The Book Thief (2013) จอมโจรขโมยหนังสือ

The Book Thief (2013)
จอมโจรขโมยหนังสือ
Director: Brian Percival
Genres: Drama | War
Grade: C+

น่าเสียดายแหะที่การเล่าเรื่องดูไม่เป็นไปตามชื่อหนังเท่าไรเลย แต่ต้องออกตัวก่อนว่าไม่เคยอ่านฉบับหนังสือเรื่องนี้มาก่อน ดังนั้นเป็นความคิดเห็นแค่ตัวหนังอย่างเดียว ถ้าจะให้เปรียบเทียบหรือหาความเหมือนคงบอกอะไรไม่ได้เกินกว่าแค่ตัวหนังที่สนุกมากน้อยเพียงใด ส่วนที่บอกว่าน่าเสียดายมาจากเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับลีเซล เมมมิงเกอร์ (Sophie Nélisse) สาวน้อยชาวเยอรมันที่ถูกส่งมาอยู่กับฮานส์ ฮิวเบอร์แมน (Geoffrey Rush) พ่อบุญธรรมและโรซ่า ฮิวเบอร์แมน (Emily Watson) แม่บุญธรรมในเมืองแห่งหนึ่งในเยอรมัน เริ่มจากลีเซลอ่านหนังสือไม่ออกแต่มีหนังสือพกติดตัวมาเล่มหนึ่ง ฮานส์จึงได้สอนการอ่านหนังสือให้จนลีเซลอ่านได้เอง พออ่านเป็นและอยากอ่านเพิ่มแต่หาหนังสือไม่ได้จึงได้แอบขโมยหนังสือมาอ่าน และนี่คือคร่าวๆเกี่ยวกับหนังสือและการขโมยหนังสือที่ไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไร


แต่พอคิดนู้นคิดนี้มองเกี่ยวกับยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นช่วงเวลาของเรื่องนี้จึงคิดได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องธรรมดา ตั้งต้นลีเซลอ่านหนังสือไม่ออก ไม่รู้ว่าเขียนตัวหนังสือยังไง ซึ่งนั้นเองที่ทำให้ถูกหัวเราะเยาะจากเพื่อนร่วมห้องที่มองเด็กใหม่คือเด็กโง่ แน่นอนว่าลีเซลไม่ได้โง่ขนาดนั้นเพราะรู้ตัวดีว่ากำลังเจอกับอะไร แต่ก่อนที่ลีเซลจะย้ายมาอยู่กับพ่อแม่บุญธรรมต้องประสบเคราะห์ร้ายสร้างความสะเทือนใจเกี่ยวกับน้องชายที่ต้องมาเสียชีวิตระหว่างเดินทางด้วยรถไฟ ช่วงเวลาที่ฝังพิธีน้องตัวเองข้างทางทำให้เจอหนังสือเล่มหนึ่งจากชายคนหนึ่งที่ทำตกเอาไว้ เธอเก็บไว้กับตัวตลอดเวลาจนกระทั่งฮานส์สังเกตว่าลีเซลจะมีหนังสือไปทำไมถ้าอ่านไม่ออก ความสัมพันธ์ของพ่อแม่บุญธรรมไม่เป็นที่สนิทสนมนักโดยเฉพาะโรซ่าที่ดูจะจ้าวอารมณ์ตลอดเวลา จะผิดกับฮานส์ที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดีเข้าหาลีเซลตลอดเวลา ยิ่งในวันแรกที่พบกันยิ่งบ่งบอกถึงการเอาใจใส่ที่ดูจะอ่อนน้อมเป็นพิเศษ

เรื่องของเรื่องคือสังคมอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ดูหลายอย่างจะซีเรียสตลอดเวลา ยิ่งกับโรซ่ายิ่งชัดเจนว่าทำไมถึงเป็นความหงุดหงิดง่าย สาเหตุนั้นเพราะการหาเลี้ยงปากครอบครัวที่มีเพียงเธอที่ดูมีงานมีการทำด้วยการรับจ้างซักรีดเสื้อผ้า ส่วนฮานส์เหมือนคนว่างที่รอการจ้างจากใครสักคนให้ไปทาสีหรือขูดสีออก ซึ่งงานนี้ไม่มีความยั่งยืนเอาซะเลย ผลพวงของสงครามประกอบกับสภาพการปกครองที่เป็นเผด็จการทำให้เรื่องนี้แสดงเห็นถึงสังคมที่เป็นทุกข์และสุขในเวลาเดียวกัน แน่นอนว่าส่วนมากย่อมเป็นอย่างแรกอยู่เสมอ เหตุที่คนในสังคมอยู่กันอย่างเป็นทุกข์มาจากความกดดันที่ถูกกดขี่จากเหล่าทหารที่ดูจะไม่ใยดีเอาเสียเลย อีกประเด็นคือเสรีภาพที่กลายเป็นกรอบชีวิตให้ติดกับกฎเกณฑ์อย่างไม่เต็มใจ


ทหารที่มีอำนาจตำแหน่งสูงจะชักชวนให้ไปสมัครทหารหรือกระทำความรุนแรงกับประชาชน ซึ่งเหมือนว่าใครที่เชื้อสายยิวจะไม่รอดสักรายต่อให้เคยเป็นคนสนิทหรือเพื่อนของคนละแวกนั้นก็ตาม ความรุนแรงที่ทำตามคำสั่งโดยไม่สนประชาชนทำให้เป็นเรื่องที่ชวนสะเทือนใจ ตัวหนังไม่ได้เล่าเรื่องด้วยความตื่นเต้นหรือใส่มุมมองจินตนาการของเด็ก จะมีแค่ประโยคพูดของลีเซลที่เล่านิทานมาเพื่อปลอบใจท่ามกลางคนที่หลบในหลุมระเบิดที่จะมาเมื่อไรไม่มีใครบอกได้ สิ่งที่ชอบคือการนำเสนอด้านด้านลบของประชาชนที่รู้สึกย่ำแย่ไปกับแนวคิดของฮิตเลอร์ น้อยที่จะรู้สึกชอบกับความเผด็จการฮิตเลอร์ที่เหมือนจะส่งผลกระทบต่อชีวิตครอบครัวของประชาชน ตัวอย่างครอบครัวของลูดี้ สไตน์เนอร์ (Nico Liersch) เพื่อนข้างบ้านของลีเซลที่พ่อต้องออกจากบ้านเพื่อไปทำสงคราม ปกติแล้วการไปกู้ชาติทำสงครามควรจะมีอารมณ์น่าเชิดชู ทว่าอารมณ์ของเรื่องต่างออกไปที่กลายเป็นความโศกเศร้าที่เลือกได้ขออยู่กับครอบครัวดีกว่าไปเป็นทหาร อารมณ์ที่ต้องฝืนใจยอมรับเพราะไม่งั้นอาจถูกมองเป็นกบฏและส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว

จากนั้นแล้วชีวิตของลีเซลจะยังไงต่อไปหลังจากได้อยู่กับพ่อแม่บุญธรรมหน้าใหม่ ก็ไม่แตกต่างกับเด็กทั่วไปที่ต้องเข้าโรงเรียนและช่วยหาเลี้ยงครอบครัว นับตั้งแต่ฮานส์ช่วยสอนอ่านหนังสือทำให้ลีเซลได้เจอกับโลกใบใหม่ที่เปิดกว้างจินตนาการมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ช่วยไขกระจ่างหนังสือเล่มแรกที่เธอติดตัวว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร กระนั้นจำนวนหนังสือที่มีอยู่ไม่เพียงพอให้ลีเซลค้นพบคำที่แปลกใหม่หรือเรื่องราวใหม่ได้ทำให้ต้องขโมยหนังสือจากห้องเก็บหนังสือของบ้านสว.ที่มักใช้บริการรับจ้างจากโรซ่าและลีเซลมีหน้าที่ขนส่งเสื้อผ้านั้นคืน เรื่องของเรื่องคือลีเซลสามารถอ่านหนังสือมากเท่าที่มากได้ในบ้านสว.เพราะจำนวนหนังสือที่มากมายหลายร้อยเล่มจากความใจดีของอิลซา แฮร์มันน์ (Barbara Auer) ที่มองเห็นลีเซลคือหนอนหนังสือ ทว่าความปรารถนาดีนี้เองทำให้ลีเซลไม่สามารถมาอ่านหนังสือบ้านหลังนั้นได้อีกหลังจากถูกเปิดเผยว่าแอบเอาคนอื่นเข้ามาในห้อง ด้วยเหตุนี้เองทำให้ลีเซลที่เคยอ่านหนังสือไม่ออกอยากจะอ่านหนังสือที่ตัวเองไม่เคยอ่านจนต้องเข้าไปขโมยหนังสือมาอ่าน แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องในการเอาของคนอื่นมา แต่ลีเซลไม่ได้เอาไปเลยซะทีเดียวเพราะเป็นการยืมเท่านั้น


การส่งเสริมการอ่านเป็นเรื่องดีที่เรื่องแสดงให้เห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตัวเองไม่เคยรู้แลละอยากได้คำตอบแต่ไม่รู้จะหาได้จากไหน ซึ่งหนังสือสามารถช่วยได้เพราะเกิดจากการบันทึกขีดเขียนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวให้แก่ผู้อ่าน แต่เหมือนยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จะไม่ใช่ที่เหมาะกับหนอนหนังสืออย่างลีเซล เนื่องจากมีการสั่งให้เผาหนังสือมากมาย ทำไมต้องเผาหนังสือและหนังสือกลายเป็นสิ่งต้องห้ามไปได้อย่างไร ประเด็นแรกคือหน้าที่ของหนังสือเสมือนสมองส่วนหนึ่งที่มีหน้าที่เตือนความจำ การคิดวิเคราะห์ การจินตนาการ และประโยชน์อีกนับไม่ถ้วน ประเด็นที่สองคือหนังสือมีผู้เขียนต้องมีผู้อ่าน เรื่องที่เขียนนี่แหละที่กลายเป็นปัญหาสำหรับผู้อ่านที่อาจเกิดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ขณะเดียวกันในช่วงสงครามมีสิ่งสำคัญที่เสี่ยงไม่ได้คือแนวโน้มของประชาชน ถ้าประชาชนรู้มากไปจะเป็นภัยแต่รู้น้อยเท่าไรยิ่งดีเพราะเชื่อฟังได้ง่าย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ที่ไม่รู้เลยจึงจะดีที่สุด

แต่การอ่านหนังสือของลีเซลเริ่มมีชีวิตชีวาตอนที่ชาวยิวที่ชื่อแม็กซ์ (Ben Schnetzer) มาอาศัยอยู่บ้านฮานส์กับโรซ่าเพราะหลบหนีทหาร แน่นอนว่ายิวในยุคนั้นไม่มีที่ให้ไปสักแห่งในเยอรมันเพราะเป็นเป้าให้ถูกสังหารกันนับไม่ถ้วน ส่วนที่แม็กซ์ต้องมาอาศัยอยู่นั้นมาจากฮานส์ที่ติดหนี้บุญคุณพ่อแม็กซ์เลยต้องจำใจช่วยเหลือ แน่นอนว่าต้องเก็บเป็นความลับและแม็กซ์จะออกจากบ้านให้ใครเห็นไม่ได้ ขณะเดียวลีเซลที่มองเป็นเด็กในสายตัวผู้ใหญ่จะต้องย้ำเสมอให้เก็บเป็นความลับห้ามบอกใครเด็ดขาด คำสั่งนี้มาจากใครไม่ได้ถ้าไม่ใช่คนที่มีอารมณ์ขึ้นลงง่ายอย่างโรซ่า ด้วยความลำบากที่เกิดขึ้นกับครอบครัวที่เดิมมีแค่ 3 คนและเพิ่มอีก 1 คนทำให้ต้องเผชิญความขาดแคลนจากภาวะสงคราม ถ้าอยากดูฉากสงครามหรือเรื่องน่าตื่นเต้นต้องตัดออกไปเพราะอย่างที่ดูคือเป็นหนังชีวิต ชีวิตที่ตกในภาวะสงครามกลายป็นความลำบากของประชาชน


ส่วนแม็กซ์เป็นตัวละครสำคัญในเรื่องที่อาจไม่ได้ทำอะไรมากแต่มีความหมายสำหรับลีเซลที่เริ่มสนิทสนมกันจนเหมือนพี่กับน้อง แม็กซ์ได้สอนการมองโลกรอบๆตัวให้กับลีเซลอย่างการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ตามความรู้สึกของตัวเอง การเล่าตามความจริงที่ตัวเองเห็นและรู้สึก เหมือนเป็นการเล่านิทานที่ไม่ต้องจริงจังเกินไปหรือเว่อร์วังมากมาย แต่ฉากที่น่าประทับใจคือช่วงเวลาที่มีความสุขกันทั้งครอบครัวในวันหิมะตกหรือวันคริสต์มาสที่ต่างลงไปเล่นที่ห้องใต้ดินอย่างสนุกสนานจากการขนหิมะลงไปข้างล่างห้องใต้ดิน มุมมองความสุขที่มีได้แต่ไม่อาจเปิดเผยให้ใครเห็นนับเป็นการแสดงออกถึงการปลดปล่อยอย่างมีขอบเขตที่ไม่ต่างกับนักโทษที่ปรับตัวเข้ากับคุกและเรียนรู้หาความสุขจากสิ่งที่มีเหลืออยู่

โรซ่าอาจเป็นคนที่เข้มงวดที่สุดแต่ใจลึกๆแล้วคือผู้หญิงบอบบางที่พยายามทำให้ตัวเองดูน่าเกรงขามในสายตาทุกคน ในฉากหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริงคือการมาหาลีเซลถึงห้องเรียนและเรียกเธอไปหน้าห้องพร้อมกับหยิกหูและด่า ในสายตาคนอื่นมองเป็นเรื่องน่าขบขัน ขณะเดียวกันในสายตาผู้ชมมองเป็นเรื่องโหดร้ายที่ไม่เข้าใจทำไมต้องรุนแรงและสร้างความอับอายขนาดนั้น แต่ในสายตาของโรซ่าการทำอะไรเช่นนั้นคือการทำให้ทุกคนเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเป็น หลังจากหยิกและด่าพอหอมปากหอมคอจึงได้พาตัวลีเซลไปที่อื่นเพื่อหลบสายตา แต่เรื่องเซอร์ไพรส์ได้เกิดขึ้นเมื่อโรซ่าได้มอบสิ่งที่วิเศษสุดให้ลีเซล สิ่งนั้นที่ทำให้ลีเซลยอมรับในตัวโรซ่าและรักมากขึ้นในฐานะแม่บุญธรรมอย่างแท้จริง


ฮานส์คือชายที่มองโลกในแง่ดีท่ามกลางความเลวร้ายของสงคราม เขาได้สอนและตามใจลีเซลแทบจะทุกเรื่อง แต่ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นล้วนมีข้อสาระให้อยู่เสมอ ซึ่งลีเซลได้เติบโตขึ้นเพราะฮานส์ที่ช่วยสั่งสอนเกี่ยวกับชีวิต เฉกเช่นเดียวกับลูดี้เพื่อนสนิทที่สุดของลีเซลที่อยากทำตัวให้เป็นที่รักเสมอ ช่วงแรกอาจเหมือนความคิดของเด็กที่ยังเติบโตไม่มาก ทว่าความคิดของลูดี้เป็นมากกว่าเด็กที่ฝืนทำเพราะเป็นความตั้งใจทำ แม้กระทั่งการปิดเรื่องขโมยหนังสือเป็นความลับหรือการซ่อนใครไว้ในบ้านด้วยเช่นกัน เป็นอีกความประทับใจที่รู้สึกว่าลูดี้คือเพื่อนแท้ที่หาได้ยากในสงครามที่ตัวใครตัวมัน ลูดี้ไม่ได้คล้อยตามค่านิยมที่เกิดขึ้นในสังคมที่เชิดชูฮิตเลอร์แบบใครเพราะทำให้ตัวเองเสียสิ่งที่รักไปมากมาย ลีเซลเองใช่จะชอบฮิตเลอร์เช่นกัน จะมีฉากที่บอกได้ถึงการไม่ชอบฮิตเลอร์ที่แสดงออกชัดเจนอย่างเปิดเผยคือการตะโกนของลูดี้กับลีเซลข้างทะเลสาบที่ไม่ชอบฮิตเลอร์ เป็นการระบายความอึดอัดในใจภายใต้การถูกกดขี่ที่แม้แต่เด็กยังไม่เห็นด้วย จุดนี้เองที่ทำให้ลีเซลรับรู้ว่าลูดี้คือเพื่อนที่ดีที่สุดทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ไว้ใจใครเพราะความลับ

The Book Thief ถ้าว่ากันตามบทหนังดูมีความสวยงามแม้จะมีบรรยากาศที่น่าสลดใจ แต่การเล่าเรื่องไม่ได้มีพลังหรือแรงกระตุ้นในความรู้สึกนั้นๆเท่าไรนัก จะมีแค่การเล่าเรื่องที่ดำเนินไปเรื่อยๆจนไม่รู้จะจบที่ตรงไหนหรือฉากที่น่าจะให้อารมณ์ความรู้สึกที่ไปสุดทาง ปัญหาอยู่ที่การใส่อารมณ์ที่ยังขาดความหนักแน่น สิ่งที่ให้มาถือว่าครบถ้วนหมดแล้วสำหรับเรื่องนี้ทั้งบรรยากาศ เรื่องราว หรือตัวละคร รวมถึงนักแสดง..ที่เล่นเป็นลีเซลจนน่าชื่นชน และอีกอย่างที่ได้บอกไว้เกี่ยวกับหนังสือที่ไม่ได้มุ่งเน้นประเด็นจุดนี้เท่าที่ควร การขโมยหนังสือกลายเป็นช่วงเวลาเล็กๆของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้น การเน้นอะไรสักอย่างย่อมไม่พ้นการเล่าถึงชีวิตของลีเซลในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เต็มไปด้วยความอึดอัด การกดขี่ และการบังคับ น่าเสียดายที่ประเด็นหนังสือถูกมองข้ามแม้จะเร่งเร้าในไคล์แม็กซ์เกี่ยวกับความสำคัญของหนังสือแล้วก็ตาม


อีกประเด็นที่น่าสงสัยและพึ่งรู้คือเสียงบรรยายของเรื่องนี้ที่บอกไม่ได้ว่ามาจากใครกันแน่ จะเป็นเรื่องของฮานส์ก็ไม่ใช่ จะลีเซลก็ไม่เหมือน สุดท้ายเสียงนั้นคือเสียงของยมฑูตที่ติดตามดูเรื่องราวของลีเซลอย่างใกล้ชิด แน่นอนว่าในตอนจบก็เช่นกันที่เล่าถึงชีวิตของทุกคนที่ใกล้ตัวลีเซล ตอนจบที่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดขึ้นนอกจากยมฑูตที่เตรียมตัวรับดวงวิญญาณเหล่านั้น เช่นเดียวกันได้ชื่นชมลีเซลที่ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าจนวาระสุดท้าย โดยส่วนตัวคิดว่าฉบับหนังเล่าเรื่องน่าเบื่อไปหน่อย ส่วนฉบับนิยายไม่เคยอ่านเลยสักครั้งแต่คิดว่าน่าอ่านไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว แต่ก็นั้นแหละกับฉบับหนังที่บางทีอาจที่เป็นชื่นชอบกับใครหลายคนก็ได้เพราะเรื่องนี้เล่าเนื้อเรื่องด้วยความเรียบง่าย สงครามที่วุ่นวายกับเนื้อเรื่องที่เป็นไปอย่างนุ่มนวลอาจเป็นที่พอใจกับคนที่เบื่อสงครามเหมือนเด็กน้อยลูดี้กับลีเซลที่อยากไปจากสงครามให้ไกลแสนไกล

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)