด้วยจิตสำนึก ว่ากันว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้าแล้วกับผู้ใหญ่ในวันนี้กับเด็กในวันนี้มีจุดแตกหักกันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แน่นอนคือผู้ใหญ่ชิงชังเด็กที่ไม่ได้ดีตามเป้าวัตถุประสงค์แล้วผลที่ตามมาคือเด็กไม่ชอบวิธีการของผู้ใหญ่เพราะมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อและเคร่งครัดเกินไป ถ้าจะเปรียบญี่ปุ่นเป็นอะไรก็คงเป็นนักเรียนที่เล่นเกมนี้นี่แหละ ว่าสงครามภายในนั้นรุนแรงอย่างยิ่งแต่ที่ยิ่งกว่าคือภายในลึกลงไปอีกที่เสมือนหัวใจที่เต้นตามจังหวะอย่างกระส่ำกระส่ายเพราะมีระเบิดอยู่ล้อมรอบ ถ้าระเบิดถูกจุดชนวนยามใดเท่ากับหัวใจที่เป็นองค์ประกอบหลักจะต้องถูกทำลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายประเทศที่เดิมนั้นแย่จะไม่แย่ไปอีกเหรอถ้าเห็นความสำคัญกับการฆ่ามากกว่าให้โอกาส


"ทำไมต้องมาทำร้ายหัวใจที่สูดอากาศเป็นพิษกับภาวะเสื่อมสลายของสังคมที่เดิมแย่อยู่ก่อนมาผูกกับระเบิดที่ยิ่งทำให้หายใจอึดอัดราวจะระเบิดเมื่อไหร่ก็ได้ด้วย"

มีคำถามอยู่อย่างสองอย่างที่ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรเป็นแรงจูงใจยอมรับผลลัพธ์ของกฎ BR เรื่องต้องผู้เล่นมีชีวิตรอดเพียงหนึ่งเดียว ในสังคมอันกว้างขวางมีคนอยู่ 2 ประเภทหลักๆคือดีกับเลว แล้วแบ่งระดับลงไปอีกคือดีน้อยกับเลวมากหรือดีมากแต่เลวน้อย ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าในสังคมจะพบผู้คนหลากหลายนิสัยหลากมุมมองโดยอย่างยิ่งในห้องเรียนที่เห็นหน้ากันทุกคนแต่ยังเดาใจไม่ถูกเมื่อได้เล่นเกม BR นี้ กลายเป็นว่าผู้ที่ฆ่าคือคนเลวทั้งที่อาจจะดีมาตลอดด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันคนที่ดีแบบเสมอต้นเสมอปลายอาจต้องมาตายด้วยการยืมมือฆ่าของรัฐบาล ทำให้คนที่ฆ่ากลายเป็นคนชั่วเนื่องจากโดนบังคับให้ต้องทำด้วยสัญชาตเอาตัวรอด ซึ่งสำหรับที่นี้การเอาตัวรอดเป็นยอดดีคือต้องฆ่าเพื่อนให้ได้เสียก่อนจึงจะเข้าใจความหมายของประโยคนี้ แต่ยังไงซะกับเรื่องผิดศีลธรรมฆ่าเพื่อนก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องยอมรับได้แน่นอนชัวร์ๆเพราะการฆ่าเพื่อนนั้นจะเท่ากับไม่ต่างการฆ่าตัวเองทางอ้อมให้เสียคน แล้วแบบนี้ใครจะยอมรับเข้าสังคมในเมื่อมนุษย์คือสัตว์สังคมที่ต้องเกื้อหนุนต่อกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลคิดว่าการได้ผู้รอดคือผู้แข็งแกร่งคงเป็นเรื่องที่ผิดมหันที่สุด เพราะคนที่รอดคือคนที่มีชีวิตอยู่ได้คนเดียวจากการฆ่าเพื่อนตัวเองทุกคน โอเคว่านี่อาจจะเป็นเรื่องจริงที่ใช่เห็นๆเมื่อคนที่จะรอดได้นั้นต้องมีชีวิตในขณะที่คนอื่นๆตาย ทว่าบางครั้งความจริงมันบิดเบือนกันได้เมื่อความจริงเป็นสิ่งไม่ตายและคนที่ยังไม่ตายอาจอยู่รอดได้โดยไม่ต้องฆ่าคน หรือจะบอกว่าอยู่เฉยๆปล่อยให้ฆ่าแกงกันจนอ่อนแรงสิ้นใจตายไป กระนั้นจะเรียกว่าเข็มแข็งหรือขี้ขลาดดีล่ะ


ครูหรือที่เราเรียกบ่อยๆว่าอาจารย์นั้นมีลูกค่อนข้างมากโดยเฉพาะลูกศิษย์ในห้องเรียนที่อย่างน้อยต้องมีไม่ต่ำกว่า 10 คนที่รู้จักกันอย่างคุ้นเคย แล้วเมื่อไรที่ลูกศิษย์หมั่นตั้งใจเรียนได้ดิบได้ดีเป็นคนดีในสังคมตามที่เพาะบ่มก็จะรู้สึกเป็นปลื้มไม่ต่างจากลูกของตัวเอง สำหรับทาเคชินั้นแม้จะไม่ใช่ครูที่เราเห็นว่าดีเพราะยอมรับเงื่อนไขกฎ BR จนฆ่าลูกศิษย์ก่อนเกมเริ่มไปหนึ่งคนในการเชือดไก่ให้ลิงดูทว่าเขาเองก็มีปมฝังใจมานานกับเด็กนักเรียนในฉากเริ่มเรื่องเมื่อเขาได้ทำหน้าที่ของผู้สอนแต่กลายเป็นว่าภายในห้องไม่มีนักเรียนให้เขาได้สอนอยู่เลย

สุดท้ายครูที่แปลว่าหนักนั้นกลายเป็นของไร้ค่าที่จ้างมาอย่างเปล่าประโยชน์ผิดกับผู้สอนที่ตั้งใจอย่างหนักเพื่อสอนคนแต่คนกลับไม่อยู่ให้สอน จึงกลายเป็นความผิดหวังเดินก้มหน้ายิ่งกว่าคนตกงานที่ไม่ได้เห็นแม้แต่นักเรียนเข้าเรียนสักคน มันเป็นความเจ็บปวดที่ของคนที่ยอมหนักเพื่อให้นักเรียนได้มีชีวิตที่เบาในโลกข้างนอกโดยไม่ต้องพึ่งตัวเองจนเกินไป แล้วแบบนี้จะบอกว่าไม่รู้สึกผิดหวังได้ยังไงกัน


ทาเคชินับเป็นตัวละครที่สื่อถึงภาวะของสังคมทางด้านครอบครัวที่ในเรื่องบางครั้งเรามองว่าเป็นมุขเมื่อมีเสียงโทรศัพท์เข้ามาในจังหวะที่บังเอิ๊ญบังเอิญ ซึ่งสายที่โทรเข้ามาไม่ใช่ใครแต่เป็นลูกสาวที่ถามไถ่ว่าเมื่อไหร่จะกลับมาบ้านสักทีเพราะไม่อยากให้ทางบ้านขี้เกียจคอยนาน และด้วยน้ำเสียงบวกกับประโยคอันน่าแปลกใจเมื่อคนที่คุยด้วยกันได้คือพ่อกับลูกแต่เท่าที่ฟังเหมือนจะห่างเหินคล้ายกับคนทางบ้านเองก็มีปัญหาเรื่องครอบครัวเช่นเดียวกัน ด้วยปัญหาที่ทำให้ยิ่งอยู่ยิ่งเครียดจนไม่แปลกใจว่าเพราะอะไรจึงกระทำปล่อยให้ลูกศิษย์ตัวเองตายได้นอนสบายใจเฉิบ ทว่าในสิ่งที่โหดร้ายยังมีสิ่งที่สวยงามปะปนกันอยู่และโนริโกะ คือคนๆนั้นที่ทาเคชิหวังลึกๆในใจว่าคือผู้ที่รอดเป็นคนสุดท้ายในภาพวาดที่เหลือดรอดเพียงคนเดียวด้วยรอยยิ้มที่มีพื้นหลังการนองเลือดกับการฆ่าแกงกัน และอะไรจะไม่ชัดเจนไปก่อนหน้านี้ที่ตัวทาเคชิลงตัวเองไปเดินในพื้นที่เล่นเกมพร้อมกับถือร่มกลางสายฝนให้โนริโกะก่อนจะส่งต่อให้ถือเองแล้วเดินหายไปหน้าตาเฉยคล้ายกำลังบอกว่าอย่าตายเพราะคนทางนี้กำลังเชียร์อยู่ห่างๆประหนึ่งกำลังใจที่หาคำอธิบายไม่ค่อยได้จริงๆในช่วงเวลานั้น ก็อย่างน้อยคนที่เปลี่ยนเป็นโหดเหี้ยมได้นั้นยังมีจิตใจเมตตาหลบซ่อนอยู่


"ยังคงเชื่อเสมอว่าเราทุกคนคือเพื่อนและยังคงเป็นแบบนั้นตลอดไป"

Battle Royale คงไม่ใช่แค่หนังที่เล่าสังคมของมนุษย์อย่างเราๆได้ทุกแง่ประเด็นแต่อย่างน้อยที่กำลังสื่อออกมาเป็นอะไรที่กินขาดกับคำว่าเพื่อนอย่างถ้องแท้ เราอาจจะมีเพื่อนมีแฟนในห้องเรียนด้วยความสุขของคำว่าพวกพ้องที่เชื่อมั่นและจะอยู่ไปด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ยามใดที่ผิดพลั้งก็ยังอุตส่าห์ให้อภัยต่อกันได้ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทว่าเมื่อแรงกดดันได้รุมเร้าเข้ามาเรื่อยๆจนต้องเลือกหนทางของตัวเองกับคนอื่นที่เรียกว่าเพื่อนแล้ว สุดท้ายเราคงต้องเลือกตัวเองในวินาทีสุดท้ายเพื่อให้ตัวเองยังอยู่ต่อไปได้แม้ต้องเสียเพื่อนก็ตาม กระนั้นการเสียเพื่อนไม่ได้แปลว่าจะต้องฆ่าเพื่อนให้ตายจากกันแต่อาจหมายถึงช่วยเพื่อนให้หลุดจากสังคมที่กำลังเสื่อมทรามนี้ก็เป็นได้ เพระคงไม่มีใครอยากจะอยู่ในโลกที่มีแต่คำว่าหดหู่กับสิ้นหวังหรอกนะ เว้นแต่ว่าความหวังในแสงสุดท้ายมาถึงแม้จะช้าเกินไปจนย้อนไปแก้ไม่ได้ก็จริงถ้าเกิดมันช่วยให้โลกที่สิ้นหวังหมดยุติธรรมให้กลับมาดีขึ้นเมื่อไหร่คงไม่มีทางที่จะฆ่าเพื่อนอันที่รักได้ลงคออย่างแน่นอน เพราะทุกคนคือเพื่อนและความหมายของคำว่าเพื่อนคือเพื่อนนี่แหละ

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)