The Green Mile (1999)
ปาฏิหาริย์แดนประหาร
Director: Frank Darabont
Genres: Crime | Drama | Fantasy | Mystery
Grade: S
"เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ"
ผลงานเรื่องที่ 2 ของผู้กำกับ Frank Darabont ที่ก่อนหน้านี้มากับผลงานระดับขึ้นหิ้งอย่าง The Shawshank Redemption (1994) จนกลายเป็นหนังยอดเยี่ยมในใจใครหลายคน มาครั้งนี้ได้แนวทางมาจากหนังสือที่เขียนโดย Stephen King ซึ่งเกี่ยวกับนักโทษด้วยเช่นกัน แต่ไม่รู้ว่ายังไงทำไมหนังเรื่องนี้ที่ยาว 3 ชม.ถึงไม่มีความน่าเบื่อเลยสักนิด ความอัศจรรย์ของเรื่องนี้คือการทำให้น่าติดตามตลอดเวลาทั้งที่จริงแทบจะไม่มีอะไรมากนักด้วยซ้ำเพราะวนเวียนกันอยู่ในคุกเสียมาก ว่าแล้วก็น่าทึ่งไม่น้อยเพราะเวลาของเรื่องนี้ล้วนมีค่าที่พลาดหรือขาดไม่ได้เลย ที่น่าสนใจคือเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากชายชราคนหนึ่ง (Dabbs Greer) ที่รู้สึกอ้างว้างเดี่ยวดายทำเหมือนกับไม่รู้จะอยู่ยังไงต่อไปในชีวิตนี้ ตอนเปิดเรื่องอารมณ์ค่อนข้างหดหู่ในมุมมองของคนสูงอายุ อย่างแรกคือเต็มไปด้วยคนแก่ในบ้านพักคนชรา ทุกคนดูเหมือนปล่อยให้ลมหายใจของตัวเองผ่านไปวันๆรอเวลาที่จะจากโลกนี้ไป ทุกอย่างที่คนแก่ทำกันล้วนดูเชื่องช้า มีแต่ความเสื่อมโทรมที่เกิดจากร่างกายที่มีอายุมากขึ้น เป็นการรวมบั้นปลายชีวิตที่ไม่เหลืออะไรให้ทำนอกจากการนั่งดูทีวีที่มีแต่รายการที่แสนน่าเบื่อก่อนจะมาหยุดที่ช่องหนังขาวดำที่เป็นชายหญิงเต้นรำอย่างสวยงาม สาเหตุที่มาหยุดดูช่องหนังขาวดำที่เก่าแทนที่จะดูอะไรที่ทันสมัยเป็นภาพสีมาจากการระลึกถึงความหลัง วันเก่าๆที่ตัวเองยังเดินได้สบาย มีความจำที่ดี สามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่สนความแก่ และความทรงจำครั้งสมัยนั้นที่มีเรื่องราวน่ามหัศจรรย์เกิดขึ้นกับตัวเอง
ชายชราที่ได้เห็นหนังขาวดำจากทีวีที่นั่งดูอยู่ข้างหลังเกิดอาการร้องไห้เพราะได้คิดถึงวันวานของตัวเองและเปิดใจเราเล่าเรื่องราวให้กับอีเลน คอนเนลลี่ (Eve Brent) เพื่อนหญิงชราถึงสมัยตัวเองเป็นพอล เอดจ์คอมบ์ (Tom Hanks) พัศดีประจำการที่โคลด์ เมาท์เทนท์ ทางใต้ มีหน้าที่คุมนักโทษที่รอรับวันประหารที่ต้องเดินทางผ่านเส้นสีเขียวหรือกรีนไมล์ (Green Mile) เป็นเส้นทางจากห้องขังไปสู่เก้าอี้ไฟฟ้า พอลรับทำหน้าที่นี้มาหลายครั้งแต่ไม่มีครั้งไหนที่ทำให้น่าจดจำเท่าครั้งนี้และไม่มีทางลืมได้เพราะเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่แฝงไปด้วยความเศร้า เริ่มมาจากนักโทษร่างยักษ์ผิวดำที่เดินเข้ามาห้องขังพร้อมกับคดีฆาตกรรมเด็กหญิง 2 คน จากภายนอกไม่ว่าจะเป็นคนผิวดำ ร่างกายใหญ่โต จากมุมมองไหนคงไม่ใช่เรื่องแปลกและยากเกินความเข้าใจว่าเขาคนนี้คือฆาตกรที่ฆ่าเด็กหรือใครก็ได้ทั้งสิ้นได้อย่างสบาย ด้วยร่างกายที่ใหญ่และเป็นผิวสีทำให้จอห์น ค็อฟฟี่ย์ (Michael Clarke Duncan) คือตัวประหลาดในทันทีที่กลายเป็นฆาตกร ใครๆต่างสาปส่งให้ลงนรก พอลเองก็รู้สึกไม่ต่างกันที่เจอครั้งแรก ทว่าความน่าสงสัยคือฆาตกรหลายนี้มีจิตใจที่อ่อนไหวเสียเหลือเกิน กลัวแม้กระทั่งความมืดที่จู่ๆขอให้เปิดไฟทิ้งไว้ แต่จอห์นก็ว่านอนสอนง่ายแทบไม่มีปัญหาอะไรเลยสักนิดจะติดแค่ว่ามีลักษณะของคนไม่ค่อยเต็ม ทำนองคนขี้กลัวที่ขาดความมั่นใจบางอย่าง หรือคนที่ไม่ค่อยมีความรู้เหมือนมีความคิดเป็นเด็กประมาณนั้น
จอห์นเป็นตัวละครที่เห็นปุ๊ปตีความได้ทันทีว่าน่ากลัวจากร่างกายที่ไม่ใช่แค่ใหญ่โตแต่รวมถึงสีผิวที่ไม่เหมือนใครอีกด้วย ประเด็นนี้ไม่ได้พูดถึงตรงๆหรือบอกอะไรมากนักแต่พอจะเห็นว่าตลอดทั้งเรื่องเต็มไปด้วยกลุ่มคนผิวขาว จะมีเพียงจอห์นที่เป็นคนเด่นเหมือนกับว่าคนผิวสีคือตัวปัญหาของชาวผิวขาว การใส่เรื่องเหยียดสีผิวอาจจะไม่ชัดเจนถ้าไม่สังเกตเรื่องของยุคสมัยในเนื้อเรื่องในช่วงยุค 1930 หรือ 1935 จากปีในเรื่อง คนผิวสีทำอะไรก็ผิดไปหมด ไม่เว้นแม้แต่เหตุการณ์ที่เกิดกับจอห์นก่อนเข้าคุกรอประหารที่มีเงื่อนงำที่ว่าเขาได้ทำแบบนั้นจริงหรือไม่ พอลเป็นคนที่สงสัยและอยากรู้ประวัติของนักโทษจึงได้อ่านเรื่องราวของจอห์นที่พบอยู่กับเด็กสาวทั้งสองข้างกายในสภาพที่นองเลือด ทว่าในตอนที่พบจอห์นกับศพเด็กหญิงมีอาการร้องห่มร้องไห้และบอกกับชาวบ้านที่ตามหาเด็กว่าช่วยไม่ทัน จากสถานการณ์ที่มืศพข้างกายคงไม่มีใครคิดหรอกไม่ใช่ฆาตกร นี่คือสาเหตุที่ทำให้จอห์นได้เข้าคุกรอรับการประหารเนื่องจากฆ่าเด็ก 2 คน ในมุมมองของพอลมีความน่าฉงนใจคือเขาทำจริงทำไมไม่หนี หรือเพราะไม่ใช่คนปกติจึงทำไปโดยไร้จิตสำนึก ไม่ว่าทางไหนก็แล้วแต่สำหรับพอลก็ยากจะเชื่อเมื่อมองเอาจากสภาพจิตใจที่ดูบอบบางเกินกว่าจะฆ่าใครได้ ปัญหาคือจอห์นเป็นคนที่น่ากลัวถ้ามองด้วยตาเปล่า และไม่มีใครไม่เชื่อว่านี่คือฆาตกรในเมื่อเขาเหมาะสมที่สุดแล้ว
ทั้งพยานผู้เห็นเหตุการณ์ที่เป็นชาวบ้านนับสิบคนหรือจะหลักฐานที่คาหนังเขาคาจอห์นถึงผลลัพธ์ที่นั่งอยู่กับศพ สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรที่จะนำมาแก้ต่างว่าตัวเองคือคนที่ไม่ได้ทำ จอห์นไม่ใช่แค่คนแปลกที่มีชีวิตด้วยลมหายใจ ทว่าเขาเป็นความประหลาดของใครหลายคนที่พยายามมองจอห์นให้มากกว่าสิ่งที่เห็น ตั้งแต่การสืบตัวตนที่ไร้ที่มาที่ไปก่อนจะสรุปแบบง่ายด้วยทฤษฎีไม่ต่างกับคนอพยพที่พยายามเข้าประเทศเพื่องานและเงิน จอห์นไม่มีใครเลยสักคนที่อยู่เคียงข้างหรือญาติที่รู้จัก มีเพียงแค่เขาคนเดียวเท่านั้นที่มีชีวิตท่ามกลางกรงสี่เหลี่ยม นอกจากความแตกต่างที่ไม่เหมือนใครในแทบทุกด้านแล้วก็ดูจะกลายเป็นความโดดเดี่ยวของจอห์นที่ต้องอยู่ด้วยความลำพัง การจะเห็นใจฆาตกรอาจเป็นเรื่องที่ไม่ควรในเมื่อฆ่าเด็กผู้หญืง แต่ด้วยการนำเสนอเรื่องราวของจอห์นทำให้เห็นว่าเขาอาจคือคนไม่ใช่ก็ได้ จอห์นคือตัวละครที่ไม่ได้มีบทบาทในเรื่องตลอดเวลา แต่ไม่รู้ทำไมกลับกลายเป็นที่น่าจดจำตั้งแต่แรกเห็น ต้องยอมรับก่อนว่า Michael Clarke Duncan คือคนที่เหมาะสมกับบทนี้เพราะไม่ว่าจะคาแรกเตอร์หรือการแสดงก็ล้วนทำให้จอห์นคือคนที่น่ากลัวและน่าเหลือเชื่อได้ในเวลาเดียวกัน นั้นเองที่จอห์นไม่แค่เป็นส่วนหนึ่งของคุกแต่ยังรวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของทุกคน
จอห์นมีลักษณะเด่นที่ร่างกายใหญ่โตและลักษณะด้อยที่มีนิสัยไม่ต่างกับเด็กที่ถูกทอดทิ้งและพยายามเชื่อแค่เรื่องยุติธรรม การเก็บตัวเงียบไม่พูดคุยกับคนอื่นไม่ต่างกับเด็กที่ถูกลงโทษและพยายามสำนึกผิดที่ตัวเองทำลงด้วยความสงสัยว่าผิดตรงไหน ในทีแรกคิดว่าเป็นหนังชีวิตที่พยายามเล่าเรื่องอะไรสักอย่างเกี่ยวกับคุกแบบเดียวกับ The Shawshank Redemption ที่ให้ความจริงจังกับคุกที่มีกรอบจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก่อนจะแหกคุกออกมาเพื่อหาอิสระภาพที่คุกไม่สามารถให้ได้ ทว่า The Green Mile สร้างความแตกต่างในเรื่องการตีความเรื่องคุกหรือคนที่อยู่ในคุกเนื่องจากคุกในเรื่องนี้หมายถึงการเตรียมใจรอวันประหาร จะไม่ใช่คุกหรือเรือนจำที่เอาไว้สำนึกโทษตามที่ตัวเองได้กระทำผิดลงไปกับวันที่ต้องอยู่ในกรอบ ฉะนั้นสำหรับเรื่องนี้ในเรื่องของคุกคือการรับบริการต่อแถวเพื่อพาตัวเองไปสู่ความตาย ความตายที่รออยู่ที่เก้าอี้ไฟฟ้า ประเด็นคือเมื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องตายในไม่ช้าแล้วควรจะทำอะไรต่อดีในวันที่ยังเหลือ อันที่จริงคงทำอะไรไม่ได้มากแบบเดียวกับพัศดีที่นอกจากคุมนักโทษก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากได้กลับบ้าน ทั้งชีวิตการอยู่เรือนจำไม่ว่าจะในหรือนอกคุกก็มีชีวิตที่ติดกรอบกันทุกคน ยกเว้นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนเห็นว่ากรอบมีช่องเล็กๆให้เรื่องราวใหม่และไม่ธรรมดาเกิดขึ้น สิ่งนั้นคือหนูที่บังเอิญโผล่จากช่องประตูขังนักโทษเดียวที่ไม่รู้ว่ามาได้อย่างไร พอลกับเพื่อนร่วมงานทั้ง 3 คน ได้แก่ บรูตัส บรูทัล โฮเวล (David Morse),แฮรี่ เทอร์วิลลิเกอร์ (Jeffrey DeMunn) และดีน สแตนตั้น (Barry Pepper) พยายามหาที่มาของหนูแต่ไม่พบร่องรอย แต่ด้วยบางอย่างหนูตัวนี้กับเชื่องอย่างเหลือเชื่อและดูเหมือนจะกลายเป็นสีสันแก่ทุกคน โดยเฉพาะอีดูอาร์ด เดอลาครัว หรือเรียกสั้นๆว่าเดล (Michael Jeter) ที่ตัดสินเลี้ยงมันก่อนจะพบว่าสามารถฝึกมันได้
หนูที่จู่ๆปรากฎออกมาเพียงลำพังและวิ่งเข้าหาเศษขนมโดยไม่หวั่นกลัวกลายเป็นเรื่องแปลกเพราะความเชื่องของมัน ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นสัตว์เลี้ยงแก่เดลที่เป็นนักโทษและพบว่าสามารถฝึกให้เข็นไม้กลิ้งมาหาตัวได้หลังจากขวางออกไป ความแปลกเช่นนี้ไม่ใช่แค่นั้นเพราะดูจะสนิทสนมกับทุกคนเป็นพิเศษอย่างไม่มีพิษมีภัย พร้อมกับตั้งชื่อเจ้าหนูปริศนาที่แสนเชื่องนี้เป็นสัตว์เลี้ยงนี้ว่า"จิงเกิ้ล" เดลมีความสุขตั้งแต่ได้จิงเกิ้ลมาเป็นเจ้าของและทำให้ทุกคนมีรอยยิ้มด้วยเช่นกัน จิงเกิ้ลเสมือนสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในคุก หนูเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องรีบกำจัดเพราะเป็นตัวนำพาหะของเชื้อโรคและเป็นตัวการทำลายข้าวของ มุมมองของหนูโดยทั่วไปคือตัวปัญหาที่ก่อให้เกิดความทุกข์ เมื่อมีหนูหมายถึงปัญหา แต่ถ้าไม่มีหนูคือไม่มีปัญหา ตอนที่จิงเกิ้ลโผล่มาครั้งแรกได้สร้างความลำบากใจแก่พอลและเพื่อนร่วมงานที่ต้องจัดการก่อนที่นำพาสู่ความสกปรก ทว่าการจัดการหนูตัวเดียวไม่ได้ง่ายเพราะไม่รู้ซ่อนตัวอยู่ไหน เมื่อหาไม่เจอในครั้งแรกก็ได้ปล่อยไปจนโผล่จากที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้จะต่างจากเดิมตรงที่ในท้ายที่สุดได้เดลมาเป็นผู้รับเลี้ยง สัญญาลักษณ์ของหนูไม่ใช่แค่ความสกปรกเท่านั้น แต่ยังเป็นได้ทั้งตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของเพื่อนที่ไม่เปลี่ยวเหงา และความใสซื่อบริสุทธิ์
เพอร์ซี่ วิทมอร์ (Doug Hutchison) ผู้คุมเด็กเส้นที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพัศดีคุมนักโทษที่ทำตัวไม่เห็นหัวใครและไม่ให้เกียรติใคร แม้แต่กับพอลหรือทุกคนที่เป็นพัศดีด้วยกันก็ไม่ละเว้น เพอร์ซี่คือตัวละครแห่งความเลวร้ายที่ไม่สนใจใครนอกจากตัวเองเพียงคนเดียว บ่อยครั้งที่เกิดการทะเลาะเพราะจากเขาเป็นคนก่อ ไม่ใช่แค่กับคนที่อยู่นอกกรงแต่รวมถึงคนในกรงที่ไม่ยินดีกับเขาที่ทำตัวเป็นใหญ่เพราะคิดว่าตัวเองนั้นดีกว่าทุกคน เพอร์ซี่ไม่สามารถเข้ากับใครได้สักคนเดียวเนื่องจากนิสัยที่ดูถูกคนเป็นว่าเล่น อีกทั้งยังไม่มีคุณสมบัติการเป็นพัศดีที่แท้จริงอีกด้วย สังเกตเมื่อเทียบกับพอลจะกลายเป็นด้านตรงข้ามที่ห้ามอะไรก็ทำสิ่งนั้นอย่างไม่ลังเลหรือสำนึกกลัวผิดทั้งสิ้น ในช่วงแรกเพอร์ซี่ไม่ต่างกับเด็กที่เอาแต่ใจ มีความกลัวของตัวเองแต่ทำอวดเก่งเพื่อปิดบังเอาไว้ จนกระทั่งตอนคุมไวลด์ บิลล์ (Sam Rockwell) นักโทษคนใหม่ที่เกิดอาการคลุ้มคลั่งมีเพียงเพอร์ซี่ที่ไม่เข้าไปจัดการ สิ่งที่เพอร์ซี่ทำได้คือการยืนดูด้วยความหวดกลัวปล่อยให้พัศดีคนอื่นจัดการ ทั้งไม่ยอมใช้ไม้กระบองที่ถืออยู่ทั้งที่มีโอกาส แต่นั้นยังไม่เท่ากับที่ถูกไวลด์จับตัวจากในกรงเพราะความไม่ระมัดระวังและแสดงความกลัวออกมาด้วยการฉี่รดกางเกงจนใครเห็นถึงความไม่เอาไหน รวมถึงไวลด์ที่มองออกถึงความกลัวของเพอร์ซี่ที่น่าจะเป็นผู้คุมที่อยู่เหนือกว่ากลับกลายเป็นเพียงเด็กที่คุยโอ้อวดและขี้ขลาด
เดลมีความบาดหมางกับเพอร์ซี่เพราะถูกตีมือจนกระดูกนิ้วหัก เมื่อเดลมีหนูเป็นสัตว์เลี้ยงและเพอร์ซี่เป็นที่ขายหน้าแก่เดลที่ฉี่รดกางเกางก็ไม่ต่างกับโดนย้อนศรอย่างน่าเจ็บปวด สำหรับเพอร์ซี่ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเป็นสิ่งสุดท้ายที่เหนือกว่า การเอาคืนของเพอร์ซี่คือการกำจัดหนูที่เป็นปัญหาตั้งแต่แรก และไม่ใช่แค่แค่หนูเท่านั้นแต่รวมถึงเดลที่ต้องการเอาคืนให้รู้ว่าคนที่หัวเราะที่หลังจะต้องดังกว่าเสมอ ในวันที่เดลเล่นกับจิงเกิ้ลจนมันออกไปข้างนอกกรงกลายเป็นวันที่สร้างความตกใจแก่ทุกคน เมื่อพัศดีทุกคนไม่รวมเพอร์ซี่และเดลต่างตะลึงในสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิงเกิ้ลที่ถูกเหยียบอย่างจังด้วยเท้าของเพอร์ซี่ที่เหมือนพยายามหาโอกาสแบบนี้มานานแสนนานเพื่อกำจัดหนู แน่นอนว่าจิงเกิ้ลอาจเป็นแค่หนูตัวหนึ่ง ทว่าด้วยความผูกพันที่สร้างความสุขมาตลอดก็กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนรักและเมตตา เมื่อจิงเกิ้ลนอนกับพื้นบนเลือดของตัวเองทำให้เดลต้องใจสลายในที่สุด ไม่ใช่เดลที่เจ็บกว่าทุกคน แต่รวมถึงพอลกับเพื่อนพัศดีคนอื่นที่รู้ดีว่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมในฐานะผู้คุมนักโทษประหาร นักโทษที่เข้ามาทุกคนล้วนมีชีวิตที่ถูกกำหนดในตอนท้ายแต่จะจบลงอย่างไรให้คุ้มค่าคือหน้าที่ของพอลที่ไม่ใช่แค่ทำตามหน้าที่แต่ยังต้องทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายและปล่อยว่างจากความผิดของตัวเอง เพื่ออย่างน้อยจะได้ยอมรับการตายของตัวเองและสำนึกโทษในท้ายที่สุด
เบิร์ต แฮมเมอร์สมิธ (Gary Sinise) ทนายความผู้ลงความเห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจอห์นเป็นฆาตกรและเชื่อสำนึกตัวเองว่าไม่ว่าจะสัตว์เลี้ยงหรือคนต่างมีคมเขี้ยวที่ซ่อนอยู่ พอลไปหาเบิร์ตเพื่อต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับจอห์นเพิ่มมากขึ้นเพราะมีความไม่มั่นใจว่าคือฆาตกรที่สามารถฆ่าเด็กได้ เบิร์ตเองไม่ได้ตีความในทันทีว่าเป็นฆาตกรจริงเพราะต้องทำตัวเป็นกลางและสรุปเอาจากหลักฐานกับพยานที่มี ซึ่งผลลัพธ์ออกมาเป็นยังไงพอลเองรับรู้ดี เบิร์ตได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับลูกชายของตัวเองที่มีแผลที่ใบหน้าจากดวงตาที่ถูกทำร้ายโดยสุนัขที่เลี้ยงเอาไว้ เบิร์ตไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะถูกสิ่งที่ตัวเองเลี้ยงเอาไว้หันมาทำร้ายและทำลายครอบครัวของตนเอง ด้วยความเชื่อมั่นที่จะไม่เกิดเรื่องร้ายจากสัญชาตญาณของสัตว์ที่คิดว่าเชื่องแล้วคงปลอดภัย เบิร์ตยอมรับความผิดพลาดที่ไว้ใจมากเกินไปจนต้องรับการสูญเสียที่ไม่มีทางแก้ไขได้ทัน หลังจากสุนัขที่เลี้ยงทำร้ายลูกชายของเขาจึงตัดสินใจฆ่ามันเพราะไม่อาจเชื่อได้อีกว่าจะปลอดภัยหรือไว้ใจได้หลังจากทำร้ายเจ้าของ เบิร์ตได้สอนพอลให้ระวังอย่าเชื่อใจอะไรมากเกินไปเพราะสิ่งนั้นจะเข้ามาทำลายเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสัญชาตณาญที่บอกไม่ได้หรอกว่าจะดีหรือร้าย ไม่เว้นกับใจของคนที่อาจจะดีหรือร้ายได้ไม่ต่างกัน สิ่งที่เห็นนั้นสวยงามแค่ภายนอกที่เห็น ถ้าภายในตรงข้ามกับภายนอกจะตั้งตัวรับมือทันได้ไหมในเมื่อปล่อยไปแล้ว
พอลได้รับความกระจ่างอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของชีวิตจากสิ่งที่รักกลายเป็นสิ่งที่ชิงชัง แต่ลึกในใจของพอลยังมองจอห์นเป็นคนดีจากสิ่งที่เขาได้เห็นและรับการพิสูจน์จากจอห์นด้วยการรักษาที่เหนือกว่าความทันสมัยทางการแพทย์ เดิมพอลมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายทางปัสสาวะและมีความทรมานทุกครั้งที่รู้สึกอยากฉี่แต่ไม่อาจฉี่ได้อย่างคนปกติ ไม่ว่าจะเวลาทำงานหรือกลับบ้านจะต้องเจ็บปวดกับอาการนี้ราวกับทุกข์ติดตัว สิ่งนี้ทำให้เขาเหนื่อยกว่าการทำงานหลายเท่าจนตัดสินจะไปหาหมอเพื่อรับการรักษา ซึ่งเป็นวันที่ไวลด์เข้ามาที่แห่งนี้ครั้งแรกและต้องทำหน้าที่ของตัวเองรับนักโทษเสียก่อน ทว่าไวลด์ได้สร้างความวุ่นวายจนพอลถูกอัดที่ใต้เข็มขัดจนสภาพเหมือนคนหมดแรงสิ้นสภาพ จอห์นเองเห็นพอลเป็นเช่นนั้นจึงเรียกให้พอลเข้าไปหาใกล้ๆ ด้วยความไม่ทันระวังเพราะคิดว่าจอห์นคงไม่ทำอะไรก็ถูกคว้าตัวเข้าไปแนบกับลูกกรงพร้อมกับใช้มือแตะที่เป้ากางเกงพอล ด้วยท่าทีของจอห์นทำให้พอลแตกตื่นเนื่องจากอยู่คนเดียว ขณะที่เหลือไปทำแผลเพราะถูกไวลด์ทำร้าย ทว่าจอห์นไม่ได้ทำอะไรหลังจากนั้นนอกจากให้พอลอยู่นิ่งๆก่อนจะปล่อยตัวและให้ดูว่าผลเป็นยังไงเรื่องฉี่ ด้วยความฉงนใจของพอลจึงลองดูว่าเป็นยังไง ซึ่งผลลัพธืกลับกลายเป็นว่าปัญหาการเข้าห้องน้ำหายเป็นปลิดทิ้ง ไม่มีความทรมานกับเรื่องเข้าห้องน้ำอีกต่อไป หลังจากนั้นพอลสามารถมีความสุขกับเจน เอดจ์คอมบ์ (Bonnie Hunt) ภรรยาของตนหลังจากอัดอั้นมานานกับโรคร้ายนี้ พร้อมกับมอบขนมปังอบให้จอห์นเป็นการขอบคุณที่ช่วยรักษา
เรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับจอห์นสร้างความแปลกใจให้กับพอลอย่างมากแม้จะไม่รู้ว่ามันคืออะไร สิ่งที่ได้จากการรักษาโรคให้หายขาดเสมือนปฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นจากมือเปล่าของชายผิวสี นั้นจึงเป็นความน่าสงสัยของพอลที่มีต่อจอห์นว่าคนที่กลัวความมืดและมีท่าทีของความเป็นมิตรอันแสนไร้เดียงสาจะฆ่าเด็กได้ลงคอ แม้ความสงสัยจะไม่ได้ช่วยให้ข้อเท็จจริงกระจ่างขึ้นนอกจากการรับรู้เรื่องใจคน แต่พอลยังมองจอห์นคือส่วนที่ดีที่สุดในเรือนจำแห่งนี้ เฉกเช่นเดียวกับจิงเกิ้ลเจ้าหนูแสนฉลาดของเดล จิงเกิ้ลเข้ามาสร้างสีสันแก่ทุกคนจนเป็นที่น่าอิจฉาสำหรับเพอร์ซี่และจบชีวิตจิงเกิ้ลด้วยการเหยียบตอนเผลอ ทว่าท่ามกลางความเสียใจของเดลกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจนพอลและคนอื่นไม่พอใจมีเพียงจอห์นที่ขอช่วยส่งหนูตัวนั้นอย่างรวดเร็วก่อนจะสายเกินไป จอห์นได้กำมือที่มีหนูหนึ่งตัวและทำท่าเหมือนสวดภาวนาอะไรสักอย่าง ในฉากนี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดกับพอลคือรอบๆจะเกิดความผิดปกติโดยเฉพาะกับหลอดไฟที่ส่องแสงมากเป็นพิเศษ หลังจากที่หนูอยู่ในมือของจอห์นก็ได้สร้างปฏิหาริย์อีกครั้งด้วยการทำให้จิงเกิ้ลกลับมามีชีวิต ด้านเดลได้ขอบคุณที่ทำให้จิงเกิ้ลกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ส่วนเพอร์ซี่ที่ออกไปก่อนต้องแปลกใจเมื่อเข้ามาใหม่อีกครั้งเมื่อพบว่าหนูตัวนั้นยังไม่ตายทั้งที่ถูกเหยียบไปเต็มๆ เมื่อหนูกลับมาอีกครั้งทุกอย่างก็กลายเป็นเรื่องปกติ ส่วนเพอร์ซี่ถูกมองเป็นตัวตลกอีกครั้งกับสิ่งที่เขาทำ
แม้ว่าเพอร์ซี่จะถูกมองเป็นคนที่เลวร้ายจากสิ่งที่ทำทุกครั้ง แต่พอลไม่อาจปฏิเสธในสิ่งที่ถูกขอก่อนวันประหารจริงได้ เมื่อเพอร์ซี่อยากเป็นคนนำในการประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าเพราะอยากลองดูว่าเป็นยังไง แน่นอนว่าตอนแรกพอลไม่อยากให้เป็นคนนำประหารเพราะไม่มีความพร้อมเลยสักนิด แต่ต้องยอมใจอ่อนฝึกซ้อมจนเพอร์ซี่มีความสามารถพอจะเอ่ยกล่าวในวันจริงได้ ซึ่งวันจริงที่กำลังมาถึงนั้นเป็นวันของเดลที่ต้องถูกประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า อย่างที่รู้ในตอนแรกคือเดลกับเพอร์ซี่มีความบาดหมางกันจนไม่น่าจะยอมกันได้ ทว่าการมาเป็นคนนำพิธีประหารไม่ต่างกับการยอมรับบับถือซึ่งกันและกันก่อนอำลาโลกนี้ไป ทุกอย่างดูไปได้ดีที่ค่อยๆเป็นตามขั้นตอนตั้งแต่การเอ่ยประโยคตลอดจนการนำเดลนั่งเก้าอี้พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยเพื่อรอขั้นต่อไป ขั้นตอนการประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้ามีแค่ 2 ขั้นตอนคือการเตรียมไฟฟ้าและเดินกระแสไฟฟ้าลงสู่สมองเป็นการจบชีวิตอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องทรมานกับการถูกช็อตทั้งร่าง ส่วนการทำให้สมองตายทันทีด้วยไฟฟ้าทำด้วยการนำฟองน้ำที่ชุบน้ำจนเปียกมาวางบนหัวที่โกนผมเรียบร้อย การประหารนี้เสมือนการทำการลงประชาทัณฑ์แต่ไม่มีใช่เพราะไม่มีการรุมทำร้ายและผ่านกระบวนการยุติธรรมในศาล ที่ว่าคล้ายมาจากการประหารที่ให้นั่งเก้าอี้ไฟฟ้าข้างหน้าห้องโดยหันหน้าเข้าผู้เสียหายหรือพยานที่มารับชม แน่นอนว่าจะได้เห็นตั้งแต่เดินเข้าห้องตลอดจนกระแสไฟฟ้าไหม้สมอง การจะจบชีวิตนักโทษสักคนนั้นกลายเป็นความอึดอัดที่ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่พัศดีที่ต้องจำใจฆ่าคนเพราะเป็นหน้าที่ แต่รวมถึงทุกคนที่มาอยู่ในห้องประหารเพื่อรับชมการตายจากคนที่ถุกกล่าวหาว่าผิดจริง ไม่ว่าจะสายตาหรือคำพูด ไม่มีใครอวยพรนอกจากให้ตกนรกเพื่อรับผลกรรมที่ตัวเองก่อ แค่ยังไม่ตายจริงก็เหมือนโดนรุมจากคนข้างหน้าก็เจียนตายแล้ว
เดลก่อนจะพบจุดจบได้ฝากจิงเกิ้ลเอาไว้กับจอห์นด้วยความห่วงใยเนื่องจากความผูกพันกับชีวิตของหนูหลังจากเขาจากไปจะเป็นเช่นไร จะได้ไปอยู่กับคณะละครสัตว์ตามที่พอลและเพื่อนๆได้บอกหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่เชื่อว่าทุกอย่างจะไปด้วยดีหลังจากตัวเองหมดลมหายใจ กระนั้นชีวิตของเดลที่กำลังจากไปอย่างสงบชั่วไปกี่อึดใจกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความป่าเถื่อนจากการประหารเพียงไม่กี่วินาทีต้องยึดเยื้อเป็นนาทีเพราะเพอร์ซี่เพียงคนเดียว ตามหลักแล้วการเริ่มขั้นที่สองที่ควรจะดิ่งกระแสไฟฟ้าใส่สมองให้ตายทันทีกลายเป็นว่ากระแสไฟฟ้าได้เข้าทั้งร่างกายของเดลจนผลออกมาเป็นความทรมานอย่างน่าสยดสยอง ทั้งเนื้อตัวมีควันและส่งกลิ่นไหม้พร้อมกับเสียงร้องด้วยเจ็บปวดที่ไม่รู้จักจบสิ้น สภาพนี้กินเวลาอยู่พักนึงจนผู้คนที่เข้าดูการประหารยังต้องผวาไม่อยากอยู่ต่อแม้แต่คนเดียว ความผิดพลาดที่เกิดจากความตั้งใจของเพอร์ซี่กลายเป็นที่ชิงชังของทุกคนเพราะไม่คิดว่าคนที่น่าเข้าใจยอมรับได้แล้วกลายเป็นคนที่เป็นยังไงคงเป็นแบบนั้น สาเหตุที่เดลไม่ถูกไฟฟ้าช็อตตายในทันทีมาจากเพอร์ซี่แกล้งทำเป็นหยิบฟองน้ำจุมลงในถัง ซึ่งฟองน้ำนั้นไม่ได้เปียกน้ำเลยสักนิดเดียว เมื่อสั่งให้กระแสไฟฟ้าเดินเข้าหาเดลก็กลายเป็นช็อตทั้งตัวและค่อยๆเผาไหม้จนเกรียม พอลและกลุ่มเพื่อนไม่สามารถห้ามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้และต้องต่อให้จบจนกว่าเดลจะตายสนิทแน่นิ่ง กว่าจะแบบนั้นต้องใช้เวลาอยู่พักนึง เวลาที่การประหารกลายเป็นโชว์ความป่าเถื่อนของมนุษย์ที่ทำร้ายด้วยกันเองอย่างโหดเหี้ยม
พอลและเพื่อนๆต่างรู้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากอะไรและใครทำ แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดไปถึงคนข้างนอกได้เพราะไม่อยากทำให้ชื่อเสียงต้องถูกป่นปี้เพียงเพราะความไม่เอาไหนของเด็กเส้นที่อยากจะทดลองโดยไม่ดูสถานการณ์หรือกระทั่งความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถ้าฉากเหยียบจิงเกิ้ลคือฉากที่สร้างความตกใจแก่ผู้ชมอย่างไม่ทันตั้งตัว ฉากการประหารเดลคือฉากที่ตกใจยิ่งกว่าในสิ่งเพอร์ซี่ได้กระทำลงไป ไม่มีใครห้ามหรือหยุดสิ่งเพอร์ซี่ทำได้เพราะไม่มีใครเห็น พอลยืนอยู่ใกล้ๆและเห็นความผิดปกติเป็นคนแรกแต่ไม่อาจห้ามสั่งประหารได้ทัน ด้วยความลังเลใจที่ไม่เห็นหยดน้ำเลยสักทั้งที่น่าจะมีรอยเปียกที่พื้น ความลังเลที่ไม่นึกว่าเพอร์ซี่จะทำแบบนั้นได้ลงคอเพราะคิดว่าในช่วงเวลาสำคัญขนาดนี้จะพลาดได้อย่างไร สุดท้ายเพอร์ซี่ตั้งใจทำพลาดแต่ลึกๆคือการล้างแค้นที่ตัวเองต้องเสียหน้า ไม่สนว่าพัศดีคนอื่นจะปลอบใจแบบไหน แต่สำหรับเพอร์ซี่สมควรแล้วที่เป็นแบบนี้ จากหลายๆฉากไม่ว่าจะช่วงไหนของหนังกับเพอร์ซี่คือความหายนะทำให้ทุกคนต้องรู้สึกเครียดแค้น สูญเสีย และเจ็บปวด สิ่งเดียวที่รักษาสมดุลของคุกไม่ให้เกิดความป่าเถื่อนได้คือพอลที่ยังระลึกเสมอเกี่ยวกับคุณค่าของคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เลวร้ายแค่ไหนก่อนจะตายควรได้รับศักดิ์ศรีที่เพียงพอ จริงที่พอลไม่สามารถหยุดความทรมานของเดลได้เนื่องจากถ้าหยุดเท่ากับฆ่าทั้งเป็นและอาจเลวร้ายกว่าเก่า
เมลินดา มัวร์ส (Patricia Clarkson) ภรรยาที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายของฮัล มัวร์ส (James Cromwell) หัวหน้าพัศดีที่ต้องอยู่กับความเสียใจเมื่อภรรยาของตัวเองอาการเริ่มหนักยิ่งขึ้นจนสภาพกลายเป็นอีกคนเพราะถูกมะเร็งทำร้าย พอลคิดว่าพลังของจอห์นน่าใช้ได้เหมือนกันในการช่วยให้หายจากมะเร็ง พอลจึงตัดสินนำจอห์นออกจากคุกโดยมีแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานที่รู้และเต็มใจทำแม้จะเสี่ยงมากก็ตาม การพานักโทษหลบหนีคือเรื่องอันตรายของทุกคน แน่นอนว่าพอลเลือกจะทำอย่างระมัดระวังที่สุดเท่าที่ทำได้โดยไม่ให้มีใครรู้เด็ดขาด แม้แผนจะสำเร็จไปด้วยดีจนถึงบ้านของฮัลก็ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับจากเจ้าของบ้านที่ไม่รู้เรื่องว่ามาทำอะไรกัน ฉากนี้จะเห็นว่าฮัลเหน็ดเหนื่อยกับเรื่องภรรยาของตนเองจนถึงขั้นสูญเสียความมั่นใจไป ฮัลอยู่ในช่วงกำลังโศกเศร้าที่ภรรยาตัวเองทรมานกับมะเร็งจนกลายเป็นอีกคนที่เต็มไปด้วยถ้อยคำสถบหยาบคาย ก้าวร้าว และร่างกายที่ทรุดโทรมเรื่อยๆ ความไม่ธรรมดาของฉากนี้คือการใช้ความเมตตาพร้อมกับความเชื่อใจเข้าหาตัวฮัล ตอนที่พอลมาถึงหน้าบ้านและฮัลรู้ว่ามีคนมาเพราะได้ยินเสียงรถ ฮัลได้ออกมาพร้อมกับถือลูกซองเพราะคิดว่าอาจเป็นโจร ซึ่งทางกลับกันคือพอลที่พาจอห์นมาด้วย ฮัลไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นนอกจากเสียงทักท้วงให้เชื่อใจจอห์นว่าสามารถรักษาเมลินดาได้ ฮัลไม่รู้ว่าทำไมแต่เชื่อใจพอล อันที่จริงเชื่อว่าจอห์นอาจทำอะไรบางอย่างที่ช่วยได้แม้จะไม่อยากให้ฆาตกรฆ่าเด็กไปหาภรรยาของตนก็ตาม แต่แล้วฮัลต้องทึ่งในสิ่งที่จอห์นทำกับเมลินดาแล้วพบว่าหายไปจากมะเร็งจนใบหน้ากลับมาสดใสเป็นคนปกติอีกครั้งหนึ่ง ฮัลไม่รู้ว่าเพราะอะไรนอกจากดีใจที่ได้ภรรยาของตนคืนมา ด้านเมลินดาที่ฟื้นจากสภาพคนใกล้ตายได้ขอบคุณที่ช่วยเอาไว้ประหนึ่งรับรู้การมาของจอห์นและได้ให้จี้สร้อยเป็นของขวัญที่ชีวิต
The Green Mile สามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างมีพลังตลอดทั้งเรื่องและแยกแยะสถานการณ์ได้อย่างดีจนไม่รู้สึกวุ่นวายทั้งที่บางครั้งตัวละครที่ดูไม่เยอะแต่ทำยังไงให้มีบทบาทน่าจดจำ จอห์นเสมือนด้านที่ดีและบริสุทธิ์ แต่อยู่ผิดที่ผิดเวลากลายเป็นแพะรับบาปที่ไม่อาจหลีกหนีได้ การใช้เวลาในการหาตัวตนจอห์นทำให้รับรู้ว่าต่อให้ไม่มีการเฉลยว่าใครคือฆาตกรตัวจริงก็รู้ว่าจอห์นคือคนที่ไม่ใช่
การสะท้อนสังคมถึงปัญหานักโทษที่ถูกขังในเรือนจำกลายเป็นประเด็นที่ถูกผิดมาตลอดหลายสมัยจากช่องว่างของกฎหมายหรือการค้นหาความจริงที่มักอาศัยจากผู้ต้องสงสัยด้วยภายนอก การที่จอห์นอยู่กับเด็กหญิงที่นอนตายในอ้อมกอดไม่ได้แปลว่าคือฆาตกรเสมอไป บางทีจอห์นอาจต้องการเข้าไปช่วยด้วยพลังที่ตัวเองมีแต่ไม่สามารถช่วยได้ทันจึงรู้สึกเสียใจต่อการตายของเด็กน้อยทั้งสองที่น่ามีจุดจบอันแสนโหดร้ายเช่นนั้น ทว่าจุดนี้ได้รับการเฉลยในตอนท้ายว่าจริงๆแล้วการตายของเด็กมาจากไวลด์ต่างหากที่เป็นคนทำทั้งหมด แล้วจอห์นรู้ได้ยังไงนั้นมาจากตอนที่พอลวางยานอนหลับไวลด์เพื่อพาไปนอกเรือนจำเพื่อไปช่วยเมลินดาจากมะเร็ง ตอนที่กำลังเดินผ่านหน้าห้องไวลด์จู่ๆมีมือคว้าแขนจอห์นซึ่งเป็นไวลด์อยู่ในช่วงมึนเมาจากฤทธิ์ของยา แน่นอนว่าความเมานี่แหละที่ทำให้จอห์นรู้ความจริงจากการสัมผัส จอห์นได้รับรู้ความชั่วร้ายในก้นบึ้งภายในจิตใจว่าไวลด์คือคนที่ชั่วช้าที่สุดเท่าที่เคยเจอมา เมื่อรู้ว่าฆาตกรตัวจริงคือใคร สิ่งแรกที่จอห์นทำคือการลงโทษให้สาสมในสิ่งที่ควรโดนยิ่งกว่านั่งเก้าอี้ไฟฟ้า มันต้องจบลงในสิ่งที่เหมาะสมกว่า
ทีแรกนึกว่าเป็นสไตล์หนังชีวิตที่จริงจังโดยมีพื้นหลังเป็นคุกระหว่างพัศดีกับนักโทษประหาร ซึ่งก็เป็นรูปแบบนั้นจริงแต่เพิ่มเรื่องเหนือธรรมชาติเข้ามา แล้วไม่รู้ยังไงแต่จังหวะที่จอห์นใช้พลังดูจะเนียนไปกับเรื่องราวจนไม่รู้สึกแตกตื่นหรือตะลึงเท่าไร นอกจากรู้สึกว่านี้ไม่ใช่เรื่องปกติที่น่าจะใส่เข้ามาได้เพราะหนังชีวิตดราม่าจะกลายเป็นแฟนตาซีไปหรือเปล่า ถึงอย่างนั้นตอนที่จอห์นใช้พลังก็ดูจะไม่ได้อลังการนักแค่เหมือนดูดส่วนที่ไม่ดีมากกว่า พอใช้พลังรักษาเสร็จจะเกิดผลข้างเคียงกับจอห์นทำให้เพลียหมดแรง หลังจากนั้นจะคายบางอย่างออกมาคล้ายฝูงแมลงอะไรสักอย่างแล้วสลายหายไปในอากาศ สิ่งนี้เหมือนการดูด"ของเสีย"จากคนอื่นมาไว้ที่ตนแล้วปล่อยออกมา ฉะนั้นจอห์นเสมือนผู้รับและผู้ให้ในเวลาเดียวกันรวมถึงเป็นผู้เสียสละรับภาระจากคนอื่นอีกด้วย แล้วจะบอกว่าเขาคือฆาตกรที่ทำลายชีวิตครอบครัวคนอื่นได้อย่างไรในเมื่อมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากกว่าใครๆ จอห์นกลัวความมืดเพราะชอบแสงสว่าง เปรียบเปรยกับใจคนที่ขาวสะอาดกับดำมืด ไม่ว่าจะเพอร์ซี่หรือไวลด์ต่างเป็นคนไม่ดีทั้งคู่ มีหลายอย่างในคุกนี้ที่ให้โอกาสมากกว่าหนึ่งครั้งในการปรับตัวให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตเช่นคนอื่นทั่วไปที่ไม่เบียดเบียน น่าเสียดายที่ทั้งสองมีจิตใจที่คับแคบเกินกว่าจะให้คำว่าอภัยและจอห์นจัดการทั้งคู่ในวันที่ช่วยเมลินดาหลังจากกลับเข้าห้องกรงด้วยการคืน"ของเสีย"ใส่เพอร์ซี่ก่อนจะลงทัณฑ์ไวลด์ในตอนสุดท้าย ในมุมมองหนึ่งนี่คือความถูกต้องจริงหรือไม่ที่กระทำด้วยเจตนารมย์ของตัวเองแทนที่จะปล่อยไปตามกฎหมายกำหนด
จอห์นในที่นี่อาจไม่ใช่แค่คนทั่วไปแต่หมายถึงผู้กำหนดชะตาชีวิต ไม่ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือผิดแค่ไหนก็ไม่อยากให้คนที่เลวและชั่วช้าลอยนวล สิ่งที่จอห์นทำมาเสมอคือผู้ให้ชีวิต จนกระทั่งเขาได้ทำลายชีวิตจึงไม่ต่างกับฆาตกร จอห์นรู้ตัวว่าสุดท้ายต้องจบชีวิตลงเมื่อเวลานั้นมาถึง แต่จะสมเหตุสมผลกว่าถ้าเขามีบาปติดตัวที่ต้องชำระ ดังเก้าอี้ไฟฟ้าและผู้คนที่มาดูการประหารคือการสารภาพบาปที่ตัวเองได้ก่อต่อหน้าพระเจ้าหรือตัวแทนที่มีความเชื่อมั่นในความถูกต้อง จอห์นได้เลือกเส้นทางของตัวเองในตอนท้ายเรื่องอย่างเชื่อมั่น ไม่ใช่แค่จอห์นที่รู้ความจริงทั้งหมดแต่รวมไปถึงพอลที่เข้าไปหาด้วยเสียงเรียกพร้อมกับเหตุผลที่จะเปิดโปร่งความจริงที่เกิดขึ้น กระนั้นสายเกินไปที่จะรู้ว่าจอห์นคือผู้บริสุทธิ์ และถึงเป็นเช่นนั้นก็ยากจะช่วยให้รอดจากการถูกประหารที่นับวันยิ่งใกล้เข้ามา จนในวันประหารชีวิตจอห์นมาถึงก็กลายเป็นวันที่ทุกคนเสียใจเกินกว่าจะกลั้นน้ำตาได้ ความสัมพันธ์ระหว่างนักโทษคนหนึ่งกับพัศดีสี่คนมาจากความรักต่อกันที่บริสุทธิ์ เป็นความรักที่ได้จากภายในจิตใจที่แท้จริงโดยไม่มีเรื่องจอมปลอมใดๆ พอลเสนอให้จอห์นหนีโดยไม่ตามจับเพื่อต้องการให้รอดปลอดภัย บางทีอาจจะเข้าท่ากว่าถ้าสามารถรอดไปใช้ชีวิตต่อได้อีกโดยไม่ถูกประหารเนื่องจากถูกเข้าใจผิดจากรูปร่างภายนอกที่น่ากลัว จอห์นได้ยินดังนั้นจึงตอบปฏิเสธอย่างไม่ลังเลราวกับรู้ตัวว่าหมดหน้าที่ของตัวเองที่จะอยู่ต่อแล้ว ชีวิตนี้ผ่านความลำบากมามากและช่วยชีวิตเอาไว้มากมาย จะลำบากอีกสักหน่อยเพื่อพบความสงบคงไม่เท่าไร และนี่คือสิ่งที่จอห์นบอกแก่เพื่อนพัศดีของเขา สิ่งสุดท้ายที่พอลและเพื่อนๆอยากจะเสนอคืออยากได้อะไรที่พิเศษไหม จอห์นตอบด้วยความไร้เดียงสาอย่างไม่กลัววันพรุ่งนี้ว่าอยากดูหนังเพราะยังไม่เคยได้ดูมาก่อน
ถึงหนังยาวแค่ไหนแต่ด้วยทักษะการเล่าเรื่องประกอบกับการร้อยเรียงตัวละครอย่างสวยงามทำให้น่าติดตามตลอดเวลาและซึมซับมิติตัวละครอย่างหนักแน่นกินใจ สำหรับ The Green Mile แม้จะไม่ได้มีเรื่องราวที่จบอย่างสวยงามหรือไปตามที่ควรจะเป็นก็ตาม กระนั้นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความทุกข์และสุขเหมือนเป็นเรื่องจริงของคนๆหนึ่ง ไม่แปลกใจเลยที่เรื่องนี้จะกินใจจนหลายคนอาจต้องร่ำไห้ไปกับจอห์น ในสิ่งที่เขาทำล้วนเกิดจากการทำด้วยใจที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนทั้งสิ้น ทุกครั้งที่ช่วยเหลือต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด ในตอนท้ายเรื่องฉากประหารจอห์นด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าเต็มไปด้วยอารมณ์โศกเศร้าของการสูญเสียที่เป็นมากกว่าการตายเพื่อชดใช้บาปจอมปลอมที่มีไม่กี่คนที่เห็นถึงความจริง อีกด้านเป็นการชดเชยเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่จอห์นทำพลาด ครั้งแรกไม่สามารถช่วยเด็กได้ทัน ครั้งที่สองใช้พลังช่วยชีวิตทำลายคนชั่ว ไม่ว่าจะทางไหนสิ่งที่เขาทำคือความดีที่ถูกปกปิดด้วยเรื่องโกหกกลายเป็นความเลวที่ทุกคนต่างมองเห็น ต้องนับถือ Stephen King ที่เขียนเรื่องนี้ออกมาได้อย่างเข้าใจทุกสัดส่วน แต่ไม่ว่าจะส่วนไหนก็มิอาจเท่าส่วนที่จอห์นทิ้งประโยคเตือนใจครั้งสุดท้ายเอาไว้เกี่ยวกับคนทุกคนนั้นคือความรัก บนโลกมีความรักหลากหลายรูปแบบ จอห์นได้หยิบยกความรักที่อ้างถึงการตายของเด็กว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการใช้ความรักหลอกลวง ความรักที่เกิดขึ้นง่ายๆแค่ลมปากที่ไม่มีสำนึกจิตใจที่บริสุทธิ์ ให้ระวังความรักที่เกิดขึ้นเพราะอาจเป็นตัวทำลายพวกเขาได้
ย้อนกลับมาที่พอลตอนชราที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังในต้นเรื่อง เขาได้เล่าต่อเกี่ยวกับชีวิตหลังจากนั้นว่าไม่อาจทำงานนี้ ไม่อาจประหารใครได้อีกต่อไป แต่เรื่องแปลกหลังจากนั้นคือพอลมีชีวิตมาแล้วถึง 108 ปีและเชื่อว่าอีกไม่นานคนที่เขารู้จักจะต้องตายจากเขาไปอย่างทุกที ในตอนนี้พอลมีสภาพที่โดดเดี่ยวเพราะไม่เหลือเพื่อนในอดีตหรือคนรักอีกต่อไป จะหลงเหลือคือจิงเกิ้ลเจ้าหนูแสนฉลาดของเดลที่ได้รับการชุบชีวิตจากจอห์น การที่พอลกับจิงเกิ้ลมีอายุยืนยาวขนาดนี้มาจากพลังของจอห์นที่เข้ามาในร่างกาย จิงเกิ้ลได้ตอนถูกรักษาก่อนตาย ส่วนพอลได้ตอนที่จอห์นถ่ายทอดความรู้สึกเกี่ยวกับความจริงที่เกิดขึ้น ทั้งสองต่างได้พลังชีวิตจากจอห์นจนมีอายุขัยที่ยาวนานจนไม่รู้จะจบลงที่ตรงไหน สำหรับพอลคือการลงโทษของพระเจ้าที่ปล่อยให้จอห์นตายโดยไม่อาจรักษาชีวิตเอาไว้ได้ แม้จะเป็นเรื่องดีที่ตัวเองอยู่ได้นาน กระนั้นต้องแลกมาด้วยอีกหลายชีวิตที่ต้องจากเขาไปจนไม่เหลือใครนอกจากหนูตัวน้อยที่อาจมีความคิดเช่นเดียวกับเขาที่อยากให้ตัวเองหมดอายุขัยเสียที ซึ่งพอลเองไม่ได้ปรารถนาอยากให้ตัวเองตายในทันทีแต่เลือกปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่จอห์นช่วยเหลือมาก็เปล่าประโยชน์และไร้ค่าหากคิดฆ่าตัวตาย สิ่งที่ทำได้ทุกวันนี้คือการทำให้ตัวเองรู้จักคุณค่าของลมหายใจที่ยังมีต่อไป แต่ความฉงนใจของพอลดูจะไม่ได้การคลี่คลายสักทีเมื่อหนูที่น่าจะมีอายุขัยสั้นกว่ายังมีชีวิตมาเรื่อยๆขนาดนี้แล้วเขาจะต้องมีชีวิตต่อไปอีกสักเท่าไรกัน