Carrie (1976) แครี่ สาวสยอง

Carrie (1976) | แครี่ สาวสยอง
Director: Brian De Palma
Genres: Horror| Mystery
Grade: A-
 
"เด็กมีปัญหาไม่ใช่เพราะตัวเด็ก แต่มาจากสิ่งรอบข้างที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองคือแกะดำที่กลายเป็นอสุรกายได้" 
 
ดัดแปลงมาจากนิยายของ Stephen King หรือราชาเขย่าขวัญที่เขียนหนังสือสะท้อนความหวาดกลัวจากใจมนุษย์ในแบบไม่ซับซ้อนแต่เกินคาดเดากับด้านมืดในใจที่อยู่นอกเหนือสิ่งเหนือธรรมชาติ และนี้ก็เป็นหนังเรื่องแรกที่ดัดแปลงมาจากหนังสือของเขาก่อนภายหลังจะมีการดัดแปลงมาเป็นหนังยาวเป็นหางว่าว แต่ถ้าพูดถึงงานที่มีคุณภาพน่าจับตามองจริงๆต้องเริ่มที่เรื่องนี้ที่ดัดแปลงออกมาเป็นหนังได้อย่างแยบยลและไม่น่าเบื่อแถมยังทรงพลังอีกต่างหาก และเรื่องของเรื่องก็มาจากจุดเริ่มต้นของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ท่าทางขี้กลัว อ่อนแอ และไร้เดียงสาต่อโลกภายนอกราวกับคนที่ถูกมองข้ามเสมอและยังเป็นตัวตลกในสายเพื่อนๆอย่างปฏิเสธไม่ได้ และเธอคนนั้นชื่อแครี่ ไวท์ (Sissy Spacek) ที่ถูกกีดกั้นจากทุกสิ่งจากมาร์กาเรต (Piper Laurie) แม่ที่คลั่งศาสนาจนมองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบาปไปเสียเกือบหมด ซึ่งแม่ของแครี่คือต้นเหตุในหลายๆเรื่องที่ไม่ยอมบอกอะไรเลยและวันๆก็ทรมานลูกให้ท่องสวดมนต์ในห้องแคบเชิงการสารภาพบาป แต่แล้วเมื่อเวลานั้นมาถึงก็กลายเป็นเรื่องแย่ๆเกิดขึ้นกับตัวแครี่เมื่อระหว่างอาบน้ำหลังเล่นบอลเลย์เสร็จก็เกิดประจำเดือนอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ที่สำคัญคือมันไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้หญิงทั่วไป ทว่ากับแครี่นั้นไม่รู้ว่าอะไรคือประจำเดือนมาก่อนเนื่องจากแม่ของเธอไม่เคยบอกถึงมาก่อนเพราะเรื่องแบบนี้คิดว่าคนในครอบครัวคงรู้กันอยู่แล้วเมื่อลูกโตเป็นสาว กระนั้นกับครอบครัวไวท์ที่มีเพียงแม่กับลูกสาวดูจะไม่ใช่แบบนั้นเลยเมื่อคนที่เป็นแม่ดันบ้าศาสนาเข้าเส้นจนมองว่าการมีประจำเดือนคือบาปที่ทำให้ลูกสาวกลายเป็นเหยื่อของบรรดาผู้ชาย นี่จึงเป็นต้นเหตุที่ว่าแครี่เริ่มถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมากขึ้นและยังโดนกลั่นแกล้งจากเพื่อนเสมอเพราะเธอคือตัวประหลาด แต่แครี่ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปเมื่อเธอเริ่มจะมีพลังจิตและจะแสดงออกมาเมื่ออารมณ์ของเธอแปรปรวน เมื่อไรที่คุมอารมณ์ไม่อยู่ก็เมื่อนั้นคงถึงคราวระบายอารมณ์ไม่เลิกรา


เนื้อเรื่องก็ดูจะวัยรุ่นๆซะหน่อยเพราะไม่ได้หันไปมุ่งประเด็นทางกลุ่มผู้ใหญ่มากนักแต่ก็ถือว่ายังมีรายละเอียดเก็บได้ครบดีในแง่การยอมรับของสังคม ตัวอย่างสายตาของอาจารย์ใหญ่ที่จะทำตาตกใจเมื่อเห็นเลือดเปื้อนกางกางของอาจารย์คอลลินส์ (Betty Buckley) ทั้งที่มันไม่น่าจะมีอะไรมากนัก แต่ก็ตระหนักได้ว่าเลือดดังกล่าวไม่ใช่เลือดที่ไหลจากบาดแผลหากหมายถึงเลือดที่ออกมาเพราะการมีประจำเดือน แน่นอนว่าแครี่ผู้พึ่งมีครั้งแรกยังคงตกใจด้วยความช็อกไม่เคยคาดคิดว่าก่อนว่าร่างกายจะขับเลือดด้วยวิธีนี้ได้แถมด้วยความไม่ทันคิดนี้เองที่ทำให้เธอกลัวจนเห็นเลือดแล้วนึกว่าตัวเองกำลังจะตายจนต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนอย่างไม่ทันระวัง

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการโดนกลั่นแกล้งล้อเลียนอย่างหนักด้วยการผลักไสให้ไกลตัวเนื่องจากแครี่ยังมีเลือดติดอยู่เลย อีกทั้งมือที่ยังเลอะเลือดก็จับคนอื่นเพื่อขอความช่วยเหลือกลายเป็นสิ่งที่หลายคนรังเกียจไปแทน แครี่โดนแกล้งราวกับเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างคนปกติ ไม่มีใครเข้าหานอกจากอยากออกจากตัวแครี่ แน่นอนว่าแครี่เองเข้าใจในความโดดเดียวนี้ดีและกำลังพยายามควบคุมอารมณ์ให้มากที่สุดเนื่องจากเธอรู้ตัวว่ามีพลังพิเศษที่ควบคุมอะไรก็ได้ ในวันที่โดนแกล้งเรื่องประจำเดือนจนเป็นที่อับอายไปทั่วนั้นบ่งบอกถึงอารมณ์เก็บกดอย่างชัดเจนผ่านพลังที่หลุดออกมาทั้งที่พยายามจะห้ามเพื่อไม่ให้ใครสังเกตในความผิดปกติ ส่วนหนึ่งมาจากความกดดันผ่านผู้ใหญ่ นั้นเพราะมุมมองในตัวผู้ใหญ่ดูเป็นดาบสองคมสำหรับตัวแครี่ที่เหมือนจ้องจะปรับเปลี่ยนชีวิตของเธอราวกับเด็กมีปัญหา ทว่ากับอาจารย์คอลลินส์ผู้พยายามใกล้ชิดตัวแครี่มากที่สุดไม่ได้คิดจะกดดันตัวแครี่แต่อย่างใดนอกจากให้กำลังเสมอแถมยังช่วยจัดการคนที่แกล้งอีกด้วย กระนั้นยังคงเป็นดาบสองคมที่ผลักดันให้เด็กเกลียดแครี่มากกว่าเดิมด้วยเหตุผลคืออาจารย์เข้าข้างแครี่


ทอมมี่ (William Katt) มาชวนไปงานเต้นรำหรืองานเลี้ยงรุ่นปีสุดท้าย เหตุผลของการมาชวนแครี่คือเรื่องตลกและแปลกประหลาดที่สุดจนไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็เกิดขึ้นจนได้จนเป็นเรื่องแปลกใจทั้งแครี่ที่ไม่เคยสัมผัสช่วงเวลาเช่นนี้มาก่อนกับทอมที่ไม่ได้คิดตั้งใจจะชวนเลยด้วยซ้ำเพราะเดิมทีคนที่คู่กับทอมคือซูอี สเนล (Amy Irving) แน่นอนว่าแครี่เข้าใจในเรื่องนี้อย่างหนึ่งว่าเธอคงกำลังโดนแกล้งให้อับอายอีกครั้งว่าจะชวนไปงานเนื่องจากคนที่เข้างานได้นั้นต้องมีสิทธิพิเศษคือต้องมีคู่ไปด้วยจึงจะอนุญาติเข้าได้ แล้วทำไมทอมถึงละทิ้งซูอีมากับแครี่ทั้งที่คนอื่นจะมองด้วยสายตาขบขันไปด้วยล่ะ คำตอบนี้คือคนที่ทำให้ทอมตกลงใจเรื่องนี้คือซูอีนั้นแหละ

อาจจะแปลกแต่คาแรกเตอร์ของซูอีจะเด่นชัดที่สุดในหมู่เพื่อนๆที่ไม่ได้จงเกลียดจงชังแครี่อะไรเลยสักนิดและยังมองเป็นเรื่องที่ควรจะรับผิดชอบด้วยซ้ำเวลาถูกทำโทษที่ไปทำร้ายจิตใจแครี่ทั้งที่ความจริงเธอเองไม่ได้มีเจตนาดังกล่าวเพียงแค่อยู่ในเหตุการณ์เสียมากกว่าแม้จะนึกตลกกับเรื่องที่เกิดขึ้นในห้องอาบน้ำเรื่องประจำเดือนครั้งของแครี่ ก็น่าแปลกที่คนเรามองการมีประจำเดือนในมุมมองแง่ลบเกินไปทั้งยังมีความคิดว่าทำไมไม่จัดการด้วยตัวเองให้เสร็จไปซะเล่า หรือจะบอกว่าเรื่องแค่นี้ก็ยังไม่รู้อีกเหรอว่าควรทำยังไงทั้งที่ผู้หญิงทุกคนจะต้องเจอเป็นเรื่องปกติ ในแง่นัยยะการมีประตำเดือนคือการพ้นวัยอีกวัยหนึ่งไปสู่อีกวัยหนึ่งของเพศหญิงที่บ่งบอกถึงการมีลูกได้ ในขณะเดียวกันเสมือนการบอกความพร้อมที่จะมีเพศสัมพันธ์อย่างเต็มใจ ความเต็มใจในที่นี่หมายถึงเรื่องร่างกายที่พร้อมรับต่อการมีลูก นี้จึงเป็นประเด็นอย่างหนึ่งเกี่ยวกับแม่แครี่ว่าเพราะอะไรเธอถึงกลายเป็นคนที่เสียสติที่มุ่งแต่บ้าศาสนาเพราะปมในอดีตนั้นเอง


ย้อนกลับมาที่ซูอีที่ยอมสละไม่ไปร่วมงานแต่เลือกคุยกับทอมแล้วให้เขาไปกับแครี่จนต้องไปแม้ทีแรกจะไม่เต็มใจเลยก็ตาม ในจุดนี้เราจะค่อยๆเห็นด้านที่แตกต่างจากคนอื่นๆที่ห่างเหินแครี่แต่กับทอมพยายามเข้าหาแครี่เพื่อขอคำตกลงว่าสนใจจะไปร่วมงานเต้นรำหรือไม่ แล้วทำไมซูอีจึงอยากให้ทอมไปร่วมงานกับแครี่นักทั้งที่แครี่คือคนที่หลายคนพากันเดินหนี ประเด็นนี้ต้องมองไปที่ตัวอย่างแบบอาจารย์คอลลินส์ที่เข้าหาแครี่ตลอดและให้กำลังใจเสมอ ด้วยภาพลักษณ์นี้เราจึงมองเห็นด้านที่มีความสุขของแครี่และมั่นใจว่าไม่ได้โดดเดี่ยวไปซะเสมอไป ดังนั้นซูอีที่มองต่างออกไปจึงเริ่มเข้าใจและคิดว่าเราควรจะช่วยมากกว่าทำให้แย่ลงจากที่เป็นอยู่เพราะเรื่องที่ทำเป็นเรื่องที่น่าละอาย คงไม่ต้องพูดถึงว่าการละอายเช่นนี้คือรูปแบบไหนเมื่อมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะถึงนี้คือการละอายต่อบาปที่ก่อ ตัวหนังใช้ศาสนาเข้ามามีเอี่ยวบ้างเล็กน้อยเพื่อต้องการถึงความพอดี ความถูกต้อง และตระหนักในสิ่งที่ศาสนาคริสต์สอนคือจงรักเพื่อนร่วมโลก ซูอียอมสละเพื่อให้แครี่ได้มีโอกาสที่มีความสุขในการเข้างานเต้นรำทั้งที่เจ้าตัวเองก็ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะมีเวลาเช่นนี้จริงๆได้ แต่เชื่อไหมว่านี้อาจเป็นแผนแกล้งแครี่ซึ่งหลังจากอาจารย์คอลลินส์ รู้เรื่องนี้และเรียกพบซูอีกับทอมทำให้รู้ว่าเรื่องที่ทำไม่ได้เกิดจากการแกล้งแต่เป็นเรื่องที่อยากช่วยจริงๆ สุดท้ายแล้วทอมก็ชวนแครี่จนเธอตอบตกลงได้สำเร็จ ในขณะที่เธอกำลังมีความสุขที่ได้ไปงานเต้นรำแต่ก็มีคนที่อดไปงานด้วยเช่นกัน คนนั้นคือคริส ฮาเจนเซ็น (Nancy Allen) หนึ่งในคนที่แกล้งแครี่และอดไปงานเพราะทนถูกอาจารย์คอลลินส์ไม่ไหวเนื่องจากมันไร้เหตุผลที่ต้องมาทำเพียงเพราะแครี่มีประจำเดือนครั้งแรก แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การกลั่นแกล้งครั้งแรกแต่ครั้งนี้จะเป็นการโฟกัสที่ชัดเจนที่สุดของการเอาคืน โดยตัวหนังจะนำเสนอในช่วงต้นๆว่าแครี่คือสาวน้อยผู้อ่อนต่อโลกและบอบบางจนน่าหดหู่ยิ่งนัก ทั้งยังมีการแสดงถึงพลังอย่างลับๆโดยไม่ให้ใครรู้แม้แต่แม่ตัวเอง แต่ภายหลังได้รับการช่วยเหลือถาพลักษณ์ที่ได้จึงดูมีระดับของความทุกข์และสุขที่พอๆกันในตัวแครี่ ยกเว้นเรื่องเดียวคือแม่ของเธอที่ไม่ฟังเสียงลูกเลยสักอย่างเดียว


หนังสอดแทรกประเด็นครอบครัวระหว่างแม่กับลูกโดยมองแม่เป็นคนที่กลัวต่อการเปลี่ยนแปลง สังคมภายนอก และการยึดติดกับตัวลูกโดยไม่ต้องการให้เธอไปไหนอย่างเรื่องงานเต้นรำ ในจุดนี้การเล้าเรื่องทำได้ดีดูหนักแน่นอนและสมจริงอย่างมากกับการแสดงของ Piper Laurie กับ Sissy Spacek ได้อย่างหวั่นวิตกและน่าหดหู่ ฉากที่ชอบคือตอนที่แครี่พยายามอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้แม่ของตัวเองได้รู้และใจเย็นลงแต่ก็ไม่ยอมรับรู้อะไรนอกจากท่องบทสวดใส่และบังคับให้แครี่พูดสำนึกบาปโดยใช้หนังสือแหย่ใส่หน้าราวกับให้อาหารสัตว์ ดูเป็นฉากที่หดหู่และไร้ความเป็นแม่โดยสิ้นเชิงที่สั่งสอนลูกด้วยการบังคับและข่มขู่ด้วยบาปและอีกฉากที่เรียกได้ว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือคือฉากที่แครี่ได้ใช้พลังอย่างเปิดเผยโดยรู้วิธีควบคุมในที่สุดจากการค้นคว้าหาหนังสืออ่านในห้องสมุด พลังที่เธอใช้คือกับแม่ของตัวเองจนผู้เป็นแม่ถึงกับตะลึงเพราะคิดว่าคือพลังต้องห้ามที่ซาตานมอบให้ สุดท้ายความคิดของแครี่คือการได้เผชิญต่อสังคมในสิ่งที่ไม่เคยพบมาก่อนจนกลายเป็นคนร่าเริงเพราะมีคนยอมรับเธอ โดยส่วนตัวแล้วสิ่งที่น่ายกย่องคือการวางฉากต่างๆได้ดีและแบ่งระยะของทุกข์และสุขได้อย่างพิถีพิถัน เช่น ตอนเข้างานเต้นรำระหว่างทอมกับแครี่ที่ผู้ชมรู้อยู่ก่อนแล้วว่าในใจทอมไม่เต็มใจเท่าไหร่แต่ที่ทำไปเพื่อซูอีข้อร้องเอาไว้ ทว่าทอมเองก็กลายเป็นว่ามีท่าทีที่เป็นมิตรมากกว่าจะรู้สึกตัวเองตลก เนื่องจากแครี่มีความสวยงาม เห็นได้ชัดว่าเมื่อแครี่มีความสุขจะเป็นคนที่สวยสง่าน่ารักอาจจะไม่เท่าคนอื่นแต่รัศมีก็บ่งบอกความเป็นตัวของตัวเธอได้อย่างจริงใจ ในฉากงานเต้นรำคือฉากที่สุดยอดของความดีที่ทำให้ผู้ชมคล้อยตามไปอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะแสงสีเสียงก็ล้วนกลายเป็นอีกมุมหนึ่งของหนังราวกับคนละเรื่องที่หดหู่ก่อนหน้านี้ นับเป็นช่วงที่มีความสุขอย่างมากของแครี่จนหนังมีพลังเพียงพอที่สื่อมาถึงผู้ชมได้ในจุดนี้จนหลงลืมไปแล้วว่านี่คือหนังที่แสนโหดร้ายที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตแครี่บนพื้นฐานที่ย่ำแย่ และนั้นคือสิ่งที่ทำให้แครี่ยิ้มอย่างภาคภูมิใจก่อนที่ความเลวร้ายจะกลับมาอีกครั้งด้วยการทำร้ายผู้ชมในแบบ Non-Stop เห็นผลเด็ดขาดในทีเดียว ไร้ความเมตตา ไม่ลังเล และทำลายงานที่แสนสนุกนี้เพียงชั่วพริบตาโดยไม่มีใครรอดสักคน ซึ่งนี้คือฉากที่ทรงพลังที่สุดของเรื่องที่ไม่ใช่แค่เทคนิคเอฟเฟค การตัดต่อ เสียงประกอบ แต่ยังรวมถึงสีหน้าของ Sissy Spacek ที่น่ากลัวที่สุดเสมือนสาปส่งให้ไปตาย มันคือฉากที่เซอร์ไพรส์และเจ็บปวดที่สุดของเรื่อง


Carrie อาจจะไม่ได้หนักแน่นทางเนื้อเรื่องอะไรมากนักซ้ำยังเติมแต่งจากคนธรรมดาให้มีพลังจนฟังดูไร้สมเหตุสมผลไปหน่อย แต่เป็นประเด็นอย่างหนึ่งที่หนังเขียนมาได้ดีในเมื่อมีพลังแล้วทำไมต้องกลัว ทำไมต้องปล่อยตัวเองถูกแกล้งจากเพื่อนๆที่มองไม่เห็นความเป็นคนนอกจากมองเป็นเรื่องสนุก  อะไรที่ทำให้คนมีพลังต้องอ่อนแอกว่าเป็นเรื่องที่สนใจเพราะคำตอบจะปรากฎในตอนท้ายเรื่องว่าแท้จริงแล้วพลังของแครี่ไม่ได้เกิดมาจากการป้องกันหรือใช้เพื่อทำให้ตัวเองสะดวก แต่พลังที่ควบคุมนั้นมาจากการระบายอารมณ์เต็มไปด้วยความแค้น ความอยาก แม้การระบายอารมณ์จะเป็นการปลดปล่อยและเป็นเรื่องที่ดีที่ไม่ต้องเก็บกด กระนั้นกับคนปกติคงอย่างมากแค่ร้องตะโกน เตะโน้นต่อยนี้ ไม่ได้เหมือนแครี่ที่ถูกพลังครอบงำอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวและขาดสติบางครั้งที่ใช้พลัง คงไม่ว่าอะไรถ้าจะชอบเรื่องนี้ที่ดูสดใหม่ดีในการเล่าเรื่องแบบคนปกติที่มีพลังและเสียดสีสภาพสังคมด้วยเปลือกและภายใน อ่ออีกอย่างมีนักแสดงที่คุ้นหน้าคุ้นตาคือ John Travolta ที่ยังคงเป็นหนุ่มหล่อมีคาแรกเตอร์กวนๆในเรื่องด้วยเช่นกัน เป็นหนึ่งตัวละครเด่นของเรื่องที่อาจเป็นแค่ตัวประกอบแต่ช่วยเพิ่มสีสันของหนังได้ดีทีเดียว ทีนี่เราจะมองหนังเรื่องนี้ยังไงก็แล้วแต่คงเก็บไปตระหนักคิดได้อย่างหนึ่งว่าการแกล้งคนนั้นอาจเป็นเรื่องที่สนุกซึ่งเจ้าตัวอาจขำไปด้วยแต่กับภายในใจเราบอกไม่ได้เลยว่าเขาคิดอะไรบ้าง บางคนเข้าใจว่าสนุกและขำกับบางคนอับอายและเดินหน้าหนี สิ่งเหล่านี้บางทีต้องมองที่สังคมว่ายอมรับด้วยหรือไม่ เพราะถ้าไม่ยอมรับกลายเป็นที่เล็งจากสายตาว่าน่ารังเกียจคงไม่พ้นการเป็นตัวประหลาดที่เก็บกดมากขึ้นและมากขึ้นเช่นเดียวกับแครี่ที่ใกล้จะทำสำเร็จยอมรับด้านที่มีความสุขจนกระทั่งเรื่องน่าขายหน้าเข้ามาแบบกระทันหันก็กลายเป็นจุดระเบิดในคราวเดียว

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)