ร่างทรง (2564) | A
Director: บรรจง ปิสัญธนะกูล
Genres: Horror
"เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ"
ป้านิ่ม (สวนีย์ อุทุมมา) เป็นร่างทรง"ย่าบาหยัน" ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น มีการสืบทอดเฉพาะลูกหลานที่เป็นผู้หญิงในตระกูลของป้านิ่มเท่านั้น โดยคนที่ต้องรับช่วงต่อในปัจจุบันคือมิ้ง (นริลญา กุลมงคลเพชร) ลูกของป้าน้อย (ศิราณี ญาณกิตติกานต์) พี่สาวป้านิ่มนั่นเอง
ช่วงแรกเปิดประเด็นเกี่ยวกับร่างทรงด้วยข้อสงสัยถึงความเป็นมา ซึ่งวิธีเล่าเป็นการให้ป้านิ่มเป็นผู้บอกประวัติถึงการเป็นร่างทรงพร้อมกับอธิบายในสิ่งที่เกิดขึ้น โดย"ย่าบาหยัน"ไม่ต่างกับเทพประจำถิ่นที่ใครๆต่างมาขอความช่วยเหลือ แม้ความจริงแล้วคนที่สมควรเป็นร่างทรงคือป้าน้อยหรือพี่สาวป้านิ่มเสียด้วยซ้ำ
ความเป็นสารคดี (ปลอม) ใช้วิธีค้นหาข้อเท็จจริงผ่านการสัมภาษณ์พร้อมกับศึกษาพฤติกรรม ทว่าหัวข้อที่ตั้งไว้เรื่องร่างทรงที่มีป้านิ่มเป็นคนหลักที่สำคัญเป็นอันดับแรกได้ถูกขยับเปลี่ยนเป็นมิ้ง เนื่องจากมิ้งเริ่มมีพฤติกรรมที่ผิดปกติจากคนทั่วไปหรือผิดจากที่เคยเป็นมาก่อน อีกทั้งความซับซ้อนเรื่องครอบครัวทำให้มิ้งน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้สารคดีมีความน่าสนใจมากกว่าเดิม
การสืบทอดร่างทรงสมควรเป็นป้าน้อยที่รับการสืบทอด ทว่าความเชื่อที่ไม่เชื่อ"ย่าบาหยัน"และความกลัวที่ต้องแบกรับภาระจึงปฏิเสธการรับช่วงต่อ ซึ่งวิธีการไม่รับถ่ายโอนคือการย้ายตัวเองไปศาสนาอื่น ในที่นี่คือศาสนาคริสต์ แม้ฟังดูง่ายแต่แฝงความเห็นแก่ตัวจากการหลีกเลี่ยงภาระที่รับมอบ อีกทั้งการย้ายศาสนาก็ใช่เพราะศรัทธาซะเสมอไป อาชีพที่ทำยังเป็นการขายเนื้อหมาที่ไม่สนเรื่องเวรกรรม (สังเกตจากการย้อนถามถึงคนที่เลี้ยงปลาก็ยังกินปลาได้เลย)
"ย่าบาหยัน"คือผีประเภทหนึ่ง ซึ่งผีมีหลายลักษณะตามความปรารถนา ถ้ามีความโกรธแค้นจะกลายเป็นผีที่มีความอาฆาตพยาบาท แต่ถ้ามีกุศลช่วยเหลือจะเป็นผีที่ดีเพราะช่วยคุ้มครอง แน่นอนว่า"ย่าบาหยัน"คือผีที่ดีและพยายามช่วยเหลือมาตลอด ทว่ามีข้อจำกัดที่ต้องคอยใช้ร่างของผู้ถูกเลือกจากคนในตระกูลเท่านั้น
ป้าน้อย = ปฏิเสธ,เข้าศาสนาคริสต์
ป้านิ่ม = ยินยอม
มิ้ง = ไม่เชื่อ
ความน่ากลัวเริ่มต้นจากป้าน้อยที่ไม่รับ"ย่าบาหยัน"เป็นร่างทรง อีกทั้งยังมีครอบครัวกับคนตระกูล"สันเทียะ" ซึ่งความแปลกมาจากคนในตระกูลนี้ฝ่ายชายจะไม่มีใครตายดีเลยสักคน
เมื่อย้อนความตระกูล"สันเทียะ"จะพบว่ามีอดีตเกี่ยวกับการทำโรงงานไฟไหม้ ทำให้เกิดทฤษฎีที่ว่าเป็นต้นเหตุสร้างความแค้นจากการสร้างความสูญเสีย ดังนั้นตระกูลนี้จึงถูกสาป (โรงงานร้างเต็มไปด้วยการเล่นของหรือมนต์ดำนับไม่ถ้วน) ส่วนมิ้งที่เป็นผู้หญิงรับผลกระทบเพราะเป็นลูกสืบเชื้อสายจากตระกูลนี้
มิ้งเสมือนลูกผสมที่รับคำสาปและร่างทรง ทว่าการรับช่วงต่อจากป้านิ่มเพื่อเป็นร่างทรง"ย่าบาหยัน"มีปัญหาหลายทาง
อย่างแรก ป้าน้อยไม่ยินยอมให้ลูกสาวตัวเองเป็นร่างทรงจึงชักชวนพาเข้าศาสนาคริสต์ (แม้มิ้งจะไม่สนใจเรื่องศาสนาหรือภูติผีเลยก็ตาม)
อย่างที่สอง พฤติกรรมของมิ้งที่ใช้ชีวิตเละเทะ แม้กลางวันจะทำงานเหมือนคนทั่วไป แต่กลางคืนเป็นคนติดเหล้า ใช้ความรุนแรง และร่วมเซ็กซ์กับชายหลายคน ทำให้ชีวิตของมิ้งเต็มไปด้วยตำหนิไม่เหมาะให้"ย่าบาหยัน"เป็นร่างทรง
อย่างที่สาม มิ้งคือผู้สืบทอดร่างทรง ซึ่ง"ย่าบาหยัน"ต้องมาเติมเต็มช่องว่างนี้แก่มิ้ง ทว่ามิ้งไม่ศรัทธาหรือเชื่อใดๆเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ รวมถึงการเคารพบูชาที่คิดเป็นเรื่องไร้สาระ ทำให้มิ้งที่เสมือนบ้านที่มี"ย่าบาหยัน"เป็นเจ้าของบ้านถูกเปลี่ยนเป็นบ้านเช่า ซึ่งใครจะเข้าจะออกก็ได้ ดั่งประโยคเปรียบเทียบจากหมอผีสันติ (บุญส่ง นาคภู่) ที่นิยามถึงมิ้งคือรถที่มีกุญแจเสียบค้างเอาไว้ ใครจะขับไปไหนก็ได้
ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่มิ้งจะมีพฤติกรรมที่หลากหลายไม่ซ้ำรูปแบบ ตั้งแต่พฤติกรรมเด็กน้อยจนไปถึงผู้ใหญ่วัยชรา ทำให้ความคิดเกี่ยวกับผีตนใดหรือใครเป็นผู้กระทำนั้นเจาะจงไม่ได้เลย
เมื่อมิ้งปฏิเสธ"ย่าบาหยัน"ทำให้ตนเองตกอยู่สถานะผู้ให้เช่า ผีใดๆก็เข้าร่างได้หมด รวมไปถึงผีที่มีความแค้นอาฆาตและจากคำสาปที่ต้องการให้ครอบครัวตระกูล"สันเทียะ"มีอันเป็นไป แต่หากมิ้งยินยอมรับด้วยความศรัทธาอาจได้รับการคุ้มครองจาก"ย่าบาหยัน"
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อคนในพื้นที่จะให้ความสำคัญกับหมอผีหรือผีเป็นหลัก ปกติแล้วสิ่งที่เกี่ยวกับผีจะต้องควบคู่กับวัดหรือพระที่เสมือนคู่อริ แต่นี่แทบไม่ปรากฏในหนังเลย ทำให้คาใจอยู่อย่างหนึ่งเรื่องศาสนาพุทธที่ถูกกลืนหายไป คงไว้เพียงฉากงานศพ หรือจะข้อห้ามแสดงอิทธิฤทธิ์ของศาสนาพุทธที่พระปฏิบัติ ผิดกับศาสนาผีที่แสดงได้อย่างไม่จำกัดจนน่าเชื่อถือมากกว่า
"ย่าบาหยัน"คือผีเช่นเดียวกัน แต่มีความแตกต่างจากผีทั่วไปเรื่องบารมีจากการช่วยเหลือผู้คน ทำให้ต่างคนกราบไหว้บูชาจนมีความกล้าแกร่งระดับหนึ่ง กระนั้นขึ้นกับผู้เป็นเจ้าของร่างทรงด้วยว่ามีความเชื่อความศรัทธาหรือไม่ ต่อให้มีอาคมคาถาขลังมากแค่ไหนก็ไร้พลังหากขาดความมั่นใจ
ถ้าไม่มีศรัทธา แม้มีบทสวดที่ศักดิ์สิทธิ์แค่ไหนก็ไร้ประโยชน์ คงเพียงตัวหนังสือที่มีไว้ท่องแค่นั้น
ป้านิ่มคือผู้มีศรัทธาและเชื่อมั่นต่อ"ย่าบาหยัน"เพราะตัวเองคือร่างทรงที่ได้รับการคัดเลือก แต่ลึกๆแล้วต้องมีความคาใจเกี่ยวกับตัวเองว่าทำไมต้องเป็นฉันกันแน่ ซึ่งเรื่องราวได้สร้างปมที่ไม่ลงลึกถึงประเด็นนี้ แต่บอกตรงๆว่าป้าน้อยไม่อยากเป็นร่างทรงจึงเปลี่ยนศาสนา แล้วศาสนาที่เปลี่ยนไปมีผลอะไรกับการเปลี่ยนร่างทรงจากอีกคนเป็นอีกคน
ประเด็นเปลี่ยนร่างทรงเพราะศาสนาเป็นข้อสงสัยที่ไม่แน่ชัด ซึ่งอาจเป็นเหตุผลง่ายๆ จนกระทั่งมิ้งที่ถูกเข้าสิงแสดงความลับที่ซ่อนออกมาผ่านประโยคสะกิดที่เกิดขึ้นตอนป้านิ่มและป้าน้อยอยู่ด้วยกัน ซึ่งกระทำด้วยการแอบใส่ยันต์ แลกเปลี่ยนเสื้อผ้า ตลอดจนทุกวิธีทางให้ป้านิ่มมีความเหมือนป้าน้อย ขณะที่ป้าน้อยพยายามทิ้งความเป็นตัวเองไปอยู่ศาสนาคริสต์ ดังนั้นป้านิ่มที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยได้กลายเป็นตัวตายตัวแทนจน"ย่าบาหยัน"มองป้านิ่มคือผู้รับช่วงต่อในที่สุด
เมื่อความจริงเปิดเผยก็ไม่อาจแก้ไขเวลาที่ผ่านมานานหลายปีได้ จากประเด็นย้ายร่างทรงไม่ได้สานต่อความสัมพันธ์ที่ในใจคิดอะไรอยู่ อาจมองเป็นแค่เรื่องนานมาแล้ว ที่แล้วมาให้แล้วกันไป แต่เพราะเช่นนั้นทำให้ป้านิ่มเริ่มมีสั่นคลอนความศรัทธาทีละเล็กละน้อย ถ้าพูดถึงสถานะของป้านิ่มคือกำลังถูกทดสอบผ่านความจริงที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ป้านิ่มคือคนหลักสำคัญเพราะมี"ย่าบาหยัน" แต่จะทรงพลานุภาพต่อเมื่อมีความศรัทธาอันแรงกล้าเท่านั้น ตลอดเวลาที่เห็นป้านิ่มจะเต็มไปด้วยการทดสอบ ตั้งแต่มิ้งเริ่มมีอาการแปลกๆคล้ายจะรับสืบทอดร่างทรงก็หวั่นใจต่ออนาคตมิ้ง ต่อมาเป็นความจริงเรื่องป้าน้อยทำให้ตัวเองเป็นร่างทรงด้วยความตั้งใจ แล้วที่สะเทือนใจมากที่สุดคือรูปปั้น"ย่าบาหยัน"ถูกทำลาย (ตัดคอ) จนหมดกำลังใจ ความเชื่อมั่นต่อ"ย่าบาหยัน"เริ่มถดถอยลงเพราะมีสถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ สุดท้ายไม่อาจสัมผัสหรือรับรู้การมีอยู่ของ"ย่าบาหยัน"อีกต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจคือการนิยามผีหรือปีศาจ เนื่องจากมีความครอบคลุมเกินกว่าคนตาย แต่รวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกสรรพสัตว์ เช่น หมา แมว งู หรือแม้ต้นไม้ใบหญ้า จากทั้งหมดนี้สามารถรวมพลังเสริมแรงอาฆาตให้มากขึ้น ฉะนั้นไม่อาจเจาะจงได้ถึงความแค้นที่เป็นของใคร
สำหรับช่วงสุดท้ายกับความพยายามกำจัดเหล่าผีร้ายค่อนข้างมีความซับซ้อน เนื่องจากต้องหลอกล่อให้เข้าใจผิดถึงการมีตัวตนของมิ้ง โดยหมอสันติพยายามยั่วยุเหล่าผีที่มีความอาฆาตแค้นทั้งหมดมาลงที่ป้าน้อย ซึ่งใช้วิธีคล้ายป้านิ่มรับ"ย่าบาหยัน"มาเป็นร่างทรงแทนตัวเอง หรือเทียบกับการติดสติกเกอร์รถคันนี้สีแดง แต่แท้จริงรถคันนี้สีดำ ถ้าสำเร็จจะจับผีได้ทั้งหมด
การที่ป้าน้อยยอมเสี่ยงรับผีเข้าร่างตัวเองมาจากความสำนึกผิด เนื่องจากทำให้ป้านิ่มรับเคราะห์แทนตน
ทว่าผีที่จับไม่ได้มีตนเดียว โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ 1.ผีที่สิงมิ้ง 2.ผีที่วนเวียนอยู่รอบๆ
มิ้งโดนผีสิงและถูกขังในห้องที่มียันต์ติดหน้าประตู ขณะที่ภายนอกเต็มไปด้วยผีที่มีความแค้นไร้การสิงสู่ แต่ถูกยั่วยุให้เข้าสิงป้าน้อยเพราะนึกว่าเป็นมิ้ง ถ้าพิธีสำเร็จจะสามารถจับผีที่คอยเสริมพลังได้ทั้งหมด ทำให้ผีที่สิงมิ้งอ่อนแอลงเพราะขาดแรงอาฆาตเติมพลัง
ทว่ามนุษย์นั้นมีจิตใจที่หวั่นไหว เมื่อหนึ่งในคนที่ทำหน้าที่เฝ้าประตูห้องมิ้งที่ติดยันต์ผนึกนั้นคือ แป้ง (อรุณี วัฒฐานะ) ซึ่งเคยถูกมิ้งขโมยลูกจนใจเกือบสลาย เมื่อจู่ๆได้ยินเสียงลูกตัวเองในห้องมิ้งทั้งที่ก่อนหน้านี้นอนในเปลข้างตัวแท้ๆ พอหันกลับไปดูก็พบว่าลูกได้หายไป แต่คนอื่นเห็นว่านอนอยู่ในเปล
คนอื่นเห็น แต่แป้งมองไม่เห็น คำอธิบายที่ง่ายคือผีบังตา ซึ่งเชื่อว่าฉากนี้ทำให้คนดูที่ไม่เข้าใจเกิดอาการหงุดหงิด ทำไมถึงเชื่อว่าลูกตัวเองอยูาในห้องมิ้งทั้งที่ไม่น่าเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงสร้างปมที่ครั้งหนึ่งเคยโดนพราก ทำให้เกิดแผลในใจที่กลัวการเสียลูก เมื่อลูกหายจึงต้องเป็นมิ้งที่เอาไปเพราะโทษใครไม่ได้นอกจากมิ้งที่มีสถานะครึ่งคนครึ่งผี
ส่วนผีบังตาได้อย่างไรต้องเข้าใจอยู่ก่อนว่าไม่ได้มีผีตนเดียว มิหนำซ้ำบอกไม่ได้ในสิ่งที่ผีทำตอนนี้คืออะไรและทำอะไรต่อไป ถ้าให้เข้าใจง่ายๆคือผีมีการวางแผนซ้อนแผน ถ้าจิตใจเข้มแข็งและเชื่อมั่นในสิ่งที่หมอสันติสั่งจะสามารถยับยั้งผีทั้งหมดรวมถึงผีที่สิงมิ้ง ทว่าความหวาดกลัวนี้เองได้ทำลายพิธีจนนำไปสู่หายนะอย่างมิอาจห้วนกลับ
อีกความขัดใจของใครหลายคนคือตากล้องที่พยายามเก็บถ่ายจนหนังมีสภาพไม่ต่างกับหนัง Found Footage ที่เอาแต่ถ่ายอย่างเดียวทั้งเรื่อง ซึ่งช่วงแรกยังยึดความเป็นสารคดีมีถามมีตอบ แต่เมื่อประเด็นเปลี่ยนหัวข้อจึงเลือกถ่ายอย่างเดียวเพื่อเก็บพฤติกรรม โดยตากล้องจะไม่ยุ่งเกี่ยวให้มากที่สุดเพื่อความจริง
การไม่เข้าไปช่วยเหลือใดๆของตากล้องทำให้จุดหนึ่งก็ลืมว่าเป็นตัวละครหนึ่งในเรื่อง จนกระทั่งเข้าองค์สามที่ต้องรวมตัวกันถ่ายหลายมุมถึงเห็นหน้าตาและการแสดงแบบตัวละครอื่นบ้าง ดังนั้นจึงเกิดข้อสงสัยในสถานการณ์ต่างๆจะทำหน้าตาและคิดอย่างไรกับฉากนั้นๆ
นอกจากความจริงที่ตากล้องเก็บถ่ายในสถานการณ์นั้นๆแล้วก็เป็นความอยากรู้อยากเห็นจนเกิดความโลภ ความพยายามเก็บถ่ายให้มากที่สุด ยุ่งเรื่องตรงหน้าให้น้อยที่สุด
"ร่างทรง"เป็นหนังที่เต็มไปด้วยความคิดที่เปิดกว้าง แทบคิดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย ความน่าจะเป็นมีโอกาสพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือจากการเปิดให้คนดูได้คิดต่างๆนานา อีกทั้งมีสัญลักษณ์เก็บซ่อนไว้มากมายจนสิ่งที่เห็นเกินกว่าพล็อตไปมาก
ประเด็นหลักประเด็นรองต้องจับใจความกันดีๆ ต้องหูไวตาไวตามหนังให้ทัน หากหยิบมาถกเถียงกันอาจได้ความเห็นต่างทั้งวันจนไม่รู้ว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม คล้ายตอนถามมิ้งที่ถูกผีสิงแล้วตอบว่าตัวเองเป็น"ย่าบาหยัน" แต่พอกลับมาถามอีกทีให้เดาว่าเป็นใคร จะใช่ไม่ใช่หรือใช่ใช่หรือไม่ไม่ ทั้งหมดล้วนมีโอกาสเป็นได้ทั้งนั้น
นอกจากเนื้อเรื่องที่ซ่อนงำไว้มากมายก็คือนักแสดงที่รับบทกันอย่างเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะ สวนีย์ อุทุมมา ในบทป้านิ่มที่กลายเป็นจุดเด่นของหนังจากความบ้านๆแต่เข้าถึงความกันเอง ส่วนที่ปรบมือให้คือ นริลญา กุลมงคลเพชร ในบทมิ้งที่ดึงทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นมาได้หมด แค่ได้เห็นการแสดงของทั้งสองทำให้หนังไปได้ไกลพอตัว