Upgrade (2018)

Upgrade (2018)
Director: Leigh Whannell
Genres: Action | Sci-Fi | Thriller
Grade: A-

เกรย์ เทรซ (Logan Marshall-Green) ชายที่ต้องสูญเสียคนรักเพราะคนร้าย และทำให้เขากลายเป็นผู้พิการขยับแขนขาไม่ได้ ทั้งชีวิตหลังจากนี้ทำได้เพียงนั่งเก้าอี้วีลแชร์ ความหวังเดียวคือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามจับคนร้ายมาลงโทษโดยเร็ว แต่แล้วโชคช่วยทำให้สนใจเข้าร่วมการทดลองฝังไมโครชิพคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลออกมาเหนือความคาดหมายเพราะทำให้กลับมาเดินได้และใช้ชีวิตแบบปกติอีกครั้ง ทว่าไมโครชิพชื่อ Stem ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายกลับมาเหมือนเดิมเพียงอย่างเดียว แต่สามารถตามหาคนร้ายอย่างที่ไม่มีใครคาดถึงอีกด้วย


งานกำกับชิ้นที่ 2 ของผู้กำกับ Leigh Whannell ที่แสดงถึงความแตกต่างจากงานชิ้นแรกอย่าง Insidious: Chapter 3 (2015) ที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งนี่อาจเป็นสไตล์ที่ตัวเองถนัดในอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากคลุกคลีกับ James Wan ในฐานะคนเขียนบทเป็นส่วนใหญ่ พอหลุดพ้นจากหนังผีมาทำไซไฟก็รู้เลยว่าเป็นงานที่เต็มไปด้วยการปลดปล่อย ทุกอย่างดูเต็มที่กับสิ่งใหม่ๆตั้งแต่เขียนบทจนกำกับเอง

เห็นเป็นหนังไซไฟ แต่งานสยองขวัญไม่ทิ้งไปไหน ทำให้ฉากแอ็คชั่นไม่ได้เตะต่อยเอามันส์อย่างเดียว แต่โหดระดับปากฉีกหัวเบะอีกด้วย ซึ่งไม่แปลกใจในความรุนแรงเหล่านี้จะได้มาจากการร่วมทำหนังตระกูล Saw ดังนั้นการเห็นเลือดเนื้อต่อหน้าต่อตาโดยไม่หลบมุมกล้องถือเป็นความสะใจไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะฉากผ่าตัดที่ลงมีดกรีดเนื้อแสดงความสมจริงและชัดเจนอย่างมาก เหมาะกับคนชอบดูหนังสาย Gore ระดับหนึ่ง


การที่หนัง Gore ได้สมจริงและรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อเพราะฉากแอ็คชั่นล้วนๆ แต่ละฉากเนรมิตรได้สดใหม่ทั้งเรื่อง มีความแปลกตาไปกับการต่อสู้ที่ไม่ซ้ำกัน แต่ที่ได้อารมณ์จริงๆคือมุมกล้องที่เหวี่ยงหมุนกันสนุกมือ ทว่ามุมกล้องที่เป็นข้อดีชวนให้ตื่นเต้นกลายเป็นข้อเสียในตอนหลัง เนื่องจากใช้บ่อยจนรู้สึกทันทีว่าเป็นจังหวะเดิมๆ ความรู้สึกชอบในตอนแรกจะกลายเป็นความจำเจไปเสียก่อน โดยรวมในแง่แอ็คชั่นถือว่าสนุกพอตัว แม้ทุนสร้างไม่สูง แต่ความมันส์เกินราคา

ในส่วนที่ชอบมากคือการผูกเนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อนให้ดูมีมิติ อย่างพวกคนร้ายที่ดูธรรมดาแต่มีความพิเศษบางอย่างอยู่กับตัว ซึ่งไม่ต่างกับพระเอกที่ผสานตัวเองเข้ากับไมโครชิพ แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ต่างกับชีวจักรกล การให้เทคโนโลยีเข้ามาควบคู่ชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่มากแล้ว แต่การรวมเป็นหนึ่งเข้ากับร่างกายเป็นสิ่งที่เหมาะสมมากเพียงใด การให้คำถามเกี่ยวกับ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มีความปลอดภัยจริงหรือ? คำตอบที่ได้มักจะคลุมเครือ บทจะดีก็ดีเสมือนผู้สร้าง บทจะร้ายก็ร้ายเหมือนผู้ทำลาย ดังนั้นบทสรุปของหนังจะเป็นคำตอบที่ดีอย่างหนึ่ง


อารมณ์หลายอย่างชวนพาให้เข้ากับ Ghost in the Shell (1995) ตั้งแต่เห็นชีวจักรกลและการใช้เทคโนโลยี และที่มากไปกว่านั้นคือการถ่ายทอดความรู้สึกตั้งแต่ฉาก ตัวละคร และการดำเนินเรื่อง แต่ที่เหมือนกันมากคือความล้ำสมัยของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ซึ่งในหนังแสดงให้เห็นว่ามีบทบาทมากแค่ไหน แล้วจะเป็นยังไงหากปล่อยให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การสร้างโลกเสมือนจึงเป็นคำตอบที่โลกความจริงไม่อาจให้ได้ เพราะความจริงนั้นโหดร้ายและเจ็บปวด ขณะที่อีกโลกมีความหวังและความสุข ใครจะเลือกโลกที่ขาดๆเกินๆและอยู่ยากได้

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)