Westworld (1973) คาวบอยคอมพิวเตอร์

Westworld (1973) | คาวบอยคอมพิวเตอร์
Director: Michael Crichton
Genres: Action | Sci-Fi | Thriller | Western
Grade: B-

เป็นหนังที่ใช้เทคนิค CGI (Computer-generated imagery) เป็นเรื่องแรกเลยก็ว่าได้ คำถามคือใช้ไปกับฉากไหนเพราะดูยังไงก็ล้วนเป็น Special Effect ไปซะทั้งหมด คำตอบอยู่ที่ภาพแทนการมองเห็น หรือภาพที่หุ่นยนต์ในหนังเรื่องนี้มองเห็นนั้นเอง ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นลักษณะ 2D เป็นภาพสีแดงที่แบ่งสีเข้มอ่อนเป็นก้อนสี่เหลี่ยมหรือบิท ดูผ่านๆคงไม่มีใครสังเกต จนกระทั่งภาคต่อใน Futureworld (1976) ที่พัฒนาใช้ภาพ 3D สร้างเป็นรูปมือและใบหน้าบนจอคอมพิวเตอร์ แม้เป็นฉากสั้นๆ แต่หลังจากนี้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะมีบทบาทมากขึ้นในเวลาต่อมา


ถึงจะเป็นเรื่องแรกที่ประยุกต์ CGI เข้ามาใช้ในหนังที่อาจจะไม่มากหรือหวือหวาจนเป็นปรากฏการณ์ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี แต่ช่วยเรื่องการให้อารมณ์ทางด้านหุ่นยนต์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการมองเห็นทัศนียภาพของหุ่นยนต์ ได้เห็นได้รู้ถึงมุมองของหุ่นยนต์ว่าดูอะไรอยู่บ้างและเห็นในลักษณะไหน เป็นความแปลกใหม่ในยุคนั้นมากทีเดียว ในทางกลับกันไม่ใช่เพียงเทคนิคเบื้องหลังเท่านั้นที่เป็นสิ่งใหม่ แต่ยังพูดถึงไวรัสในคอมพิวเตอร์ แน่นอนเป็นหนังเรื่องแรกอีกเช่นกันที่พูดถึงการทำงานที่ผิดพลาดของคอมพิวเตอร์ในลักษณะที่เกิดขึ้นเอง

ต้องนับถือ Michael Crichton อยู่เรื่องหนึ่งในแง่ความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำสมัยและหาจับตัวยาก การเขียนบท Jurassic Park นับว่าล้ำหน้าอยู่ไม่น้อยที่เอาเรื่องของไดโนเสาร์มาผนวกเข้ากับสวนสัตว์ เช่นเดียวกับเรื่องนี้ที่จำลองสถานที่ขึ้นมาเพื่อให้เหล่านักเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศเสมือนจริง ซึ่งจะมีทั้งหมด 3 สถานที่ แต่ละที่แตกต่างตามยุคสมัย เช่น ยุคคาวบอยกับบ้านเมืองที่กฎหมายยังไม่หนักแน่น ยุคโรมันที่อุมไปด้วยสิ่งเสวยสุข และยุคอัศวินที่ต้องการนักรบผู้กล้าหาญ


หนังเปิดเรื่องด้วยการอธิบายและคำเชื้อเชิญด้วยการสัมภาษณ์จากผู้ใช้งาน แน่นอนว่าทุกคนบอกถึงความดีเยี่ยมที่สมจริง ทุกคนต่างเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันกับประสบการณ์ใหม่ที่หาไม่ได้จากที่ไหนมาก่อน คำชวนนี้เป็นการโฆษณาเพื่อตอบโจทย์การละทิ้งชีวิตที่เบื่อหน่าย ใครมาต้องชอบราวกับได้ปลดปล่อยตัวเองจากยุคสมัยที่ตัวเองอยู่ ซึ่งคำชวนนี้กลายเป็นที่สนใจของปีเตอร์ มาร์ติน (Richard Benjamin) และจอห์น เบลน (James Brolin) มาลองใช้บริการโลกเสมือนนี้ด้วยตัวเอง

การสร้างโลกเสมือนจะสร้างสิ่งปลูกสร้างมากมายแค่ไหนยังคงไร้ชีวิต ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการเคลื่อนไหวของสังคม ทำให้ทุกอย่างดูเป็นเรื่องปกติเหมือนใช้ชีวิตแบบนี้จริงๆในชีวิตประจำวัน ปัญหาอยู่ที่จะทำยังไงให้สังคมเป็นไปตามที่วางบทเอาไว้ ใช้นักแสดงมาเล่นรอบหรือสองรอบยังพอรับได้ หากต้องเล่นสิบรอบด้วยบทเดิมๆจะรับความน่าเบื่อนี้ได้หรือไม่ ขณะเดียวกันจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่แต่งเติมเกินนอกบท หุ่นยนต์จึงมีบทบาทในฐานะผู้ทำตามคำสั่ง เขียนโปรแกรมแบบไหนจะทำตามแบบนั้น ไม่มีเหนื่อยหรือร้องขอ ที่สำคัญสามารถสร้างความสนุกแก่ผู้บริการได้ตามสบายใจ จะยิง จะฆ่า มีเซ็กซ์ ทำได้เกือบหมด


การอยู่กับโลกเสมือนที่อ้างอิงจากยุคสมัยที่แต่งเติมกลายเป็นสีสันต์ของคนใช้ชีวิตตามอำเภอใจ แรกเริ่มอาจดูเกร็งเพราะไม่ชินกับผู้คน(หุ่นยนต์)ในยุคสมัยที่ตัวเองเลือก แต่เมื่อจับใจความได้จะพบว่าเราจะกลายเป็นตัวหลักของยุคนั้นๆ กลายเป็นพระเอกหรืออัศวินในยุคนั้นตามบทที่ให้มา แน่นอนว่าผู้ใช้บริการย่อมไม่รู้ในจุดนี้ว่ามีบทตายตัว อาทิ การคัดเลือกให้เป็นอัศวินเพื่อต่อกรกับอัศวินคนอื่นที่หมายขึ้นบัลลังค์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการต่อสู้ โดยผู้ชนะไม่ต้องบอกก็รู้ว่าใคร การสร้างสถานการณ์เพื่อให้ผู้เล่นได้คล้อยตามก่อนจะจบลงแบบพระเอก สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างกับเกมจอมปลอมที่มีสูตรให้ชนะหรือไม่ตาย เพื่อสร้างความประทับใจหลังใช้บริการ

นึกเสียว่าคือเกมที่สมจริง เล่นเอง คิดบทเองได้ แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็หนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าหน้าจอดูตลอดเวลา ทำหน้าที่ปรับแต่งฉากให้เราเล่นไปตามบทอย่างไม่รู้ตัว เสมือนให้ทำตามคำสั่งแม้จะไม่บอกบังคับ แต่ด้วยสถานการณ์ย่อมต้องตามบทต่อให้คิดนอกกรอบแล้วก็ตาม ทว่าหุ่นยนต์ที่เล่นตามบทที่ไม่น่ามีผิดสงกลับเกิดข้อบกพร่องมากขึ้นเรื่อยๆ จากจุดเล็กน้อยขยายวงกว้างยิ่งขึ้น กระนั้นปัญหาที่พยายามแก้ไขไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มประสิทธิภาพ ฉากนั่งประชุมเพื่อยุติการให้บริการเพราะเกรงกลัวผลที่ตามมากลายเป็นสิ่งที่ถูกเมินเฉย เพียงเพราะเชื่อว่าตัวเองสามารถจัดการปัญหานี้พร้อมกับให้บริการลูกค้า ผลลัพธ์จึงออกมานอกบทที่แก้ไปก็สายเสียแล้ว


ไวรัสคอมพิวเตอร์หรือข้อผิดพลาดในการประมวลผล ทำให้หุ่นยนต์มีชีวิตจิตใจคิดมาเองตามที่โปรแกรมเอาไว้ ไม่อาจสั่งบังคับให้เชื่องช้าหรืออ่อนแอลงได้ สิ่งแรกที่เห็นคือเรื่องไม่คาดฝัน การที่หุ่นยนต์ทำตามคำสั่งไม่ต่างกับทาส จะใช้งานอย่างไรหรือให้ทำอะไรก็ได้ ขอเพียงอยู่ในบท แต่เมื่อเกิดเรื่องนอกบทแสดงให้เห็นถึงความตื่นตระหนก จากเดิมคิดว่าตัวเองนั้นเก่ง เป็นที่เคารพ และมีชื่อเสียง แต่อีกด้านเป็นเพียงโลกจำลองที่มีคนจริงๆไม่กี่คนเท่านั้น

Yul Brynner ในบทหุ่นยนต์คาวบอยนักฆ่า มีบุคลิกไม่ต่างจากหนัง The Magnificent Seven (1960) ไม่ว่าจะเสื้อผ้าหรือท่าทาง ทำให้คิดว่านี่อาจเป็นหนังซ้อนหนังที่หยิบยืมความเป็นฮีโร่ แต่กลายเป็นตัวร้ายที่พยายามฆ่าเสียแทน แถมยังเป็นตัวตลกที่ดูร้ายกาจเพียงเปลือก เป็นเพียงกระสอบทรายให้ถูกยิงหมดสภาพหลายครั้ง ทว่าการตายในฐานะหุ่นยนต์กลับกลายเป็นการเรียนรู้ ยิ่งเกิดใหม่ยิ่งพัฒนาตัวเอง เช่นเดียวกับไวรัสที่เริ่มเปลี่ยนแปลงส่วนต่างๆจากการแพร่ขยาย ทำให้ตัวตลกตัวนี้เปลี่ยนเป็นฝันร้าย ในฐานะนักฆ่าตัวจริง

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)