The Admiral: Roaring Currents (2014) ยีซุนชิน ขุนพลคลื่นคำราม

The Admiral: Roaring Currents (2014)
ยีซุนชิน ขุนพลคลื่นคำราม
Director: Han-min Kim
Genres: Action | Drama | History | War
Grade: B+

เป็นเรื่องจริงของประวัติศาสตร์เกาหลีใต้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1597 ด้วยการเอาชนะกองทัพเรือญี่ปุ่นกว่า 300 ลำทั้งที่ตัวเองมีแค่ 13 ลำเท่านั้น อาจจะฟังดูเวอร์เกินจริงไปบ้างแต่เรื่องนี้ได้พิสูจน์ถึงกลยุทธ์อย่างช่ำชองถึงการวางแผนที่แยบยลกับความกล้าหาญที่ไม่ยอมแพ้ โดยทางเรื่องเริ่มต้นที่ยีซุนชิน (Min-sik Choi) แม่ทัพเรือฝ่ายเกาหลีที่เจอศึกหนักทำหน้าที่เป็นด่านทางน้ำกันพวกญี่ปุ่นขึ้นฝั่งไปเมืองหลวง แน่นอนว่าในขณะนั้นฝ่ายเกาหลีมีสภาพที่ย่ำแย่ตกรองจนโอกาสคว้าชัยกลับมาเป็นเรื่องได้ยาก โดยเฉพาะกำลังใจที่ค่อยๆเลื่อนหายไปจากเหล่าทหารทีละเล็กทีละน้อย ไม่เว้นแม้แต่ยีซุนชินที่ทรุดหนักทั้งทางร่างกายและจิตใจกับการถูกฝ่ายญี่ปุ่นหลอกใช้และถูกทำโทษสถานหนักก่อนจะเล็งเห็นความสำคัญในตัวยีซุนชินให้กลับมารับใช้ชาติอีกครั้ง แต่อะไรไม่เท่ากับการทำศึกน่านน้ำที่แทบจะไม่มีชัยชนะเพราะกำลังพลที่แตกต่างราวฟ้ากับเหว ซึ่งความหวังสุดท้ายคือการใช้กลยุทธ์เรือเต่าอันเป็นแผนเด็ดของยีซุนชินที่ใช้สู้แบบมุทะลุลุยใส่ข้าศึกด้วยเรือที่แข็งแกร่งกว่า ทว่าระหว่างรอเรือเต่าที่ใกล้เสร็จก็มีเรื่องมากวนใจมากมายและหนึ่งในนั้นคือความเห็นของทหารคนอื่นๆที่มองในตัวยีซุนชินกลายเป็นคนไร้สติประเมินตัวเองสูงเกินไปทั้งที่ผลลัพธ์ก็ปรากฎตรงหน้าแล้วแท้ๆ แต่แล้วประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ว่าคนที่ทำศึกได้อย่างชาญฉลาดต้องยึดหลักความอดทนและใจเย็นเท่านั้นถึงจะสำเร็จได้ และยีซุนชินคือคนนั้นที่สามารถสยบทัพเรือญี่ปุ่นด้วยตัวเพียงคนเดียว


อารมณ์ประมาณว่ารู้ตอนจบอยู่แล้วว่ามาในรูปแบบไหนซึ่งเป็นข้อจำกัดของหนังที่อิงจากประวัติศาสตร์ แต่ข้อดีคือได้อะไรที่สดใหม่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและบางทีก็เดาทางได้ยากถึงความหลากหลายจากเรื่องจริงที่ไม่มีพระเอกหรือนางเอกเป็นตัวเด่นเสมอไป แต่ตัวเอกของเรื่องคือยีซุนชินที่เริ่มเรื่องด้วยการเกริ่นปมตัวละครในแบบตกต่ำจากนักโทษกลายเป็นแม่ทัพเพราะคำสั่งเบื้องสูงที่เห็นคุณค่า แค่จุดนี้ก็บ่งบอกได้แล้วว่าฝ่ายเกาหลีเป็นรองญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหนที่ไม่สามารถหาคนมาแทนตำแหน่งได้ อีกอย่างคือการที่ทำผิดแล้วยังคืนตำแหน่งเดิมได้นั้นเป็นการบอกอย่างหนึ่งว่าเป็นคนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง ทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่าเป็นตัวละครที่ไม่ธรรมดาแน่นอน ทั้งนี้ตัวละครต่างๆโดยเฉพาะฝ่ายญี่ปุ่นยังพากันชื่นชมเป็นคนที่ล้มได้ยากและเป็นขวากหนามชิ้นสำคัญต่อการยึดเมืองหลวง อะไรทำให้ยีซุนชินเป็นคนที่ดูหน้ากลัวและถูกเอยชื่อขนาดนั้นได้ นั้นเพราะเขาเป็นแม่ทัพเรือ เพราะเขาคือคนดังใช่หรือไม่ ก็อาจจะใช่แต่เมื่อสัมผัสตัวละครนี้ไปเรื่อยๆจะเห็นว่านอกจากร่างกายที่ทรุดโทรมกับบางฉากที่ไอมาเป็นเลือดเนื่องจากมาจากการถูกทำโทษยังมีสภาพจิตใจที่ผิดแปลกจากทหารทั่วไปจนเรียกว่าโดดเด่นและมีสภาพราวเก็บกดในใจกลายเป็นคนนิ่งเดาใจได้ยาก ช่วงแรกจะเต็มไปด้วยสภาพจิตใจของตัวละครหลายตัวแต่ที่แน่นอนสุดคือยีซุนชินเพราะนิ่งราวกับท้อในใจเพียงแค่ไม่ยอมเปิดปากบอกกับอีกแง่คือกำลังคิดบางอย่างใจชนิดใจจดใจจ่ออยู่คนเดียว ซึ่งสังเกตได้จากการประชุมที่ต่อให้คนอื่นเสนอแนวคิดแบบไหนก็กลายเป็นยีซุนชินไม่ได้สนใจอะไรนักและสั่งเลิกประชุมอย่างไม่ทันได้สรุปความจนเกิดข้อถกเถียงถึงสุขภาพจิตที่ยังเหมาะสมกับการคุมทหารต่อไปหรือไม่


The Admiral: Roaring Currents จะแบ่งเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆคือการเกริ่นตัวละครพร้อมกับดูจิตใจในการสู้รบทั้งฝ่ายเกาหลีกับฝ่ายญี่ปุ่นด้วยการนำเสนอในมุมที่คนละเรื่องคนละราวในแง่ความรู้สึกกำลังใจ ถ้าอีกฝ่ายกำลังกุ้มใจเป็นทุกข์อีกฝ่ายคือกำลังมีความสุขและมั่นใจเต็มเปี่ยม และช่วงสุดท้ายคือฉากแอ็คชั่นที่จัดเต็มจัดอยู่หลายนาทีนานนับชั่วโมง สำหรับช่วงแรกจะเป็นการสำรวจจิตใจของแต่ละฝ่ายซึ่งเราจะเห็นข้อแตกต่างถึงฝ่ายเกาหลีที่มีความเครียดเป็นทุนเดิมอยู่แล้วกับปัญหาภายในค่ายทหารที่เกิดจากการกระทำของยีซุนชินที่เอาแต่นิ่งเงียบยึดมั่นในอุดมการณ์ทหารห้ามถอย สังเกตได้ว่ามีเพียงยีซุนชินเท่านั้นที่ปักหลักกล้าสู้ในขณะที่อีกหลายคนมีอาการไม่แน่ใจจะสามารถชนะหรือรอดไปได้ไหมในสถานการณ์เป็นรองเช่นนี้ และแน่ละว่ามีคนไม่ชอบใจในตัวยีซุนชินที่ทำท่าเหมือนทองไม่รู้ร้อนแทนที่จะไปรวมตัวเข้าร่วมกับทหารฝ่ายบกเพื่อรวมกำลังกันสู้ กระนั้นก็มีเสียงเห็นด้วยในตัวยีซุนชินไม่น้อยกับการเชื่อมั่นต้องมีหนทางที่เป็นไปได้อยู่ ซึ่งคือเรือเต่าความหวังสุดท้ายที่ยีซุนชินจะใช้ประสานเข้ากับกระแสน้ำ โดยรวมแล้วช่วงแรกของหนังค่อนข้างจะละเอียดอ่อนไปหน่อยในการเข้าถึงมิติตัวละครอย่างยีซุนชินที่เริ่มเรื่องก็บรรจบที่การเป็นแม่ทัพเรือจำเป็นจากที่กลายเป็นนักโทษเพราะญี่ปุ่นหลอกใช้ ประเด็นนี้เหมือนจงใจวางให้มีความสัมพันธ์เชิงแค้นในใจซึ่งน่าจะเป็นแบบนั้น กลับกลายเป็นว่าดูหม่นหมองถดถอยเสียแทนรวมถึงสภาพจิตใจที่คล้ายสู้ไปเพื่อเกียรติเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวยีซุนชินยังพยายามทำให้ทหารภายในค่ายรู้สึกนึกสู้ตลอดเวลาแม้จะท้อถอยแค่ไหนก็ยังทำในสิ่งที่หลายคนยังตกใจด้วยการจบชีวิตทหารของตัวเองที่ยอมแพ้ต่อหน้าใครหลายคนเพื่อให้คนอื่นตระหนัก ทว่ากลายเป็นดาบสองคมที่เสียงหนึ่งเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของทหารเมื่อหนีทัพต้องประหารแต่อีกเสียงมองเป็นคนไร้สติที่เดินเข้าหาความตาย


สิ่งที่ยีซุนชินทำมาตลอดไม่ต่างกับดาบสองคมต่อให้มีคนเข้าใจแค่ไหนยังรู้สึกอึดอัดกับหลักการหรือจะให้เปรียบกับฝั่งของญี่ปุ่นกลับกลายเป็นด้านตรงข้ามระหว่างสองฝั่งที่ตึงเครียดกับมั่นใจ นอกจากจะแสดงถึงการสำรวจตัวละครฝั่งเกาหลีที่ไม่สู้ดีก็ยังมีด้านญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ของตัวเองแบบเกินล้นเพราะการกำจัดยีซุนชินไม่ใช่เรื่องง่ายและเพื่อความไม่ประมาทจึงส่งมือดีอย่างคูรุซิมะ (Seung-ryong Ryu) ที่ไม่เชิงว่าจะเหมือนทหารญี่ปุ่นทั่วๆไปเนื่องจากมีทักษะการต่อสู้แบบกองโจรที่เน้นความป่าเถื่อนเป็นหลัก และหนึ่งในความป่าเถื่อนคือการวางแผนตัดกำลังใจอีกฝ่ายด้วยการกำจัดเชลยเกาหลีให้สิ้นซาก ก่อนจะส่งไปให้กลุ่มของยีซุนชีนเพียงแค่หัวเพื่อทำร้ายขวัญกำลังใจให้สิ้นซาก แน่นอนว่าวิธีนี้ได้ผลกับทุกคนยกเว้นยีซุนชีนที่อาจมองด้วยความเจ็บปวดแต่ไม่เลยที่จะแสดงออกมาให้ใครเห็นถึงความทรมานถึงก้นบึ้งในจิตใจ สิ่งเดียวที่ค้ำจุนให้ยุซีนชินกับคำอื่นๆยังพอมีหวังได้คือเรือเต่าอันเป็นแผนสุดท้ายสู้กับข้าศึก แม้หลายคนจะมั่นใจแต่ไม่น้อยที่ขวัญกำลังใจบ่งบอกให้คิดเลิกแต่ไม่สามารถทำได้จนต่อเกิดกบฏฝ่ายในที่ซึ่งเป็นการซ้ำเติมฝ่ายที่ตกเป็นรองให้ตกต่ำเข้าไปอีกจนถึงกับต้องสูญเสียกลยุทธ์ไม้เด็ดอย่างเรือเต่าท่ามกลางเปลวไฟที่เผาไหม้ทั้งที่พร้อมใช้งานได้อีกแค่วันเดียว ในฉากนี้เต็มไปด้วยความหดหู่และช้ำใจจากการสูญเสียและพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่สู้เสียด้วยซ้ำ ถึงขนาดที่ว่ายีซุนชินที่แน่นิ่งยังต้องช้ำใจรวดร้าวยืนดูเรือเต่าล่มสลายต่อหน้าต่อตาก่อนที่ทหารองค์รักษ์จะมาห้ามเอาไว้ก่อนที่จะวิ่งเข้าไปในเปลวเพลิงอย่างไม่คิดชีวิตเพราะเสียใจที่เสียของสำคัญไปจนไม่น่าจะเสียได้อีกแล้ว และด้วยฉากดังกล่าวทำให้เราเห็นการแสดงของ Min-sik Choi ยืนร้องไห้หมดสภาพความเป็นผู้นำที่ตัวหนังสร้างมาตลอดได้อยู่หมัด ทั้งนี้ต้องยอมรับว่านอกจากฉากดังกล่าวล้วนมีความคมเข้มตลอดเวลาจนไม่ต่างกับนักแสดงที่เล่นแข็ง แต่ถ้ามองในแง่มิติตัวละครก็นับว่าสมจริงไม่ใช่น้อย

กระนั้นความสนใจไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายของยุซีนชุนเพียงฝ่ายเดียวเมื่อมองกลับมาที่คูรุซิมะที่น่ากลัวดุดันไม่แพ้ยุซีนชีนราวกับจ้องจะกินทุกคนที่เข้ามาขวางทางและกลายเป็นความเด่นด้วยความแตกต่างจากทหารญี่ปุ่นทั่วๆไปโดยเฉพาะเรื่องการผูกมิตรที่เหมือนจะไม่ค่อยอยากจะยินดีปรีดากับเหล่าโชกุนเท่าไรนักแถมยังกล้าพูดดูถูกต่อหน้าทุกคนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนสร้างความไม่พอใจกับบางคนไม่น้อยและเริ่มสงสัยถึงฝีมือการรบที่เก่งแต่ปากหรือไม่ ซึ่งตัวหนังก็สร้างความน่ากลัวออกมาจากแผนอันโหดเหี้ยมกลายเป็นว่านี้คือของจริงไม่เหมือนกับพวกขุนนางหรือโชกุนที่ยังทำศึกด้วยความรื่นเริง ทว่าที่หนักแน่นจริงๆคือวิธีการกับความไม่ประนีประนอมที่รอฉกฉวยโอกาสด้วยความใจเย็นด้วยกลศึกลุยแบบไม้เดียวจบทั้งลอบโจมตีจากระยะไกล ส่งเรือระเบิด พูดง่ายๆลุยคือลุยเพราะมีจำนวนที่มากกว่าโอกาสชนะก็มีมากกว่าด้วย จะว่าแล้วคูรุซิมะเองก็นับเป็นตัวละครที่น่านับถือในเรื่องของหลักการที่ดูสไตล์รบแบบกองโจรแต่ก็ยึดมั่นในศักดิ์ศรีและยอมรับความสามารถของศัตรูอีกด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือคูรุซิมะตอนทำศึกสงครามไม่ได้ใช้กำลังเรือญี่ปุ่นทั้งหมดที่มีเพียงแต่ใช้เฉพาะทหารของตนเองเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวเองว่าถูกส่งมาเพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะและไม่จำเป็นต้องพึ่งทหารนอกสังกัดตัวเอง อีกอย่างคือเป็นการยอมรับถึงชะตากรรมที่ชนะก็ได้เกียรติแต่แพ้ก็ยังมีศักดิ์ศรี ทั้งนี้ยังสะท้อนอย่างหนึ่งถึงเรื่องการมีน้ำใจเนื่องจากตอนที่คูรุซิมะยกทัพเรือมีตียังมีกลุ่มพวกโชกุนพวกขุนนางค่อยดูห่างๆโดยไม่เข้าไปช่วยใดๆนอกจากเฝ้าดูสถานการณ์ ซึ่งในยามคูรุซิมะกำลังลำบากนั้นลูกน้องก็อยากให้ยกทัพเสริมมาช่วยแต่คูรุซิมะรู้ตัวดีว่าไม่มีใครมาช่วยนั้นเพราะเป็นเรื่องของความหยิ่งทรนงไม่ร่วมมือกันแม้จะเป็นฝ่ายเดียวกันก็ตาม สิ่งนี้สะท้อนถึงความมักใหญ่ของฝ่ายญี่ปุ่นที่ครองชัยมามากก็ไม่อาจครองความสามัคคีได้ ในส่วนของยีซุนชินก็ใช่จะดีตลอดรอดฝั่งเพราะที่ผ่านมาล้วนสูญเสียมาตลอด ทว่าท้ายที่สุดก็ได้ความจงรักภักดีและความสามัคคีกลมเกลียวอย่างแท้จริงเป็นสิ่งตอบแทน


ก็อาจจะเฉยๆในช่วงแรกของหนังไปบ้างเพราะเป็นการสำรวจจิตใจตัวละครก่อนออกรบกับปูมิติตัวละครต่างๆถึงสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีจนเป็นข้อแตกต่างระหว่างสองฝ่ายที่เข้มแข็งกับอ่อนแอ กระนั้นยังมีความน่าตื่นเต้นอยู่บ้างกับการเล่าผลกระทบของตัวละครที่ส่วนใหญ่มักมีเรื่องที่ไม่ลงรอย ซึ่งใช้เวลาพอสมควรในการเกริ่นเรื่องราวก่อนจะลงเรือรบกันและกลายเป็นว่าในส่วนช่วงหลังทำออกมาได้ดีอย่างมากกับฉากแอ็คชั่นที่ลุ้นตลอดเวลาและน่าชวนสงสัยที่ไม่รู้เอาอะไรไปสู้ทัพเรือญี่ปุ่นได้ทั้งที่จำนวนลำต่างกันยิ่งกว่าฟ้ากับเหว แน่นอนว่าผู้ชมคงรู้ว่ายีซุนชินมีแผนในใจที่ไม่มีทหารแม้กับคนสนิทก็ไม่รู้ในการสู้รบสามารถสู้ได้อย่างสูสี ในขณะเดียวกันคูรุซิมะเองไม่ใช่ตัวละครที่จะดูถูกได้ง่ายๆเพราะยังคิดแผนระหว่างรบหวังกำจัดยีซุนชินที่เป็นหัวหลักโดยเฉพาะ ทำให้ช่วงหลังมีเสน่ห์อย่างมากในส่วนของแอ็คชั่นที่นอกจากจะยิงกันด้วยปืนใหญ่กระจุยกระจายกับฟันด้วยดาบยังต้องใช้สมองให้เฉียบขาดอีกด้วย ไม่แปลกเลยกับผลงานก่อนหน้านี้อย่าง War of the Arrows (2011) ที่ดูจะไม่ค่อยเท่าไหร่ในด้านพล็อตเรื่องแต่สนุกได้ครบเครื่องทั้งที่เป็นการไล่ล่าโดยพระเอกใช้ธนูในการสู้แต่มันส์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันที่ทำให้หนังสงครามเต็มไปด้วยความมันส์ที่ไม่จำเจกับภาพลักษณ์เดิมๆที่มีเพียงการฆ่าฟัน ที่สำคัญตัวหนังยังสอดแทรกประเด็นดราม่าเข้าไปทำให้ไม่ได้มีแค่ตัวละครหลักที่โดดเด่นแต่ยังรวมถึงตัวละครอื่นๆที่บทน้อยแต่ความสัมพันธ์มากอย่างเช่นตัวละครสายลับที่ส่งไปสืบในกองทัพญี่ปุ่นกับคนรักที่เป็นใบ้ ก็อาจไม่มีอะไรแต่ฉากช่วงหลังนี่สิตอนที่เจอกันเป็นอะไรที่น่าขนลุกเพราะความดราม่าและการสื่อสารกันด้วยใจโดยไร้คำพูดถึงกัน ว่าแล้วถ้าไม่ติดช่วงแรกที่ดูอืดไปบ้างการอดรอดูช่วงหลังนับเป็นการรอคอยที่คุ้มค่ามากทีเดียว

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)