Scream (1996) หวีดสุดขีด

Scream (1996) | หวีดสุดขีด
Director: Wes Craven
Genres: Horror | Mystery
Grade: A-

กฎข้อแรก"จงอย่าได้มีเซ็กซ์เป็นอันขาด"
ข้อสอง"อย่ายุ่งกับสิ่งเสพติดทุกชนิด"
ข้อสามอย่าบอกว่า"ฉันจะกลับมา"
และข้อสุดท้าย"ทุกคนเป็นผู้ต้องสงสัย"

นี่คือพื้นฐานเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับสูตรหนังสยองขวัญทั้งหลายแหล่ที่ซึ่งล้วนหลีกหนีข้อดังกล่าวทุกใดข้อหนึ่งไม่ได้หมด เว้นแต่ว่านั่นจะเป็นมากกว่าหนังสยองขวัญเพี้ยวๆ อย่างข้อแรกที่ว่าเรื่องเซ็กซ์อันเกิดจากความกระหายของช่วงวัย โดยเฉพาะวัยรุ่นอันแสนอยากลองพิสูจน์เรื่องเพศจนเป็นธรรมเนียบที่ต้องพบประจำแทบทุกๆเรื่องที่อย่างน้อยจะหาเวลามีอะไรกันได้ตลอดแม้สถานที่จะไม่อำนวยเลยก็ตาม ซึ่งเป็นจังหวะของผู้ชมที่อยากดูบ้างล่ะมีของดีโชว์บางล่ะ แต่เรื่องแบบนี้ดันชอบกันจริงเพราะมันมีอารมณ์เป็นภูมิหลังช่วยเสริม จึงไม่แปลกอะไรเท่าไหร่ว่าหนังสยองจำเป็นต้องมีมากกว่าการฆ่าได้ซึ่งเลือดกับศพ เนื่องจากเป็นการเจาะเข้ากลุ่มวัยรุ่นให้ออกมาเร้าใจคล้ายกับต้องสยองแล้วต้องกระตุ้นด้วย ดังนั้นหนังสยองขวัญจึงมีผลพวงเรื่องเพศอยู่ทั้งการแต่งกาย และอิทธิพลอีกหลายอย่างอันไม่จำเป็นที่นำพามาสู่เรื่องเซ็กซ์ได้ เช่นกับการหาความสุขใส่ตัวแต่หารู้ไม่ว่าจะเป็นจุดจบของชีวิตได้เช่นกันเมื่อนางเอกที่รอดมักจะเป็นสาวพรหมจรรย์แสดงถึงความบริสุทธิ์ผิดกับตัวละครอื่นๆที่ตายเพราะมีเซ็กซ์กันแล้ว เป็นอีกหนึ่งมุมมองแสดงถึงการกระทำแห่งบาป หรือความสะอาดอันได้รับการปนเปื้อนจนต้องชำระล้างด้วยการกำจัด ซึ่งนั่นแหละเป็นมุมสะท้อนวิถีชีวิตของชาวตะวันตกที่มองว่าเป็นเรื่องปกติทั้งที่น่าจะห้ามๆเอาไว้บ้าง ทั้งนี้ยังมีเหตุผลอื่นๆอีกมากมายเกี่ยวกับเซ็กซ์ว่าทำไมต้องเพราะเช่นนี้อย่างเรื่อง Friday the 13th ที่กล่าวกันว่ามีสูตรตายตัวเรื่องตัวละครมีเซ็กซ์แล้วพบอันเป็นไปบ่อยมาก แต่หารู้ไม่ว่าเมื่อมองความเข้าใจในจุดนี้ตั้งแต่ภาคแรกจะรับรู้ว่านี่คือปมประเด็นอย่างหนึ่งที่สะท้อนชีวิตวัยรุ่นออกมาว่าเห็นแก่ตัวมากแค่ไหน


ในขณะที่ข้ออื่นๆไม่ต่างอะไรกันกับข้อแรกเรื่องบาปโดยเฉพาะข้อสองที่ว่าเรื่องสิ่งเสพติดอันเป็นเรื่องที่ผิดไปตามระเบียบ เมื่อเราติดอบายมุขทั้งหลายเรานี่เท่ากับได้ฆ่าตัวตายไปแล้วส่วนหนึ่ง ฉะนั้นไม่แปลกใจถ้าพวกนี้จะตายเพราะความกระหายหรืออาการเคลิ้มของตัวเอง ส่วนข้อสามและข้อสี่เสมือนการแสแสร้งว่าตัวเองคือคนที่ไว้ใจกับไว้ใจไม่ได้ เมื่อบอกว่าจะกลับมาเป็นการเตือนให้ผู้ชมรู้แล้วว่าจะกลับมาทำไมในเมื่อกำลังไปหาความตาย แล้วปล่อยให้เป็นปริศนาต่อไปแบบลับๆทั้งที่ทุกคนล้วนมีสิทธิ์เป็นผู้ต้องสงสัยได้ทั้งนั้นแต่เรื่องแบบนี้คิดกันน้อยมากยิ่งกับทุกคนที่รู้จักกันดี ยิ่งสถานการณ์เลวร้ายยิ่งวุ่นวายยิ่งทำให้ฆาตกรที่หลบซ่อนในคราบเพื่อนยิ่งได้ใจ แต่เราก็คิดน้อยจนเรียกว่าแทบไม่เคยคิดเลยว่าคนที่น่าจะใช่มีตัวจริงมากกว่าหนึ่งคน ทำไม? ก็ทุกคนล้วนเป็นผู้ต้องสงสัย จะมีจริงเพียงหนึ่งหรือสองอาจสามหรือจะทุกคนที่ร่วมกันหมดเพื่อจัดการคนๆเดียว เราไม่รู้หรอกจนกว่าจะเห็นหน้าของคนที่อยู่ภายใต้โฉมของใบหน้าฆาตกรรายนั้น ทว่าเราเริ่มรู้ตัวตอนที่จะตายซะมากกว่า ให้ตายเถอะใครคือคนที่ฆ่า อะไรคือแรงจูงใจต้องฆ่าด้วย


ผู้กำกับ Wes Craven สร้างหนังสยองขวัญมาหลายเรื่องจนยามที่ดีคือดีจริงๆยามเลวร้ายดูจะแย่ไปเลย เป็นผู้กำกับที่ขาขึ้นจะขึ้นสู่เป้าหมายได้อย่างสวยงามแต่พอไม่ถึงหนทางที่วางไว้สภาพไม่ต่างกับคนตกเหว เฉกเช่นหนังสร้างชื่อ The Hills Have Eyes (1977) ที่ทำให้คอหนังสยองขวัญรู้สึกปลาบปลื้มในผลงานชิ้นนี้ก่อนจะกลายเป็นภาคต่อใน The Hills Have Eyes Part II (1984) ที่ยังคงกำกับเองเหมือนเดิมแต่กลายสภาพของหนังจนไม่น่าใช่อย่างเดิมอีกต่อไป ทั้งความสนุกความสยองกลายเป็นมนุษย์ยุคหินในชุดไวกิ้งตามล่าเหยื่อ ถ้าจะที่ชอบจริงๆเห็นจะเป็น A Nightmare on Elm Street (1984) อันแสนแหวกแนวธรรมเนียมหนังสยองขวัญตามเค้าโครงแบบปกติเพราะเอกลักษณ์คือความฝันที่ส่งผ่านจากความรู้สึก เมื่อเรากลัวย่อมถึงคราวได้ แต่ถ้าเราสู้เราอาจรอดได้ นี่เป็นหนังสยองขวัญยอดฮิตอีกเรื่องที่ตัวเขาได้สร้างออกได้อย่างลงตัวจนมีภาคต่อยาวเป็นหางว่าวที่ถึงแม้จะมีส่วนสร้างแค่ 2 ภาค( New Nightmare (1994) )จากทั้งหมด 7 ภาคก็ตามที แต่สิ่งที่เรามองเห็นได้จาก A Nightmare on Elm Street คือกฎของหนังสยองขวัญที่ถูกพัฒนายกระดับให้กับเหล่าตัวละครมากขึ้นเมื่อได้เผชิญกับความฝันโดยการนำจินตนาการเข้ามาช่วย รวมถึงการกำจัดเฟรดดี้ครูเกอร์ด้วยการดึงตัวตนจากความฝันมาสู่โลกแห่งความจริง ซึ่งเท่ากับว่าจากเจ้าผีที่มีอำนาจจัดการได้ทุกอย่างจะกลายเป็นนักฆ่าฆาตกรธรรมดาๆเมื่อออกจากฝัน และสามารถจัดการเจ้าผีร้ายนี่ได้โดยง่ายมากกับโลกแห่งความจริงถ้าคุณมีแผนจัดการเอาไว้ก่อนแล้ว และที่ว่านี่เองมีส่วนคล้ายๆกับ Scream ตรงที่ถ้าไร้สติมักจะวิ่งหนีกลัวตาย แต่ถ้ามีสติพอระลึกได้ว่าตัวเองต้องทำอะไรมากกว่าวิ่งหนีอย่างเดียวจะรู้ทันทีว่าที่กลัวนั้นแค่ตกใจเพราะหน้ากากกับคำพูดพาผวาเท่านั้นเอง จริงๆเราอัดมันได้เลยถ้าไม่ติดเรื่องมีดคมๆที่มันถืออยู่หรอกนะ


สำหรับผู้กำกับ Wes Craven อาจเป็นที่น่าจดจำกับเรื่อง Scream ในความแปลกใหม่ แต่ขอให้ระลึกถึงคนเขียนบทด้วยว่าคนนี้เจ๋งใช่ย่อยกับ Kevin Williamson ในฝีมือการเขียนบทครั้งแรกที่เวลาต่อมาได้เขียนบทหนังสยองขวัญคุ้นหูอย่าง I Know What You Did Last Summer (1997) โดยเริ่มแรกเขาได้วางแผนเอาไว้แต่ต้นแล้วว่าจะทำ Scream เป็นไตรภาค แต่ด้วยที่ยังไม่มีใครซื้อบทไปทำหนังจึงได้แต่รอโอกาสภาคแรกที่น่าจะดัง จนกระทั่งได้ Miramax ซื้อสิทธิ์ไปในที่สุด และพร้อมเซ็นต์สัญญาว่าจะเขียนบทภาคสองกับสามให้อย่างที่ตัวเองคิดเอาไว้ เมื่อได้บทมาก็พร้อมจะสร้างหนังขึ้นมาจริงๆแต่ติดเรื่องของผู้กำกับที่ก่อนหน้านั้นได้วางตัวเลือกคร่าวๆเอาไว้มี Robert Rodriguez,Danny Boyle,George A. Romero และ Sam Raimi ทว่าบทหนังดูจะสุ่มเสี่ยงเกินหน้าเกินตาไปความแปลกใหม่จนบางคนคิดว่าเป็นหนังตลกมากกว่าจะดูสยองขวัญอย่างที่คิดเอาไว้ ซึ่งตัวเลือกทั้งหมดที่วางเอาไว้ไม่ได้ใช้จน Wes Craven ไปคุยกับ Kevin Williamson อย่างถูกคอ

จนท้ายที่สุดก็ได้ผู้กำกับที่เข้าใจในแก่นหลักของบทหนังเรื่องนี้แล้วว่าไม่ใช่หนังตลกเพียงแค่นี่เป็นการเสียดสีธรรมเนียมหนังสยองขวัญที่มีแต่คนที่เข้าใจจริงๆเท่านั้นจึงรู้สึกว่ามันไม่ธรรมดา และเกินคำว่าตลกร้ายเอาขำขันเท่านั้น ซึ่งนั่นก็เป็นสไตล์ถนัดของ Wes Craven เนื่องจากผลพวงมาจาก A Nightmare on Elm Street ภาคแรกที่ทำให้โด่งดังจนมีภาคต่อมากผูกำกับมาสร้างเรื่อยๆจนเริ่มๆมีความเละเทะไปตามระเบียบ ทำให้เจ้าของต้นตำหรับต้องลงมาปิดภาคต่อใน New Nightmare ที่มีเนื้อเรื่องหนังซ้อนหนัง ทั้งยังเป็นการแสดงถึงคุณค่าในภาคก่อนๆให้ออกมาดูมีความหมายมากขึ้น กระนั้นการปิดจบของเรื่องถ้าสังเกตดีๆไม่ต่างอะไรกับการแซวหนังของตัวเองที่อยู่ในคราบโลกความจริง โลกแห่งหนัง และความฝันมาปะปนกันอย่างครบเครื่อง เช่นเดียวกับ Scream ที่เกิดมาเพื่อเป็นลูกผสมของหนังสยองขวัญยกชุดที่นำทฤษฎีความน่าจะเป็นมายำจนฉีกกรอบของตัวเอง ไม่แปลกใจถ้าเมื่อก่อนจะมีอีกชื่อหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ว่า Scary Movie คุ้นชื่อกันไหมล่ะ


เสริมข้อสี่อย่าบอกว่า"ใครอยู่ที่นั่น"
และข้อห้าคุณจะไม่อยู่รอด"ถ้าออกไปเพื่อตรวจสอบเสียงแปลกๆ"

รู้สึกยังไงกับการเปิดตัว 12 นาทีแรกที่เล่นโดยนักแสดง Drew Barrymore ทั้งๆที่ควรเป็นดารานำมากกว่าจะมาเล่นสมทบในบทเคซี่ย์ เบคเกอร์ บางคนถึงกับเหวอได้เมื่อรู้ๆกันอยู่ว่าหลังพ้นช่วงเวลานี้ไปเราจะพบกับนักแสดงแปลกหน้ามากตาที่ทั้งล้วนเคยเห็นและไม่เคยพบมาก่อน นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่กำลังบ่งบอกถึงเป็นนัยๆแล้วว่าถ้ารู้ว่ามีดาราดังๆระดับแนวหน้ามาเล่นเป็นตัวหลักผู้ชมคงเดาได้อยู่หรอกว่าใครสมควรจะรอดมากกว่ากัน และทั้งนี้การปรากฎตัวของนักแสดงอื่นๆทำให้ผู้ชมครุ่นคิดแล้วว่าจะไว้ใจได้มากแค่ไหน รวมถึงความลังเลของเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่าควรเป็นไปในทิศทางใดบ้าง ซึ่งเรื่องอะไรจะเผยไต๋ได้ง่ายขนาดนั้น ช่วงแรกของหนังคือการเกริ่นโปรยความน่ากลัวผ่านฆาตกรหน้าผีหรือโกสต์เฟซที่เราจะเห็นวิธีโรยความน่ากลัวลงไปทีละเล็กละน้อยจนค่อยตระหนักในความเป็นไปได้ วิธีการนี้คือการโทรศัพท์หาเจ้าทุกข์ที่เป็นเหยื่อพร้อมรับสายก่อนจะถามถึงว่าชอบหนังสยองขวัญเรื่องใดแล้วหาช่องทางคุยคล้ายกำลังแอบมองอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งจากในบ้านด้วยอารมณ์ที่อยากฆ่า ทั้งยังชวนเล่นเกมส์ถามตอบเกี่ยวกับหนังสยองขวัญทำให้กลัวจนสติแทบแตก

จะว่าหนังเปิดได้ดีกับสไตล์ของตัวเองได้น่าลุ้นตื่นเต้นดีพอตัวทั้งยังแซวหนังสยองขวัญไปในตัวประหนึ่งเป็นเรื่องต้องเจอมากกว่าจะบังคับให้เจออย่างอย่างเช่นทำไมเหยื่อต้องวิ่งหนีฆาตกรขึ้นบันได ทำไมไม่ออกทางประตู หรือทำไมตำรวจต้องมาหลังจากเรื่องราวคลี่คลายเสร็จหมดแล้วอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งอันที่จริงสถานการณ์เช่นนี้กับหนังสยองบางเรื่องอาจทำไปเพื่อการกระทำแบบเบาปัญญาเอาสะใจกันเป็นว่าเล่นมากกว่า ในขณะที่ Scream มีช่องทางอธิบายเหตุผลเตรียมพร้อมเอาไว้อย่างดี ทั้งยังนำสูตรหนังสยองมาตีค่าใหม่ด้วยการทำซ้ำแต่ฟังดูสมเหตุสมผลกับฉีกกฎเดิมๆที่ไร้สาระมาฟังให้ดูจริงมากกว่าหลอกหรือบังเอิญไปเอง


Scream มีจุดที่น่าใจเรื่องพฤติกรรมของตัวละครที่หาความไว้ใจได้ไม่ เนื่องจากความเป็นไปได้ในช่องว่างของเนื้อเรื่องได้กระทำปล่อยปละให้ผู้ชมคิดเป็นไปได้เยอะมาก ไล่ตั้งแต่อาจารย์ใหญ่จนถึงใครก็ได้ที่แตะหน้ากากโกสต์เฟซ นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมเริ่มสงสัยไปในหลายๆอย่างที่เกิดขึ้น แต่ขอจงระลึกเอาไว้อย่างหนึ่งในการรับชมเรื่องนี้ให้ถูกหลักคือการเรียนรู้ธรรมเนียมหนังสยองขวัญว่าโดยรวมแล้วมักเป็นไปในรูปแบบใด อย่างคำถามใครอยู่นั่นที่มักจะอะไรโผล่มาเสมอ หรือจะชอบคิดเป็นนักสำรวจอยากไปตามเสียงไม่พึงประสงค์ และรวมถึงการเกริ่นเนื้อเรื่องที่เอาเข้าจริงๆมันไม่มีเลยด้วยซ้ำ ผิดกับหนังสยองบางเรื่องที่มักจะปูอดีตที่มาผ่านคำพูดบ้างล่ะ ผ่านฉากสะเทือนใจบ้างล่ะ แต่นี่อะไรกันมาถึงโทรหาสาวในบ้านที่อยู่คนเดียวแล้วถามว่าชอบหนังสยองขวัญเรื่องใดก่อนจะกลายเป็นการพูกคุยที่ลงน้ำหนักมากขึ้นจนอยากฆ่าแกงกันเลย ทั้งยังโชว์ความสมจริงมากขึ้นด้วยการบอกถึงสิ่งต่างๆที่เจ้ากรรมกำลังทำ บ่งบอกถึงว่าเจ้าฆาตกรต้องอยู่ใกล้มากๆจนต้องออกอาการผวาล็อคประตูกันตัวเองจากข้างนอกก่อนจะหารู้ไหมว่ากำลังแอบอยู่ในบ้านไม่ใช่ข้างนอก

เป็นการกระทำที่ฟังแล้วแปลก ไม่มีเหตุผลว่าฆ่าไปเพื่ออะไรต้องการอะไร จะมีแต่ได้เห็นกองไส้ไหลมากองข้างหน้าแล้วตายไปอีกศพ นี่ก็เป็นเหตุผลแรกที่คอหนังสยองอยากได้ คือความรุนแรงอันแสนแหวะได้เห็นเลือดเนื้อ กันอย่างจุใจ โดยเดิมนั้นตัวบทได้ระบุเอาไว้ค่อนข้างรุนแรงจัดว่าแรงมากจนเกือบถูกพิจารณาในเรต NC-17 แต่ยังดีที่ผู้กำกับ Wes Craven รู้จักทำให้ความรุนแรงในหนังไม่ได้ออกมาเกินไปจนแหวะแค่ทำให้แบะกำลังงามในตอนเปิดเรื่องก่อนความสยองดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็นเป็นในระดับที่พอเหมาะ ไม่ถึงระดับ Friday the 13th ที่เฉาะกันสดๆไม่ลังเลสายตาผู้ชมว่าจะเห็นกันเต็มตา และไม่ถึงกับ A Nightmare on Elm Street ละเลงเลือดพุ่งจากเตียง แค่ทำให้อยู่ในระดับผวา แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีฉากสยองเก็บไว้จำ(ใครจะจำ)เพราะความสยองทำได้น่ากลัวเป็นทุนอยู่แล้ว


เนื้อเรื่องวางได้แปลกตรงที่สามารถเข้าหาใครก็ได้ในความเป็นจริง และตัวหนังเลือกจะจับกลุ่มของซิดนี่ย์ เพรสค็อตต์ (Neve Campbell) กับเพื่อนๆ เท่ากับว่าเป็นไปได้ว่าอาจเป็นใครก็ได้ในนั่นคือฆาตกร นี่เป็นความคิดแรกๆที่วางเอาไว้ก่อนที่ตัวหนังจะพาผู้ชมสับสนต่างๆนาๆว่าอาจเป็นคนนี้ก็ได้แถมคนที่ใส่หน้ากากโกสต์เฟซในเรื่องก็มีมากกว่าคนเดียวจนแยกแยะความจริงไม่ออกว่าเป็นใครกันแน่ ทำให้การค้นหาความจริงเป็นไปได้ยากขึ้นสำหรับเรื่องนี้จึงเกิดความวิตกอย่างหนึ่งแล้วว่าใครล่ะคือตัวจริง แล้วคนๆนี้ไว้ใจได้มากแค่ไหน นี่ยังไม่รวมถึงการหลอก บางคนจะเรียกว่าหักมุมก็ได้แต่กับ Scream ไม่มีการหักมุมใดๆทั้งสิ้นเมื่อความจริงมันปรากฎชัดเจนในตัวอยู่แล้วขาดแต่เหตุผลเป็นตัวรองรับว่าเป็นเรื่องจริงเท็จมากน้อยประการใด สุดท้ายความจริงก็เปิดเผยในท้ายจนอาจทำให้ผู้ชมหลงคิดผิดได้ชั่วขณะ ในอีกขณะเชื่อว่าหลายคนเดาถูกแต่ถูกไม่หมดหรอกเพราะนี่ไม่ใช่หนังสยองตามธรรมเนียมซะหน่อย ดังนั้นในด้านเนื้อเรื่องจัดจ้านพอดูกับคอหนังยิ่งประเภทชอบดูหนังสยองขวัญด้วยแล้วเสมือนเก็บเอาไว้ใช้ศึกษาได้เช่นกัน กระนั้นสรุปคร่าวๆเป็นหนังที่พบปัญหาได้เหมือนกันกับกลุ่มที่ดูหนังสยองน้อย เพราะอย่างแรกคือในด้านเนื้อเรื่องมีการอธิบายหลายอย่างแบบมีเหตุผล มีการบอกเกี่ยวกับกฎหนังสยองว่าควรเป็นอย่างงี้อย่างนั้น ดังนั้นผู้ชมที่ดูหนังทั่วๆไปอาจไม่เข้าถึงเรื่องนี้ได้เต็มสาระเท่าไหร่นัก แต่ถ้ารู้แล้วแนวแล้วล่ะก็ ไม่ต้องอธิบายเลยว่าสนุกแค่ไหน

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อฆาตกรหน้ากากโกสต์เฟซได้ฆ่าวัยรุ่นไปสองศพจนชาวเมืองวู๊ดส์เบอโรว์ต้องผวากันยกเมืองในการตายอย่างน่าสยดสยอง และดูเหมือนจะไม่ยอมหยุดแค่นั้นเมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งได้รับโทรศัพท์จากใครบางคนที่จ้องจะฆ่าเธอก่อนจะปรากฎตัวไล่ฆ่าจนที่สุดสามารถเอาตัวรอดได้ในที่สุด เธอคนนั้นคือซิดนี่ย์สาวน้อยผู้มีความเรื่องสะเทือนใจจากการเสียแม่ไปเมื่อปีก่อน ดูเหมือนฆาตกรยังไม่ยอมละจากไปง่ายๆเพราะยังคงตามฆ่าคนเป็นว่าเล่นไม่ลดละ แต่ใครล่ะที่อยู่เบื้องหลังภายใต้หน้ากากใบนั้น เป็นใครกันแน่ที่อยากจะฆ่าทุกคน


เนื้อเรื่องก็ประมาณนี้ไม่ได้มีอะไรแปลกไปกว่าเนื้อหาเนื้อในที่ต้องสัมผัสกันเอาเองว่ามีอะไรซ่อนอยู่บ้าง ถึงอย่างนั้นอย่างที่เคยบอกเอาไว้ว่าต้องคอหนังสยองเท่านั้นที่มองออกว่าเรื่องนี้สุดยอดมากแค่ไหน เพราะอย่างแรกคือน่าติดตามอย่างต่อเนื่อง มีการดึงความสนใจคนดูตลอดเวลา ไล่ตั้งแต่บทสนทนาที่หาได้ยากมากในหนังแนวนี้ที่เอากฎหนังสยองมาพูดกัน ไม่แค่พูดผ่านๆเท่านั้นแต่นี่ยังเอามาปรุงรสชาติผ่านการวิเคราะห์ความเห็นจนเป็นใครต้องขอคิดตามกับเขาบ้างว่ามันจริงเหมือนกัน รวมถึงการหาเหตุผลที่รองรับได้ว่าใครคือฆาตกร แล้วแบบนี้จะบอกว่าธรรมดาได้เหรอ ไม่มีทาง

และอย่างเดียวที่ตัวเองภูมิใจอย่างสูงในหนังเรื่องนี้คือการคิดของตัวละครที่ไม่เป็นพวกไร้สมอง แม้จะยกนอกเรื่องนอกราวก็ยังเป็นความเห็นอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ก็นั่นแหละวัยรุ่นไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่คิดแบบเด็กๆ กระนั้นโดยรวมแล้วคาแรกเตอร์วัยรุ่นยังคงเป็นวัยรุ่นที่ยังเป็นไปตามธรรมเนียมแนวนี้อยู่บ้างไม่ได้เปลี่ยนไป ในยามมีสติคือมีสติประคับประคองตัวเองได้ เมื่อไร้สติก็หลุดเอาแต่หนีมากกว่าสู้ สลับไปมาอย่างมีมิตทำให้ดูมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ไม่เหมือนหนังสยองบางเรื่องที่กลัวผวาหนีกันอย่างเดียว ไม่คิดหน้าคิดหลังกันเลย จึงเป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจเพราะหาแบบนี้ได้ยาก


ในแง่ประเด็นมิติตัวละครนับว่าได้แน่นอนเริ่มตั้งแต่ซิดนี่ย์ เป็นตัวละครประมาณว่าอยู่คนเดียว ในใจมีเรื่องสะเทือนใจเก็บซ่อนในตัวอยู่กับการเรื่องเสียแม่ไป หรือจะนักข่าวเกล เวเธอร์ส (Courteney Cox) ที่มองผิวเผินไม่มีอะไรแต่เป็นตัวเชื่อมดีๆที่หนังขาดไม่ได้เด็ดขาด เริ่มตั้งแต่เป็นตัวละครที่ซิดนี่ย์ไม่ถูกด้วยเพราะนำเรื่องการตายของแม่ไปแต่งเป็นหนังสือจึงกลายเป็นคู่กัดประเดิมน้ำจิ้ม ที่ชอบคือนายตำรวจดิวอี้ (David Arquette) กับคาแรกเตอร์กัดจิกเหล่าตำรวจหน้าจริงจังกับเอกลักษณ์สบายๆอย่างฉากกินไอติมที่ดูจะสบายเกินเหตุ

ด้านตัวอื่นๆ เช่น บิลลี่ (Skeet Ulrich) แฟนของซิดนี่ย์กับความรู้เรื่องเรตติ้งหนังจนนำมาประยุกต์ในชีวิตประจำวัน ที่ลืมไม่ได้คือสจ็วต (Matthew Lillard) กับลูกบ้าอันโดดเด่นใส่อารมณ์หนังอย่างสุดขีด และสุดท้ายแรนดี้ (Jamie Kennedy) ที่ขาดเขาคนนี้คงไม่มีทางรับรู้กับกฎหนังสยองได้แน่แท้ เพราะในเรื่องเป็นตัวละครบ้าหนัง มีอยู่ช่วงที่ร่ายกฎหนังสยองให้ฟังจนโดนใจกันไปเลยทีเดียว แต่เดี๋ยวก่อนนะเราลืมใครบางคนไปหรือเปล่า ใช่เลยผู้กำกับ Wes Craven ที่ขอโดดมาเล่นสักฉากในบทภารโรงชื่อเฟรด ฟังไม่ผิดหรอกว่าชื่อเฟรด เพราะนี่คือการแซวหนังตัวเองในเรื่อง A Nightmare on Elm Street ที่ชื่อเต็มๆว่าเฟรดดี้ครูเกอร์ ไม่ใช่แค่ชื่อนะนี่ยังรวมถึงการแต่งกายใส่เสื้อสีเขียวสลับสีส้มด้วย เห็นแว่บแรกก็นึกได้ในบันดล


Scream มีจุดผ่อนผันเวลาของตัวเองได้เหมาะสมจนเรียกว่าดูมีความหมายได้ดีในการสื่อ โดยเฉพาะฉากซิดนี่ย์กลับมานอนที่บ้านคนเดียว แสดงถึงอารมณ์เปลี่ยวเหงา สับสน มีเรื่องครุ่นคิดอยู่ในใจถัดกับฉากพระอาทิตย์ยามอัสดงชวนรู้สึกเด็ดเดี่ยว เป็นอีกหนึ่งฉากที่ตัวหนังทำให้ผู้ชมได้มีโอกาสพักผ่อนไปในตัว ช่วงพักก็ผ่อนจนหายเหนื่อยช่วงเหนื่อยก็ตื่นเต้นจนสยองได้ที่ เรื่องโทนบรรยากาศ เพลง ดนตรีเข้าจังหวะได้ดีเหมือนกัน สรุปเป็นหนังสยองที่วางพล็อตตัวเองได้ในระเบียบของตัวเองได้ตรงจุด ไม่นอกเรื่องจนเละเทะในการเฉลยปมว่าใครคือคนฆ่าแล้วทำเพื่ออะไร

ดาราในเรื่องแสดงกันได้เนียนดีกันจริงยิ่ง Neve Campbell ที่เล่นเป็นซิดนี่ย์กับพฤติกรรมที่โอเคกับรูปลักษณ์ตัวละครที่ดูกลมกลืนไปในตัว เล่นแบบนี้แล้วอันที่จริงคนที่จะเล่นบทนี้คือ Drew Barrymore ต่างหาก เผอิญไม่ว่างจึงมาเล่นเป็นบทสมทบในฉากเปิดเรื่องแทน แต่หารู้ไม่ว่าเป็นจุดที่เยี่ยมและถูกต้องในการเลือกสรรดาราดังมาตายแล้วปล่อยให้ดาราหน้าใหม่ไปเล่นแทนดีกว่า ที่ไม่ด้อยกว่าคือ Rose McGowan เป็นเพื่อนซิดนี่ย์เล่นเป็นทาตั้ม ดูเหมือนในเรื่องเธอจะดูขาวจั๊วะจนสมเอกลักษณ์สวยใสเซ็กซี่ไปเลย ในฉากเจอโกสต์เฟซนี่ทำให้ผู้ชมสะใจไปเต็มๆ ก่อนหน้านนี้มีตัวเลือก Melinda Clarke และ Rebecca Gayheart แต่สุดท้ายต้องพ่ายในความเซ็กซี่ไปโดยปริยาย เอาเป็นว่าทางด้านดาราจัดเข้ากับบทบาทได้ดี ทั้งยังเสริมมิติตัวละครลงไปกับกระทำอย่างมีเหตุมีผลจนสรุปได้ว่าทุกตัวละครในเรื่อง Scream มีสมองยั้งคิด


ทางด้านตัวละครมีองค์ประกอบที่เข้าท่าแต่ที่ตรงใจมากสุดคือเจ้าฆาตกรโกสต์เฟซที่ผิดธรรมเนียมฆาตกรที่ผ่านมา เริ่มอย่างแรกที่คือความเก่งกาจ เราจะเห็นว่าฆาตกรรายนี้มีความผิดพลาดในการจัดการเหยื่อตลอดเวลาทั้งเจ็บตัว ทั้งสะดุด โดนของขว้างบ้าง จนอยากคิดถามในใจซะแล้วว่าในท้ายเรื่องจะเฉลยทีจะถึงขั้นพิการหรือเปล่าในเมื่อโดนซะขนาดนั้น นี่แสดงปัจจัยอย่างหนึ่งแล้วว่าเพราะอะไรฆาตกรที่น่าจะเป็นคนธรรมดาอย่างเราๆถึงเก่ง หรืออีกแง่หนึ่งคือเพราะอะไรเราถึงอ่อนแอ นี่จึงเป็นอีกความสะใจที่ผู้ชมต้องการในฉากไล่ล่าอันแสนสะใจที่เต็มไปด้วยความเป็นตลกร้าย

แล้วอีกอย่างคือข้อคิดของเรื่องนี้ที่น่าขบคิดอยู่เหมือนกันเรื่องสื่อ เนื่องจากสื่อคือกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เมื่อรับรู้เรื่องใดเรามักจะยั้งคิดถึงเรื่องนั้น แม้จะไม่ยึดติดเลยก็ตาม แต่ถ้าคนที่รับสื่อคือเด็กในช่วงวัยการเรียนรู้ล่ะจะว่ายังไง อย่างเช่นเด็กที่ดูหนังสยองขวัญเห็นการฆ่ากันโดยยังไม่พึงประสงค์ว่าทำเพื่ออะไรจนอยากลองทำตามเพราะไม่ได้รับการเลี้ยงดูสั่งสอนว่าเป็นเรื่องอันไม่ควร ในขณะที่เด็กมองเป็นตัวอย่างที่ควรทำเพราะถ้าไม่ดีทำไมในหนังถึงทำ บางครั้งต้องแจกแจงว่าหนังกับชีวิตจริงนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแม้ต้อให้อิงจากเหตุการณ์จริงก็ตาม และที่สำคัญสุดคือการสอนให้คิดในหนทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องผิดแต่มองว่าถูกมันต้องถูกจริงๆ ฉะนั้นแล้วจะสอนให้เด็กรับรู้เรื่องใดควรพึงตระหนักเสมอว่าเหมาะสมหรือไม่ ในที่นี่เปล่าหมายถึงการปิดบังแต่หมายถึงให้เปิดใจยอมรับความเห็นพร้อมอธิบายให้เข้าใจ อย่างน้อยก็ดีกว่าปล่อยให้เสพในเรื่องไม่ดีจนต้องทดลองเองแล้วกลับตัวแก้ไขไม่ได้ อ่อ อย่าลืมว่า Scream เป็นหนังที่มีเหตุผลของตัวมัน อย่ามองว่าไร้สาระเสมอไป เพราะการมองเช่นนี้จะย้อนเข้าตัวเองที่ไม่ได้ทำอะไรเลย

"Whats your Favorite Scary Movie ?"

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)