Back to the Future Part III (1990) เจาะเวลาหาอดีต ภาค 3

Back to the Future Part III (1990) | เจาะเวลาหาอดีต ภาค 3
Director: Robert Zemeckis
Genres: Adventure | Comedy | Sci-Fi | Western
Grade: A

ในหมู่หนังไตรภาคทั้งหลายตั้งแต่สัมผัสรับชมมา ไม่มีหนังเรื่องไหนจะทำให้รู้สึกต่อเนื่องจนหยิบทั้งสามภาคมาชมติดๆกันได้ขนาดนี้เลย อารมณ์ประมาณว่าจบภาคแรกต้องต่อสองแต่พอจบสองมันต้องอีกสาม


ดร.เอ็มเมท บราวน์ (Christopher Lloyd) กับมาร์ตี้ แมคฟลาย (Michael J. Fox) คือผู้คิดค้นรถเจาะเวลาและท่องเวลาได้อย่างอิสระทั้งอนาคตกับอดีตเพื่อกลับไปแก้ไขในช่วงเวลาที่เสียหาย เมื่อครั้งแรกมาร์ตี้ได้ท่องอดีตกลับไป 30 ปีจนได้พบพ่อกับแม่ของตัวเองตั้งแต่ยังไม่จีบกันแล้วตัวเองไปคั่นความสัมพันธ์ของทั้งสองจนผิดรูปเดิมไป แต่ก็แก้ไขให้ทั้งสองกลับมารักกันอีกครั้งจนสำเร็จแบบเกินคาดหมาย เมื่อเสร็จสิ้นเรื่องในอดีตจนกลับมาปัจจุบันที่ปี 1985 ได้อย่างสบายใจกลับต้องถูกด็อกดึงตัวไปอนาคตเพื่อช่วยลูก แต่แล้วเหตุการณ์ได้บานปลายจนช่วงเวลาสับสนเปลี่ยนแปลงไปหมดหลังจากกลับมาจากอนาคต ซึ่งทั้งมาร์ตี้กับด็อกได้ร่วมพิสูจน์ความจริงในการกลับไปแก้ไขอดีตอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตที่กำลังเลวร้ายตามมา ซึ่งการทำภารกิจกู้เวลาในครั้งนี้ทำให้มาร์ตี้ผู้ซึ่งกำลังจะได้กลับบ้านพร้อมด็อกต้องถูกทิ้งเอาไว้ในปี 1985 เพียงเพราะด็อกที่กำลังขับรถเจาะเวลาถูกฟ้าฝ่าหายตัวไปอย่างไม่ทันตั้งตัว และเขาหายไปอีก 30 ก่อนในปี 1955 ยุคสมัยแห่งคาวบอย


อันที่จริงภาคแรกสามารถปิดประเด็นของตัวเองได้อย่างสวยงามตั้งแต่นั้นเลยก็ย่อมได้ ทว่ากลับไม่เลือกจะจบลงง่ายๆแบบนั้นกับการไปท่องอดีคเพื่อแก้ไขเวลา ดังนั้นตอนจบในภาคแรกที่ลงเอยด้วยการให้ด็อกที่ท่องเวลาในอนาคตที่ใจตัวเองต้องการกลับมาหามาร์ตี้เพื่อไปแก้ไขอนาคตตามที่ด็อกรับรู้จากการไปสัมผัสมาก่อน ซึ่งในส่วนของภาคสองมีการเล่นกับเวลาค่อนข้างมากตั้งแต่เรื่องล้ำไฮเทคที่พบในโลกอนาคตหรือจะต้องกลับมาอดีตอีกครั้งเพื่อไปแก้ไขเวลาให้กลับมาปกติเช่นเคยเพื่อไม่ให้อนาคตเลวร้ายลงไปอีก แต่แล้วการแก้ปัญหาก็ยิ่งทำให้การลูปของเวลามีมากขึ้นจนผู้ชมเห็นความเป็นตลกดีตลกร้ายกับมาร์ตี้ 2 คนหรือด็อก 2 สมัยที่ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเองตามช่วงเวลานั้นๆโดยที่แน่นอนว่าจะมีอีกฝ่ายพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพบตัวเองอีกเวลาเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ที่อาจทำให้เวลาในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป และด้วยปัญหาที่ใส่กันมาเป็นชุดอย่างต่อเนื่องชนิดคอมโบไม่ให้พักเหนื่อยการเกิดภาคที่สามอันเป็นปิดไตรภาคจึงเกิดขึ้นอีกครั้งด้วยอารมณ์ที่แตกต่างจากภาคแรกตรงที่มันจบลงแบบเท่ๆไม่ได้เพราะเราผู้ชมต้องหาชมต่อแบบบังคับไปในตัว จะว่าแล้วเสน่ห์การทำตอนจบที่มีมาในสองภาคแรกนั้นนับว่าล้วนน่าติดตามทั้งสิ้น กระนั้นสิ่งที่ทำให้แต่ละภาคล้วนน่าจับตามองที่สุดคือสถานการณ์ที่ล้วนมีปมประเด็นตามมาไม่หยุดหย่อนจนต้องเป็นหน้าที่ของทั้งสองตัวหลักมาร์ตี้และด็อกต้องแก้ปัญหาให้จบลงอย่างสวยงามพร้อมยุติเรื่องราวให้เบ็ดเสร็จ ส่วนปัญหาของภาคนี้คงหนีไม่พ้นการท่องเวลาเช่นกันเพียงแค่ว่าเป็นฝ่ายมาร์ตี้ที่ต้องไปหาด็อกเพื่อบอกความจริงว่าจะถูกฆ่าตาย สุดท้ายมาร์ตี้ต้องเจาะเวลาไปช่วยให้กลับมาจนได้


ปัญหาของของยุคสมัยไม่ได้อยู่ความล้ำไฮเทคจะลดน้อยแต่ยังคงมีกลิ่นอายในแง่การประดิษฐ์เช่นเคยกับด็อกที่พัฒนาปืนของตัวเองจนแปลกหน้าแปลกตาของยุคสมัยคาวบอยโดยสิ้นเชิง ก็ถือเป็นของเล่นแปลกๆที่ต้องมีเห็นทุกภาคอย่างน้อยสักชิ้นสองชิ้นเป็นการบ่งบอกถึงการทดลองของนักวิทยาศาสตร์โดยแท้จริง ที่สำคัญความบ๋องๆบวมๆยังอยู่ครบไม่ต่างจากเดิมแต่อาจเปลี่ยนท่าทางไปบ้างเพื่อลดความเฟื่องลงแล้วเติมความจริงจังเข้ามาให้ดูลักษณะซีเรียสบ้างอะไรบ้างเป็นปกติ กับความฮายังได้อยู่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วเรื่องนี้ จะว่าไปแล้วเหมือนมาร์ตี้จะถูกบั่นทอนความเป็นตัวเอกของเรื่องลงไปนิดนึงเพื่อให้ด็อกได้มีบทบาทอย่างเต็มเปี่ยม เนื่องจากด็อกพบรักน่ะสิ จึงไม่แปลกใจนักว่าทางของเนื้อเรื่องจะหนักที่ด็อกมากกว่ามาร์ตี้ อนึ่งคิดด้วยว่าเรื่องราวของมาร์ตี้ได้หมดวาระลงแล้วในภาคแรกและภาคสองกับการแก้ไขปัญหาด้วยการเจาะเวลาทั้งอดีตกับอนาคตจนเรียกว่าไม่รู้จะแก้ยังไงแล้วเพราะไปครบช่วงเวลาหมดแล้ว ดังนั้นภาระจึงโยงมาที่เรื่องราวของด็อกบ้างพอเป็นพิธี กระนั้นอย่าลืมสิว่าใครเป็นคนสร้างไทม์แมชชีนขึ้นมา ฉะนั้นปล่อยให้เจ้าของได้เป็นตัวเอกกับเขาบ้างก็ดีเหมือนกัน ที่สำคัญภาคนี้ด็อกก็ดูเท่กับชุดคาวบอยดีแถมยังเป็นอะไรที่เซอร์ไพร์ซในอีกหลายๆแง่มุมอีกด้วย ยิ่งการเพิ่มมิติด้วยความรักด้วยแล้วทำให้ด็อกดูหล่อขึ้นมาทันตากันเลยทีเดียว


ภาคนี้อาจจะดูราบเรียบไปหน่อยจากเหตุที่ยุคสมัยเป็นคาวบอยบวกกับความชุลมุนของเนื้อเรื่องที่ไม่ค่อยสลับซับซ้อนอะไร กระนั้นกลับรู้สึกว่าภาคนี้มีมิติมากที่สุดในการดึงความรู้สึกลึกๆของด็อกกับมาร์ตี้ออกมาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะด็อกที่กำลังมีความรักกับคลาร่า เคลย์ตัน (Mary Steenburgen) ครูสอนหนังสือที่ด็อกได้ช่วยชีวิตเอาไว้จนนับแต่นั้นมาก็กลายเป็นต้องเสน่ห์ต่อกันดังคู่รักที่หากันมานานที่ไม่สามารถห้ามได้แม้แต่กาลเวลา จะบอกว่าชอบที่ด็อกมีบุคลิกผิดจากสองภาคก่อนตรงที่แกมักจะเป็นพวกนักวิทยาศาสตร์เห็นงานการทดลองเป็นสำคัญและรู้สึกสนุกกับผลลัพธ์มากมาย จนมาได้รู้จักคลาร่าทำให้ด็อกเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือมีชีวิตชีวาดูสดใสไม่เหมือนกับภาคแรกที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เฟื่องผมฟูออกอาการเพี้ยนหน่อยๆ สงสัยเพราะได้สิ่งที่อยู่นอกเหนือเหตุและผลในความรักจึงทำให้ทุกอย่างดูสวยงามขนาดที่ว่าแทบไม่สนใจจะกลับบ้านอีกต่อไปเพียงเพราะคลาร่าเท่านั้นที่ยึดเหนี่ยวเอาไว้ ฟังดูเป็นความรักข้ามเวลายังไงไม่รู้แต่ก็ชอบในจุดนี้ดี โดยเฉพาะการเล่นประเด็นความสำคัญของการคงสภาพเวลาไม่ให้ไปเปลี่ยนแปลงช่วงเวลานั้นๆเพราะจะส่งผลต่ออนาคต ในกรณีนี้เห็นมาแล้วในภาคสองที่มาร์ตี้ไปซื้อผลกีฬาจากอนาคตแล้วกลายเป็นว่าส่งผลร้ายกลับมาเป็นพวงจนต้องย้อนไปหาอดีตเพื่อให้อนาคตเหมือนเดิม ดังนั้นการที่ด็อกจะพบรักกับคลาร่าที่เป็นคนของสมัยคาวบอยแล้วจะอยู่ด้วยกันได้นั้นเป็นอะไรที่ต้องทำใจเมื่อด็อกต้องกลับไปหาเวลาที่ตัวเองกลับมา

ตอนแรกมาร์ตี้มีความคิดที่ว่าถ้าด็อกตัดใจลำบากจะชวนคลาร่ากลับไปด้วย แต่ด็อกเลือกบอกว่าอย่าทำแบบนั้นเลย เพราะมาร์ตี้ยังเคยตัดสินใจไม่เอาอะไรกลับมาจากอีกเวลาแล้วด็อกจะตัดใจบ้างไม่ได้บ้างได้ยังไงในเมื่อเป็นคนบอกเตือนเองแท้ๆ ทีนี้จึงกลายเป็นหนังอารมณ์ดราม่าขึ้นมาจนสัมผัสตัวตนอีกมุมของด็อกออกเลยว่ารักคนนี้จริงๆ แม้ว่าด็อกจะต้องเจอเรื่องหนักใจไม่ใช่น้อยในการตัดสินที่จะกลับไปแบบมือเปล่า ทว่าตัวหนังไม่ได้ใจร้ายขนาดปล่อยให้ด็อกผิดหวังตายยากขนาดนั้น เนื่องจากตัวหนังได้เพิ่มทีเด็ดสุดท้ายเอาไว้จนทำให้ผู้ชมยอมรับและยิ้มได้ว่านี่แหละด็อกของเรา นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องผู้ไม่ได้คาดหวังอะไรนอกจากสติปัญญาจนได้พบรักทำให้เข้าใจแล้วว่าความรักคืออะไรในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้


ถ้าคิดว่าด็อกจะเจอเรื่องหนักใจหลายประการแล้วอาจลืมมาร์ตี้คนนี้ไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะทำไมน่ะเหรอ? เพราะภาคนี้มาร์ตี้เป็นคนเริ่มเจาะเวลาด้วยตัวเองเพื่อไปหาด็อกโดยเฉพาะน่ะสิ คือเริ่มเรื่องกันที่หลังจากมาร์ตี้ได้จดหมายจากด็อกในปี 1885 แล้วก็ระบุเอาไว้ว่าอยู่ดีใช้ชีวิตในฉบับคาวบอยได้ไม่จำเป็นต้องหาหนทางย้อนกลับมาช่วย ส่วนรถเจาะเวลานั้นใช้การอย่างเดิมไม่ได้แล้วโดยเฉพาะการบินที่ตอนนี้กลายเป็นรถจริงๆไปแล้ว แต่จะระบุเอาไว้ว่ารถอยู่ที่ไหนเพื่อที่จะเอาไปทำลายให้จบเรื่องวุ่นๆนี่เสียที เหมือนมาร์ตี้จะทำใจได้เพราะได้เจอกับรถเจาะเวลาตามที่ด็อกบอกในจดหมายแล้วเตรียมตัวจะกลับไปปี 1985 เพราะตอนนี้ยังอยู่ในปี 1955 อยู่เลย ทว่าก็เกิดเป็นเรื่องที่มาร์ตี้เจอและรับไม่ได้เพราะเจอป้ายหลุมศพด็อกที่เกิดไประบุไว้ว่าตายเพราะถูกยิงจากข้างหลัง ซึ่งเวลาการตายเกิดหลังจากวันส่งจดหมายมาอาทิตย์หนึ่ง ปัญหาคือมาร์ตี้ยังต้องช่วยด็อกให้พ้นอันตรายครั้งนี้เข้าจนได้และนำตัวกลับมาเพื่อยุติเรื่องนี้ให้จบสิ้น คร่าวๆก็ประมาณนี้กับเหตุผลที่ทำให้เนื้อเรื่องยังต้องดำเนินต่อไปที่ลากไปถึงสมัยของคาวบอยกันเลยทีเดียว และปัญหาไม่ได้หมดไปแค่นั้นเมื่อรถเจาะเวลาเกิดน้ำมันรั่วจนเป็นปัญหาที่ว่าจะทำยังไงให้รถวิ่งถึง 88 ไมล์ต่อชั่วโมงได้ในเมื่อสมัยนี้ยังไม่มีการขุดใช้น้ำมันกันเลย แล้วไหนจะเรื่องยุ่งๆที่ต้องมาเจอกับตัวฉกาลแห่งตระกูลเทนเนนท์อย่างบิวฟอร์ด เทนเนนท์ (Thomas F. Wilson) พูดง่ายๆเป็นปู่ของปู่ของบีฟนั่นแหละ ขนาดอยู่ห่างกันหลายรุ่นแต่นิสัยยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยจริงๆ แต่ปัญหาก็คือจะเทะเลาะหาเรื่องชกต่อยแบบคราวก่อนไม่ได้แล้วเพราะสมัยนี้มันต้องดวลปืน เท่ากับว่าใครพลาดถึงกับตายเลยเชียว


ที่สำคัญมาร์ตี้เองยังได้ข้อคิดเกี่ยวกับตัวเองที่ด็อกได้กล่าวเอาไว้ว่าเพราะนิสัยแบบนี้อนาคตของเธอจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งเราก็เห็นชัดว่าเวลาใครด่ามาร์ตี้ว่าขี้ขลาดมักจะเลือดขึ้นจนลืมคิดหน้าคิดหลังหน้าเป็นประจำจนบางครั้งก็กลายเป็นหายนะเข้าหาตัวเองเพราะขาดสติ เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่มาร์ตี้เข้าไปช่วยด็อกจากบิวฟอร์ดขอท้าดวลปืนแต่มาร์ตี้ปฏิเสธจนถูกหาว่าขี้ขลาด และสุดท้ายมาร์ตี้ตอบตกลงแบบไม่ทันคิดด้วยซ้ำว่าทำเพื่ออะไรแล้วจะเป็นยังไงต่อไปถ้าตัวเองพลาดท่าขึ้นมา มันก็เลยเป็นปัญหาใหญ่โตเลยทีนี้ว่าสมควรจะแก้ปัญหาด้วยวิธีใดดี กระนั้นตัวหนังยังรู้จักเข้าใจเอานิสัยใจร้อนของมาร์ตี้มาใช้ได้ครบอย่างเข้าใจและแก้ไขด้วยตัวมาร์ตี้เองได้อย่างชาญฉลาดพร้อมกับมีสติจนเรียกว่าจบอย่างมีความหมายพร้อมกับได้ข้อคิดไปทบทวนตัวเองว่าสาเหตุบางครั้งมันไม่ได้เกิดที่ใครแต่เริ่มที่เรานี่แหละ ฉะนั้นจะแก้ไขใครให้ลองมองกลับมาแก้ไขตัวเองก่อนจึงจะดีที่สุด

ก็ไม่รู้ว่าคิดอะไรกันอยู่จึงแต่งตัวมาร์ตี้ให้คล้ายคลึงกับหนังคาวบอยเรื่องหนึ่งที่มี Clint Eastwood แสดงแถมยังอ้างชื่อแบบหลอกๆเหมือนตัวเองได้ชม A Fistful of Dollars (1964) ฉบับ Michael J. Fox แสดงยังไงอย่างนั้น แต่เชื่อได้เลยว่านี่คือการหยิบหนังระดับตำนานคาวบอยมาล้อเลียนได้อย่างเนียบเนียนอย่างมีชั้นเชิงโดยอย่างยิ่งฉากในตำนานยิงไม่ตายที่หนนี้มาร์ตี้ได้เป็นคนใช้เองก็เท่ไปอีกแบบเหมือนกัน ถึงแบบนั้นยังเท่ากับไคล์แม็กซ์ของเรื่องที่ทำได้น่าตื่นเต้นจนวินาทีสุดท้ายกับฉากรถไฟที่ค่อยๆเร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆพร้อมกับการตัดสินสุดยิ่งใหญ่ของด็อกกับคลาร่าอย่างเห็นได้ชัด โดยส่วนตัวคิดว่าฉากรถไฟเป็นอะไรที่เกินคาดนิดนึงในการตัดสินใจของด็อกที่ต้องเลือกระหว่างคนรักกับกลับบ้านกับมาร์ตี้ ทว่าพอเห็นด็อกมีรอยยิ้มจึงทำให้รู้ทันทีเลยว่าด็อกตัดสินอะไรและคิดยังไงกับผลที่ตามมาในท้ายที่สุด ไม่ใช่แค่นั้นเพราะการกระทำของด็อกเป็นอะไรที่เซอร์ไพร์สจริงๆกับตอนจบ


Back to the Future Part III อาจจะลดความน่าดูลงไปบ้างเพราะไม่มีลูกเล่นเกี่ยวกับเวลาอะไรมากเพราะทั้งเรื่องโดยหลักติดอยู่กับปี 1885 เป็นสำคัญ แต่ด้วยการเประเมินเนื้อหากับตัวตนภายในตัวละครแล้วจึงเป็นการปิดไตรภาคที่ดีในทางอารมณ์ความรู้สึกแบบไม่มีข้อกังขา ในขณะที่ความสนุกกับลูกเล่นพาตลกยังมีมาเรื่อยๆให้เบาสมองตามฉบับของผู้กำกับ Robert Zemeckis ที่คุ้มหนังให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมได้อย่างฉลุยกับปมประเด็นต่างๆ นับว่าเป็นไตรภาคที่พลาดไม่ได้เลยจริงๆเพราะนี่แหละหนังไซไฟขึ้นหิ้งระดับตำนาน

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)