Scream 4 (2011) หวีด...แหกกฏ

Scream 4 (2011) | หวีด...แหกกฏ
Director: Wes Craven
Genres: Horror | Mystery

"Don't Fuck With The Original"

เอาจริงๆเลยกับ Scream ภาคนี้ที่เหมือนจะไม่มีประเด็นอะไรมาเล่นแต่ยังรู้จักก้าวไปกับสมัยได้อย่างมีชั้นเชิงจนตัวเองแอบปลื้มๆกับสไตล์เนื้อเรื่องภาคนี้อย่างมากจนชอบพอๆกับภาคแรกที่ไม่ต่างกับการบุกเบิกธรรมเนียมหนังสยองขวัญด้วยการเสนอภิปรายกฎหนังสยองให้ฟังพร้อมหาข้อปฏิบัติเพื่อแสดงผลให้ดูว่าเพราะอะไรยังไงต่อไป ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่ไม่ได้เป็นมากกว่าตัวละครที่ถูกเชือดเพื่อให้ตายแต่มันต้องแสดงถึงกลเม็ดวิธีบางอย่างออกมาตามกฎ หรือจะสถานที่ที่ไม่เชิงว่าปิดตายแค่ขอมีสติพร้อมจะวิ่งออกนอกบ้านตามประตูหน้าต่างแทนที่จะวิ่งขึ้นบันได แม้กระทั่งแรงจูงใจของบรรดาเหล่าฆาตกรภายใต้เบื้องหลังแต่ละคนว่าทำไปเพื่อเจตนารมย์สิ่งใดอย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่เพื่อสนองความอยากอย่างงไร้เหตุผล สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าทุกสื่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นใน Scream ต้องมีวัตถุประสงค์ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ผลลัพธ์จะลอยลงมาอย่างไม่มีเหตุให้อธิบายแบบหนังทั่วๆไปที่ตายกันง่ายบ้างโชว์ความงี่เง่าบ้าง ซึ่งเอาเข้าจริงภายใต้สถานการณ์เหล่านั้นเราเองก็เป็นแบบนั้นได้เช่นกัน อย่ามานั่งบ่นเวลากำลังรับชมหนังให้ใครฟังว่ามันก็อีหรอบเดิม สูตรเดิม จะเชือดจะตายยังไงเดาได้หมด ขาดความสดใหม่ปราศจากความคิดสร้าสรรค์ มาลองโดนไล่ฆ่าดูหน่อยไหมจะได้รู้ซึ้งเหตุผลที่ทำไมตัวละครไม่มีอะไรให้เซอร์ไพรส์ เพราะเรื่องเซอร์ไพร์สคือเรากำลังโดนเชือด


ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าที่ Scream 4 เหมือนจะประยุกต์กับไตรภาคก่อนหน้านี้อย่างเนียนๆราวกับยืมมุขเก่ามาใช้แต่สไตล์วิธีกาารนำเสนอแตกต่างกันออกไป ยิ่งกับใครที่ลองสังเกตในจุดเล็กๆแต่ละจุดจะพบว่าภาคนี้คือภาคผนวกที่หยิบทุกอย่างมาเล่าให้หมด ทั้งกฎดั้งเดิม ตัวละครใหม่ที่มีความคล้ายคลึงตัวละครเก่า สถานที่อย่างเมืองวู๊ดสโบโร แรงจูงใจของตัวฆาตกร แม้กระทั่งตัวโกสต์เฟซที่ยึดมั่นในความเป็นต้นฉบับใส่หน้ากากผีค้างยาวถือมีดสั้นพร้อมกับผ้าคลุมตัวสีดำที่สามารถเป็นใครก็ได้ในเนื้อเรื่อง ชอบมากนะที่ใครก็สามารถเป็นโกสต์เฟซไล่ฆ่าคนได้แม้ความจริงจะเป็นอีกคนก็ตามกับการเฉลยในตอนท้ายเรื่อง คือเนื้อเรื่องมีน้ำหนักจะเสนอแรงจูงใจของตัวละครค่อนข้างชัดเจนว่าต่างมีปัญหา(เว้นกับบางตัวละครที่เห็นชัดว่าไม่มีทางเป็นผู้ร้ายได้) และด้วยหารนำมาหยิบใช้อย่างเนียนๆนี่แหละที่ทำให้ตัวเองนึกขึ้นทันทีเลยว่ากำลังกัดจิกหนังประเภทไหนอยู่ ซึ่งหนังดังกล่าวเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับฮอลลีวู้ดเสมอในการผลักหนังที่ไม่ค่อยดังแต่ดังได้หรือเก่าแล้วกลัวจะลืมจึงมาสร้างใหม่ ถ้าคิดดีๆจะพบว่าหนังเหล่านี้คือ"หนังรีเมค" กรณีแตกต่างจากต้นฉบับแต่คงเค้าเดิมๆคือ"หนังรีบู๊ต" และกับ Scream 4 คือข้อกังขาที่อยู่ระหว่างตรงกลางนั้นว่าควรจะเป็นด้านใดดีในเมื่อหลายสิ่งหลายอย่างส่อแววถึงต้นฉบับชัดเจนพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องกลิ่นอาย การดำเนินเรื่อง แถมตัวละครใหม่ๆที่มีจุดเด่นจนเราคุ้นเคยเมื่อไปเปรียบเทียบกับตัวละครเก่าๆ จะว่ากันตามตรงคือมันเป็นอะไรที่พิเศษในแง่การเล่าเรื่องที่ไม่รู้จะไปต่อยังไงแล้วสามารถทำให้ไปต่อได้อย่างอิสระ ไม่มีการอิงภาคเก่าๆไม่มีอะไรที่สอดคล้องสอดแทรก เนื้อเรื่องสามารถเป็นเอกเทศตัวเองได้โดยไม่ต้องห่วงว่าจะต้องไปดูภาคก่อนหน้านี้(แต่จะอรรถรสอย่างมากถ้าดูไตรภาคกันมาก่อน) ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นต้องปรบมืออีกครั้งให้กับผู้เขียนบทที่เป็นถึงผู้สร้างตั้งแต่ภาคแรกอย่าง Kevin Williamson ทว่าในภาคนี้ทำเพียงร่างบทเอาไว้เท่านั้นเนื่องจากติดพันสัญญาในการเขียนบทเรื่องอื่นๆ ผู้ที่เติมเต็มคือ Ehren Kruger เจ้าเดิมที่มาช่วยให้บทหนังสมบูรณ์มาแล้วในภาคสาม


อย่างแรกที่ตัวเองรู้สึกได้เลยคือความสดใหม่ที่ตัวหนังกำลังเล่น อาจจะตามสูตรบ้างแหกกฎบ้างแล้วแต่สไตล์การเซอร์ไพร์สที่มีมาเป็นระยะๆ เช่น ตอนเปิดเรื่องที่พาหนังซ้อนหนังและซ้อนหนังอีกทีแถมยังพาชวนเปิดประเด็นสูตรหนังสยองขวัญเป็นการปูพื้นฐานผู้ชมว่าอะไรคือกฎที่ตายตัวในแนวประเภทนี้ ยิ่งเวลาดูหนังที่ตัวเองรู้ว่าจะเป็นยังไงเพราะเดาได้จะรู้สึกแบบไหนหรือคนข้างๆจะเกิดอารมณ์เช่นไรเวลามีคนพรรณาเกี่ยวกับฉากต่อไปในทำนองบ่นๆ แม้กระทั่งกฎของหนังภาคต่อที่ต้องสาดเลือดกว่าเด็ดกว่ากระทั่งเซ็กซ์ที่อาจเพิ่มขึ้น เท่านี้ยังไม่หมดแต่มันต้องรวมถึงเนื้อเรื่องที่ยิ่งไร้เหตุผลขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นแนวบันเทิงอารมณ์ที่ผู้ชมไม่ได้มองกันที่สาระกันอีกต่อไปเพียงแค่ขอความสะใจมาก่อน อาทิ Saw ที่แรกดั้งเดิมคือหนังสยองขวัญที่อิงหลักการให้ความสำคัญของชีวิต จนยิ่งมีภาคต่อเรื่อยๆก็เริ่มหาสาระน้อยลงไปขณะที่การทรมานบันเทิงได้เพิ่มขึ้น หรือ Hotel ที่เป็นแนวทรมานบันเทิงตั้งแต่แรกเริ่มแต่ได้ความนิยมทั้งที่ควรเป็นหนังคัลท์เฉพาะกลุ่ม ก็ดูเหมือนว่าภาคผนวกนี้จะเสิร์ฟจานหลักเยอะเหมือนกัน ทว่าที่เป้าหมายจริงๆไม่ใช่การมิคทุกอย่างมาเป็นเนื้อเดียวกันเท่านั้นเพราะนี่เป็นการเรียกตัวเองกลับมาแบบคืนสู่เหย้าที่ได้แนวคิดมาจาก Bob Weinstein ผู้บริหาร Dimension Films ที่เกิดอยากให้ Scream มีไตรภาคอีกชุดหนึ่ง

เพราะเป็นการคืนสู่เหย้าดังนั้นเนื้อเรื่องจึงกล่าวหลังจากเหตุการณ์ในภาคสามหลังจากนั้น 10 ปี เมื่อซิดนี่ย์ เพรสค็อตต์ (Neve Campbell) กลับมายังเมืองวู๊ดสโบโรอีกครั้งเพื่อโปรโมตหนังสือที่เธอเขียนขึ้นเอง แต่เมื่อซีดนี่ย์มาที่นี้ไม่ทันไรก็เกิดเหตุสยองขวัญวัยรุ่นถูกฆ่าและยังมีสัญญาบ่งบอกว่าจะฆ่าซิดนี่ย์เป็นเหยื่อรายต่อไป ทำให้เป็นหน้าที่ของสองนักสืบอย่างนายตำรวจดิวอี้ (David Arquette) และเกล เวเธอร์ส (Courteney Cox) ต้องร่วมกันจับมือตามสืบหาฆาตกรตัวจริงภายใต้หน้าโกสต์เฟซกันอีกครั้ง เนื้อเรื่องก็มีอยู่เท่านี้ตามพล็อตเรื่องที่มีฆาตกรท่าทางโรคจิตใส่หน้ากากตามไล่ฆ่าคน แต่โดยลึกๆแล้วคงไม่ต้องอธิบายมากนักว่ารายละเอียดปลีกย่อยจริงๆคืออะไรกันแน่ เว้นแต่ว่าตัวผู้ชมดันไม่ใช่คนที่พิสมัยกับแนวสยองขวัญจนไม่เข้าใจว่าคุณสมบัติที่หาได้เท่านั้นจาก Scream คืออะไร ด้วยพล็อตเรื่องที่ไม่ค่อยจะสดใหม่แต่แนวคิดยังพัฒนาเรื่อยๆตามธรรมนบธรรมเนียบกฎหนังสยองขวัญ ทำให้กระจ่างได้อย่างหนึ่งคือสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เมื่อก่อนเป็นเพียงหนังเชือดไล่ฆ่าคน อย่างเช่น The Friday 13th,Halloween,The Texas Chain Saw Massacre และอีกหลายเรื่องที่ขยันทำภาคต่อมาให้เก็บดูที่บ้านกันอย่างต่อเนื่องชนิดยิ่งสร้างยิ่งแย่แต่มีแฟนคลับตามหนึบไม่เปลี่ยน ก็น่าแปลกเหมือนกันที่ว่าหนังดูง่ายแถมเดาได้เป็นที่น่าสนใจกับวัยรุ่นกันเสียเหลือเกินทั้งที่หนังที่ดีกว่านี้ที่ควรเอาสาระเข้าว่ากลับไม่ฮิตเท่าที่ควร บางก็ว่ามันไม่สมจริง บางก็ว่าจะยุ่งยากทำไม บางก็ถึงกับคิดง่ายๆทันทีในทำนองเหตุผลวัยรุ่นๆคือเซ็กซ์ไงล่ะ แน่นอนอย่างหนึ่งคือหนังสยองขวัญที่มีตัวละครเป็นกลุ่มวัยรุ่นมักจะมีอะไรที่ไม่เข้าท่าประจำ โดยเฉพาะความอยากในเรื่องใคร่ๆที่ต้องมีฉากเปลือยบ้างล่ะเห็นนมกันเป็นว่าเล่นบ้างล่ะ แล้วรู้ไหมว่าถ้าจังหวะหนังแม่นจริงๆมันจะกลายเป็นความบันเทิงที่ต่อให้มีฉากหวาดเสี่ยวแค่ไหนก็กลายเป็นเรื่องสะใจมากกว่าหวาดกลัวเสียอีก


กลับมาเข้าที่ตัวเนื้อเรื่องกับซิดนี่ย์ที่เหมือนจะไร้อุปสรรคขัดขวางไปหมดแล้วเพราะตัวเองมีงานทำและไร้มลทินจากคนที่อยากจะฆ่าเธอ แต่สุดท้ายก็มีจนได้และประเด็นใหม่ที่ไม่รู้ทำให้ชักสงสัยสิว่าอะไรคือแรงจูงใจกันแน่ ทีเด็ดของ Scream คือแรงจูงใจที่มีเหตุผลรองรับเชื่อถือได้ ไม่เหมือนหนังสยองขวัญอื่นๆที่ฆ่าเพียงเพื่อการสนองตัวเองอย่างไร้ประโยชน์แล้วจากไป ดูอย่างภาคแรกที่เอาแรงจูงใจมาจากการเสพติดหนังสยองขวัญแนวเชือดมาทดลองกับชีวิตว่าจะส่งผลอิทธิพลแตกต่างกันตรงไหนอย่างไร มาภาคสองก็ทำนองเดียวกันแต่เพิ่มแรงจูงใจที่ชัดเจนมากขึ้นจนเชื่อถือได้เป็นการแก้แค้น พอภาคสามเป็นกรณีเดียวกับสองภาคก่อนที่มุ่งเน้นไปที่การแก้แค้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนพร้อมกับสรุปไตรภาคด้วยเนื้อหาที่รัดกุมยิ่งขึ้น ผลลัพธ์จากการประเมินฆาตกรโกสต์เฟซคือมีแผนอยู่ในหัวและยังฉลาดที่สามารถฆ่าเหยื่อด้วยการหลอกล่อโดยไม่ทำให้ตัวเองถูกเผยไต๋ได้โดยไม่มีใครทันระวังตัวหรือที่เราเรียกว่าการหักมุมนั่นแหละ จัดว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่หาฆาตกรตัวจริงได้ยากในหนังเรื่องนี้ เนื่องจากการเล่าเรื่องมักจะไม่ทำให้เราเชื่อสนิทได้เลยว่าคนนี้ไม่มีทางแน่นอนเพราะสถานการณ์มักจะพาให้เราไม่ไว้วางใจเสมอ เช่น ตัวละครนี้หายไปไหนมาทำไมพึ่งโผล่ ทำไมตัวละครนี้มีพฤติกรรมแปลกๆในบางครั้ง และที่ร้ายแรงสุดคือชุดโกสต์เฟซที่หาได้ง่ายจนเป็นใครก็ซื้อเอาไว้ใส่เล่นกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะต้นเหตุมาจากเหตุการณ์ในภาคแรกที่ดังจนสร้างเป็นหนังเรื่อง Stab ในภาคสองและวงการฮอลลีวู้ดนำสร้างภาคต่อ Stab 3 อีกในภาคสาม ในขณะเดียวกันกับ Scream 4 ก็ไม่เลิกที่ยังขอใช้หนังซ้อนหนังเช่น Stab 6 และ Stab 7 มาใช้ประโยชน์ในการมาเปิดประเด็นกฎหนังภาคต่อตั้งแต่เปิดเรื่องอย่างไม่รีรอในการเกริ่นเนื้อเรื่องว่าจะลูกไม้ไหนก่อน


การดำเนินเรื่องยังฉับไวไม่เปลี่ยนที่ยังกระตุ้นผู้ชมให้รู้สึกอกสั่นขวัญผวาได้อย่างเมามันส์พร้อมๆกับการเซอร์ไพร์สมุมมองการฆ่าที่แหกกฎยิ่งขึ้น ที่สำคัญการหักมุมในภาคนี้นับว่าเด็ดใช้ได้กันทีเดียวเชียวเลยล่ะ เนื่องจากภาคนี้ได้กลับมาเข้าสาระเฉกเช่นภาคแรกที่เข้ากับกลุ่มวัยรุ่นอันเป็นช่วงวัยที่ตัดสินใจอะไรไม่ค่อยรอบคอบ ทั้งยังเป็นช่วงที่ไวต่อความรู้สึกหลายอย่าง เช่น ความรัก อิจฉา และความสนใจ ในที่นี้ความสนใจคงไม่ต้องบอกมากเพราะสิ่งนี้คือหนังและหนังดังกล่าวคือ Stab โดยในเนื้อเรื่องบอกด้วยว่าจะมีการจัดเลี้ยงฉาย Stab แบบมาราธอนตลอดทุกภาคให้กลุ่มวัยรุ่นได้เสพดูกันอย่างสบายใจเฉิ่ม ก็น่าแปลกที่ทั้งรู้ว่าฆาตกรแต่งกายเป็นโกสต์เฟซแบบเดียวกับในหนังยังอุตส่าห์จัดเลี้ยงปราตี้อย่างสบายใจเหมือนความน่ากลัวเป็นเพียงเรื่องตลกร้ายๆเรื่องหนึ่งเท่านั้น พูดก็พูดเลยกับวัยรุ่นทั้งหลายที่ยังคงเป็นวัยชอบลองชอบเสี่ยงไม่ต่างกับชีวิตจริงที่มักไม่แคร์เรื่องภายนอกเท่าไหร่ ยิ่งภาคนี้มีการเพิ่มมิติที่ทันสมัยอย่างเรื่องการโซเซี่ยลเน็ตเวิร์คเข้ามาด้วย ทั้งกล้องทั้งวีดีโอจนกลายเป็นเรื่องที่หูไวตาไวในทันที ตัวอย่างเกลนี่ยังน่าสนใจที่กลายเป็นนักข่าวตกยุคไปบ้างเพราะหมดอาชีตนักข่าวไปแล้วซ้ำยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเขียนหนังสือที่นึกไม่ออกว่าจะเอาอะไรมาเขียนเหมือนสมัย 10 ปีก่อนที่มีฆาตกรสวมชุดโกสต์เฟซไล่ฆ่าทั้งแฟน เพื่อน และพี่น้องห่างๆ(ก็แปลกดีที่เป็นคนสนิทซีดนี่ย์ทั้งนั้นเลย) นี่อาจเป็นประเด็นที่เกลอยากปลุกตำนานสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองวู๊ดสโบโรก็เป็นได้


แต่อย่างที่บอกคือจะให้ความสำคัญกับตัวละครใหม่มากขึ้นกว่าของเก่าที่มีเพียงซิดนี่ย์,ดิวอี้ และเกล ในที่นี้จะมีจิลล์ (Emma Roberts) เสมือนซิดนี่ย์,เคอร์บี้ (Hayden Panettiere) เสมือนทาทั่ม,ร็อบบี้ (Erik Knudsen) เสมือนแรนดี้ และอีกหลายตัวละครมาสร้างสีสันมากขึ้นจากความคุ้นเคย ซึ่งในการสร้างสีสันไม่ใช่แค่ความสะใจที่ได้จากไล่ฆ่าเหยื่อแบบตั้งสู้ฟัดแต่ยังรวมถึงมุขขำขันหรือมุมมองน่ารักๆที่ส่งผ่านถึงผู้ชมอย่างเช่นดิวอี้กับเกลที่เสมือนเสาหลักมาตั้งแต่ภาคแรกในการแปรอารมณ์ผู้ชมในทำนองอย่าให้กลายเป็นหนังสยองขวัญจนอิ่มตัว แต่มันต้องมีจุดที่รับกันได้อย่างสนุกสนานไม่ต่างกับชีวิตคนที่ไม่ใช่จะซีเรียสตลอดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าการดู Scream จะไม่เห็นรู้สึกถึงความสยองที่น่าแหวะหรือโหดเหี้ยมมากนักเช่นหนังเชือดเรื่องอื่นที่ต่างล้วนฆ่ากันอย่างเลือดเย็น ซึ่งการมีจุดผ่อนคลายแบบนี้ทำให้รู้สึกดีกับหนังที่ไม่มุ่งมั่นจนเกินไปและรู้สึกเอาใจใส่กับตัวละครด้วยทักษะต่างๆที่บ่งบอกความฉลาดของตัวละครนั้นๆ ก็นี่แหละกฎอีกอย่างที่พบเสมอคือตัวละครมักงี่เง่าบ่อยครั้งจนน่าบ่น แต่กับ Scream ทำให้ทุกคนล้วนฉลาด ไม่ใช่ใครจะโดนฆ่ากันง่ายๆ นี้แหละการวางแผนจึงเป็นสิ่งสำคัญของการฆ่าที่ต้องทำสัมฤทธิ์ผลถึงที่สุด ทว่าอย่างหนึ่งที่ตัวเองยังคงย้ำเสมอคือโกสต์เฟซยังคงเป็นโกสต์เฟซ สไตล์การฆ่ายังเหมือนเดิมที่ต้องโทรหาเหยื่อเพื่อให้เหยื่อหวาดกลัวหวาดระแวงแล้วเซอร์ไพร์สด้วยการโผล่มาสักที แต่ปฏิเสธไม่ได้ถ้าการไล่กวดยังมันส์เท่ากับยังสะใจอยู่ดีนั่นแหละ

Wes Craven จัดเป็นผู้กำกับคู่บุญมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นการเรียกอารมณ์และความคุ้นเคยให้กลับมาได้นั้นนับเป็นที่น่าพึงพอใจ ไม่ว่าจะบรรยากาศ มุมมองตัวละคร หรือการเรียกอารมณ์เก่าๆด้วยการกัดจิกแบบจุดต่อจุด การเดินเองก็แสนฉับไวไม่พร่ำเพื่อบอกนู้นกล่าวนี้ให้เสียเวลา แค่ให้รู้ให้เข้าใจคือตัวละครเก่าเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นขณะที่เหล่าตัวละครใหม่ๆคือตัวแทนที่คล้ายภาคแรก หรืออีกนัยยะหนึ่งคือกำลังล่อเลียนหนังรีเมคด้วยการเปรียบเทียบเอาว่าระหว่างของใหม่ที่สดกว่ากับของเก่าที่คลาสสิกกว่าใครจะเจ๋งกว่ากัน ยอมรับเลยว่าสนุกและมันส์สะใจ ยิ่งระดับคอหนังสยองขวัญผ่านประสบการณ์มาทั้งยุคเก่ากับยุคใหม่น่าจะเข้าใจเป็นอย่างดีกับสิ่งที่ Scream กำลังทำอะไร แน่นอนสำหรับภาคสี่ที่กัดไปเรื่อยตั้งแต่ต้นเรื่องยันหนังจบมีอะไรบ้างที่เราไม่ชอบ มีอะไรบ้างที่ไม่สมจริง อะไรอีกล่ะถ้านี่คือฆาตกรแสนปุถุชนขนาดนี้ มันไม่ดูเว่อร์เลยสักอย่างตั้งแต่เห็นฆาตกรวิ่งไล่กวดพร้อมกับสะดุดล้มโดนเหยื่อตอบโต้กลับแบบเจ็บเนื้อเจ็บตัว มันคือความสะใจที่มีต่อคนถูกล่ากับคนไล่ล่าที่ไม่จำเจอีกต่อไป

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)