Annihilation (2018) แดนทำลายล้าง

Annihilation (2018) | แดนทำลายล้าง
Director: Alex Garland
Genres: Adventure | Drama | Horror | Mystery | Sci-Fi | Thriller
Grade: A-

อิงมาจากนิยายเล่มแรกในชุดไตรภาคที่เรียกว่า Southern Reach Trilogy เขียนโดย Jeff VanderMeer ผู้ซึ่งได้รางวัล Shirley Jackson Award เมื่อปี 2014 และรางวัล Nebula Award ในปี 2015 เป็นเรื่องของนักสำรวจที่เข้าไปใน Area X เพื่อหาคำตอบบางอย่างที่ทำให้พื้นที่บริเวณเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากเบื้องต้นไม่รู้ว่าฉบับหนังสือได้อธิบายอะไรไว้บ้างเพราะไม่เคยอ่าน แต่สิ่งที่ได้จากฉบับหนังนี้คือความเป็นหนังไซไฟ-วิทยาศาสตร์ที่ชั้นสูงระดับหนึ่งเลยทีเดียว


ที่เรียกว่าสูงเพราะการจะเข้าใจเนื้อหาของหนังอาจจะต้องเรียนรู้วิชาชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์เบื้องต้นกันมาบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของเซลล์ (Cell) ที่มีการเกริ่นในต้นเรื่องว่าสามารถแบ่งตัวได้จาก 1 เป็น 2 หรือ 2 เป็น 4 หรือ 4 เป็น 8 ตามทวีคูณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เซลล์คือหน่วยที่เล็กที่สุดและเมื่อมีมากจะกลายเป็นอวัยวะจนถึงขั้นการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบต่างๆในร่างกาย ทว่าสิ่งที่ต้องเสริมสาระคือระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) ที่จะมีรายละเอียดที่ลึกลงไปอีก ถ้าให้เข้าใจง่ายๆให้ดูจากตอนเป็นไข้หวัด (Common Cold) เมื่อติดเชื้อหรือรับเชื้อแล้วร่างกายจะตอบสนองด้วยการสู้เพื่อฆ่าตัวนั้น พล็อตหนังเรื่องนี้ก็คล้ายทำนองเดียวกัน

เรื่องเริ่มจากอุกกาบาตตกแล้วทำให้บริเวณนั้นเกิดการเปลี่ยนเปลงเป็นม่านรุ้ง (Shimmer) และกำลังขยายอาณาเขตมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเคยเจอทำให้ส่งหน่วยสำรวจเข้าไปหาคำตอบ แต่ไม่มีใครกลับมาสักคนเดียว ยกเว้น เคน (Oscar Isaac) สามีของ ลีน่า (Natalie Portman) ที่กลับมาหาก่อนจะตกเลือดเข้าขั้นวิกฤติอย่างน่าประหลาดใจ ไม่มีคำตอบที่บอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในนั้น สิ่งที่ทำได้คือการเข้าไปอีกครั้งเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นข้างในกันแน่


"เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ"

โลแมกซ์ (Benedict Wong) ตัวละครสวมชุดป้องกันเชื้อโรคที่พูดคุยกับลีน่าตลอดทั้งเรื่องเพื่อถามสิ่งที่เกิดขึ้นในม่านรุ้ง ถ้าเปรียบเสมือนร่างกายคงไม่ต่างกับหน่วยภูมิคุ้มกันที่ต้องการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่จะกำจัดคือสิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่ส่งผลกระทบทางลบ ฉะนั้นการซักประวัติถามลีน่าในสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญว่าลีน่าควรอยู่ระดับไหน เป็นภัยที่อาจแพร่เชื้อได้หรือไม่ หรือเป็นมิตรไร้มลทินทางร่างกายและจิตใจ

ลีน่าและคนอื่นๆ ได้แก่ อันย่า โทรีเชน (Gina Rodriguez),แคส เชพพาร์ด (Tuva Novotny),โจซี่ แรเดก (Tessa Thompson) และ ดร.เวนเทรส (Jennifer Jason Leigh) ต่างเข้าไปในอาณาเขตม่านรุ้งที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรดักรออยู่บ้าง ซึ่งการคัดเลือกแต่ละคนไม่ได้เกิดจากประสบการณ์การเอาตัวรอดที่เก่ง แต่เป็นปัญหาเฉพาะตัวที่ล้วนมีกันหมดทุกคน ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัว ครอบครัว คนรัก ไม่เว้นแต่กับตัวเอง


แล้วทำไมต้องคัดสรรคนที่มีปมทั้งที่ควรเอาคนที่มีความสามารถและไม่อ่อนไหว คำตอบนี้อยู่ที่ดร.เวนเทรสในฐานะนักจิตวิทยาที่เลือกสมาชิกด้วยตัวเอง ซึ่งแต่ละคนล้วนมีความเจ็บปวดมีบาดแผล ส่วนลีน่าเป็นคนมาที่หลังและเริ่มซึมซับความอยากรู้อยากเห็นนี้ ซึ่งปัญหาของเธอนั้นมีทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเรื่องความรักในแบบชู้เพราะรอคนรักไม่ไหว หรือจะคนรักที่จู่ๆกลับมาอย่างไร้เหตุผลก่อนจะเกิดอาการปางตายแบบหาข้อสรุปไม่ได้ ขณะที่คนอื่นๆแยกได้ ดังนี้

แคส - ปัญหาเสียคนรักในครอบครัวจากลูคีเมีย
อันย่า - ปัญหาเคยเสพติดยา
โจซี่ - ปัญหาการใช้ชีวิต คิดฆ่าตัวตายหลายครั้งจนข้อมือมีลอยแผลเป็นและปกปิดด้วยเสื้อแขนยาวตลอดเวลา
ดร.เวนเทรส - ปัญหาเรื่องสุขภาพที่พบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แต่นั้นไม่เท่าเป็นคนเปล่าเปลี่ยวไร้มนุษยสัมพันธ์


จากทั้งหมดรวมถึงลีน่าคือคนที่มีปัญหาคางคาใจและเก็บกดอย่างเงียบๆ ถ้าว่าด้วยเรื่องของสัจธรรมก็คล้ายกับช่วงสุดท้ายของชีวิตว่าเราเลือกแบบไหนระหว่างปล่อยวางกับเก็บเอาไว้ ซึ่งแต่ละคนล้วนเจอสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปตามชีวิตของตัวเอง สำหรับคนที่จมอยู่กับความทุกข์ไม่ยอมรับในความจริงมักเจอสถานการณ์ที่โหดร้ายจนนำไปสู่ความเจ็บปวดในที่สุด แต่กับใครที่เริ่มเข้าใจหรือปล่อยวางอิสระต่อเรื่องที่ผ่านมาจะไร้ความเจ็บปวดและอาจเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ขณะเดียวกันคนที่อยู่ระหว่างกลางด้วยความสับสนยังต้องดำเนินชีวิตต่อไปเพื่อหาคำตอบแก่ตัวเอง

แคส ตัวละครที่สนิทกับลีน่าและเปิดใจต่อเรื่องราวคราวอดีตอย่างเต็มใจ มีปมการเสียคนรักหรือลูกสาวด้วยโรคลูคีเมีย ทว่าการเสียลูกสาวเพียงคนเดียวไม่ต่างกับเสียเพิ่มอีกหนึ่งคนที่ต้องเศร้าโศกเสียใจ จากในเรื่องต้องพบกับบั้นปลายชีวิตเพราะหมีกลายพันธุ์ ซึ่งหมีตัวนี้แตกต่างจากหมีทั่วไปด้วยหน้าตาที่แตกต่างและจุดเด่นการหลอกล่อเหยื่อด้วยเสียงคน เป็นประโยคขอความช่วยเหลือว่า"ช่วยด้วย" โดยเสียงนี้มาหลังจากแคสโดนหมีจู่โจม ดังนั้นจึงคล้ายกับห้วงชีวิตสุดท้ายถูกฉกชิงเป็นส่วนหนึ่งของหมีกลายพันธุ์ เป็นความรู้สึกที่น่าเจ็บปวดไม่สามารถหลบหนีได้


อันย่า ผู้หญิงห้าวๆแต่นิสัยที่แท้จริงไม่ได้มุทะลุตามบุคลิก เคยมีปัญหาการเสพยามาก่อน แต่ไม่รู้ถึงความหนาบางหรืออาการหรือผลกระทบใดๆนอกจากคำบอกเล่าจากอีกตัวละครหนึ่ง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความหวาดกลัวที่เริ่มไม่มั่นใจต่อสถานที่ อีกทั้งยังไม่ไว้ใจพวกเดียวกันเพราะความลับที่ไม่เคยบอกของลีน่าและคนอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยเรื่องออกจากม่านรุ้ง ทำให้อันย่าต่อต้านทุกคนจนนำไปสู่การพบกับหมีกลายพันธุ์อีกครั้งและจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถเพราะความหวาดหวั่นราวกับคนติดยาที่ไร้สติ

โจซี่ มีรอยแผลเป็นที่ข้อมือไม่ใช่เพราะเบื่อหน่ายต่อการใช้ชีวิต แต่เป็นการหาความหมายของชีวิตเพื่อให้รู้ว่าตัวเองยังมีชีวิตที่ดำเนินต่อไป แม้จะขัดแย้งแต่เป็นสิ่งทำให้รู้ตัวว่ายังไม่ตายจริงๆ แล้วจะทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไรทั้งที่เหมือนเป็นการกระทำของคนสิ้นคิด ซึ่งอาจไม่ใช่สิ้นคิดซะทีเดียวเพราะลึกๆแล้วทำใจยอมรับในความหมายชีวิตที่การตายเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเริ่มเห็นทุกอย่างก็เริ่มตระหนักในเสียงร้องของหมีกลายพันธุ์ที่เสมือนสิ่งสุดท้ายก่อนตาย มันจะดีกว่าถ้ายอมรับและจากไปอย่างสงบ ไม่มีเสียงร้องหรือเจ็บปวด กลายเป็นต้นไม้ดอกไม้หรือส่วนหนึ่งของธรรมชาติในที่สุด


ดร.เวนเทรส ไม่มีคำว่าไม้อ่อนสำหรับเธอและตั้งหน้าตั้งตาหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในม่านรุ้ง ซึ่งยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดีกับตัวเธอเพราะปัญหาสุขภาพเรื่องมะเร็ง ซึ่งท้ายที่สุดตัดสินใจไปเองตัวคนเดียวและได้คำตอบที่ไม่มีใครรู้หรือเข้าใจ สิ่งที่ลีน่าเห็นคือดร.เวนเทรสกำลังนั่งอยู่บนแท่นอะไรสักอย่างตรงกลางในประภาคาร พูดเป็นนัยๆเกี่ยวกับบางสิ่งในตัวเธอก่อนร่างกายสลายหายไปเป็นพลังงานบางอย่างราวกับถูกคุกคามทั่วร่างกายหรือถูกครอบครองในที่สุด บางทีสิ่งนี้อาจหมายถึงมะเร็งหรือบางสิ่งที่ทำให้ถึงแก่เวลาก็เป็นได้

The Immortal Life of Henrietta Lacks ชื่อหนังสือที่ลีน่าอ่านในช่วงต้นเรื่องที่นั่งเคียงคู่กับเคนหรือฉากสอนในห้องเรียนคือสิ่งที่กำลังพูดถึงเซลล์ที่เกิดขึ้นจริงของหญิงผิวสีชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อว่า เฮนเรียตตา แล็กส์ (Henrietta Lacks) ผู้ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกทั้งที่มีอายุเพียง 31 ปีเท่านั้น แต่นั้นไม่ใช่เรื่องโศกเศร้าเสียใจซะทีเดียวเพราะเซลล์มะเร็งนี้ได้กลายเป็นของสำคัญต่อวงการแพทย์ เมื่อได้ตัดเนื้อเยื่อไปเพาะเลี้ยงได้พบว่าเซลล์นั้นไม่มีวันตายหรือการแบ่งตัวไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือเซลล์อมตะ มีชื่อเรียกในวงการแพทย์ว่า"เฮลา (HeLa cells)"


The Immortal Life of Henrietta Lacks ชื่อหนังสือที่ลีน่าอ่านในช่วงต้นเรื่องที่นั่งเคียงคู่กับเคนหรือฉากสอนในห้องเรียนคือสิ่งที่กำลังพูดถึงเซลล์ที่เกิดขึ้นจริงของหญิงผิวสีชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อว่า เฮนเรียตตา แล็กส์ (Henrietta Lacks) ผู้ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกทั้งที่มีอายุเพียง 31 ปีเท่านั้น แต่นั้นไม่ใช่เรื่องโศกเศร้าเสียใจซะทีเดียวเพราะเซลล์มะเร็งนี้ได้กลายเป็นของสำคัญต่อวงการแพทย์ เมื่อได้ตัดเนื้อเยื่อไปเพาะเลี้ยงได้พบว่าเซลล์นั้นไม่มีวันตายหรือการแบ่งตัวไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือเซลล์อมตะ มีชื่อเรียกในวงการแพทย์ว่า"เฮลา (HeLa cells)"

Continuous cell line คือเซลล์ที่มีคุณสมบัติแบ่งตัวได้ไม่สิ้นสุด แต่ข้อเสียคือเซลล์มักกลายพันธุ์ไปจากเซลล์ปกติ บางทีเอเลี่ยนหรือสิ่งที่ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงนี้ต้องการกลายพันธุ์และขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ ส่วนวัตถุประสงค์อะไรนั้นไม่ทราบแน่ชัด อาจเพื่อวิวัฒนาการ หรือเพื่อเอาตัวรอดจากสภาพแวดล้อม แต่ไม่ว่าทางไหนในสายตาเผ่าพันธุ์มนุษย์คือการรุกรานหรือการทำลาย ซึ่งในความเป็นจริงคือสิ่งใหม่ที่มาเพื่อเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะจระเข้ที่มีฟันฉลาม หมีที่หน้าตาไม่ปกติและเลียนเสียงคนได้(หรือเปล่า) พืชพรรณไม้จากหลายสายพันธุ์ในต้นเดียวกัน กวางที่มีเขาเป็นดอกไม้


"อูโรโบรอส (Ouroboros)" เป็นสัญลักษณ์รูปงูกินหาง แสดงถึงความไม่สิ้นสุด ความเป็นอมตะ การก่อกำเนิดจากตัวเองและจบชีวิตลงด้วยการกินตัวเอง วนเวียนและเวียนว่ายอย่างไม่รู้จบไม่รู้จบ โดยสัญลักษณ์นี้เกิดขึ้นชัดเจนบนแขนของลีน่า สาเหตุที่เกิดขึ้นอาจมาจากการกลายพันธุ์ มีบางอย่างเกิดขึ้นในเซลล์ของลีน่าและเธอเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ผ่านกล้องจุลทรรศน์ที่มีการแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติ กระนั้นการพูดถึงเพียงแค่แบ่งเซลล์ยังน้อยไปหากพูดถึงการทำงานของเซลล์ที่เป็นมากกว่าขยายจำนวน

"กระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (Autophagy)" คือการควบคุมเซลล์หรือย่อยสลายออร์แกนเนล (Organelles) ที่ได้รับความเสียหายหรือโปรตีนจับตัวเป็นก้อน (Aggregated protein) เพื่อรีไซเคิล (recycle) เอานำกลับมาใช้อีก โดยตัวหลักที่ทำหน้าที่นี้คือไลโซโซม (Lysosome) ทำหน้าที่ย่อยสลายสิ่งต่างๆภายในเซลล์ เช่น เซลล์พืชกินแมลง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเซลล์ที่หางของลูกอ๊อด อีกทั้งเป็นการป้องกันร่างกายจากแบคทีเรียหรือไวรัส โดยการทำลายตัวเองเพื่อป้องกันเซลล์อื่นๆไม่ให้รับผลกระทบตามไปด้วย เท่านี้ยังไม่หมดเพราะเซลล์ที่เกิดมามีอายุที่ต้องหมด ฉะนั้นจึงต้องกำจัดเซลล์ที่หมดอายุเพื่อไม่ให้ร่างกายมีสิ่งตกค้าง ทว่าถ้ากระบวนการนี้ทำงานผิดปกติหรือไม่อาจกำจัดเซลล์ที่หมดสภาพได้อาจนำไปสู่การเกิดเซลล์มะเร็ง


นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของ"อะพอพโทซิส (Apoptosis)" คือรูปแบบการตายอย่างหนึ่งของเซลล์แบบที่มีโปรแกรมตั้งไว้แล้ว (Programmed cell death) จะเกิดขึ้นในเซลล์ที่เสียหายเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ เช่น ติดเชื้อไวรัสจะทำการกำจัดเซลล์ที่เสียหายเพื่อป้องกันการกระจายของไวรัส ภาวะกดดันจากการอดอาหารจะลดจำนวนเซลล์ในภาวะอดอาหารเพื่อจะได้ไม่ต้องดึงอาหารกันเอง แต่หากกระบวนการนี้ผิดพลาดอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์ (Mutation) ทำให้เซลล์นั้นเป็นอมตะสามารถแบ่งตัวจนควบคุมไม่ได้ ส่งผลทำให้เพิ่มโอกาสเกิดความผิดปกติของสารพันธุกรรมและเพิ่มโอกาสที่เซลล์นั้นจะกลายเป็นมะเร็งหรือก่อโรคได้

ไม่รู้แน่ชัดถึงรูปร่างหรือลักษณะของเอเลี่ยนในหนังเรื่องนี้ บางทีอาจไม่ได้เป็นตัวเป็นตนด้วยซ้ำ หรืออาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้เซลล์บนโลกในการวิวัฒนาการ


ในช่วงสุดท้ายของหนังคือสิ่งที่หลายคนอาจดูแล้วงงกันอย่างสุดโต้งเพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ทุกอย่างดูไร้คำตอบเพราะไม่มีใครมาอธิบายให้ฟังนอกจากดูสิ่งที่ลีน่าเผชิญต่อหน้าด้วยความแปลกพิศดารจนไม่รู้ว่าควรกลัวสิ่งที่เห็นต่อหน้าดีหรือไม่ แต่สิ่งที่รับรู้ได้คือการลอกเลียนแบบของเอเลี่ยนตัวนี้ที่ทำตัวเหมือนเซลล์ เปลี่ยนจากเซลล์เดียวกลายเป็นสองและสี่และแปดไปเรื่อยๆตามทวีคูณ จนกระทั่งกลายเป็นลีน่าอีกคนเหมือนที่เคนไม่ใช่เคน แต่เคนคนปัจจุบันคืออีกตัวตนหนึ่ง ซึ่งจะบอกว่าคือโคลนนิ่งก็ไม่เชิง เทียบกันแล้วเสมือนคนหนึ่งคนคือเซล์หนึ่งเซล์ เมื่อแบ่งตัวจะเหมือนกับเซลล์ต้นฉบับทุกอย่าง(ที่ยกเว้นคือสภาพจิตใจเพราะเป็นสิ่งเดียวที่ไม่อาจลอกเลียนหรือสั่งบังคับได้ ฉะนั้นเคนคนปัจจุบันที่เกิดจากการเลียนแบบจึงไร้อารมณ์)


เคนคนเดิมหายไปไหนคือคำตอบที่น่ากลัว เพราะทุกคนที่เข้าไปในม่านรุ้งล้วนเกิดการเปลี่ยนแปลงกันหมดทุกคน บ้างก็สภาพจิตใจ บ้างเป็นสภาพร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดธรรมชาติ แต่เคนนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตเพราะความสับสนอันแสนพิศดาร ไม่รู้ว่าตัวเองคือตัวจริงหรือใครกันแน่ จึงนำไปสู่จุดจบของตัวเองด้วยระเบิดฟอสฟอรัสและทิ้งเคนที่เกิดที่หลังไว้ลำพังก่อนจะไปหาลีน่าในสภาพที่ไม่ใช่คนเก่า ทว่าสิ่งที่ยังมีอยู่คือความห่วงหา นั้นจึงทำให้รู้ว่าต้องตามหาใครแม้จะไม่เข้าใจก็ตามที

เช่นเดียวกันกับลีน่าหลังจากเข้าไปในประภาคารเพื่อหาคำตอบต้องพบความแปลกใจเพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบเดียวกับเคน มีลีน่าอีกคนและปฏิบัติเช่นเดียวกันราวกับพยายามเรียนรู้ด้วยท่าทาง เมื่อมองดูแล้วไม่แตกต่างกับการสู้ตัวเองที่สะท้อนถึงการแย่งชิงหรือเอาตัวรอดในการดำรงชีวิต


แต่อยากให้ย้อนกันสักหน่อยก่อนจะมีลีน่าอีกคน ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นการอธิบายกระบวนการของเซลล์ได้ดีอย่างหนึ่ง โดยจุดเริ่มต้นได้มีหยดเลือดของลีน่าลอยเข้าไปหาใจกลางพลังงานบางอย่างก่อนจะค่อยๆเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างเป็นลีน่าอีกคน แน่นอนว่าลีน่าตัวจริงพยายามใช้ปืนยิงทำลายแต่ไม่เป็นผล เหตุการณ์นี้เสมือนกระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (Autophagy) หรืออะพอพโทซิส (Apoptosis) ที่พบสิ่งแปลกปลอมและต้องกำจัด ทว่าไม่อาจทำได้ เนื่องจากสิ่งนั้นได้กลายพันธุ์ (Mutation) ไม่มีวันตายกลายเป็น Continuous cell line ที่สอดคล้องกับสัญลักษณ์อูโรโบรอส (Ouroboros) ที่แปลว่าไม่สิ้นสุด

ดังนั้นวิธีกำจัดหรือต่อสู้กับเอเลี่ยนที่ลอกเลียนเซลล์สิ่งมีชีวิตหรือปรับเปลี่ยนตัวนี้จึงเป็นระเบิดฟอสฟอรัส ตีความได้ว่าคือวิธีรักษาด้วยเคมีบำบัด


แต่เอเลี่ยนในหนังเรื่องนี้ไม่มาเพื่อทำลายล้างสิ่งมีชีวิตบนโลก แค่พยายามทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตและวิวัฒนาการเท่านั้น ซึ่งการจะเปลี่ยนอะไรให้ต่างจากเดิมไม่ต่างกับทำลายของเก่า ซึ่งการทำเช่นนั้นย่อมมีการต่อต้าน ในขณะเดียวกันไม่อาจบอกได้ชัดว่ามาทำอะไรกันแน่ แต่สิ่งที่นึกได้คือมาเรียนรู้และพบว่าการทำลายเป็นสิ่งที่มนุษย์มอบให้

Annihilation เป็นหนังไซไฟที่เข้มข้นสูงมากในแง่ของวิทยาศาสตร์ที่ต้องตีความแล้วตีความอีก แม้ภายนอกจะดูไม่ยากแต่การมาอธิบายแต่ละอย่างให้เข้าใจจริงๆคงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ตัวหนังดำเนินไปแบบเรื่อยๆ ซึ่งต้องยอมรับในความละเอียดที่ให้อารมณ์ได้ครบเครื่อง ไล่ระดับความสงสัยกับความหวาดกลัวที่มากขึ้นตามลำดับ การถ่ายทอดบรรยากาศชวนระลึกขวัญเพราะไม่อาจบอกได้ว่าจะต้องเจอกับสิ่งใดหรือสถานการณ์รูปแบบไหน ถือเป็นสิ่งใหม่ที่แปลกตาแปลกใจไม่เหมือนหนังไซไฟเรื่องอื่นๆที่มักพูดตรงประเด็นและตีความไม่ยากเย็นนัก ถ้าจะดูก็ไม่ผิดหวังแต่ประการใด ยิ่ง 15 นาทีสุดท้ายคืออารมณ์ที่ถูกตรึงได้อรรถรสเหมือนอัดอั้นมานาน

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)