Avengers: Endgame (2019) อเวนเจอร์ส: เผด็จศึก

Avengers: Endgame (2019) | อเวนเจอร์ส: เผด็จศึก
Director: Anthony Russo,Joe Russo
Genres: Action | Adventure | Drama | Sci-Fi
Grade: S "ภาพรวม", A- "ภาพเดี่ยว"

ย้อนได้ให้ย้อนไปดูเรื่องก่อนๆให้หมด อาจไม่ต้องทุกรายละเอียด แต่ให้จดจำหรือเก็บไว้สะกิดความทรงจำบ้างก็ยังดี เพราะภาคนี้คือหนังที่อยู่ตรงกลางของทั้งหมดที่ผ่านมา รวมไปถึงความรู้สึกของคนดูว่ามีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นอย่าดูภาคนี้เพียงเดี่ยวๆ ขอให้ไปรับชมและสัมผัสประสบการณ์เรื่องก่อนๆ หากคุณลืม ซึ่งไม่อยากให้ลืม จะสูญเสียอรรถรสไปพอสมควร


"เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ"

1.

ตอนที่รู้จักซูเปอร์ฮีโร่แบบจริงจังก็ตอนที่จักรวาลมาร์เวลเริ่มก่อตัวได้สักระยะหนึ่ง แต่ยังไม่ไกลขนาดรวมตัวตั้งทีมอเวนเจอร์สเป็นหนังใหญ่ใน Avengers (2012) ซึ่งตอนนั้นเป็นสิ่งที่ตื่นตาอย่างมาก ไม่คิดว่าจะจับรวมแต่เรื่องมาไว้ที่เดียวกันและประสบความสำเร็จอย่างสง่างาม ตอนนั้นคิดแค่เป็นซูเปอร์ฮีโร่แบบของใครของมันไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดจะเจอหรือเป็นเนื้อเรื่องเดียวกัน จนกระทั่ง End-Credit และ Easter egg

Iron Man (2008) คือใบเบิกทางจากความสำเร็จในทุกๆเสียง แต่กว่าจะเป็นหนังต้องผ่านความเสี่ยงมาค่อนข้างหนัก แต่สุดท้ายทำได้เกินความคาดหมายและทำให้จักรวาลมาร์เวลเกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ยังสร้างภาพลักษณ์ซูเปอร์ฮีโร่นามว่า"ไอรอนแมน" ให้ทุกคนจดจำแบบง่ายผ่านนักแสดงและเรื่องราวอย่าง Robert Downey Jr. ที่รับบทนี้หรือ โทนี่ สตาร์ค ได้อย่างสมบทบาท โดยเฉพาะการเปิดปากพูดต่อหน้าทุกคนว่า"I am Iron Man"


ไอรอนแมนคือซูเปอร์ฮีโร่คนแรกของการสร้างจักรวาลมาร์เวลแบบจริงจัง เห็นได้จาก End-Credit ที่นิค ฟิวรี่ (Samuel L. Jackson) ปรากฏตัวเพื่อบอกว่าไม่ใช่แค่เขาที่มีพลังพิเศษหรือความสามารถเช่นนี้ ยังมีอีกหลายคนที่มีทักษะไม่ปรากฏตัว แล้วเพื่อการนั้นทุกคนต้องรวมตัวกันเป็นทีม หลังจากนั้นก็เริ่มมีการเชื่อมโยงถึงซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆ จากหนังเดี่ยวของตัวเองหรือตัวประกอบร่วมจอยในหนังบางเรื่อง

ความรู้สึกแรกที่ได้เห็น End-Credit และ Easter egg จาก 2-3 เรื่องแรกทำให้เห็นภาพซูเปอร์ฮีโร่แต่ละคนมาเจอกัน แต่ไม่คิดจะมาไกลและยิ่งใหญ่ได้ถึงเพียงนี้ เนื่องจากตัวละครมากขึ้น เนื้อเรื่องกว้างขึ้น เมื่อคิดดูแล้วหลายอย่างดูใหญ่เกินกว่าจะอยู่เรื่องเดียว จะประคับประคองยังไงให้ทุกคนมีบทบาทและน่าจดจำ แต่ปรากฏว่าสามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะส่วนใหญ่ปูพื้นในหนังของตัวเองเกือบหมด ฉะนั้นการอยู่รวมกันจึงไม่ต้องกังวลถึงที่มาที่ไป ยกเว้นยังไม่ได้ดูหรือข้ามช่วงเวลาสำคัญ


นอกจากไอรอนแมนที่เสมือนตัวเอกอยู่ตลอดเวลา ย่อมหนีไม่พ้น สตีฟ โรเจอร์ส หรือ กัปตันอเมริกา (Chris Evans) ผู้เป็นซูเปอร์ฮีโร่หลงยุคจากการต่อสู้กับไฮดร้า (Hydra) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน Captain America: The First Avenger (2011) ทำให้ติดน้ำแข็งนอนแช่ข้ามกาลเวลา กว่าจะรู้ตัวได้ตื่นมาผิดที่ผิดเวลา

กัปตันอเมริกาคือซูเปอร์ฮีโร่ที่น่าเห็นใจมากที่สุดคนหนึ่ง จากการตื่นขึ้นมาอีกยุคสมัยเท่ากับสูญเสียจากสิ่งที่เขาอยู่มา โดยเฉพาะเพ็กกี้ คาร์เตอร์ (Hayley Atwell) คนรักที่อุตส่าห์สัญญาจะพบเจอกัน กลับกลายเป็นผิดนัดเพราะการเสียสละ ดังนั้นการมาอยู่ในอีกเวลาหนึ่งจึงต้องปรับตัวหลายด้าน บางครั้งเขาเหมือนตาแก่ที่มีความคิดเก่าๆ แต่หลายเขาคือคนที่พึ่งได้มากที่สุด ไม่ว่ามุมไหนกัปตันอเมริกาคือกัปตันอเมริกา ชายรักชาติที่ยอมทำเพื่อความยุติธรรมและถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา


2.

ไอรอนแมนและกัปตันอเมริกาเสมือนเสาหลักของทีมอเวนเจอร์ส ต่างคนต่างมีความคิดที่คล้ายกันและแตกต่างกัน แต่ไม่ว่ายังไงยังคงร่วมแรงร่วมใจตลอดเวลา จนมาเสียสูญใน Captain America: Civil War (2016) เพราะความเข้าใจผิดและอดีตที่ไม่รับการให้อภัย ทั้งสองแตกหักจนเกิดสงครามระหว่างซูเปอร์ฮีโร่ด้วยกัน กลายเป็นหนังจักรวาลมาร์เวลที่เคร่งเครียดและจริงจังมากที่สุด

เมื่อต่างคนต่างแยกย้าย อเวนเจอร์สจึงไม่เหมือนก่อน ไม่อบอุ่นเช่นครั้งร่วมทีมในครั้งแรก แต่หน้าที่หลักของทุกคนยังมี นั้นคือกำจัดสิ่งชั่วร้าย เมื่อธานอส (Josh Brolin) ปรากฏอย่างเต็มตัวใน Avengers: Infinity War (2018) ทุกคนจึงต้องร่วมต่อสู้อีกครั้ง แม้จะคนละสถานที่และแตกต่าง แต่เป้าหมายเดียวกันคือยับยั้งธานอสรวบรวมอินฟินิตี้สโตน (Infinity Stones) อัญมณีทั้ง 6 เม็ดได้สำเร็จ


เรื่องราวส่วนใหญ่เกิดบนโลกและยังวนเวียนเช่นนั้น แต่นอกโลกในจักรวาลยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ดังที่ Guardians of the Galaxy (2014) และ Guardians of the Galaxy Vol. 2 (2017) พาไปเปิดมุมมองที่กว้างขึ้นหลายร้อยพันเท่า จึงเป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวละครที่มากมายมหาศาลขนาดนี้จะบริหารจัดการอย่างไร ไหนจะที่โลกหรือนอกโลก แค่ฟังดูก็วุ่นวายพอแล้ว แต่พอถึงเวลาจริงกลับบริหารได้อย่างเหมาะสม ใครอยู่ตรงไหน เนื้อเรื่องเป็นยังไง ทั้งหมดถูกวางทีละเล็กละน้อยจากหนังก่อนหน้านี้เกือบหมด ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ผลลัพธ์มีแต่ได้กับได้

นอกจากความยิ่งใหญ่ก็ไม่ลืมเรื่องเล็กๆใน Ant-Man (2015) และ Ant-Man and the Wasp (2018) ที่ไม่พยายามทำเรื่องราวแบบคนอื่น อยู่กับเรื่องของตัวเองเป็นหลัก ทำให้ แอนท์แมน (Paul Rudd) มักถูกลืมเพราะไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับใคร กระนั้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เรื่องอื่นไม่มี นั่นคือการพูดถึงครอบครัวและทำให้ตัวละครจับต้องได้จริง เมื่อถึงเวลาวิกฤติจึงไม่แปลกใจถึงความสำคัญของซูเปอร์ฮีโร่คนนี้


แต่เมื่อพูดถึงซูเปอร์ฮีโร่ที่สำคัญและมีปมความเจ็บปวดคือ ธอร์ (Chris Hemsworth) เพราะสูญเสียสิ่งสำคัญหลายอย่าง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนใน Thor: Ragnarok (2017) ไม่ว่าจะครอบครัว ชาวแอสการ์ด และเมือง ทั้งหมดล้วนพังทลายจนไม่อาจฟื้นฟูกลับมารุ่งเรืองดังแต่ก่อน กลายเป็นความเด็ดเดี่ยวไปไหนก็ได้ที่อยากไป ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำเพื่อลบล้างความเจ็บปวดของการแก้ไขไม่ได้ ฉะนั้นเทพเจ้าสายฟ้าที่ฟังดูห่างไกลจากซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นจึงดูใกล้ชิดจากความรู้สึกที่ไม่ได้ต่างกับคนธรรมดาคนหนึ่ง

เมื่อพูดถึงความเจ็บปวดย่อมมีอีกคนที่รู้สึกไม่แพ้กัน นั่นคือ บรูซ แบนเนอร์ หรือ ฮัลค์ (Mark Ruffalo) เป็นซูเปอร์ฮีโร่สายพลังที่แพ้ธานอสจนเกิดอาการน้อยใจ ไม่สามารถแปลงร่างเข้าร่วมต่อสู้ได้อย่างทุกที แต่ด้วยสภาพจิตใจที่แน่วแน่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นฮัลค์ที่มีสติสัมปชัญญะ ไม่คลุ้มคลั่งและควบคุมอารมณ์ได้ แม้รู้สึกเสียดายที่ช่วงชีวิตที่น่าสนใจถูกข้าม ทว่าเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ที่เห็นยักษ์เขียวอีกรูปแบบหนึ่งที่ปกติมากที่สุด


กระนั้นคนที่ไร้พลังและเป็นคนปกติ เช่น นาตาชา โรแมนนอฟฟ์ หรือ แบล็ควิโดว์ (Scarlett Johansson) และ คลินท์ บาร์ตัน หรือ ฮอว์คอาย (Jeremy Renner) ต้องเผชิญความเจ็บปวดสะเทือนใจ เพราะต่างสูญเสียคนรัก เพื่อนพ้อง และครอบครัว ต่างคนต่างจมอยู่กับความจริงที่ไม่อยากยอมรับ ทำให้สถานะทั้งสองคือความแตกต่างที่คล้ายกัน ไม่มีพลังหรือความสามารถแบบคนอื่น มีเพียงทักษะต่อสู้ผ่านการฝึกฝน

ความคล้ายกันของทั้งสองทำให้ความสัมพันธ์ดูไม่ต่างกับคนรัก ไม่ทันบอกกล่าวก็เดาใจอีกฝ่ายถูกล่วงหน้า การร่วมเดินทางด้วยกันแสดงให้เห็นมิตรภาพที่จริงใจต่อกัน ซึ่งว่าตามตรงเป็นช่วงที่มีความสุขและอบอุ่น อีกทั้งเป็นกันเองเหมือนเจอเพื่อนรู้ใจ แต่ใครจะไปคิดว่าทั้งสองต้องมาต่อสู้กันเองเพื่ออัญมณีวิญญาณ (Soul Stone) ซึ่งการได้อัญมณีเม็ดนี้ต้องแลกด้วยชีวิต ฉากนี้จึงดูหดหู่และสะเทือนใจอย่างมาก เนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว สำหรับคนดูอย่างเราๆคงทำได้เพียงก้มหน้ายอมรับเท่านั้น


ในขณะที่ทุกคนสิ้นหวัง มีเพียงธานอสเท่านั้นที่สบายใจจากอุดมการณ์ที่สำเร็จ สามารถลดประชากรสิ่งมีชีวิตได้ครึ่งหนึ่งและจากไปอย่างสงบเพื่อใช้ชีวิตตามวิถีชาวไร่ แน่นอนทุกคนต่างแค้นและชิงชังจนออกตามล่าอีกครั้ง โดยมี แครอล เดนเวอร์ส หรือ กัปตัน มาร์เวล (Brie Larson) มาเสริมกำลัง แล้วทำไมซูเปอร์ฮีโร่ที่มีพลังมากมายคนนี้ถึงพึ่งปรากฏตัว คำตอบนั้นทำให้เถียงไม่ลงเพราะอย่างที่รู้คือเรื่องไม่ได้มีแค่โลกเพียงดวงเดียว ยังมีดาวดวงอื่นในจักรวาลต้องปกป้อง

ธานอสนับเป็นตัวร้ายมีอุดมการณ์ที่แสนจริงจังและเด็ดขาด เมื่อแผนตัวเองสำเร็จก็เลือกปลดวางตัวเอง ไม่ใช้พลังของอินฟินิตี้สโตนมาเป็นตัวแทนผู้ครองจักรวาลให้คนอื่นก้มกราบยอมรับ แต่เลือกทำลายอินฟินิตี้สโตนเพื่อไม่ให้ใช้งานต่อได้อีก เมื่อสิ่งที่ใช้กอบกู้สถานการณ์ได้ถูกทำลายลง ช่วงเวลาที่หม่นหมองจึงเริ่มต้นนับจากนั้นเพราะหมดสิ้นหนทางกลับคืนสู่ดั้งเดิมอีกต่อไป


3.

อินฟินิตี้สโตนคือพลังไร้ขอบเขต สามารถใช้ทำอะไรก็ได้ตามใจตน ทำให้อัญมณีแต่ละเม็ดกลายเป็นภาพติดตาที่สมควรมีอยู่ หากไม่มีเท่ากับแพ้หรือทำอะไรไม่ได้เลย เมื่อถูกทำลายเท่ากับเปลี่ยนแปลงชะตากรรมไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้นความหวังจึงทำลายไปด้วย แต่ใครจะไปคิดว่าเรื่องราวแสนใหญ่โตจะถูกแทนที่ด้วยเรื่องควอนตัม (Quantum) ปริศนาที่เหล่าพรรคพวกแอนท์แมนกำลังหาคำตอบ จนที่สุดนำไปเชื่อมโยงกับห้วงเวลา ทำให้เกิดทฤษฎีเดินทางข้ามเวลาที่อาจพลิกสถานการณ์ได้อีกครั้ง Back to the Future (1985) คือหนังเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาที่มักพูดถึงอยู่บ่อยครั้งเป็นอันดับต้นๆ แต่ใครจะไปคิดว่าจะมีการหยิบมาพูดถึงและแซวทฤษฎีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวคือหากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ในอดีตจะทำให้ปัจจุบันเปลี่ยนไปด้วย ทว่าเส้นเวลา (Timeline) ไม่ได้มีแค่เส้นเดียวเสมอไป การย้อนเวลาฉบับจักรวาลมาร์เวลจึงแปลกและน่าคิดอย่างมาก


ในแง่หนังไซไฟ-วิทยาศาสตร์ต้องยกให้ Back to the Future Part II (1989) เล่นกับเวลาได้อย่างเชี่ยวชาญ ท่องเวลาทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากอดีตที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้กลับไปทางไหนก็ล้วนไม่เหมือนที่จากมา เมื่อไม่สามารถปรับเปลี่ยนปัจจุบันหรืออนาคตก็แก้ที่อดีตเพื่อให้ดีขึ้น ลบล้างข้อด้อยหรือข้อผิดพลาดใน Back to the Future Part III (1990) ก่อนจะมากลับมาในปัจจุบันกับชีวิตที่มีความสุข


4.

การย้อนเวลาไปในอดีตไม่สามารถทำให้ปัจจุบันที่เป็นอยู่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้ว ตัวอย่าง โลกิ (Tom Hiddleston) ตายด้วยน้ำมือธานอส อยากให้โลกิรอดต้องทำให้ธานอสตาย แต่พอกลับมาเวลาเดิมปรากฏว่าโลกิยังตายอยู่ ส่วนธานอสยังมีชีวิตอยู่เช่นกัน ทำไมแก้ไขอดีตแล้วอนาคตยังเหมือนเดิม? เพื่อให้เข้าง่าย ลองเปรียบเทียบเรื่องทั้งหมดคือจำนวนเต็มหมายเลข 1 1 หมายถึง จักรวาลหลัก ธานอสฆ่าโลกิได้ สามารถรวบรวมอินฟินิตี้สโตนได้ครบ และลดประชากรทั้งจักรวาลได้ครึ่งหนึ่ง อยากแก้ไข้โดยการย้อนเวลาไปยับยั้งและฆ่าธานอส แต่กลับมาทุกอย่างยังเหมือนเดิม 1.1 หมายถึง จักรวาลรอง เส้นเวลาที่ถูกแยกออกมาตั้งแต่ธานอสถูกฆ่า ถ้ามาก่อนเหตุการณ์ที่โลกิตายเพราะธานอสจะไม่ถูกฆ่า เกิดเรื่องราวใหม่นับแต่นั้น ทั้งที่เรื่องราวทุกอย่างควรวิ่งซ้ำกับเส้นเวลาที่ 1


การเดินทางข้ามเวลามีความซับซ้อนระดับหนึ่ง เนื่องจากส่วนใหญ่มักคุ้นชินเรื่องเวลาเดิมกับการแก้อดีตเปลี่ยนอนาคต ซึ่งภาคนี้ต้องการบอกว่าทำเช่นนั้นไม่เกิดประโยชน์ มิหนำซ้ำอินฟินิตี้สโตนถูกทำลายหมดสิ้น ถ้าอยากให้คนที่สลายหายไปเพราะการดีดนิ้วของธานอสกลับมามีแต่ใช้อินฟินิตี้สโตนอีกครั้ง วิธีรวบรวมเม็ดอัญมณีในจักรวาลรองเพื่อมาใช้ในจักรวาลหลัก ที่สำคัญบอกเป็นนัยๆถึงการเปลี่ยนแปลงในอีกจักรวาล เกิดแตกแขนงไปอีกรูปแบบหนึ่ง


5.

การเล่นกับเวลานอกจากเป็นวิธีแก้ปัญหาเรื่องอัญมณีแล้ว สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนคือการให้ตัวละครระบายความในใจ ซึ่งภาคนี้จะเล่าสถานการณ์เพียงอันเดียวเท่านั้น จะไม่กระจัดกระจายเดี๋ยวโลกเดี๋ยวนอกโลก ตอนนี้ทุกคนได้เจอและเห็นหน้ากันทำให้เข้าถึงกันและกันมากที่สุด อีกทั้งพัฒนาการละเอียดอ่อนมากที่สุดอีกด้วย ดังเห็นได้จาก โทนี่ สตาร์ค ,สตีฟ โรเจอร์ส และ ธอร์ แสดงปมที่ค้างคาทั้งที่ไม่น่าจะแก้ไขได้ แต่ปรากฏว่าปมเหล่านั้นได้รับการระบายออกมาอย่างแนบเนียน


เมื่อความค้างคาถูกจุดประกายอีกครั้ง การจะทำอะไรลงไปเท่ากับได้ปลดปล่อยและเป็นตัวของตัวเอง อาทิ โทนี่ สตาร์ค เลือกจะใช้ชีวิตของตัวเองเข้าแลกเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย ถ้าสังเกตจะเห็นความห้าวลดลงไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ได้เพิ่มคือมุมมองขวางโลกหรือโลกในแง่ร้าย เนื่องจากศัตรูที่เจอแต่ละครั้งมีจะเข้มแข็งและต่อกรยากขึ้น สตีฟ โรเจอร์ส คนหลงยุคสมัยที่ยังเก็บคนรักที่ตนผิดนัดไว้ในใจอย่างไม่ลืมเลือน การเดินทางข้ามเวลาจึงเสมือนสิ่งที่เขาอยากได้มากที่สุดเพื่อเติมเต็มส่วนที่เขาและเธอขาดหาย ฉะนั้นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายในนามว่า"กัปตันอเมริกา"จึงไม่ใช่แค่คนอื่นเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อตัวเขาหลังจากทำให้ใครต่อใครมามาก และถึงเวลาส่งต่อหน้าที่ให้กับคนที่พร้อมรับผิดชอบเสียที


ธอร์ เป็นเทพและเจ้าชายปกครองเมืองแอสการ์ด แต่ชีวิตรันทดเจอแต่ความสูญเสียเกือบตลอดทาง ทำให้คนที่มั่งคั่งที่สุดกลายเป็นคนที่อับจนที่สุด กระนั้นในสภาพที่ไม่เหลือใครก็ยังมีพ้องเพื่อนชาวโลกและนอกโลกมากมาย ต่างกันเพียงสถานะที่กันเองและเท่าเทียม อาจด้วยเหตุนี้จึงรู้สึกอิสระ ไม่ต้องการกลับไปเป็นผู้นำชาวเมืองแอสการ์ด อยากใช้ชีวิตของตัวเองในแบบที่ต้องการให้เต็มที่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน


6.

ต้องยอมรับการแจกบทในหนังให้ออกมาเสถียรมากที่สุด เพราะยังกังวลเรื่องจำนวนตัวละครที่ค่อนข้างมาก แต่ยังแจกจ่ายกันได้พอดีและเน้นปูมหลังของซูเปอร์ฮีโร่ให้ละเอียดอ่อนมากขึ้น สำหรับภาคก่อนหน้านี้ธานอสจะเป็นตัวนำ เนื่องจากยังไม่เคยปรากฏตัวแบบเต็มตัว เมื่อออกมาพร้อมกับอุดมการณ์ที่เด็ดขาดจึงดูเป็นจุดสูงสุดของแผนการที่บ้าเลือด ขณะที่ภาคนี้ธานอสยังคิดเช่นเดิม จนกระทั่งเห็นความพยายามข้ามเวลาเพื่อแก้สถานการณ์ อุดมการณ์ลดประชากรจึงกลายเป็นทำลายแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ ภาคนี้แอ็คชั่นน้อยจึงไม่แปลกใจถ้ารู้สึกชอบน้อยกว่าภาคก่อน แต่สามารถกระจายและจบประเด็นเนื้อหาของตัวละครได้อย่างสง่าผ่าเผย เป็นการปิดเรื่องราวซูเปอร์ฮีโร่รุ่นแรกให้จบลงด้วยดีและประทับใจ ส่วนจะรู้สึกมากน้อยคงยังขอร้องเช่นเดิม คือให้ย้อนกลับไปดูหนังทั้งหมดก่อนหน้านี้ 21 เรื่อง แล้วเราจะเข้าใจสิ่งที่ตัวละครพูดหรือคิดเหมือนรู้จักกันมานาน ลองคิดดูสิกว่าจะมาถึงภาคนี้ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ตั้ง 11 ปีเชียวนะ ความผูกพันธ์นับทศวรรษไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆและคุ้มค่าที่จะรู้สึกเช่นนั้น


ขอบคุณ MCU (Marvel Cinematic Universe) ที่พามาสู่จุดสูงสุด หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นจะมากจะน้อยก็คุ้มที่สุดแล้ว

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)