The Machine Girl (2008) แมชชีนเกิร์ล พันธุ์ดุอีสาวแขนปืนกล

The Machine Girl (2008)
แมชชีนเกิร์ล พันธุ์ดุอีสาวแขนปืนกล
Noboru Iguchi
Genres: Action | Comedy | Horror | Thriller
Grade: C+

อามิ (Minase Yashiro) พี่สาวที่อาศัยอยู่กับยูว (Ryosuke Kawamura) น้องชายตัวเองอย่างพอมีพอกิน แม้ภายนอกจะถูกสังคมรังเกียจจากผู้เป็นพ่อที่สร้างข่าวเป็นฆาตกรก็จริงแต่พวกเขาทั้งสองยังคงตั้งหน้าตั้งตากับวัยเรียนต่อไป แต่แล้วยูวเกิดถูกกลั่นแกล้งจากครอบครัวคิมูระจนตัวเองเสียชีวิต เมื่ออามิรู้เข้าเกี่ยวกับสาเหตุการตายจึงมุ่งล้างแค้นให้กับยูว แต่เกิดพลาดท่าจนต้องเสียแขนขาดไปข้างหนึ่ง และหบหนีออกมาได้สำเร็จแต่เกิดหมดแรงไปเจอกับมิกิ (Asami) กับสุงุรุ (Yuya Ishikawa) เมื่อรู้เข้าอามิจึงบอกรายละเอียดว่าคิมูระชั่วช้ามากแค่ไหนซึ่งทำให้รู้ความจริงเกี่ยวกับลูกชายของมิกิ จนท้ายที่สุดจึงยอมช่วยรักษาชีวิตอามิเอาไว้ทั้งยังประดิษฐ์อาวุธพิเศษขึ้นเพื่อใช้จัดการเหล่าคิมูระให้สิ้นซากกับปืนกลรุ่นพิเศษที่สร้างขึ้นสวมกับแขนของอามิโดยตรงที่ขาดไปจนเป็นแมชชีนเกิร์ล สุดท้ายศึกล้างแค้นมากเลือดครั้งนี้จะเละกระจายด้วยเลือดแค่ไหนกันนะ


The Machine girl มีปมประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่างที่เทปมด้อยของตัวละครออกมาพร้อมกับเชื่อมโยงเรื่องราวได้อย่างพอดิบพอดีจนคิดไปเลยว่าสังคมจริงๆในมุมหนึ่งย่อมเป็นแบบนี้ได้แน่นอน(ไม่รวมเรื่องนินจากับเครื่องสังหารอย่างแขนกลนะ มันเว่อร์ไป) เริ่มที่ประเด็นจากยอมรับของสังคมที่ยังมีการแบ่งพรรคความคิดจากความเลวร้ายที่ไม่สามารถอภัยได้จนคนใกล้ชิดต้องแบกรับกรรมนั่นไว้อย่างปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนจะมองในแง่ที่ดีหรือยอมรับว่าเป็นเรื่องแล้วๆกันไป อย่างความเป็นอยู่ของอามิที่เกิดไม่ค่อยมีใครชอบหน้าเพราะเรื่องของผู้เป็นพ่อที่โดนข้อหาฆาตกรรมทั้งที่อาจไม่ได้เป็นฝ่ายทำก็ได้ ด้วยน้ำเสียงของอามิที่กล่าวยกข้อหาผิดๆออกไปว่าทั้งสิ้นล้วนไม่จริง กระนั้นข่าวที่แพร่ด้วยเสียงส่วนมากจะยิ่งช่วยพยุงความเลวร้ายซ้ำเติมเข้าไปอีก ด้วยเหตุนี้อามิกับยูวจึงมีสภาพความเป็นอยู่แบบอาศัยซึ่งกันและกัน แม้โดยมากแล้วอามิจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเสียมากกว่า ดูได้จากการกระทำตั้งแต่หาอาหารเช้าตลอดจนเรื่องเงินที่เป็นฝ่ายเก็บดูแลเอง ด้วยความเลวร้ายที่กัดกร่อนจิตใจทั้งสองแบบไม่สู้ดีนัก ทว่ายังสามารถมีชีวิตที่มีความสุขได้ตามประสาพี่น้องกับวัยเรียนได้อย่างเหมาะสมเช่นคนปกติทั่วไป ไม่ว่าจะอามิที่ยังมีเพื่อนดีๆอยู่ด้วยกันตอนซ้อมกีฬาเวลาเลิกเรียน แสดงถึงมิตรที่ยังมีคนรักและไม่เกลียดชังจนเกินไป

ในขณะที่ยูวยังมีเพื่อนไม่ต่างจากฝ่ายพี่สาวของตัวเองที่มีความสุขเรื่อยมา ทว่าความมีอำนาจในกลุ่มมักจะเล็งผู้อ่อนแอเสมอ และยูวคือเหยื่อที่ตกภายใต้การถูกรังแกของโช (Nobuhiro Nishihara) ที่เป็นเหล่าอันธพาลคอยรังแกด้วยอิทธิพลของตัวเอง ยูวได้ขอร้องอามิเรื่องเงินว่าจะไปซื้อเกมส์ที่ตัวเองอยากได้ หาความจริงไม่แล้วแต่เอาไปให้โชต่างหาก กระนั้นยังถูกย่ำยีไม่พอด้วยการนำเงินดังกล่าวมาเผาต่อหน้าที่มองด้วยสายตาแบบไร้ประโยชน์ จึงเป็นการดูถูกอย่างหนึ่งที่ต้องการบอกว่าเงินไม่สำคัญเพราะจะหามาเมื่อไรก็ได้ ซึ่งไม่แตกต่างที่ว่าจะทำผิดศีลธรรมกี่ครั้งก็ได้เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ตัวเองจะยอมรับว่าผิดจริง


ด้วยประเด็นการกลั่นแกล้งที่ถ่ายทอดออกมาเป็นมุมมองหนึ่งที่แสดงให้เห็นเข้าใจทันทีเลยว่าเพราะอะไร โชจึงเป็นเด็กที่สนใจแค่ความเห็นแก่ตัวในอิทธิพลเพียงอย่างเดียว เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นมาจากการปลูกฝังตั้งแต่เด็กจากครอบครัว พูดง่ายๆคือเด็กจะเป็นยังไงนั้นขึ้นอยู่กับการวิธีการเลี้ยงดูว่าให้อะไรไปบ้าง อย่างโชที่อยู่ภายใต้ครอบครัวที่ล้าสมัยจากการนับถือวิถีซามูไรแบบหยาบๆผสมกับหลักการเก่าๆปลาใหญ่กินปลาเล็ก ถีงอย่างนั้นเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นเรื่องที่ผิดในรูปแบบปกครองครอบครัวเช่นนี้เพราะจะทำให้รู้จักคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ทว่าวิถีดังกล่าวค่อนข้างผิดเพี้ยนไปจนเป็นมาเฟียรีดไถ่เสียมากกว่า และยังเต็มไปด้วยความวิปริตผิดแปลกจากภายใต้จิตใจที่มองว่าการทรมานคนคือความสะใจอย่างหนึ่งเพื่อชดใช้ความผิด แม้ซามูไรจะทำงานพลาดแล้วต้องปลิดชีวิตตัวเองแต่ยุคสมัยเช่นนี้การทำงานพลาดขอแค่การให้อภัยน่าจะเหมาะสมที่สุด แต่เปล่าเลยกับครอบครัวนี้ที่ใครทำงานผิดพลาดจะต้องได้รับโทษฐานที่ไม่ให้ความเคารพทั้งที่เป็นเพียงอุบัติเหตุซะมากกว่า และด้วยที่ว่ามีอำนาจถึงไม่สนใจเลยว่าตัวเองจะผิดมากน้อยแค่ไหนขนาดที่ว่าฆ่าคนได้อย่างเปิดเผยกลายเป็นสังคมที่ขาดความไร้ผิดชอบในการเอาใจใส่

อย่าว่าแต่ครอบครัวมาเฟียเหล่านี้แค่อย่างเดียวเมื่อการแสดงความแค้นของเรื่องนี้ส่งผ่านถึงพ่อแม่ได้โดยตรงด้วย ซึ่งจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ริวจิ (Kentaro Shimazu) หัวหน้าครอบครัวพยายามหาพวกเข้ากลุ่มเพื่อตามเก็บอามิ โดยคนดังกล่าวมาจากกลุ่มพ่อแม่ที่สมัครใจพร้อมจะรับใช้เป็นสมุนที่ร้ายกาจจัดการอามิ แล้วทำไมล่ะ? เพราะอามิไปฆ่าลูกๆของพ่อแม่ดังกล่าวทั้งสิ้นนะสิ ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นจากการบุกของเหล่านินจาที่เป็นสมุนของริวจิมาตามเก็บถึงที่ แต่ด้วยทักษะที่เพิ่มขึ้นของอามิจากแขนกลทำให้เธอจัดการนินจาเหล่านั้นได้หมดทุกคน หารู้ไม่ว่านินจาพวกนั้นมีพ่อแม่เอาใจใส่อยู่เบื้องหลัง และเมื่อเป็นเช่นนี้คนเป็นพ่อเป็นแม่เมื่อรู้ว่าลูกตัวเองตายจึงระอุด้วยความคับแค้นในท้ายที่สุด แต่ก่อนเรื่องจะบานปลายมาถึงขนาดนี้ได้ก็ทำให้สุงุรุต้องตายไปด้วยทั้งที่ตลอดเวลาเป็นคนดีไม่สนความเลวร้ายที่หลายคนเกลียดอามิด้วยซ้ำ ดังนั้นมิกิฐานะภรรยาที่เห็นการตายของสามีเพราะเหล่าคิมูระจึงตัดสินร่วมแก้แค้นให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน ไม่ว่าใครหน้าไหนในเรื่องนี้ต่างกระทำด้วยสำนึกเดียวกัน คือ"การล้างแค้น"ที่ไม่รู้วันจบสิ้น เมื่อมีการทำลายเกิดขึ้นจะไปสร้างผลกระทบต่อสิ่งนั้นๆให้มาทำลาย เป็นระบบกงกรรมกงเวียนเห็นได้ชัด หรือจะเป็นการฆ่าต่อเป็นทอดๆที่สั่งสมจากความแค้นก็ว่าได้


หลังจากอามิได้แขนกลมาก็ทำให้หลายคนที่ใกล้ตัวที่อยากช่วยต้องเจ็บตัวไปตามๆกัน ซึ่งไม่ใช่ใครแต่เป็นฝีมือของเหล่านินจาที่จะมาสังหารอามิให้จบหลังจากที่อามิลอบเข้าไปในบ้านที่เกือบจะแก้แค้นให้น้องตัวเองได้สำเร็จจนเป็นต้นเหตุเรื่องการเสียแขนเพราะตัวเองพลาดท่าประมาทความร้ายกาจของครอบครัวนี้ กระนั้นยังไม่วายถูกตามล่าอย่างไม่ลดละจนเป็นเหตุของสงครามระหว่างอามิกับครอบครัวคิมูระที่จ้องเล่นงานตั้งแต่ตัวพ่อยันตัวแม่ จะว่าไปการปลูกฝังก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวที่มองยังไงกับสังคม และสังคมจะมีสภาพยังไงต่อครอบครัว เมื่อเริ่มต้นที่ดีย่อมมีผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ แม้จะมีสิ่งไม่ดีเข้ามาแต่ด้วยการปลูกฝังความคิดที่ดีย่อมยังเป็นคนดีอยู่บ้าง ดังนั้นแล้วสถาบันครอบครัวคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ว่าจะเป็นแบบไหน ทั้งนี้ต้องแล้วแต่ฝ่ายพ่อแม่ด้วยว่ารู้สึกคิดเห็นแบบใดจึงจะสอนได้อย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เป็นเช่นในหนังเรื่องนี้ที่มองว่าพ่อแม่คือตัวเริ่มต้นของความย่ำแย่และเลวร้าย ที่สำคัญอย่าได้ตามใจตัวเองมากนัก เพราะไม่งั้นเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ใจต้องการจะคิดหน้าคิดหลังไม่เป็น อย่างการเป็นลูกสมุนของคิมูระเพื่อแก้แค้นเท่านั้น

ตัวหนังค่อนข้างคัลท์เหลือรับประทาน มีเลือดที่โชกช่วงจากการฟัดจนขาด หรือยิงจนกระจุยกระจาย พูดง่ายว่าเรื่องนี้เลือดสาดทะลักไม่เหมาะสำหรับผู้ชมที่เห็นแหวะจนคลื่นไส้ เพราะแต่ละฉากการต่อสู้นับว่าโหดในการเมคอัพของทีมงานมากๆ แม้จะดูแล้วบอกว่าไม่เนียนเท่าไหร่ แต่ถ้ามองผิวเผินไม่เจาะจงมากจะดูเหมือนของจริงไม่มีผิด ซ้ำยังมีดีกรีเรื่องความรุนแรงบวกความสะใจเลือดพุ่งโชกโชนจนนางเอกของเรายังไม่วายโดนตัดแขนแล้วเลือดจะบานทะลักขนาดนั้นได้ ว่าเป็นภาพลักษณ์ใสๆกับรอยยิ้มนางเอกถือว่าดีที่สุดในเรื่องนี้แล้ว เพราะนอกนั้นเป็นกลิ่นอายแบบหยองๆเต็มไปด้วยมุมมองอันแสนโหดร้ายของสังคมทั้งภายในและภายนอก


สำหรับภายนอกคือสังคมรอบกว้างที่มีผลต่อตัวอามิเกี่ยวกับเรื่องพ่อตัวเอง และภายในคือเรื่องส่วนตัวของสังคมที่ว่าด้วยสังคมกลุ่มเล็กๆที่อยู่สภาพแบบเลวทรามที่เกิดขึ้นด้วยการรังแกผู้อ่อนแอกว่า ดูเหมือนการกัดจิกในเรื่องนี้จะได้รับการตีรูปแบบออกมาเชิงขยายผลลัพธ์ที่ทอดต่อยาวไปเรื่อยๆเฉกเช่นตอนเปิดเรื่องที่อามิยังคงทำหน้าที่จัดการคนชั่วต่อไปด้วยแขนปืนกลของเธอก่อนจะถูกถามสะกิดใจเกี่ยวกับเรื่องเมื่อก่อนที่ไม่เหมือนอย่างตอนนี้ที่หลายคนมองด้วยสายตาของนางปีศาจ แต่หารู้ไม่เลยว่านางปีศาจคนนี้กำลังปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า

ความโหดถือว่าแหวะเกินรับชมแม้จะพยายามเบาๆ(เบาเหรอ)ก็ตาม แต่อีกแง่หนึ่งดูสนุกไปอีกแบบกับการต่อสู้ที่เห็นได้ในการ์ตูนมาเป็นในหนังคนแสดง แม้จะเป็นหนังที่ไม่ได้ดูใหญ่อะไรซ้ำยังดูเล็กแบบทุนต่ำก็ยังสร้างความแปลกตาได้อย่างสนุก รวมไปถึงฉากแซวหนังคัลท์ Naked Blood Megyaku (1996) ในฉากเอามือชุบแป้งทอดลงกระทะจนกรอบ ถ้าเรื่องนั้นใครเคยดูคงต้องผวาที่นึกออกแน่ๆ แต่ด้วยการเอามาดัดแปลงในเรื่องนี้ทำให้ออกมาดูตลกมากกว่าจะออกมาสยอง ดังนั้นการวางมุขในเรื่องนี้ถือว่าเข้าท่าในบางจังหวะตามสไตล์ญี่ปุ่นที่ออกแนวดูจริงแต่ผลออกมาฮา ส่วนนักแสดงจัดว่าทำได้ลงตัวกับคาแรกเตอร์ตามบทบาทได้ดีโดยเฉพาะ Kentaro Shimazu ที่เล่นได้สมคำว่าหน้าโกงเห็นๆ หรือจะ Nobuhiro Nishihara ที่ไม่ทิ้งความเป็นตัวร้ายที่แววตาส่องว่าชั่วสุดๆ ในขณะที่ Minase Yashiro นางเอกอาภัพของเราก็แสดงได้สวยใสแต่พอได้ปืนหน้าโหดขึ้นมาเชียว ส่วนคนอื่นๆเล่นไปตามบทบาทของตัวเอง


The Machine Girl มีการดำเนินเรื่องที่ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นคล้ายกำลังตั้งประเด็นคำถามกับตัวเองที่เมื่อก่อนไม่ได้เป็นเช่นนี้ และไม่ได้อยากเป็นด้วย ดังนั้นจึงเป็นการเล่าเรื่องหลักๆจากตัวละครอามิที่เราจะรับรู้ได้ถึงด้านมืดและด้านสว่างในจิตใจที่แบ่งหน้าตาออกมาคนละขั้วในช่วงต้นเรื่องกับหลังจากเสียน้องชาย น่าเสียดายที่พล็อตเรื่องเช่นนี้ไม่ได้ฟังดูแปลกมากนักซ้ำยังรู้สึกแปลกในความเกินจริงอยู่บ้างเป็นบางส่วน แต่ถ้าเป็นหนังที่ต้องการกัดจิกแบบสื่อนัยยะด้วยแล้วการบอกว่าเจ้าแขนปืนกลอะไรเนี่ยมันก็คือความหมายของการยืมมือฆ่า เราอาจมองไม่ชัดเจนเท่าไหร่เพราะในเนื้อเรื่องไม่มีอะไรนอกจากอุปกรณ์ชิ้นส่วนติดตั้งแขนที่เสียไป ทว่ายังมีอีกความหมายเล็กๆที่เกี่ยวกับการมอบชีวิตใหม่ หลังจากอามิเสียแขนไปข้างหนึ่งทำให้ตัวเองไม่ต่างอะไรกับคนไร้ความสามารถที่สูญเสียอิสระจากการใช้แขนเช่นเคย แต่หลังจากได้แขนกลมาทำให้อามิได้ริเริ่มมีความหวังกับแขนนี้ต่อไปโดยมีความหวังจากผู้สร้างที่ต้องการนำไปใช้เพื่อความถูกต้องกำจัดคนชั่วให้สิ้นซาก แม้คำว่าการกำจัดจะรุนแรงแต่ด้วยสังคมที่หย่อนลงเหวยังรุนแรงยิ่งกว่าอีก ฉะนั้นแล้วสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดเราล้วนรู้แก่ใจ เปล่าที่สังคมจะมาป้ายสีให้ว่าผิดหรือถูก

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)