Rocky Balboa (2006) ร็อคกี้ ราชากำปั้น ทุบสังเวียน

Rocky Balboa (2006) | ร็อคกี้ ราชากำปั้น ทุบสังเวียน
Director: Sylvester Stallone
Genres: Action | Drama | Sport
Grade: A-
 
หลังจากปิดตำนานไปใน  Rocky V (1990) ที่แม้จะเป็นการปิดเรื่องราวที่ไม่ถึงกับดีหรือแย่จนเกินไปเพียงไม่เป็นที่น่าจดจำเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับภาคก่อนๆ แต่ถือว่าชีวิตของร็อคกี้ บัลบัวร์ (Sylvester Stallone) ได้มาถึงความปุถุชนเดินดินได้สำเร็จโดยไม่ต้องพึ่งพาความร่ำรวยหรือชื่อเสียงใดๆ เดิมทีนั้นการปิดจบในภาคที่ 5 จะต้องลงเอยด้วยการตายของร็อคกี้ แต่ถูกเปลี่ยนใจเพราะสตูดิโอไม่เห็นด้วย นั้นเองจึงเป็นการแก้มือให้กับ Sylvester Stallone ที่อยากแก้ไขตอนจบของหนัง Rocky ที่ไม่ใช่แค่การเผชิญกับอุปสรรคชีวิตที่ต้องปรับตัวเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ มันจะต้องมีอะไรที่มากกว่านั้นเมื่อตัวเองแก่ตัวลง ด้วยความไม่สบายใจที่หนังจบเช่นนั้นในภาค 5 จึงอยากแก้ตัวอีกครั้งในปี 1999 ทว่าเพราะจบไม่สวยเนื่องจากเสียงวิจารณ์และรายได้ตกต่ำจึงไม่ได้รับอนุมัติให้สร้างภาคต่อ จนกระทั่งต้องรอต่ออีก 6 ปีถึงจะสร้างภาคต่อได้ ซึ่งกว่าจะได้สร้างทำให้บทหนังที่ Sylvester Stallone เขียนเอาไว้เข้ากับตัวตนจริงๆของเขาพอดี


ความเข้าใจอย่างแรกของการดู Rocky Balboa คือนี่ไม่ใช่ภาคที่มีเนื้อเรื่องเอกเทศเป็นของตัวเองแม้จะมีชื่อที่แตกต่างกันเพราะใส่นามสกุลลงไปในชื่อหนัง อันที่จริงน่าจะหมายถึงช่วงชีวิตเต็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่นักมวยที่มีชื่อเสียงแต่จะมีนามสกุลไว้สำหรับใครบางคนอีกด้วย แน่นอนว่าหมายถึงโรเบิร์ต บัลบัวร์ (Milo Ventimiglia) ลูกชายของร็อคกี้ที่โตเป็นหนุ่มเต็มตัว ในภาคก่อนแสดงถึงความสัมพันธ์พ่อลูกยังไม่เฉียบขาดมากพอในแง่การคลี่คลายประเด็น ฉะนั้นเนื้อเรื่องในภาคนี้ยังคงใช้ความสัมพันธ์พ่อลูกอีกครั้งในเล่าเรื่องให้กระจ่างมากขึ้นจากที่มิติดูแบนราบจะทำให้มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการไล่ระดับจากคนในครอบครัวไปสู่ชีวิตในสังคมหมู่เพื่อนฝูงที่ไม่เคยมองโรเบิร์ตคือโรเบิร์ต แต่มองโรเบิร์ตเป็นลูกของร็อคกี้ ปัญหาภายในใจของโรเบิร์ตเกิดจากความใกล้ชิดพ่อ ทุกครั้งที่มีการเอ่ยถึงชื่อร็อคกี้จะทำให้เขาไร้ตัวตนกลายเป็นแค่เงาเท่านั้น ปัญหานี้ถูกหยิบมาขยายให้มากขึ้นตามช่วงวัย เมื่อเทียบในภาคก่อนหน้านี้ที่ยังเป็นแค่เด็กไม่ได้รับความสนใจจากพ่อเพราะมีเรื่องอื่นที่สนใจกว่า ซึ่งก็เกิดจากชื่อเสียงที่โด่งดังของร็อคกี้เป็นเหตุให้พ่อกับลูกอยู่สถานะที่ต่างระดับ ถึงปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ไขไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่ายังกระทบต่อโรเบิร์ตเมื่อโตขึ้นคือทุกคนจดจำแค่ร็อคกี้ ในขณะที่โรเบิร์ตอยากทำอะไรด้วยตัวเองให้มีชื่อของเขาแทนจะบอกว่าเป็นลูกชายของร็อคกี้ สิ่งนี้สั่นคล่อนจิตใจของโรเบิร์ตเหมือนพึ่งบารมีของพ่ออย่างเดียว

สำหรับภาคนี้เหมาะคนที่ติดตามร็อคกี้มาตั้งแต่ภาคแรกเพราะจะซึมซับความเป็นไปของตัวละครได้อย่างเข้าใจถ่องแท้ เนื่องจากตัวละครบางตัวจะมีเพียงแค่ชื่อผ่านการอุปมาอุปมัยเท่านั้น ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่ร็อคกี้กำลังบอกหรืออธิบายไม่เข้าใจก็หมายถึงไม่รับรู้ความเป็นมาของตัวละครด้วย นั้นเพราะว่าร็อคกี้ในภาคนี้ไม่ได้มีสภาพที่หนุ่มกำยำหรือมีอนาคตไกลอีกแล้ว ที่เห็นคือสภาพของคนไม้ใกล้ฝั่งที่เต็มไปด้วยความชราไม่แตกต่างกับทุกคนที่เกิดมาค่อยๆร่วงโรยไปทีละนิด เฉกเช่นกับชีวิตคู่ที่ต้องพลัดพรากจากกันไปในที่สุดและคงเหลือไว้เพียงชื่อบนป้ายหลุมศพที่ให้ไปเยี่ยมกับความทรงจำในอดีตที่ได้ร่วมทุกร่วมสุข เทียบกับทุกภาคจะสังเกตว่าตัวละครเดียวที่ทำให้ร็อคกี้มีกำลังใจและสู้ชีวิตคือเอเดรียน(ยังคงเป็นนักแสดง Talia Shire เจ้าเดิมแต่ไม่ได้แสดงแค่มาเป็นฉากภาคก่อนๆให้ร็อคกี้ระลึกถึงอดีต) ในยามที่ทุกข์ใจท้อถอยกับปัญหาจะมีเพียงเอเดรียนที่ยังยืนยันเชื่อมั่นในตัวร็อคกี้เสมอ ฉะนั้นการสูญเสียเอเดรียนจึงเสมือนเสียกำลังใจสำคัญของชีวิตไปและร็อคกี้ยังทำใจได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ครึ่งแรกยอมรับว่าเอเดรียนนั้นจากเขาไป อีกครั้งที่เหลือยังรับไม่ได้กับชีวิตในปัจจุบันเพราะยังคิดถึงวันวานอยู่เสมอ


ญาติที่เหลืออยู่ของร็อคกี้คือพอลลี่ (Burt Young) ที่ยังคงทำงานในโรงเนื้อเช่นเคย จนวันนึงถูกไล่ออกจากงานเพราะหมดวาระ แม้ว่านี่อาจเป็นเรื่องที่เตรียมใจอยู่บ้างแล้วสำหรับอายุที่มากขึ้นและคงไม่เหมาะนักที่ให้คนแก่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ แน่นอนว่าพอลลี่ไม่พอใจแต่ไม่อาจปฏิเสธในความจริงได้ถ้างานที่ทำไม่ใช่ธุรกิจของตัวเองแบบเดียวกับร็อคกี้ สิ่งที่หลงเหลือหลังจากแขวนนวมคือบั่นปลายชีวิตที่ยังดำเนินต่อไป ร็อคกี้ใช้ชีวิตที่เหลือหางานทำและได้เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารเล็กๆโดยเขาจะทำหน้าที่ต้อนรับลูกค้าที่อยากรู้ความหลังด้วยการยืนเล่าประสบการณ์การเป็นนักมวยให้ฟัง แม้ธุรกิจจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างราบรื่นไม่ถึงกับร่ำรวย กระนั้นก็เหมือนได้ระบายเรื่องเก่าๆให้คนรุ่นหลังได้ฟัง ทว่าสิ่งที่ยังเหลือในระหว่างที่ร็อคกี้ยังหนุ่มก่อนได้ขึ้นชกกับแชมป์โลกคือสมัยที่ชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน(ในทางดี)ด้วยการพาเด็กผู้หญิงคนหนึ่งกลับบ้านแล้วให้เลิกสูบบุรี่เพราะไปขลุกกับอันธพาลข้างถนน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน Rocky (1976) และในภาคนี้เองผู้หญิงคนนั้นได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่มีลูกมีครอบครัว ซึ่งการพบโดยบังเอิญทำให้ร็อคกี้สนใจในตัวมารี (Geraldine Hughes) เด็กน้อยที่เคยส่งกลับบ้านและสเต๊ปส์ (James Francis Kelly III) ลูกของเธอ เพราะอย่างน้อยทั้งสองก็สามารถทดแทนวันวานที่หายไปให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งได้

"แกอาจไม่อยากเชื่อ แต่แกเคยตัวเล็กเท่านี้ พ่อเคยอุ้มแก แล้วบอกแม่แกว่าเด็กคนนี้จะเป็นเด็กที่ดีที่สุดในโลก เด็กคนนี้จะเป็นคนดีกว่าคนที่ใครๆเคยรู้จัก แล้วแกก็โตขึ้นมาเป็นคนดีมาก แค่ได้เฝ้าดูก็วิเศษแล้ว ทุกวันเหมือนพ่อได้รับสิทธิ์พิเศษ แล้วก็ถึงเวลาที่แกเป็นตัวเองขึ้นมาแล้วออกไปสู่โลกและแกก็ทำได้ ตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ แกเปลี่ยนไป แกหยุดเป็นตัวเอง แกยอมให้คนเอานิ้วจิ้มหน้าผากและบอกว่าแกไม่เอาไหน พออะไรยากขึ้น แกก็มองอะไรที่จะกล่าวโทษ อย่างความเป็นคนดัง"


ร็อคกี้ต้องเสียอะไรไปหลายอย่างในชีวิต แต่ไม่เจ็บปวดเท่าการเสียเอเดรียนไปและนั้นทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับชีวิตเพียงลำพัง ในมุมมองกว้างๆในสังคมยังคงเป็นขวัญประชาชนที่หลายคนรับถือและส่งเสริมกำลังใจ อีกมุมแคบๆภายในจิตใจที่นับเฉพาะคนที่รู้ใจจริงจะมีสักคน ยิ่งคนที่รู้ใจก็ยิ่งหายไปทีละคนเป็นป้ายหลุมศพเหมือนถูกทอดทิ้งให้เจอกับเวลาที่เหลือต่อไป ด้วยความที่ร็อคกี้ไม่เคยขาดคนรอบข้างทำให้เมื่อต้องอยู่ตัวคนเดียวจึงรู้สึกถึงช่วงเวลาเก่าๆแทนที่จะมองว่าอนาคตต่อไปควรเป็นเช่นไร ทุกหนึ่งปีร็อคกี้จะชวนพลอลลี่นั่งรถเล่นมาจอดตรงที่เคยเป็นเดทแรกระหว่างเขากับเอเดรียนเพื่อเล่าความหลังให้ฟัง ตั้งแต่เริ่มต้นตัวเองเคยเป็นคนแบบไหน เอเดรียนคือคนยังไง จวบจนทุกอย่างที่เป็นความทรงจำต่างๆมากมาย แน่นอนว่าพอลลี่ต้องเบื่อที่ทนฟังเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา จึงบอกกับร็อคกี้ใหเลิกเล่าเรื่องที่เป็นอดีตได้แล้ว เพราะไม่ใช่แค่ร็อคกี้ที่รู้สึกเจ็บปวดหรือมีความสุขอยู่ฝ่ายเดียว พอลลี่เองก็รู้สึกด้วยเช่นกัน ที่แตกต่างแค่อีกคนยังติดกับอดีต ขณะที่อีกคนทำใจยอมรับได้

ที่พร่ำเพ้อแต่เรื่องสมัยหนุ่มไม่ใช่แค่อยากบอกตัวเองว่าผ่านอะไรมาบ้าง แต่ต้องการคนรับฟังและเปิดใจไปด้วยกัน ในที่นี้หมายถึงรวมโรเบิร์ตที่เป็นลูกของร็อคกี้ที่เหินห่างต่อเขาอย่างมาก สิ่งที่ทำให้เจอหน้าลูกได้คือการแวะไปที่ทำงานเพราะต่างคนต่างอาศัยกันอยู่ ที่สำคัญยังต่างสังคมอีกด้วย ขณะที่โรบิร์ตมีเพื่อนมีฐานะทางการงาน ส่วนร็อคกี้แค่คนที่เคยดังเป็นขวัญใจประชาชนที่หาเช้ากินค่ำในร้านอาหารคอยบริการลูกค้า สิ่งหนึ่งที่ร็อคกี้ชื่นชมในตัวลูกเสมอคือความฉลาด เมื่อเทียบกับตนแล้วไม่มีอะไรเลยนอกจากทักษะทางมวยที่ตอนนี้เสื่อมไปตามอายุ จริงที่ว่าตลอดทั้งเรื่องร็อคกี้เป็นคนเข้าหาลูกเสมอเพราะอยากเจออยากคุยจนถึงขั้นอยากปรึกษาในบางเรื่องซึ่งเป็นการกลับไปชกมวยอีกครั้งหนึ่ง คนแก่ที่แทบไม่เหลือใครกับอดีตที่ค้างคาใจอยู่ตลอดเวลาทำให้รู้สึกว่าการดำเนินชีวิตต่อไปนั้นดูไร้ประโยชน์หากยังจมปลักกับความหลัง ฉะนั้นร็อคกี้จึงตัดสินขึ้นชกอีกครั้งเพื่อตัวเอง เพื่อบางสิ่งในใจที่ยังติดอยู่ เพื่อให้การชกครั้งสุดท้ายเป็นครั้งสุดท้ายของจริง แน่นอนว่าปมปัญหาภายในจิตใจของร็อคกี้ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมาก ทว่าในมุมมองคนแก่คือความเจ็บปวดในใจที่ ณ จุดหนึ่งตัวเองต้องการปลดปล่อยเสียที


"พ่อจะบอกอะไรที่แกรู้อยู่แล้ว โลกไม่ได้มีแต่แสงแดดและสายรุ้ง มันมีทั้งโหดร้ายและหยาบคายมา พ่อไม่แค่หรอกว่าแกแกร่งแค่ไหน มันจะซ้อมแกจนทรุดและกดแกอยู่อย่างนั้นตลอดไปถ้าแกยอมมัน แก พ่อ ไม่มีใครหรอก ที่ชกหนักได้เท่าชีวิต และไม่เกี่ยวว่าหมัดหนักแค่ไหน แกรับหมัดหนักแค่ไหนต่างหากเล่า และลุยต่อไปข้างหน้า แกรับได้แค่ไหนและยังลุยต่อไปข้างหน้า ชัยชนะต้องแบบนั้นแหละ"

การกลับไปขึ้นชกอีกครั้งของร็อคกี้สร้างความไม่พอใจแก่โรเบิร์ตเพราะเดิมทีตัวเองอยู่ภายใต้เงาของพ่อ และการทำเช่นนั้นยิ่งทำให้โรเบิร์ตไร้ตัวตนเข้าไปทุกทีเพราะไม่มีใครสนใจเขาเลยนอกจากสนใจแต่พ่อ สนใจเพราะเขาคือร็อคกี้ผู้เป็นนักสู้ที่ทุกคนชื่นชม ในความคิดของโรบิร์ตการมีพ่อเสมือนทำลายชีวิตของเขาเพราะไม่อาจเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองทำคือเขาทำ โรเบิร์ตหมดความมั่นใจเพราะคิดว่าถูกพ่อกดดัน ยิ่งพ่อทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งทำให้เขาดูด้อยค่า นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่ไม่ค่อยสนิทสนมกันทั้งที่ลูกควรจะชื่นชมในความพยายามของพ่อกลับกลายเป็นว่าลูกรู้สึกไม่มีอะไรเหลือเพราะถูกพ่อแย่งชิงไป ฉากสนทนาพ่อลูกคือฉากที่เรียบง่ายแต่กินใจในแง่เปิดอกคุยกัน จะได้เห็นความรู้สึกจากทั้งสองว่าเป็นยังไง ในจุดนี้จะได้รับรู้อีกด้วยว่าทำไมโรเบิร์ตที่รักพ่อแต่ไม่อาจรวมมือกับพ่อได้นั้นเกิดจากอะไร ความอึดอัดที่ค่อยๆเปิดจะคลี่คลายลงที่ฉากนี้ฉากเดียว รวมถึงความอัดอั้นของร็อคกี้ที่ต้องการบอกเกี่ยวกับตัวลูกว่าความพยายามจะสำเร็จได้นั้นไม่ใช่แค่ตัวเขากำหนดมาว่าต้องเป็นแบบนี้ นั้นแค่อีกคน อีกชีวิตหนึ่งที่ความพยายามเท่าๆกัน ไม่มีใครสูงกว่าใครเพราะตัดสินใจที่จะสู้ต่อหรือยอมแพ้ สิ่งสำคัญคือความเชื่อมั่น เชื่อในตัวเอง ไม่ใช่เชื่อว่าอีกคนดีกว่าจึงหมดความมั่นใจ


"เอาล่ะถ้าแกรู้คุณค่าตัวเองก็ทำตัวให้สมคุณค่าที่ตัวแกมี แต่แกต้องเต็มใจรับหมัดพวกนั้น ไม่ใช่นั่งชี้บอกว่าไม่ใช่ที่แกต้องการเพราะเขาหรือเธอหรือใครก็ตาม คนขี้ขลาดทำกัน แต่ไม่ใช่แก แกดีกว่าคนพวกนั้น พ่อจะเป็นคนที่รักแกเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แกเป็นลูกพ่อและเนื้อเลือด แกเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตพ่อ แต่ถ้าแกไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง แกก็เหมือนยังไม่มีชีวิต อย่าลืมแวะไปเยี่ยมแม่บ้าง"

Rocky Balboa มีประเด็นที่พัฒนามาจากภาคก่อนเรื่องประเด็นพ่อลูกที่มีความสัมพันธ์ที่เหินห่าง ด้วยเหตุผลบางประการทำให้ร็อคกี้ทุ่มความสำคัญให้กับมารีและสเต๊ปส์ราวกับญาติหรือคนในครอบครัว ในมุมมองของคนแก่ที่ทำอะไรเทียบเท่าคนหนุ่มที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่เป็นเรื่องที่ผ่านพ้นมาแล้วในชีวิตร็อคกี้ ดังนั้นจึงอยากมีเป้าหมายทำเพื่อคนอื่นแม้จะเรื่องเล็กๆ เช่น เปลี่ยนหลอดไฟหน้าบ้าน ชวนมาเป็นพนักงานหน้าร้าน หรือชวนคุย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ทำให้นึกถึงเรื่องราวเก่าๆที่ตัวเองเคยผ่านมาเท่านั้น ถ้านำมาเปรียบเทียบกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันจะเห็นว่ามีหลายอย่างที่เข้ามาใหม่และหลายอย่างที่หายไปเป็นอดีต บางอารมณ์สื่อไม่ยากเลยว่าร็อคกี้อยู่ในช่วงความเหงากระทบจิตใจ ซึ่งนั้นทำให้อยากมีอะไรทำให้ดูมีจุดมุ่งหมาย สิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งเดียวที่ติดตัวมาตลอด คือโอกาสที่จะสู้ต่อไป สู้ชีวิตไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดลมหายใจ


การกลับมาเพื่อปิดตำนานของร็อคกี้ด้วยความภาคภูมิใจของ Sylvester Stallone นับเป็นเรื่องที่ดีเพราะแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวของร็อคกี้ควรจบลงแบบไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด แน่นอนว่าในภาค 5 ต้องการเล่าชีวิตหลังเกษียณมวย แต่นั้นยังไม่เพียงพอของคำว่าอิสรภาพ ไม่ใช่แค่โอกาสที่หนังพยายามสื่อ แต่รวมถึงอิสรภาพของคนๆหนึ่งที่ต้องปลดปล่อยตัวเอง การกลับมาทำให้ทุกอย่างดูมีปัญหาและคลี่คลายลงได้ในการชกครั้งสุดท้ายในไคล์แม็กซ์ของเรื่อง ด้วยภาพลักษณ์อาจดูเป็นการชกของคนแก่กับคนหนุ่ม ทว่ากับภายในคือการต่อสู้ของทั้งสองที่มากกว่าหมัดต่อหมัด ด้านเมสัน เดอะ ไลน์ ดิ๊กซ่อน (Antonio Tarver) ที่เป็นแชมป์ต้องมาสู้กับร็อคกี้ก็มีปมในใจอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับการเป็นแชมป์เพราะทำให้ทุกคนไม่เชื่อถือในฝีมือ นี่เองจึงเสมือนการทดสอบตัวเองว่าการเป็นแชมป์ไม่ใช่เรื่องโกหกหลอกลวงแต่เป็นของจริงที่ได้มาด้วยหมัดของเขาเอง น่าเสียดายที่เมสันเป็นตัวละครที่ค่อนข้างบอบบางในเรื่องการเล่ามิติเพราะมีฉากมาอธิบายค่อนข้างน้อยถึงแม้จะมีความชัดเจนมากแค่ไหนก็ตาม นั้นเองจึงเกิดความไม่รู้สึกเอาใจช่วยเท่าไรนักเพราะเล่าถึงน้อยจนเกือบเป็นเพียงแค่คู่ชกคนหนึ่ง ด้านอารมณ์จึงตกเป็นของร็อคกี้ซะส่วนใหญ่เกือบทั้งเรื่องหากนำมาเทียบบทบาท แต่โดยรวมถือว่าเล่าประเด็นได้ตรงจุดแม้ว่าจะให้น้ำหนักอีกข้างมากไปก็ตามที


นี่อาจจะเป็นผลงานที่เทียบเท่าภาคแรกและเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเรื่องราวร็อคกี้ แน่นอนว่าถ้าได้ติดตามมาตลอดไม่ขาดภาคใดภาคหนึ่งไปจะเห็นถึงการพัฒนาตัวละครด้วยโอกาสอยู่เสมอ ไม่ว่าจะโอกาสที่จะขึ้นชก โอกาสใช้ชีวิตใหม่ โอกาสที่จะยอมรับความจริง โอกาสของการสู้ชีวิต เสมือนต้องการบอกว่าช่วงชีวิตของคนๆหนึ่งสามารถทำอะไรก็ได้หลายอย่าง แต่อยู่ที่ตัวเราตัดสินใช้โอกาสนั้นหรือเปล่า ยิ่งตัดสินใช้เร็วเท่าไรก็ยิ่งเห็นผลเร็วขึ้น ถ้าเลือกปล่อยโอกาสจะไม่ต่างกับคนที่ยอมแพ้กับชีวิตและทิ้งความน่าจะเป็นของโอกาสนั้นไป Sylvester Stallone ได้ให้โอกาสแก่เรื่องนี้มาตลอดตั้งแต่ภาคแรกจวบจนภาคนี้ พยายามสะท้อนชีวิตจริงของตัวเองลงไปกับชีวิตของร็อคกี้ที่กว่าจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้ต้องเจออุปสรรคหนักแค่ไหน ต่อให้จะดูสมมติขึ้นมาเพื่อให้หนังออกมาสนุก แต่ไม่แปลกใจเลยหากสิ่งเหล่านี้คือเรื่องจริง เรื่องจริงที่ว่าคือการเผชิญหน้ากับปัญหา ยอมรับปัญหา และสู้กับปัญหานั้น ทั้งหมดนี้คือการสู้ชีวิตของร็อคกี้ที่ใครๆต้องเจอในชีวิตประจำวันและทำมันให้ดีที่สุด

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)