Apocalypse Now (1979) กองพันอำมหิต

Apocalypse Now (1979) | กองพันอำมหิต
Director: Francis Ford Coppola
Genres: Drama | Mystery | War

พอเห็นชื่อผู้กำกับที่สร้างสุดยอดหนัง The Godfather (1972) จึงไม่แปลกว่าหนังสงครามเรื่องนี้ช่างอลังการกับการตีความเนื้อสงครามได้อย่างหมดจด แม้จะไม่ได้สัมผัสฉบับดั้งเดิมว่าเป็นยังไงบ้าง แต่การได้ชมฉบับ Redux หรือฉบับสมบูรณ์นั้นกลับบ่งบอกได้ว่าเป็นอะไรที่อิ่มในกับรับชมอย่างมาก เพราะความยาวของตัวหนังไม่ใช่น้อยๆเลยทีเดียวกับเวลาทั้งสิ้นประมาณ 3 ชั่วโมงเกือบครึ่งสำหรับฉบับนี้ ส่วนฉบับแรกมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง นี่ถ้าไม่เตรียมตัวมาก่อนคงประมาณว่าต้องขอเข้าห้องน้ำก่อนล่ะ เท่านั้นยังไม่หมดโดยเฉพาะถ้าใครหาฉบับละเมิดลิขสิทธิ์แบบไม่เป็นทางการได้แล้วล่ะก็จะรู้ว่าอย่างยาวกับเวลาที่เกือบจะ 5 ชั่วโมง ยอมรับว่าเป็นผลงานที่สุดทะเยอทะยานมากที่สุดของผู้กำกับรายนี้ก็ว่าได้ และความมุ่งมั่นในครั้งนี้จึงได้ปรากฏการณ์สุดยอดหนังสงครามอีกเรื่องหนึ่งของโลกที่ควรค่าแก่การรักษา
 

Apocalypse Now มีส่วนร่วมที่ดัดแปลงมาจากนวนิยาย Heart of the Darkness ของ Joseph Conrad มาดัดแปลงเป็นการผจญภัยไปสู่ความมืดดำของสงครามเวียดนาม โดยมีเนื้อเรื่องที่ไม่วุ่นวายอะไรมากนักกับพล็อตที่เอานายทหารคนหนึ่งมาจัดการทหารอีกคนหนึ่งที่ถูกประเมินแล้วว่าเป็นตัวก่อปัญหา โดยได้ร้อยเอกเบนจามิน แอล วิลลาร์ด (Martin Sheen) รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าไปในป่าดงดิบในเวียดนามเพื่อล่าสังหารพันเอกวอลเทอร์ อี.เคิร์ทซ (Marlon Brando) ผู้บังคับหน่วยรบพิเศษกรีนแบเรต์ที่ละทิ้งหน้าที่ และผู้บังคับบัญชาแทงบัญชีว่าเป็นบุคคลวิกลจริต เนี่ยแหละพล็อตสั้นๆที่ว่าตามรายละเอียดเล็กรายละเอียดน้อยเต็มไปหมด แถมยังมีสภาพความเลวทรามของมนุษย์ผ่านการตีแผ่เรื่องสงครามชนิดเสียดสี ถกเถียง เสนอแนวคิด รวมถึงการตีรูปแบบตามความเป็นไปของสังคมทั้งทุนนิยมเอย บริโภคนิยมเอย เหมือนจะไม่ใช่หนังสงครามที่ดูกันง่ายๆเลยนะ

ทีแรกผู้กำกับ George Lucas ได้ถูกเสนอชื่อให้มาทำเรื่องนี้ แต่ความสนใจกลับถูกหันเหไปทาง Star Wars ซึ่งก็เป็นผู้กำกับอย่างที่มาก ทว่าหนังเรื่องนี้ใช้เวลาสร้างนานมาก เนื่องจากปัญหาเรื่องหัวใจของชีนและปัญหาความอ้วนของ Marlon Brando ในงบประมาณครั้งแรกได้วางเอาไว้ที่ 13 ล้านเหรียญ แต่ยิ่งมีปัญหากับเวลาที่ยาวนานจึงได้ยืดเยื้อบานปลายถึง 31.5 ล้านเหรียญแทน จนนักข่าวบันเทิงบันทึกให้ว่า Apocalypse Later ทั้งนี้ได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์และรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และได้รับการบรรจุชื่อเป็นภาพยนตร์ที่ต้องอนุรักษ์ใน National Film Registry โดยหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน ในปี 2000 ถึงจะเสร็จช้า และบานปลายเรื่องงบประมาณไปบ้าง ทว่ากำไรที่ได้มามีค่ามากกว่าเงินทองซะอีก ซึ่งถ้าใครยังไม่ได้มีโอกาสได้ชมจึงขอให้รีบๆหาตอนนี้เลย ก่อนจะหมดโอกาสหยิบ"มหากาพย์แห่งสงคราม"ขึ้นหิ้งเรื่องนี้หลุดมือ


ความหมายของคำว่า Apocalypse คือวันโลกาวินาศถ้าจะแปลกันว่านั้นตามหลักพระคัมภีร์คริสธรรม และมีรากศัพท์มากจากภาษากรีก Apokalypsis แปลว่าการเปิดเผย มองรวมๆอาจได้ความว่าการเปิดเผยหายนะล้างโลก ซึ่งตามพระวจนะของพระเจ้าในไบเบิ้ลนั้น โลกจะถูกล้างด้วยไฟบรรลัยกัลป์ทำลายทุกสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลก งั้นคงมองไม่ยากเมื่อน่าจะมีความหมายเชิงอุปมาอุปลักษณ์แทนด้วยระเบิดนาปาล์มชุดใหญ่ที่ปรากฏในเรื่องแบบไม่มีทางลืม เสมือนมองไฟที่เผาไหม้ชาวเวียดกงทั้งเป็นจากคำทำนายที่เกิดเช่นเดียวกับการล้างโลกที่ตอนนี้ล้างศัตรูตรงหน้าแทน ใช่รูปแบบของการล้างโลก แล้วเปิดเผยล่ะจะบอกว่าไง จะบอกว่าเป็นสงครามที่เปิดเผยเหรอ ไม่ๆเรื่องแบบนั้นใครๆก็รู้ได้กันอยู่แล้ว เพียงมันเป็นเรื่องเปิดเผยด้านมืดของคนต่างหาก อันที่จริงด้านมืดของมนุษย์อย่างเราๆมันเกิดก่อนด้านสว่างซะอีก ดูอย่างสงครามแต่ละครั้งสิ มีที่ไหนอยากชนะก่อนเกิดสงคราม แม้จะบอกว่ายังไม่มีการตาย แต่สงครามมันเริ่มตั้งแต่มีความขัดแย้งในใจอยู่แล้ว ก็สงครามในตัวเราไง สงครามที่ต้องต่อสู้กับตัวเองภายใต้จิตใจกับด้านมืดมน สุดท้ายคำว่าหายนะล้างโลกตีความได้กว้างไปหน่อย อันที่จริงควรบอกว่าล้างสัตว์ประเสริฐ์ด้วยกันเองน่าจะเหมาะกว่ามาก อ้าวไม่งั้นจะมาล้างโลกให้สะอาดทำไมถ้าไม่ใช่เพราะมนุษย์ตัวดีที่มอบโคลนลงแผ่นกระดาษที่ล้างไม่ออก ตอนนี้ทุกคนมีสงครามในตัวเพียงมันยังหรอก ยังไม่ถึงเวลา เวลานั้นมาถึงการเปิดเผยจะชัดเจน


"สงครามจอมปลอมที่อ้างถึงเสรีภาพ"
 
สงครามไม่เหมาะกับคนที่อยากกลับบ้าน และคนที่อยากกลับบ้านมักตายก่อนได้เข้าใจสงครามดีพอเสมอ เว้นแต่เขาคนนั้นจะเปลี่ยนตัวเองให้ตีแตกจากสงครามไม่เข้าฝ่ายใด สรุปว่าหนีจากสงครามคงไม่ผิด นี่เรากำลังจะกล่าวถึงตัวละครเคิร์ทซที่ถูกกล่าวหาว่าวิกลจริตกับสงครามจนแปลกแยกออกไปเป็นพระเจ้าซะเองใช่หรือไม่ บางทีคงใช่หรืออาจจะผิดก็ไม่ว่า เพราะยังไงสงครามมักเลวร้ายเสมอ และสงครามไม่ใช่เรื่องสนุกเลยสักนิดกับคนที่รอดจากสงครามที่อาจบ้าหรือสติแตกกับห่ากระสุน เสียงระเบิด คนตาย คนที่ไม่ได้ทำสงครามจะบอกถึงว่าพวกเขาทำเพื่อเสียสละกับประเทศชาติบ้านเมือง ฟังดูชื่นชม อีกเสียงฟังแล้วหยามบคายที่บอกส่งไปตายเพื่อรักษาหน้าตัวเอง สงครามเวียดนามมีอะไรเก็บซ่อนอยู่กับอเมริกา ซึ่งตอนนี้ได้เปิดเผยด้านมืดให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วกับประเทศประชาธิปไตยที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพ

สงครามเวียดนามที่เรามองเห็นจากหนังเรื่องนี้มีค่าพอจะเอามาปูทางความบันเทิงได้มากแค่ไหน รู้สึกชอบใช่ไหมเวลาระเบิดนาปาล์มลง เห็นความรุนแรงเป็นของตายในสงคราม เวียดกงตาย อเมริกันชนะ รัฐบาลสนใจอะไรบ้างในการแคร์หน้าบ้านตัวเองที่แปะประกาศว่าตนคือประเทศที่เสรีภาพมากที่สุด นั้นจะเอามาอ้างกับสงครามครั้งนี้ก็เท่ากับตีหน้าโกหกอย่างใสซื่อ การเข่นฆ่าเกิดได้ที่มีสงคราม ทว่ามันจะไม่เกิดขึ้นถ้าไอ้ประเทศเจ้าเสรีไม่มาเหยียบแล้วทำสงครามขึ้น ในทางตรงกันข้ามทำไมทหารอเมริกันไม่เข้าไปช่วยพลเรือนฝ่ายตัวเองในฐานะมิตร แต่ส่งผลกลับกันเป็นยิงห่าระเบิดเข่นฆ่าบนแผ่นดินเวียดนามแบบไม่ลังเลฝ่ายใดว่ามามิตรหรือศัตรู เพราะมัวแต่ตีกรอบแคบๆเป็นพวกเวียดกงพวกเดียวกันหมด จึงอยากจะรู้ว่าอาวุธของพวกท่านที่มีประสิทธิภาพการสู้รบมีประโยชน์หรือมีเพื่อความบันเทิง อันไหนมากกว่ากัน ถ้าเพื่อประโยชน์แล้วทำไมไม่ยิงพวกศัตรูล่ะ มาอะไรกับชาวบ้านที่จับพลัดจับพลูหลงไปในห้วงการสู้รบที่หนีไม่พ้น นี่ใช่ไหมที่เรียกว่าประชาธิปไตยเสียงข้างมาก เสียงตัวเองสินะที่ดังกว่า เมื่อไปใช้กับประเทศของตัวเองแล้วอเมริกาจะเป็นเช่นไร รวมถึงผลลัพธ์ที่ผลิบานของภารกิจสังหารผู้พันที่ดูเหมือนจะสิ้นเปลืองไปกับเวลาอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาจัดการตารางที่ผิดที่ผิดเวลาส่งทหารไปเสี่ยงในสนามรบที่ไม่ได้รบ แค่มาสังหารชายคนหนึ่งที่ตอนนี้ตั้งต้นกลายเป็นพระเจ้าไปแล้ว คุณค่าของสงครามครั้งนี้ทำเพื่อหน้าตาจนเหล่าทหารตาบอดหลงด้านมืดกันเกือบหมด


"เปิดเผย = ด้านมืด"
 
ด้านมืดที่เปิดเผยออกมาเป็นอะไรกันแน่ระหว่างความปกติกับเสียสติตลอดจนนำมาซึ่งความวิตถารที่ขาดความเป็นมนุษย์ไร้ดีชั่ว คนเวียดนามต่อสู้เพื่อบ้านเมืองเพื่อประเทศตัวเองกลับคืนมา ขณะที่ทหารอเมริกันมาต่อสู้เพื่อตัวเอง กองทัพที่ออกหน้าสู้ด้วยความทันสมัยที่พยายามสู้เพื่อได้กลับบ้าน เพื่อคำสั่งให้ไปเล่นกนะดานโต้คลื่น และเพื่ออะไรอีกจากการปลุกใจเสือที่ส่งสาวๆเพลย์บอยมาเต้นบนเวทีสอดคล้องจังหวะเพลงร็อคชวนกระส่ำกระส่าย ดูเหมื่อนบรรยากาศของหนังจะแสดงลักษณะสงครามที่ไม่ได้มาเพื่อรบตามที่เข้าใจ

สังเกตเอาได้จากฉากหนึ่งที่มีการบันทึกเหตุการณ์สงครามของเหล่าตากล้องที่พยายามบอกทหารที่หันมามองว่าอย่างมองกล้อง มันเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการเก็บบันทึกเหตุการณ์ที่น่าสลดเป็นเพื่อความบันเทิงให้คนที่บ้านได้ดู ประเด็นคือสงครามที่รบๆฆ่าๆกันในหนนี้มีความหมายอะไรบ้างกับผลชัยชนะ หลังสงครามเราจะบอกได้ไหมถึงคุณค่าในครั้งนี้ของอเมริกันที่รบกันอย่างแทบเป็นแทบตายกับคุณค่าของเวียดนามที่ถูกมองแบบเหยียดยามทั้งที่มันไม่ได้เลวร้ายรุนแรงอะไรเลย ด้วยประการนี้การเปิดเผยจึงได้เริ่มขึ้นจนชัดเจนถึงข้อวิตกทั้งหลายที่เอารัดเอาเปรียบ สุดท้ายเราคงต้องตั้งคำถามกับตัวเองถึงสงครามครั้งนี้ที่ไม่รู้ว่ารบเพื่ออะไร และในสายตาของวิลลาร์ดเขาเห็นอะไรนอกจากไฟสงครามที่ลุกโชนครั้งนี้


Apocalypse Now เปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ทางด้านภาพและการสร้างที่ยิ่งใหญ่ เป็นผลงานมุดทะเยอทะยานที่น่าชื่นชม แต่ส่วนในแง่ของเนื้อหาที่ถ่ายทอดออกมานั้นยังในแบบที่คลุมเครือชวนสับสนกับภายใต้จิตใจของตัวละครระหว่างวิลลาร์ดกับผู้พันเคิร์ทซ บ้างอาจจะรับชมเรื่องนี้ด้วยปากต่อปากจากเรื่องของฉากเฮลิคอปเตอร์ตลบด้วยระเบิดนาปาล์มอันร้อนแรงใส่ดงมะพร้าว ที่กล่าวขวัญได้ว่าเป็นฉากที่ยิ่งใหญ่ด้วยลีลาการถ่ายทอดมุมภาพอันแสนกว้างพร้อมรายละเอียดที่ทั่วถึงรอบอาณาเขต ด้วยเทคนิคตื่นตาตื่นเต้นเช่นนี้ที่เอากันแบบสดๆไม่อาศัย CGI หรือคอมพิวเตอร์มาแต่งเติมกราฟฟิค ทั้งหมดคือของจริงที่ไม่หลอกหลวง ด้วยความสามารถระดับนี้จึงน่ายกย่องอย่างยิ่งในเรื่องของฝีมือที่สร้างผลงานระดับทุนไม่มหาศาลให้ออกมาอลังการอย่างไร้ที่ติ แถมด้วยความคิดที่ผ่านกระบวนการไตรตรองแล้วด้วยนับว่าหาหนังแบบนี้สักเรื่องคงเกิดได้ยาก

อย่างที่ว่าเอาไว้กับเนื้อเรื่องที่คลุมเครือชวนสับสนมีที่มาจากการเล่าเรื่องที่ส่งผลในตอนจบที่บ้างอาจผิดหวังจากความที่เป็นหนังสงครามที่ขาดความสนุกเอามันส์ ยกเว้นแต่ฉากผู้พันคิลเกอร์ (Robert Duvall) สั่งถล่มหมู่ชาวเวียดนามจนย่อยยับกระจุยกระจาย ระเบิดตู้มต้ามชนิดไม่อยากกระพริบตา ในขณะที่ฉากอื่นๆล้วนมีระยะตื่นเต้นไม่นานเพียงแค่ไม่กี่นาทีกลับส่งผลทางจิตใจผู้ชมอย่างทรงพลังจนเป็นความต่อเนื่องที่รับเอาไว้ในการรับชมต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่เบื่อ เพียงจุดๆนี้ที่ผู้ชมอยากเอามันส์อย่างเดียวต้องรู้สึกเบื่อกับเซ็งคือฉากสงครามที่อลังการอย่างว่าดันมีแค่ฉากเดียว


พอพ้นช่วงนั้นเป็นบทบาทของวิลลาร์ดที่ต้องรับภาระในภารกิจครั้งที่เดินทางทอดยาวทางแม่น้ำกับเหล่าทหารลูกเรือที่บ้างดูมีสมองบ้างดูไม่ต่างกับทหารที่สะกดเป็นแต่คำว่ากระหาย โดยในระหว่างเดินทางด้วยเรือนั้นไม่ต่างอะไรกับการเล่าเรื่องที่เอาตัวเองเป็นกลางของเรื่องที่ชักจูงผู้ชมผ่านวิลลาร์ดในการติดตามประดังทหารร่วมเรือที่อาศัยติดตามคุ้มกัน ในระหว่างเดินทางนี่แหละที่ต้องเจออะไรต่อมิอะไรมากมายที่ล้วนแต่มีความกดดัน หดหู่ คำถาม และข้อเท็จจริงที่ไขว้เขวมากมาย ฉะนั้นความเข้าใจที่แยกแยะระหว่างการวิเคราะห์จึงมีความเสี่ยงต่อการตีความ ด้วยความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้นทุกครั้งที่เดินเรือ เราจึงมองว่าน่าเสียดายที่ฉากมันส์ๆที่ติดใจแบบนั้นไม่มีอีกแล้ว เนื่องจากช่วงหลังๆจะเป็นการเสนอหนทางชีวิตซะส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ชมที่ไม่คิดมากต้องคิดเยอะขึ้นมาทันทีในแต่ละฉากที่แฝงความหมายมามายตลอดจนการตีความเชิงเสียดสีอีกนับไม่ถ้วน

วิลลาร์ดได้รับมอบหมายความลับสุดยอดจากกองทัพไปสังหารผู้พันเคิร์ทซที่น่าจะจิตวิตถาร ด้วยการเดินทางย้อนแม่น้ำนังเข้าลึกไปถึงดินแดนกัมพูชาที่ได้เรือตรวจประกอบไปด้วยลูกเรือ 4 คน ประกอบด้วยชีพ (Albert Hall) ,เชฟ (Frederic Forrest) ,คลีน (Laurence Fishburne) และแลนซ์ (Sam Bottoms) ทั้งสี่ต่างคนต่างมีลักษณะนิสัยของตัวเองที่แตกต่างจนคล้ายเด็กน้อยที่พึ่งเหยียบสงครามเป็นครั้งแรกในชีวิต แม้ว่าในหมู่ทั้งหมดจะมีชีฟเป็นหัวหน้าทั้งเหลือสามคนก็ใช่จะดูบ้าอำนาจ ซ้ำยังดูมีระเบียบในการรักษาวินัยทหารที่ดีจนดูเป็นผู้ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม แต่ด้วยเป็นคนที่ไม่ฝักใฝ่ต่อโลกภายนอกบางครั้งจึงเหมือนจะตีแยกออกจากพวกเสมอ ก็อย่างที่รู้ว่าสงครามไม่ปรานีแม้กระทั่งการเอาคนมาเกณฑ์ทหารที่ใจมีความปรารถนาอยากทำอย่างอื่นเช่นเชฟที่ใฝ่ฝันตัวเองอยากเป็นพ่อครัว หรือจะคลีนเด็กหนุ่มสีผิวอายุสิบเจ็ดที่เติบโตจากการปลูกฝังพื้นเพแย่ๆ ซึ่งสงครามครั้งนี้เขาคือเด็กน้อยจอมกระหายที่อยากลั่นไกใส่เวียดกงอย่างสะใจ และคนสุดท้ายแลนซ์นักกระดานโต้คลื่นที่วิลลาร์ดเอาตัวเขามาร่วมก่อนจะโดนผู้พันคิลเกอร์จับโยนให้ลงน้ำเล่นกระดานโต้คลื่น


คำถามคือทำไมถึงเอาพวกเขามาร่วมเดินทางครั้งนี้ด้วย ทั้งที่น่าจะเอาผู้ดูมีประสบการณ์สงครามยังพออุ่นใจได้มากกว่าพวกแรกเริ่มในการรบ ทั้งนี้เพราะโลกยังแคบเกินไป พวกเขายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ ต้องรับประสบการณ์ให้กว้างยิ่งขึ้น แล้วจะรู้ว่าไม่มีใครยิ้มออกระหว่างทำสงครามที่ไม่รู้เมื่อไหร่ลูกกระสุนจะเข้าหาตัวเอง


"ล้างโลกในตอนนี้เลยแล้วเราจะได้รู้ถึงก้นบึ้งที่กำลังเปิดเผยในด้านมืด"

ผู้พันเคิร์ทซที่ต้องบัญชีด้วยเหตุจิตวิตถารนั้นอันที่จริงมาจากการสรุปเพียงคร่าวๆ ความจริงแล้วเขากำลังสร้างกองทัพอิสระของตัวเองขึ้นมาในฐานะพระเจ้า ด้วยเหตุที่ว่าฝักใฝ่ไร้ฝ่ายทำสงครามกับทุกกลุ่มเหล่าอย่างทารุณโหดเหี้ยม ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพสรุปผลอย่างเต็มร้อยว่าเป็นพฤติกรรมฟั่นเฟือง เพื่อไม่ให้เป็นที่เสื่อมเสียมากกว่านี้จึงจำต้องลงมือขั้นเด็ดขาด หรือที่เรียกว่าเช็คบิลคงไม่ผิด ทว่าฝ่ายที่รู้สึกอึดอัดกับภารกิจครั้งนี้คือเจ้าตัวที่ได้รับมอบหมายเช็คบิลในครั้งนี้ เพราะว่านั้นไม่ใช่เรื่องที่เขารู้สึกหรืออยากกระทำเลยแม้แต่น้อย ฉากต้นเรื่องที่ถ่ายภาพต้นมะพร้าวเรียงหน้าที่ไม่กี่วินาทีจะตามด้วยระเบิดนาปาล์มคือการปลูกตัวตนของวิลลาร์ดออกมาจากบนเตียงที่ครวญคิดถึงความว่างเปล่าของตัวเองที่แทบจะไร้สาระ ขณะหนึ่งไม่ต่างอะไรกับผู้ป่วยทางจิตที่อยากกลับเข้าสู่สนามรบที่เป็นวิถีชีวิตของตัวเองมากกว่าจะอยู่ร่วมกับสังคม เหตุการณ์นี้ได้แทรกแซงมุมเสียดสีของรูปลักษณ์ของสงครามที่ไม่ต่างกับยาเสพติดที่อาจถึงขั้นกระวนกระวายจนลงแดง ด้วยวิธีการทำสงครามของกองทัพอเมริกันเป็นเหตุผลที่เกิดการถากถางในใจอยู่เสมอ ข้อดีที่หนังเผยตัวตนของวิลลาร์ดในแบบที่มากประสบการณ์ในสงครามมาก่อน ฉะนั้นเขาจะไม่ใช่เด็กน้อยเดินหลงเข้าหาความโหดร้าย ทว่าเพราะยังงี้เขาจึงกัดกลุ้มเรื่องชีวิตของตัวเองที่ผ่านอะไรมานักต่อนักจนกระเทือนต่อการรับรู้ที่ยากเกินห้วนไปมีชีวิตในสังคมที่ตอนนี้เป็นเรื่องยากสำหรับเขา

วิลลาร์ดขุ่นคิดเกี่ยวกับตัวเองที่ภาวะไร้สงคราม และตอนที่เรียกตัวนี่เองที่ทำให้เขาสมใจอยากเข้าสมรภูมิรบอีกครั้ง ด้วยความอยากจึงกระโจนเข้าหาอย่างไม่ลังเลและพร้อมรับคำสั่งในหน้าที่ของตัวเอง  ทว่าการรอคอยหน่วยเหนือมอบภารกิจให้ปฏิบัติในครั้งนี้อาจไม่เป็นที่ปลื้มใจนักกับบทบาทนักลอบสังหาร แม้จะสมใจได้เหยียบลงสงครามก็ตามที่ แต่ด้วยความอยากลงไม้ลงมือชวนให้เขาต้องนั่งทบทวนประวัติของผู้พันเคิร์ทซแทน ฉะนั้นตลอดระยะเวลาที่หนังได้เริ่มตลอดจนได้พบเป้าหมาย เราจะเห็นได้ว่าพวกเขาไม่มีอะไรทำนอกจากนั่งเรือลุยตามที่ต่างๆแบบแค่มาผ่านทางไม่ใช่หน่วยช่วยเหลือใดๆทั้งสิ้น ในมุมมองหนึ่งพวกเขามาสนามรบแต่ไม่ได้รบอย่างคนอื่นๆจึงชวนให้รู้สึกกระหายอยากไม่น้อย
 

"ผมชอบกลิ่นระเบิดนาปาล์มในตอนเช้า กลิ่นเหมือนกับ...ชัยชนะ"
 
ด้วยการเดินทางที่ใช้เวลาอยู่ไม่น้อยจึงจำเป็นต้องขออาศัยเฮลิคอปเตอร์ของผู้พันคิลเกอร์ช่วยโดยสารให้ ตรงนี้เองที่ทำให้ได้พบวิธีการของหน่วยทางอากาศที่ยิงโหมกระหน่ำไปแบบไม่เลือกหน้าทั้งหญิง เด็ก คนแก่รวมอยู่ด้วย ปัญหาคือทำไมไม่ทยอยจัดการทีละขั้นตอนอย่างเป็นระเบียบ แต่นั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตที่ผู้ชมจะคำนึงจนสั่งให้ลูกน้องตัวเองไปเล่นโต้คลื่นเพื่ออะไร? ถ้าคิดไปถึงฉากลงเครื่องบินจะรู้ว่าเพราะอะไรตากล้องจึงตะโกนบอกว่าอย่ามองกล้องเป็นอันขาด ก็หรอกนะเพื่อความบันเทิง ผู้พันคิลเกอร์อาจจะสติดีทำยุทธวิถีได้เก่ง ทว่าเขาชอบทำตัวอิสระเกินไปกับตัวตนสงคราม จนไม่แปลกที่วิลลาร์ดบอกว่า"ยิ่งเขาทำตัวเหมือนอยู่บ้าน เราก็ยิ่งอยากกลับบ้าน" อยากแรกคือเราเห็นผู้พันคนนี้ด้วยจิตใจทารุณบวกกับความสนุกที่ได้ทำยิงมันส์อย่างสะใจ สังเกตได้จากการเปิดเพลง Ride of the Valkyries ของ Wagner เพื่อเร่งเร้าอารมณ์อันแสนจะเพลิดเพลิน ในยามนี้อารมณ์ของชมคงจะสุนทรีไม่ต่างอะไรกับผู้พันคิลเกอร์

การเปิดเพลงอาจเป็นเพื่อให้กำลังใจทหาร ทว่าหลังจัดการด้วยทางอากาศจนอีกฝ่ายพินาศไปแล้วเหตุอันใดต้องมาเล่นคลื่นกันอีก สรุปแล้วภายในหัวของผู้พันท่านนี้กำลังคิดอะไรอยู่กันแน่ แต่อะไรซะอีกถ้าเราเห็นว่าผู้พันคนนี้มีจิตใจเมตตาต่อพวกเวียดนามด้วยเช่นกัน เห็นได้จากตัวอย่างสองครั้งสองคราที่ครั้งแรกนำน้ำสะอาดมาให้คนเวียดนามที่กำลังบาดเจ็บอยู่ โดยก่อนหน้านี้ลูกน้องทหารของเขากลับบอกให้เอาโคลนกินยังดีกว่า ครั้งที่สองเป็นตอนที่แม่อุ้มลูกเพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งผู้พันคิลเกอร์ได้ส่งต่อเข้าไปให้หน่วยรักษาจัดการต่อทั้งที่ตอนวิ่งเข้ามามีทหารคอยห้าม ส่วนหนึ่งทำให้รับรู้ได้ว่าผู้พันคนนี้อันที่จริงเบื่อสงครามจนเคยชิน และรับสภาพของความเป็นไปของสงครามแบบปล่อยว่าง ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกว่าเขาทำอะไรก็ดูเหมือนอยู่บ้านได้ยังไง บ้างทีตอนที่เขาอยู่บ้านอาจนั่งชมวิวริมทะเล มีชีวิตชีวากับคลื่นทะเลที่มีบรรดานักโต้คลื่นเล่นน้ำอยู่ก็ได้ ดังนั้นสงครามอาจดึงภาพลักษณ์ของตัวเองออกมาแบบไม่รู้ตัวเช่นด้านมืดมิดที่จู่ๆก็กลายเป็นอีกคนหลังสงคราม
 

ความขัดแย้งในตัวผู้พันคิลเกอร์เราอาจรู้มาก่อนหน้านี้อยู่บ้าง แต่สำหรับวิลลาร์ดในบางจังหวะเราแทบสับสนในตัวของเขาที่รีบจัดการอย่างรวดเร็ว ตัวหนังเผยให้เห็นถึงความไม่เรื่องมากของวิลลาร์ดกับการเดินเรือที่ทนได้กับลูกน้องตัวเอง จนกระทั่งเรื่องราวต้องมาสะดุดที่เจอเรือของเวียดนาม ด้วยความสงสัยของชีพจึงต้องตรวจสอบเรือลำนั้นเพราะคิดว่าอาจเป็นต้นทางขนส่งเสบียงให้พวกเวียดกง ด้วยการทักท้วงของวิลลาร์ดที่บอกถึงเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ยังมีภารกิจอย่างอื่นต้องทำ สุดท้ายชีพที่ทำหน้าที่ขับเรือต้องกลายเป็นผู้นำตรวจดูในที่สุด และสุดท้ายเรื่องที่ไม่น่าเกิดก็เกิดขึ้นจากคนที่อ่อนประสาทสัมผัส เนื่องจากความตกใจเพียงชั่ววูปก็เกิดการยิงสาดกระสุนที่มาจากฝ่ายเดียว ฝ่ายที่ยิงคือทหารอเมริกัน! ชาวเวียดนามไม่ผิดเพียงเป็นผู้ต้องสงสัยต้องมาตายด้วยเหตุสุดวิสัยเท่านั้นเองเหรอ ฉากนี่จัดว่าทำออกมาได้ดีแถมให้แรงกดดันชวนหดหู่ไม่น้อย แต่ที่น่าสลดใจสุดๆคือตัวตนของวิลลาร์ดที่เอาจริงกับการยิงผู้หญิงเวียดนามที่กำลังอยู่สภาพปางตายอย่างเลือดเย็น

ฉากที่หละหลวมมากที่สุดคือฉากเข้าจอดท่าที่หน่วยพยาบาลที่บอกเอาไว้ เนื่องจากมันค่อนข้างร่ำไรและชักช้า วิลลาร์ดได้เจอเฮลิตอปเตอร์ของบรรดาสาวเพลย์บอยที่ไปปลุกใจเสือในคราวก่อนที่ตอนนี้น้ำมันหมด ด้วยท่ามกลางพายุโหมกระหน่ำจนพื้นดินแฉะเป็นโคลน เขาเข้าไปจัดการต่อรองกับผู้จัดการกระต่ายสาวด้วยน้ำมันสองถังเพื่อแลกกับเวลาเฉพาะสองชั่วโมง ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไรที่แน่คือการให้คนที่เหลือจัดการเอาเองตามสบายใจ จะมีเพียงวิลลาร์ดกับชีพที่ไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวใดๆ ในขณะที่คนอื่นๆต่างทำช่วงเวลานี้ไปกับเรือนร่างตามปรารถนาที่อดยาก แม้เหตุผลที่แท้จริงจะไม่รู้ว่าอะไรก็ตาม ถ้าคาดเดาดูแล้วคงไม่ต่างอะไรกับอาหารมื้อสุดท้ายของนักโทษ ทั้งนี้แล้วแต่จะพิจารณาเอาล่ะกันสำหรับฉากนี้ที่ตัดทิ้งได้ก็ดี มีไว้ประดับก็ไม่เสียหาย เหมือนตอนวิลลาร์ดขโมยกระดานโต้คลื่นจากผู้พันคิลเกอร์ที่ไม่รู้ว่าเพื่อความสนุกอะไรกันนักกันหนา แต่ที่แน่คือการไม่ละทิ้งความรู้สึกความอยากในพล็อตเรื่องส่วนนี้ขนาดที่ว่าหลบหนีพักริมแม่น้ำแล้วยังมีเสียงป่าวประกาศจากผู้พันคิลเกอร์ไปทั่วให้เอากระดานโต้คลื่นคืนมา คงรู้สึกว่าน่าจะเป็นมุขเล็กๆน้อยๆที่ใส่เอาเพื่อผ่อนอารมณ์อย่างหนึ่งในเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้เลยจริงๆ ขณะเดียวกันเป็นจุดตอกย้ำถึงระบบทำสงครามที่เปล่าประโยชน์และสิ้นเปลือง
 

การเดินทางที่เริ่มเข้าลึกตลอดเส้นทางจนไปเจอกับกลุ่มกองกำลังฝรั่งเศสที่ตั้งรกร้างถิ่นฐานอาศัย วิลลาร์ดได้ถูกเชิญรับประทานมื้อเย็นกับเจ้าภาพ เนื้อหาของหนังจะหนักแน่นในจุดนี้ที่กำลังเพาะกระจายเมล็ดอย่างเมามันส์กับบทสนทนาที่เรียกว่าวิพากย์วิจารณ์อย่างดุเดือด เริ่มตั้งแต่พูดคุยกันแบบธรรมดาจนถึงขั้นถกเถียงแบบไม่มีประนีประนอม ด้วยบทสนทนาที่กลั่นกรองแบบอ่านหนังสือประวัติมาอย่างดิบดีระหว่างตัวฝรั่งเศสกับพวกเวียดกง หลายๆอย่างที่กล่าวบอกนั้นมีจุดที่น่าเชื่อถือคือหัวข้อที่ตัวเองพูดอยู่ จากนั้นตามด้วยข้อเท็จจริงเชิงยัดข้อมูลไปเปรียบเทียบ แสดงให้เห็นถึงบทสรุปแบบวิพากย์วิจารณ์ทั้งแบบอ้อมๆจากรูปแบบสังคมที่เดี๋ยวบริโภค เดี๋ยวสังคมนิยม เดี๋ยวทุนนิยม และตรงไปตรงมาที่ตีตรงมาถึงตัวอเมริกาซะเอง ฉะนั้นสำหรับใครที่เรียนรู้สงครามมาอย่างดิบดีคงอดไม่ได้ที่จะอยากเข้าไปถกเถียงด้วยอีกคน ทว่าจะอะไรซะอีกเมื่อยิ่งฟังประสบการณ์ของฝรั่งเศสยิ่งเหมือนตัวเองอยากตั้งคำถามเกี่ยวหับสงครามเวียดนามครั้งนี้ว่า"เรารบเพื่ออะไร"และ"ทำไมคนอเมริกันอย่างเราถึงไม่เรียนรู้ความผิดพลาดครั้งก่อนเริ่มสงครามนี้"
 
สรุปแล้วสงครามนี้มีความว่างเปล่าเดินกลับบ้าน ไม่เหมือนตอนทำสงครามที่ตักตวงความเพลิดเพลินจนลืมตัว
 

คิดว่ามีอยู่ฉากหนึ่งที่โดดเด่นจนเหมือนตัวเองเข้าไปในโลกแห่งฝันกึ่งจริง ด้วยเทคนิคเรื่องภาพ แสง และหมอก ตอนที่เริ่มด้วยหมอกหนาแล้วค่อยลางหายทีละนิดประหนึ่งกำลังสื่อความหมายบางอย่างออกมา เป็นภาพพจน์ที่วิลลาร์ดเห็นก่อนจะพบทหารฝรั่งเศสยืนคอยในดงหมอกที่กำลังหายไปอย่างชัดเจนขึ้นทันตา ตามด้วยฉากฝังศพคลีนที่ถูกยิงตายขณะฟังเสียงแม่ในเทป ถ้าว่าฉากนี้ก่อนคงอดคิดไม่ได้ว่าเป็นช่วงที่น่าหดหู่อย่างมาก ทั้งที่คลีนกำลังฟังเสียงแม่ที่กำลังปลอมใจอยู่แท้ๆ เป็นอะไรที่น่าประทับอย่างแรกที่สงครามยังมีเรื่องน่ายินดีอย่างนี้อยู่ ทว่าจังหวะการเรียบเรียงที่เนียบเนียนทำให้เรารู้สึกได้ถึงการเสียไปอย่างน่าใจหาย ถือเป็นอีกเรื่องที่คนตายในสงครามมักตายในเวลาที่ตัวเองกำลังมีความสุขเสมอ คล้ายบุญมีแต่กรรมบังว่างั้นเถอะ ย้อนมาที่เรื่องฉากหมอกปกคลุมเหมือนอยู่ในภวังค์ ไม่พอเท่านั้น ยังมีฉากที่กล่าวข้างต้นคือฉากดินเนอร์มื้อเย็นที่งดงาม มีลักษณะแดดอ่อนๆคล้ายย้อมเป็นสีทองจากพระอาทิตย์ คล้ายบอกวันเวลาที่เริ่มใหม่กับเวลาที่ย้อนไม่ได้ ในตอนที่แดดส่องนี่แหละมีเพียงวิลลาร์ดโดนส่องหน้าจนเขาต้องเอามือปิดแดดที่กระทบสายตา ยิ่งตัวเองเป็นฝ่ายรับมากกว่าพูดในการสนทนาด้วยแล้วคล้ายตัวเองกำลังรับรู้เข้าใจบางอย่าง อีกทางหนึ่งกำลังบอกว่าเขาเป็นพวกแตกต่างเช่นคยอเมริกันคนอื่นๆ สำหรับเขาคงอาจไม่มีอะไรแค่แดดยามเย็นที่ดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า
 

"The Horror.The Horror"

ตอนต้นเรื่องวิลลาร์ดเริ่มคุ้นเคยกับความน่ากลัว เนื่องจากตัวเองเคยประจำการ ได้เห็นความน่าสะพรึงกลัวมาแล้วเช่นทหารคนอื่นๆ ดูได้จากสภาพความเป็นอยู่ในโรงแรม มีปืนวางบนโต๊ะข้างเตียงที่สื่อถึงตัววิลลาร์ดอยากจะฆ่าตัวตาย ถึงงั้นยังเล่าด้วยว่าหลังจากกลับจากประจำการตัวเองไม่สามารถกลมกลืนกับสังคมปรับชีวิตเข้าหาอเมริกันได้อีกต่อไป ซ้ำยังเห็นมุมขัดแย้งตัวเองทั้งกรีดร้อง ส่งเสียง ร้องไห้ ทุบกระจก แสดงความต้องการที่อดทนรอไม่ไหวอีกต่อไป ตัวเขาครวญหาภารกิจอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองมีความหมายขึ้นมาบ้าง สภาพเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับบุคคลล้มละลายกับชีวิตที่กำลังขาขึ้น ที่ดีคือเขาได้ภารกิจจากกองทัพตามที่หวัง เพียงแต่ว่าวิลลาร์ดมีความขัดแย้งในภารกิจนี้ว่าสมควรทำดีหรือไม่ เพราะเขากับผู้พันเคิร์ทซมีบางอย่างเหมือนกัน เหมือนกันที่เข้าใจถึงความวิกลจริตของอีกฝ่าย
 

เมื่อวิลลาร์ดได้พบกับผู้พันเคิร์ทซ ผู้ชมต่างมองเห็นถึงอำนาจมากมายในการควบคุมคนป่า ทุกสายตาจับจ้องวิลลาร์ดคล้ายตัวประหลาดที่เข้ามาในถิ่นศักดิ์สิทธิ์ ขณะเดียวกันการมาที่แห่งนี้เหมือนจะว่าง่ายก็กลายเป็นบททดสอบที่เขาไม่รู้ตัว ใบหน้าอันเลือนลางที่แอบในเงาแสดงถึงความสับสน นิ่งสงบ และน่ากลัว ผู้พันเคิร์ทซค่อยโผล่หน้าออกมาประดุจพระเจ้าโลกมืดที่ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย วิลลาร์ดถูกจับขังคุกอย่างทรมาน แต่ในภายหลังถูกปล่อยตัวและดูแลอย่างดีเช่นส่วนหนึ่งของที่นี้ ทั้งๆที่รู้ว่าการมาของนายทหารวิลลาร์ดนั้นมีจุดประสงค์อะไรแท้ๆ กลับดันปล่อยคล้ายให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงโดยไม่สนความเป็นความตายของตัวเองเลยสักนิด จุดนี้ถ้าใครมองตัวละครผู้พันเคิร์ทซออกจะรู้ว่ามีมุมมองที่น่าเบื่อ ชวนเหน็ดเหนื่อย เหมือนจะบอกว่าการมาของภารกิจครั้งนี้อาจเป็นการเปลี่ยนชีวิตของเขาให้จบเสียที จบจากบทบาทของพระเจ้าองค์นี้ที่ใช้อำนาจจนหมดแล้ว

สุดท้ายวิลลาร์ดที่เกือบจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้พันเคิร์ทซตัดสินใจสังหารในท้ายสุด อาจเป็นเพราะเขายังยึดมั่นในภารกิจที่มอบหมายมา ทว่าภารกิจอะไรนั้นดูจะไร้ความหมายออกไปหลังจากที่ตัวเองมาถึงที่แห่งนี้ จากที่รู้ว่าพระเจ้าเหนื่อยล้าและไม่อยากอยู่ต่อไป พฤติกรรมของวิลลาร์ดคือการช่วยสงเคราห์ซะแทน ด้วยเทคนิคสลับฉากระหว่างบุกเข้าลอบสังหารกับคนพื้นที่ที่กำลังใช้มีดสับคอวัวในฐานะส่วนหนึ่งของพิธีบวงสรวงเทพเจ้า เมื่อวิลลาร์ดเข้าสังหารผู้พัน ภาพที่ปรากฏขึ้นคือการเตรียมรับความตายอย่างไม่มีการขัดขืนต่อมีดที่ลงร่างของเขา เหมือนวัวที่ถูกฆ่าเพื่อบูชายัญที่ไร้วี่แววของอาการตื่นตัว การกระทำเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการทำเพื่อไถ่บาปที่ทางทหารอเมริกันได้ก่อเอาไว้ ถึงแม้จะเต็มไปด้วยความโป้ปดอันไร้ซึ่งเหตุผลก็ตามที ทว่าหลังจากที่ทำภารกิจเสร็จสิ้นคนที่เดินออกมาคือวิลลาร์ดที่ส่วมบทบาทของผู้พันเคิร์ทซในฐานะเทพเจ้าองค์ใหม่ วิธีนี้ไม่ต่างอะไรกับวิธีเก่าแก่ที่ใช้ความรุนแรงในการแย่งชิง ก็ว่าตามตรงคือ"ฆ่าได้ก็ได้ครอง" ฉะนั้นเมื่อเดินออกมาสภาพที่เห็นได้จากทุกสายตาของวิลลาร์ดเป็นการแสดงถึงความเคารพที่คุกเข้าน้อมนอมอย่างมีเกียรติ ตอนนี้เขาคือผู้สืบทอดไปแล้วในอีกฐานะหนึ่ง
 

หลังจากภารกิจลุล่วงโดยสมบูรณ์ การเดินออกมาเห็นสาวกก้มหัวในขณะเดินผ่านจึงเป็นอีกหนึ่งความลังเลในใจของตัววิลลาร์ดว่าเขาควรอยู่ที่แห่งนี้ต่อไปดีหรือไม่ หากแต่ลังเลเพียงชั่วครู่เท่านั้นก่อนจะเดินกลับขึ้นเรือแล้วจากที่นี้ไป แม้เราจะไม่รู้ว่าเขาไปที่ไหนเพราะไม่ติดต่อทางกองทัพกลับไป แต่ด้วยสภาพจิตใจในตอนนี้เขามีความสาหัสมากแค่ไหน ตอนนี้สิ่งที่น่าเหมือนกันได้ทำลายตัวตนอีกตนไปแล้ว ผู้ชมคงไม่ลืมว่าฉากที่วิลลาร์ดนอนกับผู้หญิงที่ส่งฝิ่นให้สูดนั้นมีประโยคที่บอกถึงความขัดแย้งได้ชัดเจน กับประโยคว่า"มีคนสองคนในตัวคุณ อีกคนหนึ่งนักฆ่า อีกคนหนึ่งนักรัก" จะรักหรือฆ่าสุดท้ายต่างลงเอยที่ว่าวิลลาร์ดจะทำยังไงกับชีวิตตัวเองต่อไป เราคงได้เห็นแค่วิลลาร์ดนั่งเรือกลับไปด้วยความสับสนกับการกระทำของตนและสิ่งที่จะทำต่อไปพร้อมกับประโยคของผู้พันเคิร์ทซ"The Horror.The Horror"

Apocalypse Now มีลักษณะเรื่องของตัวละครที่ซับซ้อนเกินคาดเดา ซ้ำยังเปี่ยมด้วยความเลวร้ายของสงครามเวียดนามที่แผ่ด้านมืดของทหารอเมริกันในด้านการประโลมโลกอย่างสนุกสนาม ในขณะที่ชาวเวียดนามเป็นผู้อยู่หลังตาข่ายทำได้แค่มอง แต่สิ่งที่ทำให้เหนือชั้นกว่าสงครามเรื่องอื่นคือสิ่งที่แบคายชวนลุ่มลึก ท้าทายกับผู้ชมแบบเปิดหูเปิดตา คงไม่แปลกใจเลยว่าสงครามไม่เคยให้อะไรดี สุดท้ายข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้คงเป็นความเลวร้ายของสงครามที่เริ่มจากในจิตใจก่อน ซึ่งจะยังไงนั้นถ้าเป็นสงครามมันไม่เคยมีอะไรดีหรอก

และแล้วสงครามที่นำมาซึ่งความสงบได้นั้นจำต้องมีความมืดออกมาด้วยเสมอ แล้วเราจะบอกได้ยังไงว่าสงครามยุติแล้วทั้งที่ในใจของเรายังต้องการสงครามไม่ร้างลา

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)