Suspiria (1977) ดวงอาถรรพ์

Suspiria (1977) | ดวงอาถรรพ์
Director: Dario Argento
Genres: Horror
Grade: B+
 
"จุดสยองขวัญของเรื่องนี้คือ 15 นาทีแรกอันน่าสะพรึง กับ 12 นาทีสุดท้ายอันน่าหวาดผวา"

ซูซี่ แบนเนี่ยน (Jessica Harper) หญิงสาวผู้เดินทางตรงจากนิวยอร์คมาสู่เยอรมันเพื่อเข้าเรียนบัลเล่ต์ยังสถาบันชื่อดังของยุโรป แต่ต้องพบเรื่องแปลกประหลาดหลายอย่างเมื่อซาร่า (Stefania Casini) เพื่อนที่ร่วมเรียนบัลเล่ต์เหมือนกันมาเล่าถึงความผิดปกติของสถานที่แห่งนี้ แม้พล็อตไม่ได้แปลกประหลาดจนน่าคัลท์อะไรแต่สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้เต็มไปด้วยความน่ากลัวคือเทคนิคการเล่าเรื่องในแบบฉูดฉาดมากสีสัน ซึ่งสีดังกล่าวไม่ได้ทำมาเพื่อให้แสบตาหรือโดดเด่นแต่น่าจะหมายถึงความหมายของสีกับอารมณ์ร่วมเสียมากกว่า แม้สีจะเป็นสิ่งแรกที่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครเพราะสะดุดตากันเหลือเกินจนไม่คิดว่าจะเป็นหนังเพราะคลับคล้ายกับการดูเวทีการแสดงที่มีแสงสีเข้ามาผสมผสานชวนน่าหลงใหล ถ้าว่ากันแล้วเรื่องของสีอาจไม่ใช่อะไรที่น่าแปลกใจแต่ทว่าองค์ประกอบของเรื่องมีการวางแสงสีได้เกินจริงอยู่ตลอดเวลาคล้ายมีนัยยะของความเป็นไปไม่ได้ซึ่งก็เข้ากับความลี้ลับของเรื่องนี้ที่ค่อยๆเพิ่มความน่ากลัวตั้งแต่เปิดเรื่อง ความไม่ธรรมดาของการใช้แสงสีคือการทำให้สถานที่ดังกล่าวผิดธรรมชาติโดยที่ไม่ต้องพึ่งการเอฟเฟคให้ยุ่งยากหรือแม้กระทั่งการพยายามเล่นจังหวะตกใจ อันที่จริงการเล่นจังหวะตกใจเรื่องนี้ก็มีอยู่แต่ไม่จัดว่าเซอร์ไพรส์จนสะดุ้งโหยงเนื่องจากใช้วิธีสะสมความกลัว ไม่ว่าจะการฆ่าหรือการไล่ล่าก็ล้วนเป็นไปอย่างช้าๆให้ระแวงหน้าระวังหลังอยู่เสมอเนื่องจากสิ่งที่เผชิญไม่ใช่ฆาตกรหรือสัตว์อสูรตนใดแต่คือแม่มดที่ใช้คำสาปแช่งที่อาจจะเจออะไรก็ได้


สิ่งที่ชอบคือองค์ประกอบศีลที่จัดวางได้จนเรียกว่าไม่มีคำว่าขาดและอาจล้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นทั้งข้อดีข้อเสียแต่โดยรวมแล้วการจะกล่าวถึงข้อเสียเรื่ององค์ประกอบศีลดูมากเกินจำเป็นอาจจะผิดถนัดไปเมื่อรู้ว่าเป็นหนังแม่มด ข้อแตกต่างของหนังสยองขวัญทั่วไปที่ฆ่าด้วยอุปกรณ์หรือด้วยเขี้ยวเล็บคือสามารถใช้อะไรก็ได้โดยไม่จำกัดแค่ให้กลมกลืนกับสถานการณ์ ในบางเรื่องแม่มดต้องมีพลังอาคมเก่งกล้าปล่อยพลังได้แต่กับเรื่องนี้จะไม่เห็นการปล่อยพลังนอกจากคำสาปแช่งที่เป็นอะไรก็ได้ไม่จำกัดว่าคนนั้นจะโดนอะไร จึงเป็นอย่างหนึ่งที่เรื่องนี้มีความหลากหลายในการเล่าเรื่อง การให้ความสำคัญกับองค์ประกอบศิลป์นับเป็นอีกอย่างที่ช่วยความพิศวงที่ไม่ใช่ให้สวยงามหรืออลังการในเชิงสร้างสรรค์แต่ยังมีมิติเสมือนอีกโลกหนึ่งไม่แตกต่างกับการต้องมนต์ของแม่มดที่แยกแยะไม่ออกว่านี้คือโลกแห่งความเป็นจริงหรือโลกสมมุติกันแน่ ซึ่งหนังก็ไม่เกรงใจผู้ชมเลยว่าต้องรอเมื่อไรความน่ากลัวสุดแสนพิศวงนี้จะมาเมื่อไรเพราะตลอดทั้งเรื่องมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เปิดเรื่องจนจบเรื่องกันเลยทีเดียว โดยเปิดเรื่องก็เล่าถึงซูซี่เดินทางจากเครื่องบินมาสู่เยอรมันในคืนที่ฝนตกหนักแล้วพยายามจะโบกรถแท็กซี่อย่างไม่กลัวเปียกเลยสักนิดเดียว จากการเปิดเรื่องก็แสดงให้เห็นแล้วว่านางเอกของเรื่องมีความทรหดพอจะลุยฝนและรีบเร่งจะไปที่แห่งหนึ่งขนาดที่พยายามจะโบกรถแท็กซี่ให้รับให้ได้ แต่ฉากนี้ไม่มีอะไรจนกระทั่งไปถึงสถาบันสอนบัลเล่ต์แล้วต้องเจอผู้หญิงปริศนาที่เดินออกจากประตูด้วยสภาพแตกตื่นก่อนจะหายไปกับสายฝน ถ้าตามปกติทั่วไปจะต้องเล่าเรื่องในส่วนของซูซี่ต่อไปเลยแต่กลับตัดฉากมาที่ผู้หญิงคนนั้นที่วิ่งหนีบางสิ่งก่อนจะได้ที่พักไม่ต่างกับที่ซ่อนตัว และจากคำที่โปรยไว้ข้างต้นก็คือความน่าสะพรึงกลัวที่ขนกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะองค์ประกอบศิลป์เรื่องฉากที่ฉูดตาเกินจะเป็นที่อยู่อาศัย บรรยากาศที่ไม่น่าไว้ใจตามแบบหนังสยองขวัญ และความร้ายกาจของเวทมนต์ที่เดาทางได้ยากว่าจะเจอกับอะไร การเปิดเรื่องด้วย 15 นาทีแรกจัดว่าเป็นช่วงเวลาที่สยองขวัญได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างไม่รีรอ


ถ้าการเปิดเรื่องคือความสยองที่พากันตาเบิกกว้างก็บอกได้เลยว่าหลังจากนี้จะค่อนข้างราบเรียบและพักหายใจกันเป็นระยะๆ หลังจากเปิดเรื่องด้วยฉากสยองขวัญอย่างไม่ทันตั้งตัวก็เข้าสู่การสืบหาความจริงอันแสนลึกลับว่าเกิดอะไรขึ้นกับสถานที่แห่งนี้ โดยการเล่าเรื่องจะพยายามทำให้ออกมาลึกลับตัดสลับกับความน่ากลัวไปพลางๆแต่ไม่เท่ากับฉากเปิดเรื่องที่มาถึงก็เต็มที่กันเสียแล้ว พอหลังจากนี้จะเป็นการเร้าอารมณ์ความสยองที่ค่อยๆมากขึ้นทุกครั้งที่พยายามหาความจริงโดยคนที่สืบหาความจริงไม่ใช่ซูซี่ที่เป็นนางเอกของเรื่องแต่เป็นซาร่าเพื่อนร่วมเรียนบัลเล่ต์ที่รู้ว่ามีบางอย่างซ่อนอยู่

แม้จุดด้อยของเรื่องนี้จะอยู่ที่นางเอกของเรื่องเป็นคนไร้เดียงสาเพราะพึ่งเข้ามาและไม่ได้สงสัยมากเท่าซาร่าที่สังเกตจนรู้พอว่าเป็นมากกว่าสถาบันสอนบัลเล่ต์และพยายามสืบต่อไปโดยมีซูซี่รับฟังตลอดเวลา ทั้งนี้สาเหตุที่ตัวละครดูไร้เดียงสาเป็นผลมาจากบทดั้งเดิมที่ต้องการใช้เด็กอายุ 12 ปีแต่เกิดทางสตูดิโอไม่เห็นด้วยที่เดิมทีหนังรุนแรงอยู่แล้วทำให้การจะให้มีเด็กไปเกี่ยวข้องอาจจะดูรุนแรงเกินไปและอาจถึงขั้นแบนได้ แต่เมื่อมองในแง่เนื้อเรื่องจะเห็นว่าซูซี่มักถูกเล่นงานอยู่เสมอและนั้นทำให้สถานที่แห่งนี้ดูผิดปกติมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นร่างกายที่จู่ๆอ่อนเพลียแต่ก็ไม่อาจห้ามให้ตัวเองหยุดเต้นบัลเล่ต์ได้ทั้งที่บอกไม่ไหวจนเป็นลมสลบไป หรือจะตำนานที่ถูกเล่าเกี่ยวกับแม่มดที่สอดคล้องกับสิ่งที่ซาร่าเล่าให้ซูซี่ฟัง ซึ่งหนังก็ได้พยายามหาสาเหตุของคำว่าแม่มดว่าคืออะไรไปด้วย แม้การให้คำนิยามว่าแม่มดคือคนที่ใช้วิชาไสยศาสตร์จะเป็นที่รู้กันดีแต่หนังได้ใส่มิติเกี่ยวกับแม่มดลงไปผ่านนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ให้ซูซี่ฟัง แน่นอนว่าการเล่าประวัติที่มาของแม่มดจะไม่ต่างกับการบ่งบอกเนื้อเรื่องที่น่าจะเป็นจุดพีคแต่นั้นก็ยิ่งทำให้ Suspiria ออกมาได้สมจริง


จริงที่ว่าจะมีดีเรื่องฉากและมุมกล้องจนไม่ทันดูเนื้อเรื่องที่ราบเรียบก็กลัวได้ แต่เมื่อมองอีกแง่จะพบการแฝงนัยยะมากมายผ่านองค์ประกอบศิลป์ที่ดูสวยงามและแสดงออกถึงค่านิยมอย่างหนึ่ง ที่สำคัญคือการเล่าเรื่องด้วยผู้หญิงเป็นหลักโดยฝ่ายชายจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องน้อยมากจนเหมือนกับว่าเป็นโลกส่วนตัวของผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายเป็นเพียงตัวเสริมเล็กๆในชีวิตที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ไม่กี่อย่างเนื่องจากเพศหญิงมีหน้าที่และบทบาทอยู่หลายอย่างตั้งแต่การเลี้ยงดู สั่งสอนอบรม รวมไปถึงการสืบทอดรุ่นต่อรุ่น ซึ่งเปรียบเทียบได้จากตัวหนังคือการที่ซูซี่เข้ามาเรียนบัลเล่ต์แล้วได้รับการต้อนรับอย่างดีก็ไม่ต่างกับแม่ที่พยายามเอาใจใส่ลูกหรือจะการสืบทอดที่แสดงถึงความคงอยู่ในอำนาจแม่มดที่ไม่ได้เสื่อมหายไปไหนทั้งที่กลายเป็นเรื่องเล่า และยังมีอีกหลายนัยยะเก็บซ่อนไว้อยู่แต่จะเห็นเป็นไปไม่ได้คือโทนของแสงสีที่เปลี่ยนไปในบางฉากจากแดงเป็นน้ำเงินคล้ายแสดงถึงการรุกรานจากอำนาจแม่มดที่เข้ามาใกล้ตัวแม้จะไม่เห็นตัวตนแม่มดเลยสักนิดเดียวแต่ก็สัมผัสได้ถึงภัยที่อยู่รอบตัวตลอดเวลา อีกประเด็นในท้ายเรื่องคือการให้ซูซี่เผชิญหน้ากับความกลัวโดยมีการเดิมพันระหว่างความจริงตรงหน้ากับจินตนาการที่กำลังเข้าใกล้จากข้างหลัง ซึ่งฉากนี้ทำได้น่ากลัวจับจิตแล้วยังแฝงการชนะความกลัวอีกด้วย แม้จะไม่เด่นชัดอะไรมากนักแต่การได้เห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างแม่มดกับคนธรรมดาทำให้รู้ว่าจริงๆแล้วมนต์ดำที่ใช้คือเครื่องมือเพิ่มความกลัว ยิ่งกลัวมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสรอดน้อยเท่านั้น ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าตัวละครแต่ละตัวจะต้องเริ่มหวาดกลัวก่อนและยิ่งระแวงมากขึ้นก็ยิ่งไปเร่งให้มนต์ดำของแม่มดรุนแรงตามไปด้วย ฉะนั้นสิ่งเรื่องนี้ต้องการจะบอกอย่างหนึ่งคือการชนะความกลัว


Suspiria จัดว่าเป็นหนังสยองขวัญขึ้นหิ้งอีกเรื่องที่เน้นองค์ประกอบศิลป์ได้ฉูดฉาดจนน่ากลัวจนฉากธรรมดาบางฉากต้องรู้สึกอึดอัดทั้งที่ไม่น่ามีอะไร แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจุดเด่นเรื่องฉากแสงสีคือของดีที่มีเอกลักษณ์จนเสริมความน่าสะพรึงกลัวได้อย่างถึงที่สุด แถมผู้กำกับ Dario Argento ยังใส่ความรุนแรงในเรื่องน่ากันอย่างไม่เกรงใจผู้ชมเลยว่าจะรับได้ไหมเพราะบางฉากทำได้สยดสยอง แต่ที่ช่วยเพิ่มน่ากลัวคือดนตรีประกอบที่มาบรรเลงสดๆในแต่ละฉากให้นักแสดงผวาจนแทบไม่ต้องใช้เปลืองสปิริตเพราะแค่ดนตรีก็พอกระตุกเสียวสันหลัง ต้องยอมรับว่าการตัดต่อ แสง สี เสียง ทำได้ดีจนน่ากลัวแสดงให้เห็นภัยคุกคามของแม่มดที่เริ่มจะสำแดงฤทธิ์ทีละน้อยจนไคล์แม็กซ์ท้ายเรื่องที่ปลดปล่อยกันอย่างบ้าคลั่งทุกองค์ประกอบศิลป์และเอฟเฟคที่ทำให้นักแสดง Jessica Harper ยังกลัวเพราะระเบิดที่ติดตามข้ามของต่างๆนั้นใกล้ตัวมากจนกลายเป็นว่าแทนที่จะวิ่งตามเนื้อเรื่องต้องวิ่งหนีระเบิดเสียแทน ต้องยอมรับการเร้าอารมณ์ทำได้ถึงเนื้อจริงๆเพราะเมื่อมองกลับมาที่เนื้อเรื่องไม่ได้มีอะไรที่น่าสนใจเท่าไรและยังราบเรียบแค่ผู้หญิงที่มาเรียนบัลเล่ต์แล้วเจอเรื่องพิศวงก่อนจะรู้ว่าเป็นแม่มดที่ใช้คาถามนต์ดำ ต่อให้เนื้อเรื่องโดยรวมจะเป็นสูตรสำเร็จคาดเดาไม่ยากแต่ก็ได้รับการทดแทนด้วยความน่ากลัวจากการเล่าเรื่องที่น่าขนลุกกับความสยองนองเลือดฉูดฉาดแดงสุดฤทธิ์เดช

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)