Children of Men (2006) พลิกวิกฤต ขีดชะตาโลก

Children of Men (2006) | พลิกวิกฤต ขีดชะตาโลก
Director: Alfonso Cuarón
Genres: Adventure | Drama | Sci-Fi | Thriller
Grade: S

"โลกที่ผู้หญิงต่างแท้งกันหมดทุกคน"

มาจากนิยายผู้แต่ง P.D. James ที่ได้สร้างโลกที่ไร้เสียงเด็ก เนื่องจากผู้หญิงทุกคนบนโลกไม่สามารถมีลูกหรือตั้งท้องได้ ซึ่งเป็นแบบนี้มานานถึง 18 ปี และยังคงเป็นเช่นนี้ตลอดไปอย่างมิอาจแก้ไขอะไรได้ จนกระทั่ง ธีโอ (Clive Owen) ได้พบกับเด็กสาวผิวสี (Clare-Hope Ashitey) ที่เผอิญตั้งครรภ์และกำลังเป็นที่จับจ้องจากคนหลายกลุ่ม เพราะโลกที่ไร้เด็กเกิดใหม่ไม่ต่างกับการสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ เมื่อใครหรือฝ่ายไหนให้เกิดเด็กได้ก็ย่อมหมายถึงการรักษาเผ่าพันธุ์ หรือการมีอำนาจที่เหนือกว่าผู้ใดในโลกนี้


ดั้งเดิมไม่ใช่ผู้หญิงที่ไม่มีลูกหรือตั้งครรภ์ หากเป็นผู้ชายทุกคนไม่มีตัวอสุจิให้เกิดการปฏิสนธิ แต่ตัวหนังเลือกประเด็นที่ละเอียดอ่อนกว่านั้นมากเพื่อแสดงให้เห็นว่าเพศไหนคือผู้ให้กำเนิดที่แท้จริง แน่นอนว่าขาดเพศชายก็ไม่อาจให้กำเนิดบุตรได้ ทว่าฝ่ายที่ต้องรับภาระกลับเป็นฝ่ายหญิงที่อย่างน้อยต้องอุ้มท้อง 9 เดือน และหลังจากนั้นอีกหลายวันหลายเดือนและหลายปียังคงมีหน้าที่รับผิดชอบเลี้ยงดูไม่มีเปลี่ยน แต่ไม่ได้แปลว่าฝ่ายชายจะไม่มีเรื่องรับผิดชอบ แค่ความผูกพันยังไม่เท่าแค่นั้นเอง

สิ่งที่ไม่คาดฝันและตื่นตามากที่สุดเพราะสมจริงเหมือนได้ร่วมประสบการณ์กับเหล่าตัวละครคือฉาก Long Take ที่ได้อารมณ์ถึงขีดสุด โดยเฉพาะฉากขับรถหนีกลุ่มคนที่บ้าคลั่งที่เริ่มจากบทสนทนาชวนเชื่อ ไม่มีอะไรไปมากกว่าขับรถตามถนนที่รอบข้างมีเพียงป่าไม้สีเขียวกับบรรยากาศชวนสนุกสนาน ทว่าสถานการณ์ต้องพลิกอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นรวมไปถึงการเซอร์ไพรส์ที่ทำเอาผู้ชมไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ หรือการพาไปสู่ใจกลางสงครามที่แม้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในดงประสุนนี้ก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภันและเหมือนเป็นศัตรูกับทุกฝ่ายเพราะพร้อมจะถูกลูกหลงได้ทุกเมื่อ


โลกที่ไร้มุนษยชาติถือกำเนิดเท่ากับมาถึงที่สิ้นสุดของการเพิ่มประชากร แปลว่าหลังจากนี้จะมีแต่ลดลงเรื่อยๆเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่ทำคือการประคับประคองคนที่ยังอยู่ให้ใช้ชีวิตที่ยาวนาน กระนั้นบนโลกที่มนุษย์ไม่มีผู้สืบทอดก็ยังทำแต่เรื่องแย่ๆให้เลวร้าย ทั้งความมั่นคงของประเทศจากระเบียบจัดการผู้อพยพ สงครามระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฏ และอีกหลายยิบย่อยที่ตัวหนังพยายามคลุมเนื้อหาให้เป็นเนื้อเดียวกันมากที่สุด

ประเทศอังกฤษหรือประเทศผู้ดีเป็นสิ่งที่ตัวหนังพูดถึงว่าเป็นประเทศที่ยังคงอยู่ อีกทั้งเป็นที่ฝักใฝ่จากผู้อพยพจำนวนมากจนต้องมีมาตรการเข้าเมืองที่คัดกรองแล้วคัดกรองอีก ซึ่งวิธีคัดเลือกบุคคลก็ล้วนเข้มงวดอย่างมาก จับแยกจับพลู โดนต้องสงสัย ถูกทำร้ายร่างกาย กักขัง สารพัดวิธีที่ใครทำตัวไม่ปกติเพียงนิดเดียวต้องจับแยกออกทันที ทว่าการกระทำของรัฐบาลที่ระเบียบมากเกินไปได้ส่งผลให้เกิดกลุ่มปฏิวัติที่นำโดย ลุค (Chiwetel Ejiofor) ที่ไม่พอใจต่อวิธีการดังกล่าวคล้ายถูกแบ่งแยกชนชั้น


ลุค ผู้นำปฏิวัติทำทุกทางเพื่อชัยชนะ แต่ไม่เป็นที่เห็นด้วยสำหรับธีโอ เพราะเด็กที่พึ่งเกิดคือเครื่องหมายของอำนาจ ถ้าทุกคนรู้ว่ามีเด็กเกิดขึ้นย่อมหมายถึงความอยู่รอดของมนุษยชาติ จากนั้นทุกคนจะศรัทธาต่อลุคที่ถือไพ่เหนือกว่า จะไม่มีใครอยู่ข้างรัฐบาลเพราะไม่สามารถทำอย่างที่ลุคทำได้ แน่นอนว่าในขั้นต้นไม่เกิดปัญหา ทว่าเมื่อไรที่ทุกคนรู้ขึ้นมาจริงๆอาจเป็นปัญหามากกว่านั้น ซึ่งไม่ใช่กับทุกคนแต่เป็นเด็กที่พึ่งเกิดที่อาจใช้ชีวิตไม่อิสระอีกต่อไป ดังฉากการตายของคนที่อายุน้อยที่สุดบนโลก ทุกคนโศกเศร้าแม้ไม่ใช่ญาติเดียวกัน กระนั้นชีวิตก็เหมือนจะถูกตามติดเสียยิ่งกว่าดารานักแสดงเสียอีก

รัฐบาลอังกฤษเสมือนตัวแทนความไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากตลอดทั้งเรื่องจะเห็นถึงรูปแบบและมุมมองที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน แต่เป็นการทำเพื่อตัวรัฐบาลเอง สถานการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดจากคนของรัฐบาลเพื่อสร้างภาพ เป็นข้ออ้างอย่างหนึ่งเพื่อมีไว้จัดการกลุ่มปฏิวัติที่ไม่ต้องรอเหตุผลก็สร้างขึ้นมาเอง เมื่อรัฐบาลเป็นเช่นนี้จะให้เด็กที่เสมือนของหายากที่สุดในโลกตกอยู่ในน้ำมือคนของรัฐบาลได้อย่างไร


แล้วแบบนี้ใครคือที่พึ่งพาอาศัยในสังคมที่วุ่นวายเช่นนี้ คำตอบนี้เห็นได้ชัดเจนจากตัวของธีโอที่พยายามไม่เข้าข้างฝ่ายไหน เพราะไม่ว่าจะอยู่กับใครก็ล้วนไม่แตกต่างเดิม การที่มนุษย์ไม่สามารถตั้งท้องบ่งบอกถึงจุดสิ้นสุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ทว่าประชากรที่มิอาจเพิ่มขึ้นได้ยังคงทำสงครามสร้างความวุ่นวาย ซึ่งผลลัพธ์มีแต่สูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมาถึงจุดหนึ่งจะไม่ทันระวังว่าตัวเองนั้นไม่เหลือใคร จะไม่ใช่มีตายต้องมีเกิดอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อตายแล้วก็หมดชีวิตลง ไร้ครอบครัว ไร้ผู้สืบทอดเรื่องราวต่อไป

Children of Men เสมือนหนังไซไฟในยุคที่มืดบอดและสิ้นหวัง ทว่าความหวังได้เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามและความวุ่นวาย กระนั้นเกิดคำถามว่าแล้วยังไง ในเมื่อสังคมยังชิงดีชิงเด่นไม่เลิกลาหรือยอมรับต่อกัน หนึ่งในตัวละครที่เข้าใจโลกในยุคนั้นเป็นอย่างดีคือ แจสเปอร์ (Michael Caine) เพื่อนของธีโอที่ถอยห่างจากเมืองเพื่อมาใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในพื้นป่า แม้จะเป็นการหลบสายตาจนเหมือนแอบ ทว่าเป็นการสื่อถึงการป้องกันอันตรายจากโลกภายนอก ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลหรือกฎเกณฑ์บังคับให้มากมาย เพราะเชื่อว่าถ้าให้ความไว้ใจก็ย่อมอยู่ร่วมกันได้จริงๆ


เดิมทีไม่คิดว่าหนังจะน่าติดตามเพราะเริ่มต้นได้ราบเรียบไร้จุดดึงดูด จะยกเว้นพล็อตเรื่องที่เหมือนสื่อถึงวิฤกติเผ่าพันธุ์ที่อีกหน่อยคงไม่เหลือประชากรหน้าใหม่มาทดแทนคนเก่าที่หมดอายุขัย ซึ่งคำว่าโลกอนาคตกับเรื่องราวชวนใหญ่โตกลับตรงกันข้ามกับคำว่าไซไฟหรือวิทยาศาสตร์ เนื่องจากกลายเป็นหนังการเมืองที่มีชีวิตเด็กเกิดใหม่เป็นเดิมพัน ไม่มีสิ่งไหนหรืออย่างใดที่ดูทันสมัย เฉกเช่นเดียวกับความคิดของคนเราที่ยังเหมือนเดิม มีแต่ทำลายมากกว่าจะร่วมมือสร้างกันใหม่ หรืออย่างน้อยก็ควรอยู่ร่วมกันให้เผ่าพันธุ์อยู่นานขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

ปล.Tomorrow หรือชื่อเรือในตอนจบเป็นการสื่อถึงวันที่ยังมาไม่ถึง การที่หนังจบแบบปลายเปิดก็เพื่อบอกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ไม่มีใครเหลียวแล จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนแบบที่ใจคนเรานั้นเป็น

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)