Underwater (2020) มฤตยูใต้สมุทร

Underwater (2020) | มฤตยูใต้สมุทร
Director: William Eubank
Genres: Adventure | Horror | Sci-Fi | Thriller
Grade: B-

"เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ"

เปิดเรื่องเห็น Kristen Stewart แปรงฟันหน้ากระจกไม่กี่นาที หลังจากนั้นเกิดระเบิดตู้มต้ามประหนึ่งหนังแอ็คชั่นที่ดูมันส์มากกว่าลุ้นเอาตัวรอด (จังหวะในตอนนั้นใช้มุมกล้องสั่นและรัวๆด้วยระเบิด) ต่อมารวบรวมคนที่ยังเหลือรอดเพื่อหาทางออกจากสถานีขุดเจาะใต้มหาสมุทร แต่แล้วต้องพบว่ามีบางสิ่งต้องการเอาชีวิตพวกเขา


พล็อตหนังมาง่าย แต่ตัวละครไปยาก มาถึงไม่กี่นาทีก็ใส่ความวินาศสันตะโร ไม่บอกไม่กล่าวถึงสถานีขุดเจาะหรือตัวละครใดๆให้ฟังสักนิด ต้องไล่หาเอาเองจากสิ่งที่ตัวละครพูด ทำให้ความผูกพันที่คนดูได้รับผ่านตัวละครมีความจืดจางอย่างมาก อยากจะเอาใจช่วยคนนี้หรือไม่อยากให้คนนั้นตายแทบไม่รู้สึกรู้สาในจุดนี้เลย ถ้าเกริ่นให้ตัวละครได้พูดคุยเจอหน้ากันก่อนเกิดวิกฤติอาจช่วยสานสัมพันธ์ได้ระดับหนึ่ง ไม่ใช่ใส่ลุยอย่างเดียวจนไม่มีโอกาสแสดงมิติอื่นกับเขาบ้าง

ด้วยความที่ลุยเดินหน้าเกินไปจึงเป็นการบีบบังคับไปในตัว พอมีเรื่องอื่นแทรกเข้ามาจึงดูล้นทั้งที่ควรมี เช่น มิติตัวละครที่ Kristen Stewart แสดงเป็นบทนำ ซึ่งเปิดมาด้วยความคิดการมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย แต่เจ้าตัวเลือกชอบอย่างหลังมากกว่า ส่วนเหตุผลนั้นมาขยายปมในตอนจบ ซึ่งมีเพียงแค่นี้ที่รู้ นอกจากโดนแฟนทิ้งแล้วไม่มีส่วนอื่นมาเสริมตัวละครนี้สักเท่าไร ขณะที่คนอื่นๆแทบไม่ต้องพูดถึงเพราะน้อยถึงน้อยมาก


ตัวละครมีปฏิสัมพันธ์กับคนดูน้อยก็จริง แต่แลกกับความไม่หยุดพักตั้งแต่ต้นเรื่องจึงพอถูไถไปได้บ้าง แค่ช่วงแรกต้องปรับจูนกันหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น สถานที่แห่งนี้คือที่ไหนและอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจเพราะไม่ซับซ้อน ยกเว้นสิ่งที่เข้ามาโจมตีสถานีขุดเจาะที่บอกไม่ได้คืออะไรและมาจากไหน ไม่มีที่มาที่ไปเลยสักอย่าง ปล่อยให้ยืนงงเหมือนตัวละครที่อธิบายไม่ได้สักคน

อาจบอกได้ว่าเป็นสัตว์ใต้น้ำลึกที่ไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน เพราะสิ่งหนึ่งที่หนังสยองขวัญประเภทเกี่ยวกับน้ำลึกทำกันคือสัตว์ประหลาด นึกถึงเรื่องแรกคือ DeepStar Six (1989) แม้จะเล่าเรื่องไม่ดีและมีปัญหาด้านตัวละคร แต่ด้วยเอฟเฟคใต้น้ำกับสัตว์ประหลาดทำได้ค่อนข้างดี อีกเรื่องไม่เกี่ยวกับแนวสยองขวัญ แต่เกี่ยวกับน้ำลึกเหมือนกันคือ Sphere (1998) หนังไซไฟที่สะท้อนมุมมองความกลัวจนหลงทำให้คนดูเกือบเชื่อว่ามีบางอย่างใต้น้ำลึกจริงๆ


เมื่อไม่มีเนื้อหาอธิบายเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดใต้น้ำที่แน่ชัดจากหนังได้ คนที่ทำหน้าที่อธิบายได้ดีที่สุดคือผู้กำกับ William Eubank ที่ตั้งใจบอกแรงบันดาลใจมาจาก  H.P. Lovecraft นักเขียนนิยายสยองขวัญที่ผนวกเข้ากับแนววิทยาศาสตร์ ซึ่งตัวที่ปรากฏในตอนท้ายเรื่องที่มีขนาดมหึมานั้นคือ คธูลู (Cthulhu) หรือเทพอสุรกายที่สมมุติขึ้น โดยมีรูปร่างคล้ายกับมนุษย์ แต่ส่วนหัวคล้ายกับปลาหมึกที่มีหนวดระยางอยู่เป็นจำนวนมาก ร่างกายมีเกล็ด ขาหน้าเป็นกงเล็บแหลมคมและมีปีกคู่หนึ่งอยู่ด้านหลัง ขณะที่ตัวขนาดเล็กที่ทำร้ายกลุ่มเหลือรอดคือกาฝากที่เกาะตามตัว

ถึงจะไม่เข้าใจเต็มร้อยถึงเหตุผลที่ใส่ คธูลู (Cthulhu) แต่มีนัยๆเกี่ยวกับการเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล  H.P. Lovecraft โดยสังเกตได้จากชื่อบริษัทขุดเจาะชื่อ Tian Industries ที่เล่นคำมาจาก Lovecraftian หรือหมวดย่อยของนิยายที่เน้นความสยองขวัญจากสิ่งที่ไม่รู้จัก (Unknown) หรือไม่หยั่งรู้ (Unknowable) ดังนั้นหนังจึงไม่อธิบายให้รู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกับเล่นประเด็นความหวาดกลัวจากที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน


ความอึดอัดเป็นข้อดีของหนังเรื่องนี้ที่ใช้สถานที่ใต้น้ำได้อย่างคุ้มค่า เต็มไปด้วยความมืดที่บอกไม่ได้ว่าข้างหน้าจะมีอะไรดักรออยู่ อีกทั้งยังมีความกดดันจากแรงดันและอากาศที่พร้อมจะถาโถมปัญหาเข้าใส่ได้ทุกเมื่อ อีกอย่างคือเรื่องเสียงใต้น้ำที่ฟังนานๆเริ่มรู้สึกระแวง ในด้านอารมณ์มีความลุ้นตื่นเต้นไม่น้อย แต่ข้อเสียคือเต็มไปด้วยฉากมืดค่อนข้างมาก ใครสายตาไม่ดีต้องมีเพ่งมองกันชัดๆบ้างล่ะ

อารมณ์ลุ้นระทึกคล้ายกับ Life (2017) หนังเอเลี่ยนนอกอวกาศที่เปลี่ยนสถานะนอกโลกมาอยู่ใต้มหาสมุทร ซึ่งบางคนอาจว่าไม่เหมือนก็ได้ แต่ความลุ้นที่กดดันทั้งเรื่องนี่แหละที่คิดว่าตรงตัวมากที่สุด สรุปก็คือย่อยง่ายและเน้นบันเทิง ถ้าเอาอยู่สามารถยกระดับหนังที่บอบบางด้านมิติให้สนุกและพร้อมหยิบมาดูซ้ำได้อีก

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)