Rocky (1976) ร็อคกี้

Rocky (1976) | ร็อคกี้ | A+
Director: John G. Avildsen
Genres: Drama | Sport
 
"ความสำเร็จของ Rocky คือการทำให้ร็อคกี้ได้กลับมาสู้ชีวิตสานต่ออาชีพนักมวยอีกครั้ง เฉกเช่นกับ Sylvester Stallone ที่ได้รับโอกาสพิสูจน์ตัวเองได้สู้ชีวิต ถ้าว่ากันตามตรงนี้คือหนังที่สะท้อนตัวตนของผู้เขียนบทจากชีวิตจริงร่วมด้วยส่วนหนึ่ง ฉะนั้นจะเพื่อใครก็ตามนี้คือหนังเพื่อ Sylvester Stallone ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อตัวเองเพื่อความพยายามของเขาที่ทุ่มหมดหน้าตัก"


Sylvester Stallone เป็นดาราสายแอ็คชั่นที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีเพราะฝากผลงานเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบทบาทแรมโบ้ทหารเดนตายที่ต้องกลับมาใช้ชีวิตแบบคนปกติแต่ไม่เป็นที่ต้อนรับในสังคมและปูมหลังที่ถูกฝึกมาเพื่อฆ่าในหนังชุด Rambo หรือจะ The Expendables ที่เป็นการรวมพลดาวแอ็คชั่นทั้งใหม่และเก่าที่ตัวเองเป็นเจ้าของโปรเจ็คและกำกับภาคแรกเองจนประสบความสำเร็จและสร้างออกมาเป็นไตรภาคได้สำเร็จแม้ความสนุกจะขึ้นๆลงๆก็ตาม ทว่าสิ่งที่ทำให้ดาราหน้าเก่ายังแสดงความเก๋าได้ต่อคือการได้ร่วมแสดงกับ Arnold Schwarzenegger ที่เป็นดาราสายแอ็คชั่นในยุคเดียวกันใน Escape Plan (2013) ซึ่งเป็นแสดงให้เห็นว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปและตัวเองจะอายุมากขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าฐานะดาราขวัญใจในหมู่คอแอ็คชั่นจะต้องหายไปด้วย นับเป็นเรื่องน่าภูมิใจของคนที่อยากพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ได้ถูกลืมและมีแฟนๆติดตาม แม้การเป็นดาราสายแอ็คชั่นจะสร้างความบันเทิงเป็นหลักแต่ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจริงจะสนุกตามหนังไปด้วย เนื่องจากก่อนที่จะโด่งดังจนมีชีวิตที่เพรียกพร้อมต้องเจอกับอุปสรรคชนิดต้องหันหน้าสู้เพื่อความอยู่รอด ในจำนวนหนึ่งจะมีหนังอยู่เรื่องเดียวที่ช่วยชีวิตที่ตกต่ำจนมาสู่ความยิ่งใหญ่ได้คือภาคแรกของ Rocky ที่สร้างความฮือฮาด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของหนังที่แสดงจุดยืนที่ท้อถอยแต่ยังสู้เพื่อศักดิ์ศรี


ถึงคำว่าไม่ยอมกับศักดิ์ศรีอยู่คนละด้านก็ไม่ได้แปลว่านัยยะจะต่างกันเพราะประเด็นสำคัญคือการไม่ยอมแพ้ แน่นอนว่าเดิมทีการจะขึ้นสู่เวทีบันเทิงที่เต็มไปด้วยดารามากความสามารถต้องเกิดจากการแจ้งเกิดด้วยจุดเด่นของตัวเอง ทว่ากับเขาแล้วการแจ้งเกิดมาจากการขอเล่นหนังในบทที่ตัวเองเขียนขึ้นมา ซึ่งก็คือ Rocky นั้นเอง แน่นอนว่าต้องไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ให้ใครไม่รู้มาแสดงบทนำของเรื่อง(สมัยนั้นยังเป็นคนธรรมดา หน้าตาไม่ได้โดดเด่นอะไร เป็นแค่ตัวประกอบในหนังคุณภาพต่ำ) ด้วยข้อตกลงนี่เองที่ทำให้บทถูกยื่นข้อเสนอด้วยราคาที่สูงถึง 350,000 เหรียญเพื่อซื้อสิทธิ์มาโดยจะเอาดารา Ryan O'Neal มาแสดงแทน นับเป็นข้อเสนอที่ไม่เลวร้ายและอาจดีด้วยซ้ำ แต่จะยังไงก็ไม่สามารถหยุดความความคิดเดิมลงได้และยื่นยันจะเล่นหนังที่ตัวเองเขียนบทเท่านั้น จนสุดท้ายต้องยอมตกลงในความไม่ยอมโดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือจะให้งบแค่ 1 ล้านเหรียญ แต่ก็คุมงบไม่ได้ โดยใช้ไปทั้งหมด 1.1 ล้านเหรียญ เกินมา 0.1 ล้านเหรียญ ในส่วนเกินนี้มาจากโปรดิวเซอร์  Irwin Winkler และ Robert Chartoff จำนองบ้านตัวเองเพื่อให้หนังไปต่อได้

การเขียนบทของหนังเรื่องนี้เกิดจากการดูชกระหว่าง Chuck Wepner กับ Muhammad Ali ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมล้มกันทั้งคู่และสู้กันจนถึงเฮือกสุดท้ายในยกที่ 15 จนเป็นแรงบันดาลใจกลายเป็นบทหนังออกมาโดยจะเห็นได้ในไคล์แม็กซ์ของเรื่องที่สู้กันถึงยกสุดท้ายและต่างคนต่างไม่ยอมแพ้ ด้วยแรงบันดาลใจนี้เองทำให้ Sylvester Stallone เขียนสคริปต์หนังแค่ 20 ชั่วโมงก่อนจะถูกปรับแก้ในภายหลังและพยายามขายให้กับค่ายหนังต่างๆโดยมีข้อแม้คือเขาต้องเล่นหนังเรื่องนี้ด้วย แน่นอนว่าทางค่ายปฏิเสธและยื่นข้อเสนอมากมาย แต่ไม่อาจห้ามความตั้งใจจนต้องยอมทำให้บทหนังเหลือราคาเพียง 35,000 เหรียญจากที่เสนอขาย 125,000 เหรียญ และได้รับข้อเสนอพิเศษด้วยราคา 350,000 เหรียญแล้วก็ตาม ทว่าเงินจะน้อยหรือมากไม่ได้เป็นที่สนใจเท่ากับการได้แสดงหนังที่ตัวเองเขียนบทและไปเอาเพื่อนรักกลับมา เพื่อนรักที่ว่าคือสุนัขตัวโปรดที่ขายให้กับร้านเหล้าแปลกหน้า 25 เหรียญเนื่องจากเป็นช่วงที่ตกอับที่สุดของชีวิตขนาดที่ไม่มีบ้านอาศัยต้องนอนตามป้ายรถเมล์ถึง 3 วัน และด้วยวามลำบากนี่เองทำให้ไม่มีเงินเพียงพอซื้ออาหารจนเป็นปัญหาในการเลี้ยงสุนัขในขณะนั้น แต่หลังจากได้เงินจากการเขียนบทก็รีบไปซื้อสุนัขคืนมาด้วยราคาที่สูงกว่าตอนขายหลายเท่าจำนวน 100 เหรียญ แต่ไม่อาจซื้อคืนได้จนต้องต่อรองจำนวนที่สูงยิ่งขึ้นแต่ยังก็ปฏิเสธไม่ยอมขาย จนกระทั่ง 15,000 เหรียญจึงจะซื้อคืนกลับมาได้ (แน่นอนว่าสุนัขตัวนี้ถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงของร็อคกี้ในหนังด้วย) ด้วยราคาที่แตกต่างจากตอนขายถึง 600 เท่าคือเรื่องจริงที่เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของชีวิต แต่จะอะไรนั้นเมื่อมองย้อนกลับมาถ้า Rocky ไม่อาจทำเงินจะกลายเป็นจุดจบของ Sylvester Stallone ไปในทันที กระนั้นด้วยวัยคนหนุ่มที่มีไฟและเห็นบางอย่าง นั้นคือการสู้ชีวิต สุดท้ายสามารถทำเงินสูงสุดของปีไปได้ 117 ล้านเหรียญจากทุนสร้าง 1.1 ล้านเหรียญ


Rocky = Sylvester Stallone

ร็อคกี้ บัลบัวร์ (Sylvester Stallone) นักชกปลายแถวฉายาม้าป่าอิตาเลี่ยนที่ไม่มีอะไรในชีวิตแน่นอนนอกจากชกมวยใต้ดินไร้ระดับเพื่อเงินนิดหน่อยกับทำงานให้กัลโช่ (Joe Spinell) เป็นคนทวงหนี้ ทั้งชีวิตของร็อคกี้ไม่มีอะไรเป็นพิเศษหรือน่าดึงดูดใจ เว้นกับเอเดรียน (Talia Shire) ที่พยายามตามจีบอยู่ตลอดเวลาด้วยการหาเรื่องคุยกับเล่นมุขฝืดๆที่เกี่ยวกับสัตว์เช่นเต่าเพราะร็อคกี้เลี้ยงเต่าส่วนเอเดรียนทำงานร้านขายของสัตว์ แต่สิ่งที่ทำให้คู่นี้น่าสนใจไม่ใช่เพราะรู้ว่าเป็นพระเอกนางเอกอย่างใดเลย สิ่งที่สนใจคือลักษณะนิสัยของทั้งสองที่มีความแตกต่างจากตัวละครทั่วไปทุกตัว ในขณะที่ร็อคกี้มีชีวิตที่น่าสงสารหาความมั่นคงไม่เจอกลายเป็นไอ้ทือในสายตาใครหลายคน เอเดรียนเป็นผู้หญิงขี้อายไม่เข้าสังคมเอาแต่ทำงานประจำและหมกตัวอยู่ในบ้านเสมือนไม่มีตัวตน ไม่รู้ว่าอะไรดลใจให้ทั้งสองมาเจอกันเพราะความเหมาะสมนี่แทบหาไม่ได้เลย มีแต่จะพาให้ดูน่าสงสารเข้าไปใหญ่ ทว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองจะขาดพอลลี่ (Burt Young) พี่ของเอเดรียนไปไม่ได้เพราะเขาเองทำหน้าที่เสมือนพ่อสื่อให้ร็อคกี้ได้สนิทสนมกับเอเดรียนมากยิ่งขึ้น ถึงจะเป็นเพื่อนร็อคกี้และพี่เอเดรียนแต่ไม่ได้บอกว่าทุกอย่างจะลงตัวและดีเท่าไรนัก เนื่องจากพอลลี่มีนิสัยขี้โวยวาย ขี้เหล้า และเอาแต่ใจตัวเอง กระทั่งชีวิตร็อคกี้ต้องมาถึงจุดพลิกผันของชีวิตเมื่ออพอลโล ครีด (Carl Weathers) นักมวยอันดับหนึ่งของโลกต้องการหาคู่ชกแต่ไม่สามารถหานักมวยติดอันดับมาสู้ได้ ด้วยความเลือดร้อนต้องการขึ้นชกเรียกชื่อเสียงของตนเองจึงได้สุ่มนักมวยมาคนหนึ่ง ซึ่งคือร็อคกี้หรือนักมวยไร้อันดับไร้ชื่อเสียงมาสู้กับอพอลโลโดยให้เหตุผลการเลือกคู่ชกในครั้งนี้ว่ามันคืออิสรภาพ เป็นเสรีของการให้โอกาสนักมวยไร้ชื่อเสียงไม่มีโอกาสสร้างชื่อให้มีสิทธิ์ได้ทดสอบตัวเอง


ร็อคกี้ไม่ใช่ชื่อจริงของตัวละครแต่เป็นชื่อเล่น ชื่อจริงคือโรเบิร์ต บัลบัวร์ โดยชื่อร็อคกี้มาจากนักมวยจริงนาม Rocky Marciano เป็นนักมวยผิวขาวรุ่นเฮฟวี่เวทที่มีสถิติการชก 49 ครั้งและชนะทุกครั้ง ที่น่าทึ่งคือ 43 ครั้งมาจากการน็อกคู่ต่อสู้และได้รับฉายา "The Brockton Blockbuster" หรือ "The Rock" เสมือนเทือกเขาร็อคกี้ที่ยิ่งใหญ่ทั้งบนเวทีการต่อสู้และในชีวิตจริง ด้วยแรงบันดาลใจนี่เองทำให้ Sylvester Stallone อยากเล่นเป็นร็อคกี้ตัวละครที่เขียนขึ้นมาเพื่อสื่อความหมายของตัวเองของการสู้ชีวิตที่ต้องการจะไปต่อ แต่จะอะไรนั้นอพอลโลคือนัยยะของโอกาสที่เกิดมาเพื่อร็อคกี้ได้คว้าสิ่งนั้น ทว่าร็อคกี้ไม่ใช่ตัวละครที่เพรียกพร้อมด้านการต่อสู้ด้วยใจ ถึงร่างกายจะเหมาะการเป็นนักมวยแต่ไม่ได้แปลว่าจะอยากขึ้นชกแบบที่ใครๆอยากคว้า เนื่องจากร็อคกี้หมดศรัทธาในตัวเองไปนานแล้วเกี่ยวกับการชกมวยที่ไม่มีใครคอยสนับสนุนเขาเลย ซ้ำยังปล่อยให้เคว้งคว้างเดี่ยวดายจนต้องไปชกมวยเถื่อนและหางานที่ดูเหมือนไร้ศักดิ์ศรีไม่มีอนาคต ซึ่งต้นเหตุมาจากมิคกี้ (Burgess Meredith) เจ้าของโรงมวยที่ไม่เคยเอาใจใส่ร็อคกี้และกลายเป็นว่าทั้งเขากับมิคกี้กลายเป็นครูกับลูกศิษย์ที่ไม่ถูกกันเพราะมิคกี้เองก็เกลียดร็อคกี้ที่ไปชกมวยเถื่อนทำให้ชื่อโรงมวยต้องแปดเปื้อนผิดหลักการของนักมวยมืออาชีพ แม้จะอยู่ภายใต้หลังคาโรงมวยเดียวกันและมีลูกศิษย์มากหน้าตาไม่ได้แปลว่าจะไม่ทะเลาะกัน แน่นอนว่าการไม่ถูกกันกลายเป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างลูกศิษย์กับครูฝึก หลังจากอพอลโลเลือกร็อคกี้มาเป็นคู่ชกและร็อคกี้ตกลงรับศึกชกมวย ร็อคกี้ได้เริ่มฝึกฝนตัวเองให้ร่างกายกลับมาฟิตเพื่อขึ้นชกอีกครั้ง ทว่าครั้งนี้แตกต่างจากการชกมวยที่ตัวเองเคยสัมผัสมาและมีแรงกดดันจากคู่ชกที่เป็นถึงอันดับหนึ่งของโลก สิ่งที่ร็อคกี้ไม่มีแต่อพอลโลยังมีคือกำลังใจที่เต็มเปี่ยมไม่หวั่นเกรงกลัวคู่ชกจะเป็นใครก็มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถชนะได้ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ร็อคกี้กับมิคกี้มาเจอกันอีกครั้งโดยครั้งนี้เป็นฝ่ายมิคกี้ที่เข้าหาร็อคกี้และยินดีจะช่วยฝึกให้ จุดนี้กลายเป็นประเด็นที่สื่อออกมาชัดเจนคือการหวังผลประโยชน์ กระนั้นผลประโยชน์ในที่นี้เป็นได้ถึงสองแง่ระหว่างเพื่อตนเองหรือเพื่อร็อคกี้ ถ้าเพื่อตัวเองคือการหวังผลประโยชน์จากตัวร็อคกี้ทั้งความดังและเงินทอง แต่ถ้าเพื่อร็อคกี้ก็คือการได้ปั้นนักมวยไว้ประดับวงการ ไม่ใช่แค่นั้นแต่รวมถึงการส่งเสริมให้ร็อคกี้กลับมาเป็นนักมวยมีอันดับไม่ใช่นักมวยตกรุ่นที่ขึ้นชกเพื่อเงินมากกว่าศักดิ์ศรี


ความสัมพันธ์ของร็อคกี้กับมิคกี้ถ่ายทอดได้ถึงความแตกต่างและหัวรั้นของทั้งสองไม่มีใครผิดหรือถูกมากกว่ากัน เป็นอีกเสน่ห์อย่างหนึ่งของเรื่องที่น่าชื่นชมเพราะถ่ายทอดออกมาถึงมิติของตัวละครและกลายเป็นขวัญใจที่ขาดไม่ได้ ในฉากร็อคกี้ต้องฝึกฝนร่างกายให้พร้อมจะเห็นว่าตั้งใจตื่นแต่เช้ามืดเพื่อออกไปวิ่งเรียกกำลังของตัวเองกลับมาแต่ก็นั้นเองที่ทำให้เห็นความเหน็ดเหนื่อยที่แทบจะไม่ไหว เหตุที่ร็อคกี้ยังคงเหนื่อยอาจเกิดจากการขาดฝึกซ้อมแต่เหตุผลที่แน่นอนคือกำลังใจของร็อคกี้ยังว่างเปล่าเพราะไร้ไฟแห่งการต่อสู้ สำหรับเอเดรียนอาจเป็นกำลังใจที่ส่งเสริมให้ร็อคกี้อยากชนะไม่มากก็น้อยแต่ยังไม่มีใช่แรงบันดาลใจที่แท้จริงที่ทำให้เขาฮึดสู้ สิ่งที่ร็อคกี้อยากได้จากเอเดรียนคือความรักเพียงเท่านั้น

ความรักของร็อคกี้กับเอเดรียนอาจไม่หวือหวาและค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ แต่นั้นเองกลายเป็นความหนักแน่นและทำให้ผู้ชมเชื่อมั่นในตัวละครทั้งสอง เชื่อในความรักที่แตกต่างแม้หลายอย่างจะดูตลกจากความรักที่แสดงออกมาของร็อคกี้แต่เชื่อว่าทุกสิ่งที่ร็อคกี้ทำให้เอเดรียนล้วนมาจากความจริงใจ ความรักที่บริสุทธิ์นี่เองกลายเป็นเรื่องราวที่ขาดไม่ได้ของเรื่องนี้ที่ยกระดับมิติและการพัฒนาของตัวละคร ในฉากเล่นลานสเก็ตน้ำแข็งของร็อคกี้กับเอเดรียนคือฉากที่แฝงด้วยความโรแมนติกและตลกปะปนอย่างลงตัวโดยนับเป็นครั้งแรกของทั้งสองที่ได้ออกเดทออกบ้านด้วยอีกด้วย ถ้าแง่ของความรักนั้นตัวหนังทำได้ดีเกินคาดเอาไว้ค่อนเยอะและไม่นึกว่าจะเก็บรายละเอียดของตัวละครได้ถึงก้นบึ้งจิตใจจนน่าประทับใจ ทว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองที่ดีขึ้นนั้นเองกลับสร้างผลกระทบต่อพอลลี่ที่เริ่มรู้สึกกลายเป็นคนห่างไกลมากยิ่งขึ้นเพราะคิดว่าตัวเองหมดประโยชน์คิดว่าสิ่งที่ตัวเองให้ร็อคกี้เป็นความว่างเปล่าไม่ได้อะไรกลับคืนมาบ้างเลยจนเกิดทะเลาะกันด้วยความเอาแต่ใจตัวเอง ประเด็นอีกอย่างของพอลลี่ไม่ต่างจากร็อคกี้เพียงขาดพรสรรค์ทำให้ใช้ชีวิตด้วยการพึ่งตัวเองเพียงอย่างเดียว กลายเป็นเรื่องสะท้อนปมด้อยที่ต้องการคนเอาใจใส่และให้ความสนใจเนื่องจากในเรื่องพอลลี่มักจะเป็นผู้ให้มากกว่ารับนั้นเอง ไม่ว่าจะช่วยเรื่องเอเดรียนให้ออกสังคมช่วยเบิกทางให้ร็อคกี้ได้สนิทสนม ช่วยเรื่องสถานที่ฝึกแก่ร็อคกี้ในโรงเนื้อวัว รวมถึงการแบ่งเนื้อจากโรงเนื้อให้ร็อคกี้ได้กิน ทว่าผลตอบแทนที่ได้แทบจะเป็นศูนย์เสียด้วยซ้ำ อารมณ์เดือดของพอลลี่มาจากความเอาแต่ใจแต่ลึกๆแล้วเป็นคนที่อยากทำอะไรเพื่อให้คนอื่นเห็นใจ รวมถึงการอยากเป็นแบบร็อคกี้ทำงานเรียกเงินจากลูกหนี้เพราะคิดว่าดูเท่มีอำนาจ ขณะที่ร็อคกี้ใช่ว่าจะชอบงานนี้เพราะอยากทำตัวเป็นมาเฟียบังคับคนนู้นคนนี้ให้จ่ายเงิน สังเกตว่ามีเพียงเรื่องกำลังเท่านั้นที่ร็อคกี้ไม่ใช้หากไม่จวนตัวหรือขึ้นชกบนเวทีจนผิดใจกับกัลโช่เพราะหากไม่ใช้กำลังจัดการจะได้เงินไม่ครบสักที แต่หลังจากร็อคกี้ได้ตัดสินใจขึ้นชกแล้วเลิกงานนี้ทำให้เกิดตำแหน่งว่างเป็นเหตุให้พอลลี่ขอร้องร็อคกี้ช่วยเรื่องงานให้ติดต่อกัลโช่ว่าจะทำแทน


ประเด็นเรื่องคนใกล้ชิดร็อคกี้จบลงแต่ย้อนกลับมาที่ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ยังคงเป็นเรื่องแผลในใจที่รอการเยียวยา หลังจากร็อคกี้ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญไปแล้วสิ่งหนึ่งที่ต้องทำก่อนขึ้นชกคือการฝึกซ้อมเรียกกำลังของตัวเองกลับมาให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ทว่าการซ้อมเป็นไปอย่างช้าเพราะขาดเทรนเนอร์ฝึกซ้อมและมิคกี้ได้เข้ามาเพื่อหวังจะช่วยร็อคกี้ซ้อมมวยให้ ทว่าร็อคกี้ปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยเนื่องจากเคยมีอดีตที่ขอความช่วยเหลือจากมิคกี้ให้ช่วยฝึกฝน แต่ขอเท่าไรก็ไม่เคยได้รับโอกาสแบบนั้น จึงกลายเป็นความชังของร็อคกี้ที่ไม่อาจยอมรับได้จนไล่มิคกี้ออกจากบ้าน กลายเป็นว่าฝ่ายขอร้องต้องเดินขอโทษคอตกออกไปในสภาพน่าหดหู่ใจ ในจังหวะนี้ถือเป็นฉากหนึ่งที่น่าสงสารและหดหู่สิ้นหวังของคนแก่คนหนึ่งไม่น้อย แต่แล้วในช่วงที่หนังกับผู้ชมเริ่มเศร้าในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ที่ไม่อาจสมานลงได้ก็เกิดเป็นว่าร็อคกี้ได้วิ่งออกจากบ้านไปหามิคกี้เป็นการให้อภัยต่ออดีตที่ผ่านมาก่อนจะตกลงเรื่องการฝึกซ้อมแล้วร็อคกี้เดินกลับเข้าบ้าน นับเป็นฉากที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างดีและให้ความสำคัญกับตัวละครทั้งสองจนไม่รู้จะว่ายังไงดี อีกคนดื้อรั้นให้อภัย อีกคนอารมณ์ร้ายขอคืนดี การคืนดีของทั้งสองฝ่ายทำให้โกรธแต่โกรธไม่ลงเลยสักนิด ถ้าใครชอบฉากนี้น่าจะประทับใจไม่น้อยเลยทีเดียวเพราะอยู่ในระดับที่ว่าถ้าคนที่เราเคยเคารพมาตลอดแต่ไม่เคยให้อะไรเลยแต่แล้วจู่ๆเข้ามาช่วยในยามท้อแม้ไม่ได้ขอให้ช่วยแต่ใครบ้างจะไม่รู้สึกดีใจ นัยยะเรื่องค่านิยมส่วนตัวเป็นสิ่งที่สอนคุณค่าของคนว่าไม่ควรไปคิดเองเอาเองคนนี้ดีคนนั้นไม่ดี ถ้ายังไม่พิสูจน์เจตนารมย์ของเขาคนนั้น การที่มิคกี้ไม่ยอมสอนให้ร็อคกี้ไม่ใช่ไม่ชอบหรือไม่เหมาะจะเป็นนักมวย เพียงแค่อยากให้เผชิญความลำบากดูก่อนให้รู้จักว่าการจะทำอะไรสักอย่างไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้นต่อให้มีคุณสมบัติพรสรรค์พร้อมแล้วก็ตาม


ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงคือแนวคิดของอพอลโลเรื่องเสรีภาพเปิดโอกาสให้นักมวยไร้อันดับได้ขึ้นชกแบบก้าวกระโดดกับนักมวยระดับโลกโดยไม่ต้องสะสมอันดับ ทว่าการให้โอกาสก้อนโตขนาดที่ร็อคกี้ผู้ซึ่งเคยมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักมวยมาก่อนใช่จะตอบตกลงในทันทีพร้อมปฏิเสธการขึ้นชกเสียด้วยซ้ำ การไม่ขึ้นชกของร็อคกี้ส่วนหนึ่งมาจากความกลัวไม่มั่นใจจะเอาชนะหรือสู้กับมือหนึ่งของโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี อีกส่วนหนึ่งมาจากความเบื่อในวงการมวยที่อยู่ไปก็ไร้หนทางอนาคตเพราะอยู่มานานหลายปีแต่ไม่ได้อะไรที่เป็นผลงานให้น่าจดจำเลยสักอย่างเดียว ซ้ำมีความคิดจะเลิกต่ออาชีพมวยเพราะไม่คู่ควรอีกต่อ แต่จะเป็นอย่างไรหากร็อคกี้ยืนยันไม่ตอบตกลงขึ้นชกมวย เบื้องหลังที่ร็อคกี้มีก่อนจะเป็นคู่ต่อสู้กับหลังจากเป็นคู่ต่อสู้นั้นแตกต่างกันมาก ในตอนนี้กลายเป็นว่าร็อคกี้เป็นคนสำคัญที่ได้รับการฝากฝังความหวังจากใครหลายคนด้วยโอกาสทองที่ไม่คาดฝันจะได้รับ และหลายคนอยากให้ร็อคกี้ได้ใช้โอกาสนี้ไปให้สุดทางของมัน การให้โอกาสแก่คนหมดหนทางกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้เพราะสื่อออกมาได้อย่างหนักแน่นของคนที่อยากชกมวยกับคนที่หมดไฟไปแล้ว การให้โอกาสหรืออิสรภาพของการชกของผู้ไม่ควรกลับขึ้นมาสู่จุดสูงสุดได้คือเรื่องราวเสียดสีของผู้มีความฝันแต่ขาดโอกาสแล้วไม่รู้จักสานต่อฝันนั้น สำหรับการเสียดสีอาจไม่เหมาะเท่าไรกับผู้มีโอกาส กระนั้นในโลกความจริงจะมีสักกี่คนที่ได้โอกาสและฝันเข้ามาด้วยกัน ฉะนั้น Rocky คือหนังที่เกิดมาเพื่อใครสักคนที่ท้อกับชีวิตที่เหลืออยู่และไม่รู้จะทำอะไร แต่เมื่อไรที่โอกาสนั้นมาถึงอย่าปล่อยให้หลุดมือเด็ดขาด ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่หรือคิดยังไงกับชีวิตอย่าได้ทิ้งความหวัง ฉากที่เรียกกำลังใจได้ล้นเหลือคือการได้เห็นร็อคกี้ฝึกซ้อมอย่างหนักต่อเนื่องติดกันอย่างไม่ลดละแสดงความพยายามเต็มเปี่ยมโดยมีมิคกี้เป็นเทรนเนอร์ฝึกฝนและให้กำลังใจ และฉากร็อคกี้ออกวิ่งผ่านชุนชมที่เกิดเป็นว่าใครๆต่างเรียกชื่อให้กำลังใจ ฉากวิ่งในตอนแรกเป็นการวิ่งท่ามกลางความเดี่ยวดายไร้กำลังใจและความเหนื่อยล้า ทว่าหลังจากได้รับการซ้อมกับแรงใจจากคนรอบข้างทำให้ร็อคกี้สามารถวิ่งไปได้เรื่อยๆราวกับโบยบินถึงเป้าหมายที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งฟิลาเดลเฟียอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเช่นครั้งแรก ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือดนตรีประกอบเพลง Gonna Fly Now ประพันธ์โดย Bill Conti ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ให้มีพลังได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ไม่แปลกใจเลยที่การดำเนินเรื่องจะราบเรียบแต่ส่งผลลัพธ์ที่มีพลัง ไม่ว่าจะการแสดง มิติตัวละคร เนื้อเรื่องก็ล้วนต่างเต็มไปด้วยความสุดยอดทั้งมวล และได้เข้าชิง 10 รางวัลออสการ์ โดยได้มาถึง 3 รางวัล ได้แก่ สาขาหนังยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และตัดต่อยอดเยี่ยม


ที่ขาดไม่ได้ในเรื่องที่แม้จะกล่าวถึงไม่มากคืออพอลโลหรือนักมวยมือหนึ่งของโลกที่อยากขึ้นชกแต่ไม่สามารถหาคู่ได้ สิ่งนี้เป็นการเปรียบเทียบโลกของคนมีไฟที่ยังลุกโชนในความฝัน จริงที่ว่าอพอลโลจะเก่งและเป็นที่หนึ่งของโลกแต่ไม่ได้แปลว่าจะรู้สึกพอใจและเชื่อว่าทุกคนด้อยกว่าเขา ดังนั้นจึงได้เสาะหานักมวยไร้อันดับเพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตัวเองเก่งได้ทั้งนักมวยที่อยู่ในและนอกสังกัด ซึ่งการให้โอกาสนี้เองที่เป็นการจุดประกายอิสรภาพของผู้หมดอนาคตให้กับมาลองพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง จริงที่ว่าอพอลโลเหมือนจะประมาทความสามารถของร็อคกี้มุ่งแต่เรื่องธุรกิจเพราะคิดว่าตัวเองเก่งและต้องดันตัวเองอยู่ตลอดเวลาให้เป็นขวัญใจแก่ประชาชน ทว่าความจริงอพอลโลไม่ได้กระจอกหรือประมาทในตัวร็อคกี้ขนาดนั้นเนื่องจากยังมีความมั่นใจเป็นพลังแบบเดียวกับร็อคกี้

ในไคล์แม็กซ์ศึกชกมวยเชื่อว่าหลายคนต้องการในส่วนของแอ็คชั่นเพราะตัวหนังเล่าเรื่องดราม่ามาเยอะมากจนกลายเป็นหนังชีวิตแทบทั้งเรื่อง ทว่าการชกมวยระหว่างร็อคกี้กับอพอลโลไม่ได้มันส์ขนาดนั้นเพราะแฝงไปด้วยความเจ็บปวด ความพยายาม และการเอาชนะ การสู้กันของทั้งสองต่อให้สนุกมากแค่ไหนแต่แอบตื้นตันใจไม่น้อยที่ได้เห็นร็อคกี้มาถึงจุดนี้ในที่สุด ฉากการชกทำได้ดีและค่อนข้างสมจริงขนาดที่ว่าทั้ง Sylvester Stallone และ Carl Weathers ต้องเจ็บตัวด้วยกันทั้งคู่ แต่รายแรกหนักหน่อยที่ทำเอาจมูกหักขนาดที่ว่ากลายเป็นจุดเด่นของร็อคกี้ที่ชื่นชมจมูกของตัวเองว่าชกไม่เคยหัก กระนั้นการชกกันในท้ายเรื่องที่กินกันไม่ลงถึง 15 ยกนั้นเกิดเป็นว่าไม่สนใจว่าฝ่ายใดจะชนะ ในตอนท้ายตัวหนังแทบไม่ลังเลที่จะไม่ใส่ผลการชกของร็อคกี้กับอพอลโลว่าใครคือผู้ชนะและเชื่อว่าแทบไม่มีใครอยากรู้ในจุดนี้เท่าไรนัก เพราะสิ่งที่ร็อคกี้ได้คือการเอาชนะใจตัวเองและตะโกนหาเอเดรียนที่ยืนดูห่างๆเวทีให้ขึ้นมาอยู่ภายใต้โอบกอดราวกับสิ่งนี้คือรางวัลของชีวิต

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)