The Orphanage (2007) สถานรับเลี้ยงผี

The Orphanage (2007)
สถานรับเลี้ยงผี
Director: J.A. Bayona
Genres: Drama | Horror | Mystery | Thriller
Grade: A
 
จริงๆมันคือหนังผีแต่น่าจะเป็นประเภทแค่วิญญาณธรรมดามากกว่าเพราะไม่น่าเชื่อว่าตอนจบจะทำให้"ผี"เป็นเพียงส่วนประกอบที่อิงเอาจาก"ความเชื่อ"ส่วนบุคคล เนื่องจากทุกอย่างที่เกิดขึ้นเกินความคาดหมายเอาไว้พอสมควร ไม่แปลกใจเลยที่ The Orphanage หรืออีกชื่อ El Orfanato จะเป็นหนังสเปนที่ได้รางวัลภายในประเทศหรือรางวัลโกย่าไปถึง 7 สาขา โดยเข้าชิงทั้งหมดถึง 14 สาขาเลยทีเดียว แต่ก่อนจะมาเป็นความสะพรึงต้องย้อนกลับไปที่เรื่องราวของลอร่า (Belén Rueda) อดีตเด็กกำพร้าที่ตอนนี้มีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมหน้าพร้อมตา มีทั้งคาร์ลอส (Fernando Cayo) สามีที่รักเธอ และซิโมน (Roger Príncep) ลูกชายเพียงคนเดียวที่รักเท่าชีวิต ครอบครัวที่สุขสันต์ได้ย้ายอาศัยมายังบ้านหลังใหม่ที่เดิมคือสถานรับเลี้ยงเด็กที่ลอร่าเคยมาอยู่สมัยยังเด็ก ทุกอย่างไปได้ดีจนกระทั่งซิโมนเริ่มมีพฤติกรรมเกี่ยวกับเพื่อนไร้ตัวตน แน่นอนว่าคาร์ลอสที่เป็นถึงหมอมองเป็นปกติของช่วงวัยเด็กเพราะเป็นเรื่องของจินตนาการ ทว่ากับลอร่าไม่มองเช่นนั้นเพราะรู้สึกเกินความรู้สึกของเด็กที่อยากสนุกอย่างเดียว หลายอย่างดูจริงจังมากไปเหมือนเพื่อนในจินตนาการมีตัวตนจริงๆก็ไม่เชิง และที่ผิดปกติคือซีโมนรู้ความจริงบางอย่างที่ทำให้ลอร่าต้องตกใจเมื่อความลับที่ปิดเอาไว้รู้กันแค่เธอกับคาร์ลอสถูกเปิดเผยว่าซีโมนไม่ใช่ลูกแท้ๆและกำลังป่วยเป็นโรค HIV ซึ่งเขากำลังจะตาย


ช่วงแรกเป็นการปูตัวละครที่เน้นไปที่ลอร่ากับซีโมน ในขณะที่คาร์ลอสจะไม่ค่อยมีบทบาทในเรื่องเท่าไรนักเพราะวางตัวละครนี้เสมือนคนนอก อีกแง่หนึ่งคือต้องการจะสื่อเรื่องความสัมพันธ์ของแม่กับลูกเป็นโทนหลักของเรื่องมากกว่า ส่วนความสัมพันธ์พ่อลูกจะไม่เน้นเท่าไรเพราะมองเรื่องเพศชายอยู่ฝ่ายเดียวกัน ทำนองเดียวกับที่คาร์ลอสไม่ค่อยสนใจรายละเอียดในตัวลูกเพราะคิดว่าเป็นช่วงของวัยเด็กที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ผิดกับลอร่าที่มองรายละเอียดเหล่านี้คือเรื่องผิดแปลกเพราะทำให้ซีโมนเปลี่ยนไป แรกเริ่มซีโมนมีเพื่อนในจินตนาการเป็นทุนเดิมอยู่แล้วและไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเหมือนเล่นของเล่น ทว่าตั้งแต่มาอยู่สถานรับเลี้ยงเด็กเก่าทำให้ซีโมนได้เพื่อนเพิ่มอีก 6 คน ที่สำคัญคือเกมปริศนาให้หาคำตอบไปเรื่อยๆผ่าน Keyword จากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เช่น ถ้าได้กุญแจจะต้องเอาไขกลอนที่ใดที่หนึ่ง เมื่อไขกลอนสำเร็จจะได้อีกปริศนาที่นำไปสู่อีกอย่างหนึ่ง เป็นการหาคำตอบเป็นทอดๆเพื่อไปสู่คำตอบที่ซ่อนอยู่ลำดับสุดท้าย ในฉากนี้เองที่ลอร่าเห็นความทึ่งในการไขปริศนาของซีโมนที่ไล่คำตอบไปเรื่อยๆว่าทำได้ยังไง กระนั้นไม่เท่ากับของที่ใช้เป็นปริศนาบางอย่างดูเป็นของลับเกินกว่าจะถูกหยิบไปได้ เป็นความสงสัยว่าของเหล่านี้บางชิ้นถูกหยิบไปได้อย่างไร แต่นั้นไม่น่าประหลาดใจที่ว่าใครเป็นคนทำปริศนา

ซีโมนจริงจังกับเพื่อนไร้ตัวตนประหนึ่งมีชีวิตและทำให้ลอร่าเกิดระเแวงในตัวซีโมนที่อาจมีความบกพร่อง แน่นอนว่าระหว่างที่สงสัยก็มีเรื่องหลอนให้ตกใจกันเป็นพักๆ แต่ไม่ได้หนักหนาอะไรเพราะสามารถคลี่คลายปัญหาต่างๆลงได้รวมถึงปัญหาที่ซีโมนรู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเองก็สามารถจบลงได้ไม่ยากเนื่องจากยังเป็นแค่เด็กและคงยากเกินไปสำหรับฟังเรื่องราวที่ซับซ้อน จนกระทั่งในวันฉลองสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีแขกมากหน้าหลายตามากินเลี้ยง แต่ซีโมนไม่ยอมลงไปเล่นข้างนอก ขณะที่ลอร่าพยายามชวนให้ไปสัมผัสกับเพื่อนใหม่ที่มีตัวตนจริงๆ ผลออกมาคือซีโมนไม่สนใจคำขอของแม่และพยายามให้แม่ไปดูห้องของโทมัส (Óscar Casas) หรือเพื่อนที่ไร้ตัวตนนี้ ด้วยความที่ลอร่าหงุดหงิดกับความผิดปกติของซีโมนที่ไม่ยอมเชื่อฟังและซีโมนดึงดันไม่ยอมเลิกทำให้ลอร่าเผลอพลั้งตบหน้าซีโมน ในฉากนี้เหมือนจะปกติทุกครั้งที่ซีโมนมีบางอย่างจะให้ดู ซึ่งกับลอร่าที่เริ่มทนไม่ไหวได้ระบายอารมณ์ออกมาจนถึงกับทิ้งซีโมนไว้ลำพังก่อนจะนึกขึ้นได้แล้วกลับมาหาซีโมน ทว่าซีโมนหายไปและมีเด็กปริศนาใส่หน้ากากถุงกระสอบเข้ามาผลักจนล้มในห้องน้ำก่อนจะหายตัวไปพร้อมกับซีโมนอย่างไร้ร่องรอย


ประเด็นการหายตัวไปของซีโมนในมุมมองของผู้ชมต้องคิดแล้วอย่างหนึ่งเกี่ยวกับผีที่พาตัวซีโมนไป เพราะจะเป็นไปในทางอื่นไม่ได้เลยหากสิ่งที่หนังเล่ามาตลอดนั้นล้วนเกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติ ทว่าด้วยความเหนือธรรมชาติที่หนังสร้างขึ้นมีความจริงปะปนอยู่ด้วย ซึ่งนั้นเองที่ทำให้ภาพลักษณ์ของเรื่องนี้มีมุมมองของการสืบหาความจริงราวกับว่าไม่ได้จบลงแค่ผีอย่างเดียว ระยะเวลาการหาตัวซีโมนที่ยาวนานถึง 3 เดือนทำให้หลายคนเชื่อว่าหายสาบสูญ จะเหลือเพียงลอร่าที่มั่นใจว่าซีโมนยังมีชีวิตอยู่เพียงแค่ถูกลักพาตัวไปที่ไหนสักทีจากในบ้าน จากความพยายามของความเป็นแม่ทำให้ยอมทำทุกสิ่งเพื่อทวงสิ่งที่รักคืนมา ขนาดที่ว่าต้องยอมรับความเชื่อเรื่องผีด้วยการวานขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องลึกลับสิ่งเหนือธรรมชาติมาช่วยในการหาคำตอบ จริงๆในช่วงแรกเป็นแค่การเกริ่นตัวละครที่เหมือนจะไม่มีอะไรเท่าไรแต่ก็เริ่มมีบางอย่างเข้ามารบกวน พอหนักจนถึงกับลูกหายก็ไม่พ้นเรื่องของผีหรือเพื่อนที่ซีโมนพูดถึงประจำ เมื่อเป็นแบบนี้คนที่ถนัดเรื่องผีเข้ามาจัดการ แน่นอนว่าหลายอย่างเป็นไปตามสูตรหนังผีที่มักจะโยงถึงครอบครัว ทว่าการเล่าเรื่องที่เหมือนใกล้จะจบกลับผิดคาดที่เป็นเรื่องเล็กเท่านั้น เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่พยายามหาคำตอบและสู้กับผี จะมีเพียงลอร่าเท่านั้นที่จบเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้

การไม่ยอมแพ้ต่อการหายตัวไปของซีโมนสร้างความลำบากใจแก่ทุกคน โดยเฉพาะคาร์ลอสที่หมดศรัทธาในการตามหาตัวลูกและเกลี่ยกลอมลอร่าให้เลิกตามหาลูกเพราะนานเกินไปที่เจอได้ในตอนนี้ ทว่าลอร่าปฏิเสธไม่ยอมที่จะตามลูกจนเหลือแค่สถานที่รับเลี้ยงเด็กที่ใช้อยู่กับเธอเท่านั้น การต่อสู้และความพยายามตามหาลูกจากปริศนาที่หาได้คือการต่อสู้ของคนที่เป็นแม่ แม้ว่าจะเคยว่าร้ายยังไงแต่สุดท้ายยังรักลูกและพยายามจะปกป้องให้ถึงที่สุด การต่อสู้เพียงลำพังแสดงให้เห็นความอ้างว้างเปลี่ยวเหงาทั้งภายนอกและภายในจิตใจ ในเรื่องของความสยองจัดว่าเป็นสิ่งที่อย่าได้คาดหวังอะไรนักเลยเพราะถึงยังไงเรื่องนี้เน้นที่บรรยากาศกับมิติตัวละคร ฉะนั้นฉากตกใจหรือผีหลอกตุ้งแช่อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมถ้าอยากได้อรรถรสเช่นนั้น กระนั้นการสืบหาความจริงและไขปริศนาไปกับลอร่าน่าจะเพียงพอต่อคำว่าน่ากลัว ในความเข้าใจของลอร่าคือซีโมนถูกผีลักพาตัวไป และผีดังกล่าวคืออดีตเพื่อนสมัยเด็กที่เคยอยู่สถานรับเลี้ยงเด็ก ฉะนั้นไม่ว่าจะสถานที่หรือตัวละครก็ล้วนมีความเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้น นี่เองที่ทำให้การเล่าเรื่องดูหนักแน่นพร้อมกับทิศทางการเล่าเรื่องที่ชัดเจน แต่อาจจะไม่ชัดเจนจนสรุปได้ทั้งหมดเพราะต้องการให้เรื่องราวที่แท้จริงมีความซับซ้อนและหมองมัว ทว่าในความหดหู่ยังมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Peter Pan


Peter Pan คือข้อเปรียบเทียบระหว่างความเป็นกับความตาย เป็นเรื่องเล่าสำหรับเด็กของโลกจินตนาการที่มีปีเตอร์ เพน หรือเด็กที่ไม่มีวันโตในดินแดน Neverland เพราะถ้าได้โตเป็นผู้ใหญ่จะลืมความเป็นเด็กไป อีกนัยหนึ่งที่ซีโมนชอบเรื่องราวนี้มาจากความต้องสนุกจากวัยเด็กที่ตัวเองเป็นอยู่และมีความเชื่อว่าถ้าไม่โตก็จะไม่ตาย ในโลกจินตนาการไม่ใช่แค่เรื่องแต่งธรรมดาๆเพราะหมายถึงโลกหลังความตาย ในจุดนี้จะถูกเฉลยว่าแท้ที่จริงเกิดจากอะไร จะไม่ใช่แค่เรื่องของผีเด็กที่เคยเป็นอดีตเพื่อนของลอร่ามาตามหลอกหลอน ความจริงของเรื่องทั้งหมดอาจเกิดจากตัวเราเองที่ไม่รู้ว่าแท้จริงเกิดจากอะไรแล้วพาลกล่าวโทษในสิ่งที่ตัวเองกลัว ตั้งแต่การเล่าเรื่องที่ลอร่าต้องอยู่ตัวคนเดียวจะแสดงถึงความกล้าที่บ้าบิ่นเกินกว่าคนปกติจะทำได้ เช่น การจัดสถานที่ใหม่ให้กลับเป็นที่รับเลี้ยงเด็กอีกครั้งเพื่อสื่อสารกับผีที่เป็นเพื่อนลอร่าสมัยเด็ก การดำเนินชีวิตให้เหมือนสมัยตัวเองถูกเลี้ยงในสถานเลี้ยงเด็กทั้งการแต่งตัว เวลาการกิน โดยพยายามสื่อสารให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้ติดต่อหาซีโมน ทว่ายิ่งลอร่าหาคำตอบก็ยิ่งกลายเป็นปริศนาให้สิ้นหวัง ปริศนาที่เจอไม่ต่างกับที่ซีโมนได้เจอแต่เมื่อไล่หาคำตอบก็พบว่าเป็นเพียงลูกบิดประตูที่ไม่อาจใส่เข้าได้เลยสักประตูเดียว ฉะนั้นแล้วประตูที่เป็นความลับอยู่ที่ไหนกันแน่ ซึ่งคำตอบทั้งหมดจะอยู่ที่ไคล์แม็กซ์ของเรื่อง โดยตอนท้ายจะแสดงให้เห็นว่าอะไรน่ากลัวกว่าผี จริงๆแล้วผีในเรื่องนี้คือตัวประกอบที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์อดีตกับปัจจุบัน สุดท้ายเหลือแค่คนเท่านั้นที่เป็นพิษเป็นภัยที่สุด

ในอดีตที่สถานรับเลี้ยงเด็กจะเด็กทั้งหมด 6 คนโดยจะมีเพียงคนเดียวที่แตกต่างจากเพื่อนคือโทมัสที่มีใบหน้าผิดปกติจนน่ากลัวและปกปิดใบหน้าด้วยการสวมถุงกระสอบ มีวันหนึ่งที่เด็กเหล่านั้นชวนกันไปเล่นที่ถ้ำใกล้ทะเลและแกล้งโทมัสให้ถอดหน้ากากพร้อมกับท้าว่าจะออกจากถ้ำหรือไม่ สุดท้ายโทมัสที่มีปมด้อยเรื่องใบหน้าไม่ได้ออกจากถ้ำและจมน้ำตายเพราะน้ำทะเลขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ลอร่าเห็นเป็นร่างของเด็กที่ปากถ้ำหลังจากพยายามหาซีโมนในวันที่หายไป ทว่าเรื่องในอดีตยังไม่จบลงแค่นั้นเมื่อเหล่าเด็กๆที่เหลือต้องตายเพราะความแค้นของเบนินญ่า (Montserrat Carulla) เจ้าหน้าที่ดูแลในสถานเลี้ยงเด็กที่เป็นแม่ของโทมัส แต่ลอร่าคือผู้ที่รอดชีวิตเนื่องจากถูกรับเลี้ยงไปเสียก่อน นี้จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมลอร่าถึงความผูกพันกับที่แห่งนี้อยู่บ้าง การสืบสาวหาความจริงทำให้ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าแท้จริงการมีผีไม่ใช่ประเด็นหลักของเรื่องทั้งหมด คำว่าผีน่าจะมาจากความบังเอิญหรือปมในใจที่เกี่ยวโยงกับสถานที่เสียมากกว่า เนื่องจากหลายสิ่งหลายอย่างสามารถเกิดขึ้นจากฝีมือของคนแบบเดียวกับที่ซีโมนทำขึ้นเองแต่แต่งเรื่องว่าเป็นของโทมัสเพื่อนที่ไร้ตัวตน ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ชัดเจนคือเกมปริศนาตามหาสมบัติที่เมื่อได้คำตอบจะนำไปสู่อีกปริศนาหนึ่ง ประสงค์หลักของเกมนี้คือการหาสมบัติไปเรื่อยๆเพื่อใช้ไปสู่สมบัติสุดท้ายที่มีค่าที่สุด ตรงกับประเด็นการหายตัวไปของซีโมนที่อยากให้รู้ว่าตัวเองสำคัญแค่ไหนและอยากให้แม่ตามปริศนาหาเขาให้เจอ ตรงกับข้อสรุปที่ว่าทำไมซีโมนรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ลูกแท้ๆและมีโรคประจำตัว นั้นเพราะตอนเล่นหาสมบัติชิ้นสุดท้ายคือเอกสารประวัติซีโมนที่ซ่อนอยู่ในโต๊ะ


The Orphanage มีจุดเด่นอย่างมากในการสื่อความหมายที่ซ่อนสายตาผู้ชมและการเล่าเรื่องที่เหมือนจะไม่มีอะไรแต่ซ่อนเงื่อนงำได้อย่างแนบเนียน หลายสิ่งหลายอย่างในเรื่องนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของคนเป็นกับคนตาย โดยเฉพาะในเรื่องการสะท้อนตัวตน ไม่ว่าจะการดูกระจกที่แสดงการเห็นเงาหรือตัวตนอีกด้านหนึ่ง การสะท้อนของแสงจันทร์เพื่อให้ดูเหมือนประภาคารมีไฟเพื่อให้ซีโมนเห็นว่าตอนนี้ยังส่องสว่าง รวมถึงการบ่งบอกลักษณะของคนที่กำลังจะตาย ทว่าสิ่งที่น่าชื่นชมยิ่งกว่าการเล่าเรื่องที่เฉียบคมคือการสื่อสารระหว่างผู้ชมกับตัวละครในด้านอารมณ์และภาวะจิตใจ ซีโมนคือเด็กที่มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม แน่นอนว่าการได้ไปเล่นกับเพื่อนคนอื่นๆที่มีตัวตนควรเป็นสิ่งที่เด็กทำกัน แต่ว่าซีโมนยึดติดกับการอยู่คนเดียวและเพื่อนในไร้ตัวตน ส่วนหนึ่งของสาเหตุน่าจะมาจากขาดความเข้าใจในตัวเขา เนื่องจากสิ่งที่ซีโมนทำมักจะเป็นเรื่องที่พ่อแม่ปล่อยปละไม่สนใจ ไม่แค่นั้นแต่รวมถึงฝ่ายทางพ่อแม่ที่ไม่อาจสื่อสารกับตัวลูกได้ดีพอว่าต้องการอะไร ทำไมถึงเป็นแบบนี้ เพราะอะไรกันแน่ ด้วยต้นเหตุนี้เองจึงเสมือนการสะท้อนการกระทำของพ่อแม่ที่ค่อยๆสว่างมากขึ้นไม่ต่างกับแสงจันทร์บนประภาคารที่เนื้อแท้ไม่มีแสงไฟใดๆและยังคงมืดอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ได้จากเรื่องนี้คงไม่พ้นเกี่ยวกับผู้ใหญ่ที่มีผลต่อเด็ก บางครั้งการกระทำอะไรสักอย่างของผู้ใหญ่ก็ดูเป็นเรื่องส่วนตัวเกินไปและส่งผลกระทบต่อหัวอกของเด็ก บางเรื่องที่อาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆแต่สำหรับเด็กคือเรื่องที่บอบบางและทำร้ายเขาได้แม้ไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)