The Silence of the Lambs (1991) อำมหิตไม่เงียบ

The Silence of the Lambs (1991)
อำมหิตไม่เงียบ
Director: Jonathan Demme
Genres: Crime | Drama | Thriller

นี่คือภาคแรกที่ทำให้เราได้รู้จักฆาตกรแห่งโลกมายาที่ซึ่งไม่มีใครเหมือนและเลียนแบบอย่างเขาคนนี้ได้ ทั้งความคิดอันแสนมืดบอดมีแต่ถลำลึกยิ่งๆขึ้นจนเราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เขาคิดมันเปลี่ยนมุมมองหรือคิดมุมกลับกันแน่ แต่คงไม่มีอะไรเกินเลยไปกว่าชอบเสิร์ฟคนบนจาน


The Silence of the Lambs ดั้งเดิมคือนิยายของ Thomas Harris เรื่องที่สามของเขา(เรื่องแรกคือ Black Sunday ตีพิมพ์เมื่อปี 1973 เป็นเรื่องราวระทึกใจการก่อวินาศกรรมของผู้ก่อการร้ายระหว่างชาติ จากนั้นถูกสร้างเป็นหนังในปี 1977 ส่วนเรื่องที่สองคือ Red Dragon เมื่อปี 1981 เป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของดร.จิตแพทย์ ฮันนิบาล เลคเตอร์ ทว่าไม่ค่อยมีบทบาทอะไรมากนักในเนื้อเรื่อง แต่กระนั้นเรื่องราวเหมือนจะแฝงความตั้งใจการปูทางให้ตัวละครนี้อย่างดีแบบน่าสงสัย ด้วยบุคลิกมากร้ายที่สามารถสงบสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้และชักใยควบคุมได้ด้วยหลักการจิตวิทยา จึงเป็นเหตุให้เกิดนิยายเล่มที่สามขึ้นมาอีกเล่มหนึ่งชื่อ The Silence of the Lambs แต่ก่อนผลงานเรื่องดังกล่าวจะออกมาให้อ่านนั้น ทางด้าน Red Dragon ยังคงถูกทำออกไปเป็นหนังด้วยเช่นกันในชื่อว่า Manhunter (1986) แต่เกิดไม่ประสบความสำเร็จจนหนังเงียบไปทั้งที่ตัวหนังสือติดอันดับ Best Seller ด้วยแท้ๆ) เป็นเรื่องราวของแคร์ลิซ สตาร์ลิง เจ้าหน้าที่เอฟบีไอฝึกหัดได้รับภารกิจตามล่าตัวฆาตกรโรคจิตรายหนึ่ง โดยมี ดร.เลคเตอร์มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเคยเป็นหมอให้กับคนไข้ฆาตกรดังกล่าว ซึ่งเลคเตอร์ตอนนี้ถูกคุมขังอยู่ในฐานะผู้ป่วยทางจิต และแคร์ลิซจำเป็นต้องได้ข้อมูลฆาตกรนี้จากเลคเตอร์ให้ได้


โดยทางผู้เขียนเรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายสานต่อให้กับการมีตัวตนของเลคเตอร์ได้อย่างน่าฉงน แปลกตา และเป็นตัวอันตราย ทั้งนี้สิ่งที่ผู้เขียนยังทำต่อไปอีกคือการเผยถึงมุมมองแบบหยาบๆของพลังจิตวิทยาด้วยด้านมืดกับสิทธิผู้หญิงที่สะท้อนออกมาในต้นทศวรรษที่ 90 แบบพอควร สำหรับหนังสือเล่มนี้นี้ได้ลงทำเป็นฉบับหนังด้วยเช่นกันในปี 1991 และประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะหนังที่สร้างจากนิยายทั้งรายได้และคำวิจารณ์ แต่ในช่วงเวลานั้นสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ได้ก้าวกระโดดมาไกลคือรางวัลออสการ์ ด้วยการรับรางวัลสำคัญติดต่อพร้อมกันถึง 5 สาขา ได้แก่  สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม,สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม,สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม,สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และสาขานักแสดงนำหญิง ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ของเวทีรางวัลออสการ์ทั้งสิ้น(คงไม่ต้องอธิบายดีกรีความน่าดูว่าน่าดูมากแค่ไหน แค่เห็น Anthony Hopkins เล่นก็เกินคำบรรยายแล้วในบทฮันนิบาล)

The Silence of the Lambs ในฉบับหนังนั้นได้ผู้กำกับ Jonathan Demme มาคุมหนังที่ทำได้อย่างเข้าเส้นดีในมุมกล้องและโทนบรรยากาศ กับด้านบรรยากาศมีลักษณะเด่นคล้ายทุกอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์หม่นหมอง ไม่สว่างจ้าหรือมืดเกินไป ทุกอย่างแลดูลดอย่างครึ่งๆเหมือนคนที่ดีก็ดีไม่เต็มร้อยหรือร้ายก็ไม่ร้ายเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ทำให้ตัวเองอดคิดไม่ได้ว่าทีมงานเป็นโรคกลัวแสงแดด เนื่องจากทุกเวลา ทุกสถานที่ หรือที่ไหนก็แล้วแต่ที่กำลังบอกหรือไปนั้นล้วนมีความทึมตลอดทั้งสิ้น โทนมามืดๆไม่ชวนสัมผัสถึงความแฮปปี้ ตลอดทั้งเรื่องออกอากาศอึดอัดเป็นประปราย ยิ่งตอนจบของหนังแทนที่จะรู้สึกโล่งใจกลับติดอยู่กับอารมณ์เดิมๆจนจบเครดิต สรปุว่าในเรื่องของแบล็คกราวคือจุดที่ทำให้เรื่องนี้ชวนระทึกขวัญดีแท้ แต่ก็อดคิดไม่ได้อีกว่าถ้าโทนจะหม่นขนาดนี้ถ้าไม่ได้นักแสดง Jodie Foster ส่งบารมีหน้าสวยใสแล้วก็ คงออกอาการเก็บกดไปทั้งเรื่องแน่เลย พูดถึงนักแสดงทำให้คิดอยู่ว่าตอนเลือกนักแสดงมารับบทคือจุดที่กำหนดพลังของหนังเรื่องนี้มิใช่น้อย เริ่มจาก Jodie Foster บทแคลริซนางเอกของเรื่องก่อนเลย


ที่ก่อนหน้านี้อันที่จริงคนที่จะมาเล่นคือ Michelle Pfeiffer แต่เกิดขอลาเพราะตัวเองบอกว่ารับบทไม่ไหว มันทรหดเกินไปสำหรับตัวเอง ส่วนตัวคิดว่ามันยากๆจริงเหมือนกัน เพราะอย่างแรกคือสีหน้ามันต้องได้กับสิ่งที่ตัวเองพูดอยู่ ต้องเป็นตัวละครมีปมในใจ และสำคัญสุดคือการเล่นจิตวิทยากับเลคเตอร์ที่เหมือนคนปกติคุยกัน รวมไปถึงฉากท้ายเรื่องที่ต้องเผชิญความกลัวในที่มืดที่เล่นอย่างมาก แต่ที่ว่าเล่นดีมีอีกคนคือ Anthony Hopkins ในบท ดร.ฮันนิบาล เลคเตอร์ที่ได้ดิบได้ดีจนไม่อยากเชื่อว่าจะสมบทบาทขนาดนั้นได้ หรือจะบอกว่าการทำหน้าตาเช่นนั้นมันตีคาแรกเตอร์ตัวละครได้กระจุยกระจาย สีหน้าแบบนิ่งเงียบ แววตาดุดัน เป็นใบหน้าที่จ้องคล้ายจะกินคนที่มองได้ทั้งเป็น โดยก่อนหน้านี้ได้มีตัวเลือกอยู่ไม่น้อยว่าจะเอาใครมาเล่นบทนี้ดี ซึ่งก็มี Louis Gossett Jr. นักแสดงผิวสีที่ส่วนตัวมีความเห็นว่าไม่น่าจะเหมาะสมเพราะจิตใจตัวละครจะดูลึกไม่พอ คนที่สอง Robert Duvall ที่ผิวเผินดูจะใช้ได้แต่แววตาออกไปทางมีความเมตตาจนไม่น่าจะอำมหิตพอ คนที่สามคือ Jeremy Irons ที่แลเป็นตัวโกงตั้งแต่แรกเห็น

ที่น่าตกใจคือแม้แต่นักแสดงคนดังอย่าง Robert De Niro ก็ร่วมกับเขาด้วย แต่ว่าความเห็นส่วนตัวการไม่เลือกคนดีนับว่าดีแล้ว เพราะไม่งั้นตัวหนังอาจมาในรูปแบบทริลเลอร์มาเฟียแน่ๆเลย(ติดตาในเรื่อง Goodfellas (1990)) และคนสุดท้าย Jack Nicholson ที่วาดลีลามาแล้วในเรื่อง The Shining (1980) แบบป่วยจิตมากๆจนไม่มีใครจำเขาไม่ได้ในบทพังประตูด้วยขวานที่เหี้ยมสาแก่ใจ หรือจะ Batman (1989) ที่เล่นเป็นโจ๊กเกอร์แบบกวนโอ๊ย เป็นไปได้ว่ารายหลังค่อนข้างมีโอกาสสูง แต่นึกสภาพแล้วติดตาติดใจกับความบ้าไม่อยู่นิ่งมากกว่า และตัวละครเลคเตอร์เป็นประเภทใจเย็นมาดนิ่งซะด้วย ดังนั้นจะใครก็สู้ลุง Anthony Hopkins ของเราไม่ได้เลย เพราะการวางมาดทั้งท่วงท่าและลีลามีจุดตายที่เหนือชั้นกว่าคนอื่นๆ(ยิ่งฉากจับเฉพาะใบหน้าด้วยแล้วยิ่งสมชื่ออำมหิตไม่เงียบจริงๆ) และที่สำคัญส่งท้ายนักแสดงทั้งสองคือการได้รางวัลออสการ์ที่เชื่อสนิทเลยว่าได้เป็นได้ นับว่าทีมงานตาถึงที่ตัดสินใจถูกต้องในการคัดนักแสดงจริงๆ


มาต่อนักแสดงรายอื่นกันบ้างอย่างบทแจ๊ค ครอว์ฟอร์ดโดย Scott Glenn ที่เล่นดีเหมือนกันในฐานะหัวหน้าของแคร์ลิซที่ดูเป็นผู้ใหญ่มีประสบการณ์ แสดงถึงความรู้ที่ทดสอบแคร์ลิซเป็นระยะๆ แล้วก็มี Anthony Heald ที่เล่นเป็น ดร.เฟรเดอริก ชิลตันเป็นหัวหน้าสถาบันประสาทที่เลคเตอร์ถูกจองจำอยู่ เป็นตัวละครที่ทำออกมาน่ารังเกียจ เป็นตัวจอมขโมยผลงานของแคร์ลิซ แรกๆเราไม่รู้สึกอะไรกับตัวละครนี้มากนักจนได้เรื่องเท่านั้นแหละ ถึงเข้าใจว่าความน่าหมั่นไส้เป็นยังไง และก็เล่นได้ดีแบบร้ายตามบทบาท และคนสุดท้ายที่เป็นตัวร้ายของเรื่องนี้คือบัฟฟาโล บิลล์ที่ได้นักแสดง Ted Levine มาเล่นได้น่าพอใจไม่น้อย น่าเสียดายที่ออกมาโชว์สปิริตน้อยไปหน่อย แต่ว่ามาแต่ล่ะครั้งนับว่าส่วมบทผู้มีปัญหาเรื่องเพศได้สมใจอยากกันเลย(ประมาณว่าอาการ Homosexual แต่เป็นอะไรที่ลึกกว่านั้น) ส่วนนักแสดงรายอื่นต่างทำได้ดีกันทั้งนั้นแม้จะกลายเป็นตัวประกอบไปเลยทั้งสิ้นก็ตาม เพราะนอกจากนักแสดงข้างต้นที่กล่าวมาล้วนเป็นตัวละครหลักทั้งสิ้น และส่งท้ายคือการแสดงที่ประจันหน้ากันทีไรเหมือนยิ่งทำให้หนังเข้มข้นชวนระทึกมากขึ้น

กลับมาที่ตัวหนังที่รู้สึกได้ว่ามาแนวสืบสวนได้ตรงใจ มีการเก็บรายละเอียดที่ค่อนข้างหนักไปทางศึกษาพฤติกรรมที่ค่อนข้างบวกวิชาการ(แต่โชคดีที่เนื้อหาที่พูดๆกันในเรื่องไม่ได้ยากจนต้องนั่งศึกษากุมขมับ) รวมไปถึงแง่ปมต่างๆที่สะท้อนตัวตนออกมาแบบน่าสงสัย อย่างการที่ฆาตกรต่อเนื่องมักจะมีของสะสมที่ฝ่ายตำรวจมักใช้เป็นหลักฐานจับกุมได้ แต่ที่คิดว่าตัวหนังทำได้ไม่เบาคือการเล่นกับตัวละครแบบถึงก้นลึกของจิตใจอย่างแคร์ลิซที่มีปมในใจกับตัวเองเกี่ยวกับลูกแกะส่งเสียงในความฝัน หรือจะเลคเตอร์ที่ใช้ภาษาการพูดชวนล่วงลึก มีเล่ห์เลี่ยมอย่างไม่เปิดเผย ตลอดถึงความไม่ธรรมดาจากแววตาที่ทะลุกระจกได้(เรื่องคุกในฉบับหนังสืออันจริงมีลูกรงเหล็ก มีตาข่ายไนล่อนอย่างหนากั้นอีกชั้นหนึ่งเป็นพิเศษ ขึงจรดทั้งกำแพงและเพดาน แต่เพราะถ้าทำเช่นนั้นตัวหนังจะแผ่วเรื่องฤทธิ์เดชของเลคเตอร์ไม่สามารถแสดงความอำมหิตและสีหน้าได้เต็มตา) นับว่าดูสะใจแบบเงียบๆหรือจะสนุกแบบชวนระทึกก็ไม่ผิด ที่สำคัญกว่านั้นคือการเล่าเรื่องแบบไม่เสียเวลาไปกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานจนเกินไป เห็นว่าเป็นแนวสืบสวนที่ได้เลคเตอร์มาเป็นที่ปรึกษาแต่ไม่ได้หมายความว่าเลคเตอร์จะไม่เป็นตัวอันตรายแม้จะอยู่ในคุกก็ตามที เพราะในใจมีความอยากออกจากคุกซึ่งมีมากแน่นอนจากสำเนียงภาษาที่อยากเห็นบรรยากาศภายนอกอย่างที่เคยเป็นตอนคุยกับแคร์ลิซ ไม่ใช่มานั่งๆนอนๆในห้องสี่เหลี่ยมที่มีกระจกใสกั้นที่เหมือนมีกำแพงล่องหนที่ตัวเองทำได้เพียงอ่านหนังสือกับดูทีวีไม่มีเสียง เป็นมิติที่ช่วยทำให้หนังมีหลายสิ่งหลายอย่างน่าดูเพียบ


กลับมาที่ Thomas Harris นักเขียนเรื่องนี้ที่ก่อนจะมาทำหนังสือดังกล่าวเขาเคยทำงานสื่อข่าวด้านอาชญากรรมในประเทศสหรัฐและเม็กซิโก  และยังเป็นผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าวของ Associated Press ประจำนครนิวยอร์ค จึงใช้ความรู้ประสบการณ์เรื่องอาชญากรรมมาเป็นแรงผลักดัน แต่ทั้งนี้ตัวเขาเองยังเป็นถึงนักจิตวิทยาเป็นนักจิตวิเคราะห์ที่มีความถนัดในด้าน "TA"(Transactional Analysis) แขนงหนึ่งของจิตบำบัดที่มุ่งให้ผู้ป่วยปรับตัวให้เข้ากับชีวิตที่เป็นจริง ดังนั้นแล้วการดำเนินเรื่องย่อมมีหลายสิ่งแฝงไว้มากมาย

แม้กับตัวเองจะไม่เคยอ่านฉบับนิยายจริงๆมาก่อน กระนั้นได้เคยลองอ่านศึกษาบางประโยคสนทนาในหนังสือทำให้เห็นรูปลักษณ์หลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งก็ได้อ่านการวิเคราะห์จาก ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม มาบางส่วนจึงทำให้เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่าต้นฉบับภาษาอังกฤษมีลูกเล่นลูกคอกับคำศัพท์ไม่ใช่น้อย และผ่านการประเมินวิเคราะห์จนถ้าจับใจความได้จะเป็นบทสนทนาที่เข้มข้นด้วยจิตวิทยาแบบห่ำหั่นกันเป็นว่าเล่นทีเดียว นอกจากจะใช้ความสามารถจากประสบการณ์ตัวเองแล้วยังรวมไปถึงการอิงจากเรื่องจริงที่น่ากลัวเกี่ยวกับตัวละครอย่างบัฟฟาโล บิลล์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากฆาตกรทั้ง 3 ราย ที่มี Gary Leon Ridgway(the Green River Killings),Ted Bundy และ Ed Gein ซึ่งต่างล้วนมีปัญหาทางจิตแทบทั้งสิ้น และกลายเป็นฆาตกรที่ได้รับการกล่าวขวัญในโลกฆาตกรสุดโหดเป็นอย่างดี


ไม่ใช่แค่อิงเรื่องฆาตกรเพียงอย่างเดียว ถ้าเราสังเกตในเรื่องจะเห็นว่าแคร์ลิซมาปรึกษาเลคเตอร์เรื่องคดีทั้งๆที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องเหมาะสมเท่าไหร่ แต่เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเรื่องจริง โดยคดีดังกล่าวเป็นผู้หญิงถูกฆ่าและทิ้งศพไว้กว่า 40 ราย จน Robert Pepper ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอาชญาวิทยาของวอชิงตันต้องไปขอคำปรึกษาจาก Ted Bundy แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถคลี่คลายคดีนั้นได้ และ Ted Bundy ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลดโทษใดๆจากการเข้าช่วยไขคดี และถูกประหารไปเมื่อ 24 มกราคม 1989

นี่แหละคือเค้าโครงทั้งหมดของ The Silence of the Lambs ที่ได้รับแรงบันดาลใจการสืบคดีฆาตกรต่อเนื่องจากฆาตกรต่อเนื่องอีกราย แต่ข้อดีที่แตกต่างกันคือเลคเตอร์เป็นจิตแพทย์ที่รักษาคนไข้เอาไว้มากจนสามารถทำความเข้าใจได้ดีกับฆาตกรต่อเนื่องที่ถ้าเขารู้จักก็ง่ายๆขึ้น ซึ่งในเรื่องเลคเตอร์ไม่ใช่คนที่อยากจะบอกก็บอก คุณต้องไปสืบเอาเองด้วยความสามารถที่มีเพราะเขาช่วยได้แค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น และอีกครึ่งเขากำลังเล่นงานคุณแบบอ้อมๆอยู่

The Silence of the Lambs เป็นหนังแนวอาชญากรรมที่คิดว่าดีในระดับต้นๆที่หาแนวทำนองนี้ได้ยาก ไม่ว่าจะปมตัวละคร ความสัมพันธ์ หรือจะการดำเนินเรื่องอย่างต่อเนื่องที่แน่นละเอียดจนดูไม่ออกว่ามันเว่อร์ตรงไหนในฐานะเพียงหนังสร้าง แต่การหยิบจิตวิทยามาเล่นตลอดทั้งเรื่องนี่แหละที่ทำคะแนนได้อย่างสูงลิบลิวเป็นอะไรที่สุดยอด ดูไม่เบื่อเลยสักนิดเดียว สำหรับเรื่องนี้ค่อนข้างอยากแนะนำถ้าใครยังไม่เคยสัมผัสเพราะมันคุ้มค่ามากสำหรับเรื่องนี้

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)