Spider-Man: Far from Home (2019) สไปเดอร์-แมน ฟาร์ ฟรอม โฮม

Spider-Man: Far from Home (2019) | สไปเดอร์-แมน ฟาร์ ฟรอม โฮม
Director: Jon Watts
Genres: Action | Adventure | Sci-Fi
Grade: A-

ภาคแรกไม่รู้สึกชอบมากเท่าไร เช่นเดียวกับภาคนี้ที่รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ความเรื่อยๆที่เอาอยู่ทั้งเรื่องทำให้ชวนน่าติดตามตลอดเวลา จะไม่หนักต้นเบาปลายหรือเบาต้นหนักปลาย มีความพยายามแบ่งน้ำหนักให้เท่ากันตลอดเวลา เพียงแค่ความน่าดูไม่จำเป็นต้องมีฉากอลังการหรือมีฉากแอ็คชั่นที่ดุเดือดเสมอไป ทำให้สไปเดอร์แมนฉบับนี้ดูเป็นหนังวัยรุ่นที่ผสมผสาน Coming of Age ที่อาจจะดูเด็กบ้าง แต่แฝงไปด้วยการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ทีละน้อย

 

นับตั้งแต่ Avengers: Endgame (2019) ทำให้โทนหนังมาร์เวลมีแต่เรื่องจริงจังที่หนักข้อกว่าทุกเรื่องก่อนหน้านี้ แทนที่จะรู้สึกบันเทิงตามสเต็ปหนังซูเปอร์ฮีโรปราบเหล่าร้ายและจบลงด้วยชัยชนะ กลับกลายเป็นหนังชีวิตที่เล่าถึงตัวละครนี้ตัวละครนั้น จากนั้นจับให้เชื่อมโยงถึงกันเพื่อแสดงความสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ทุกอย่างดูตอบโจทย์และเป็นการสิ้นสุดในสิ่งที่วางเอาไว้ตลอดหลายปี แต่ไม่ใช่เรื่องราวจะจบลงแค่นี้ เนื่องจากเป็นรองสุดท้ายของเฟส 3 เท่านั้น Spider-Man: Homecoming (2017) มีความบันเทิงและจริงจังในตัวเอง คือน้องใหม่ที่อยากทำภารกิจกอบกู้โลกและช่วยชีวิตผู้คน แต่เพราะเป็นเด็กใหม่หัดขับจึงมุทะลุทำไปอย่างไม่คิดให้รอบคอบ ผลลัพธ์ที่ตามมาจึงแก้ด้วยตัวเองไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งคนที่คอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆคือ โทนี่ สตาร์ค (Robert Downey Jr.) ผู้ชวน ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ (Tom Holland) ให้เข้ามาทำภารกิจใน Captain America: Civil War (2016) หลังจากนั้นทั้งสองมีความผูกพันที่ลึกซึ้งในฐานะลุงและหลาน


การเป็นเรื่องปิดเฟส 3 อาจดูแปลกเพราะเรื่องราวทั้งหมดก่อนหน้านี้จบลงอย่างที่ควรเป็นเช่นนั้น แต่เลือกจะให้ต่อเพื่อแสดงถึงผลกระทบหลังจากนั้นและอธิบายถึงบางเรื่องที่น่าสงสัย กระนั้นหัวใจหลักของเรื่องย่อมหนีไม่พ้นตัวปีเตอร์ เขาจะใช้ชีวิตยังไงต่อไปเมื่อไม่มีโทนี่ จะไม่มีไอรอนแมนหนุนหลังช่วยสไปเดอร์แมน ใครจะคอยบอกคอยสอนอย่างเช่นภาคแรก ถ้าเปรียบเทียบกับหนัง Spider Man ฉบับอื่นก็คือลุงเบนอีกด้านหนึ่ง ภาระหน้าที่ของซูเปอร์ฮีโร่ต้องมีพร้อมอยู่เสมอ แต่กับปีเตอร์คือเด็กที่อายุไม่ถึงให้กินแอลกอฮอล์ด้วยซ้ำ การตัดสินใจยังไม่กว้างไกลขนาดต้องเสียสละไปซะทุกเรื่อง ฉะนั้นไม่แปลกใจที่จะพยายามเรียกตัวเองเป็นซูเปอร์ฮีโร่ประจำบ้าน เพราะตัวเขายังเด็กและหน้าที่ความรับผิดชอบยังน้อย ทำได้เพียงกำจัดโจรระดับล่างหรือกับคนธรรมดาเท่านั้น การที่ นิค ฟิวรี่ (Samuel L. Jackson) เรียกไปทำภารกิจใหญ่จึงดูเกินตัวสำหรับเขามาก และที่สำคัญอยากพักผ่อนจากการเป็นสไปเดอร์แมน


อาจเรียกได้ว่าช่วงแรกของหนังคือสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิตปีเตอร์ เนื่องจากได้พักผ่อนได้เที่ยวยุโรปอย่างที่ตัวเองต้องการกับเพื่อนๆ ที่สำคัญยังเป็นโอกาสที่จะได้จีบ เอ็มเจ (Zendaya) อีกด้วย นับเป็นช่วงเบาสมองที่สุด ทว่าทุกอย่างต้องหมดสนุกเพราะการปรากฏตัวของอสูรกายธาตุ (Elemental monsters) ที่มาถล่มบ้านเมือง แต่โชคยังเข้าข้างเมื่อมีคนปริศนาโผล่ออกมาจัดการ ซึ่งคือ เคว็นติน เบ็ค หรืออีกนามหนึ่งว่า มิสเทริโอ (Jake Gyllenhaal) สิ่งที่ชอบมากใน Spider-Man: Far from Home คือการทำให้ปีเตอร์เป็นเด็กที่น่าเห็นใจ บางครั้งเขายังเด็กเกินกว่าจะรับไหว ทั้งอายุยังน้อยจึงอยากได้อิสระจากวัยของตัวเอง การสวมชุดเป็นสไปเดอร์แมนช่วยผู้คนเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดีกว่านี้ถ้าเป็นตอนที่ตัวเองพร้อมทั้งใจ ผิดกับภาคแรกโดยสิ้นเชิงที่อยากจะออกไปข้างนอก ตามสืบจับคนร้ายเพื่อให้ตัวเองมีคุณค่าว่าคู่ควรอยู่ในทีมอเวนเจอร์ส จนพอได้เป็นและเห็นสิ่งที่ทำกันจริงๆถึงรู้ว่ามันเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิดเอาไว้มาก


เมื่อโลกไร้ไอรอนแมนเพราะการเสียสละของโทนี่ ทำให้เกิดคำถามใครคือไอรอนแมนคนต่อไป แน่นอนว่าซูเปอร์ฮีโร่มีอยู่หลายคน กระนั้นที่ออกหน้าออกตามากที่สุดคือสไปเดอร์แมน เนื่องจากปีเตอร์คือเด็กนักเรียน ต้องใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาผสมกับซูเปอร์ฮีโร่ จะให้หลบหน้าหนีไปไหนได้ ให้อยู่ตามลำพังยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะมีคนคอยห่วงใยคือ ป้าเมย์ ปาร์คเกอร์ (Marisa Tomei) และ แฮปปี้ โฮแกน (Jon Favreau) ที่เสมือนพี่เลี้ยงเด็กคอยช่วยเหลือยามวิกฤติ ผลกรรมของโทนี่ได้ตกทอดมาสู่รุ่นหลัง นั้นคือปีเตอร์ที่มีความผูกพันประหนึ่งพ่อลูก บทสรุปของหนังทำให้เห็นว่าปีเตอร์คือผู้รับเคราะห์ ซึ่งหมายถึงทั้งดีและไม่ดีอยู่ในนั้นด้วย สำหรับภาพลักษณ์ของไอรอนแมนคือซูเปอร์ฮีโร่ชุดเกราะที่เก่งกาจ กอบกู้วิกฤติและช่วยโลกเอาไว้หลายครั้ง กระนั้นภายใต้ชุดเกราะคือชายที่เคยผลิตอาวุธที่นำไปใช้ฆ่าคนมาแล้วทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นคนเห็นแก่ตัวที่ไม่เคยแคร์ความรู้สึกคนอื่น แม้จะกลับตัวกลับใจก็ไม่อาจคืนให้กับทุกเรื่องที่ผิดพลั้งไป


Spider-Man: Far from Home อุดมไปด้วยความเพลิดเพลินมากสีสัน จะเป็นแนวซูเปอร์ฮีโร่ก็ดี แนววัยรักวัยรุ่นก็ได้ หรือแนวเคร่งเครียดก็ไปไหว แต่ไม่เน้นหนักไปทางใดทางหนึ่งเต็มที่ ทำให้ดูกั๊กเอาไว้หลายอย่างเพื่อเตรียมตัวในภาคต่อไปอย่างไร้ข้อกังขา(ดูได้จาก End-credits ที่กำลังสื่อถึงด้านที่ไม่เคยมีหรือปรากฏมาก่อน ทำให้อยากดูภาคถัดไปทันที) นับเป็นการปิดเฟส 3 ได้อย่างพอดีคำ ไม่เกินหรือขาดไปกว่านี้อีกแล้ว

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)