Battle of the Sexes (2017) แมทช์ท้าโลก

Battle of the Sexes (2017) | แมทช์ท้าโลก
Director: Jonathan Dayton,Valerie Faris
Genres: Biography | Comedy | Drama | Sport
Grade: A

บิลลี่ จีน คิง (Emma Stone) นักเทนนิสมือหนึ่งฝ่ายหญิงต้องการแสดงศักยภาพว่าผู้หญิงไม่ด้อยไปกว่าผู้ชายและมีค่าเงินรางวัลที่เท่าเทียมกัน จึงพยายามต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมกันด้วยความสามารถที่มีในการแข่งขัน ซึ่งคนที่ต้องเจอคือ บ๊อบบี้ ริกส์ (Steve Carell) นักเทนนิสมือหนึ่งฝ่ายชายที่พร้อมจะลั่นวาจาใส่มุขล้อเลียนผู้หญิงตลอดเวลาเพราะไม่ว่าเรื่องไหนต้องให้ผู้ชายทำเท่านั้น ยกเว้นเรื่องครัวเพราะผู้หญิงไม่เข้มแข็งหรือรับแรงกดดันได้เพียงพอ


บิลลี่ จีน คิง - ต่อสู้เพื่อผู้หญิงเพื่อเสรีภาพว่าไม่ด้อยไปกว่าผู้ชาย แต่สิ่งที่ทำเป็นเส้นตรงด้วยการทำเหมือนข้อเปรียบเทียบระหว่างชายและหญิงทั้งที่ไม่เคยมาเจอกันเพราะมีความกลัวจากความเสี่ยงและความผิดพลาด

บ๊อบบี้ ริกส์ - ไม่ได้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพผู้ชายแต่ต่อต้านเพราะถูกผู้หญิงรุกล้ำความเป็นส่วนตัวจึงไม่อาจหาความสุขจากความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้เลือกหาหนทางลงแข่งเทนนิสเพื่อกลับมาเป็นตัวเขาอีกครั้ง


ตัวหนังพูดถึงสิทธิสตรีที่ยังถูกเหยียดหยามว่าด้อยกว่าและไม่สามารถเทียบเท่าผู้ชาย แม้กระทั่งเงินรางวัลหรือราคาตั๋วที่ยังแตกต่างกันหลายเท่า ซึ่งเทนนิสคือสื่อกลางที่นำมาทดสอบให้เห็นเลยว่าจะชายหรือหญิงกันแน่ที่ด้อยหรือเหนือกว่ากัน โดยการแข่งขันของบิลลี่และบ๊อบบี้จะเกิดขึ้นในช่วงท้ายที่ต้องมานั่งลุ้นกันว่าใครกันแน่ที่จะชนะ(แน่นอนว่าผลลัพธ์รู้กันอยู่ก่อนแล้วเพราะอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง) ทว่าก่อนเรื่องทั้งหมดทั้งมวลจะเข้าสู่ไคล์แม็กซ์การแข่งขันจะมีอะไรให้เห็นมากกว่าเธอและเขา

ส่วนใหญ่เรื่องราวจะเพ่งเล็งไปที่ชีวิตของบิลลี่ในฐานะผู้หญิงที่ออกมาต่อสู้ สิ่งที่เห็นล้วนทำเพื่อเพศของตัวเองให้มีจุดยืนในสังคมโดยใช้เทนนิสแข่งขันกันเองแบบไม่มีสมาคมใดๆมาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างพยายามจัดการและหาสปอนเซอร์ด้วยตัวเอง แต่ประเด็นการแข่งขันเทนนิสดูจะไม่ช่วยอะไรเกี่ยวกับประเด็นทางเพศมากมายนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดขึ้นเป็นเบื้องหลังเสียมากกว่า จะมาชัดเจนอีกทีช่วยท้ายระหว่างบิลลี่กับบ๊อบบี้ที่เริ่มเอาเรื่องทางเพศมาเดิมพันในการแข่งขัน จะเสียดายที่ประเด็นไม่หนักแน่นหรือซีเรียสอย่างคิด แต่คำพูดคำจาเหมือนจะกินกันให้ตายไปเลย


ชีวิตนอกจากสนามแข่งของบิลลี่ไม่พ้นประเด็นทางเพศเช่นกัน ทว่านัยยะถูกตีความไปอีกแบบจากต่อสู้มาเป็นยอมรับเสียเอง ซึ่งการยอมรับไม่ได้แปลว่ายอมแพ้ แค่หมายถึงยอมที่จะเปลี่ยนตัวเองในสิ่งที่ใช่ยิ่งกว่าที่อยู่นอกเหนือเกณฑ์เพศหญิงหรือเพศชาย โดย มาริลิน บาร์เน็ตต์ (Andrea Riseborough) เป็นคนที่เข้ามาในชีวิตของบิลลี่จากช่างทำผมผู้หญิงคนหนึ่งมาเป็นความสัมพันธ์ที่เกินคำว่าเพื่อนหรือคนรู้จัก ทำให้บิลลี่เริ่มถูกมองจากบรรดาเพื่อนๆและคนใกล้ตัวด้วยความสับสน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อ แลร์รี คิง (Austin Stowell) สามีของเธอว่ายังรักเขาอยู่ไหม เพราะสิ่งที่เห็นนั้นดูจะสนิทสนมเกินช่างผมคนหนึ่ง

ว่าด้วยประเด็นทางเพศ แต่ชีวิตบิลลี่กลายเป็นปัญหาให้ทุกคนเห็นซะเอง โดยเฉพาะการทำเรื่องคบเพศเดียวกันอย่างลับๆเพื่อป้องกันการจู่โจมทางสื่อ แน่นอนว่าความศรัทธาจากคนกลุ่มเริ่มน้อยลงแบบเดียวกับความรักของแลร์รีที่เห็นพฤติกรรมชู้ ไม่มีใครปริปากและทำตัวปกติเพราะบิลลี่คือความหวังเดียวที่จะพิสูจน์ว่าหญิงนั้นแกร่งมากแค่ไหน ฉะนั้นแม้ตัวหนังจะดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆด้วยแรงกระตุ้น แต่ลึกๆแล้วดูหมดศรัทธาเพราะคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีเหยียบย่ำความรักจากคนที่รักเธอมากที่สุด


ทว่าในความเลวร้ายที่ใช้ความหวังบังหน้ายังมีฉากสำนึกผิดของบิลลี่ในห้วงเวลาสุดท้ายกับ เท็ด (Alan Cumming) ชายที่เป็นกระเทยและแอบช่วยปัญหาของบิลลี่จากหนักเป็นเบาด้วยถ้อยคำปลอมใจว่า"สักวันหนึ่งเราจะเป็นอิสระที่จะเป็นตัวเราเองและรักคนที่เรารัก"

บ๊อบบี้คือแชมป์ฝ่ายชายที่เป็นอดีตและมีการมีงานอยู่กับครอบครัว ทว่าชีวิตไม่ได้มีความสุขสักเท่าไรจากขอบเขตที่ผิดกับลักษณะนิสัยใจคอของเขา ทำให้บ๊อบบี้คือคนเหงาที่อยากกลับไปมีความสุขอีกครั้งสมัยเล่นเทนนิส จึงต้องมาแอบเล่นกับบรรดาเพื่อนๆพร้อมกับพนัน แน่นอนการพนันเป็นสิ่งติดตัวเขาและเป็นไปไม่ได้หากขาดสิ่งนี้ การคืนวงการจึงเสมือนการพนันด้วยชื่อเสียงที่สะสมมานาน นั้นทำให้ชีวิตดูมีความสุขจากเรื่องน่าตื่นเต้น ส่วนประเด็นเรื่องเพศมาจากคนใกล้ตัวในครอบครัวที่ตีกรอบให้เขาใช้ชีวิตไม่เหมือนเคย ลดความหรูหรา ไม่มั่งคั่งหรือโอ้อวด รวมไปถึงให้เลิกพนัน ทำไมผู้หญิงต้องมาบังคับเรื่องผู้ชายทั้งที่ควรทำงานหรือเข้าครัวน่าจะเข้าท่ากว่า


Battle of the Sexes อาจจะดูไม่สุดในสักทาง แต่ทุกทางล้วนมีนัยยะของดาบสองคม ตัวอย่างเช่น บิลลี่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีแต่ทำลายความรักของแลร์รีเพราะลึกๆแล้วเธออาจจะเป็นเลสเบี้ยน หรือจะบ๊อบบี้ที่ใจหนุ่มเกินไปจนไม่เห็นภาระหรือความสำคัญของครอบครัวเพราะเป็นเรืองน่าเบื่อและผู้หญิงเป็นตัวการสั่งนู้นห้ามนี้ทั้งที่ผู้ชายควรจะเหนือกว่าในฐานะหัวหน้าครอบครัว แต่ไม่ว่าฝ่ายไหนถูกหรือผิดก็ล้วนได้และเสียพอกัน

สิ่งที่กลายเป็นที่วิพากย์วิจารณ์คือเรื่องอายุ เนื่องจากบิลลี่อายุ 26 ปี แต่บ๊อบบี้อายุ 55 ปี ความแตกต่างทางอายุกับประสบการณ์ หรือความแตกต่างทางเพศกับความแข็งแรง ไม่ว่าสิ่งไหนล้วนไม่ได้มาจากฝีมือว่าใครชำนาญกว่าและจะต้องเก่งคว้าชัยชนะ แต่อยู่ที่ความรู้สึกกำลังใจ ทำไมบิลลี่แพ้หรือชนะ ทำไมบ๊อบบี้ชนะหรือแพ้ ทั้งคู่เป็นนักเทนนิสย่อมมีฝีมือในฐานะอันดับหนึ่งทั้งคู่ ที่เป็นรองคือบุคคลใกล้ตัวที่จะมอบความรู้สึกยังไงก่อนลงแข่งขัน นั้นอาจเป็นตัวกำหนดชนะหรือแพ้ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนจะตีลูกเสียอีก

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)