Transformers: Age of Extinction (2014) ทรานส์ฟอร์เมอร์ส 4: มหาวิบัติยุคสูญพันธุ์

 
Transformers: Age of Extinction (2014) | ทรานส์ฟอร์เมอร์ส 4: มหาวิบัติยุคสูญพันธุ์
Director: Michael Bay
Genres: Action | Adventure | Sci-Fi

"เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ"

ว่ากันว่าเป็นภาคสุดท้ายที่ทางผู้กำกับ Michael Bay จะสร้างเอาไว้หลังจากกลืนน้ำลายตัวเองทั้งที่ควรจะจบลงไปแล้วตั้งแต่ภาค Transformers: Dark of the Moon (2011) ซึ่งเป็นอันสิ้นสุดไตรภาคศึกสงครามระหว่างออโต้บอทส์กับดีเซปติคอนส์เสียที ทว่าเจ้าตัวยังคงยืนยันในทำนองว่านั้นเป็นภาคสุดท้ายของเส้นเรื่องแรกเท่านั้นโดยครั้งนี้จะเป็นการนำไปสู่เส้นเรื่องใหม่ที่ไม่มีความเกี่ยวโยงในศึกสงครามระหว่างสองพวก หรือจะเรียกว่านำไปสู่การเริ่มต้นในเส้นเรื่องใหม่ก็ไม่เชิง แม้จะฟังดูไม่ขึ้นเท่าไหร่ ทั้งนี้ทั้งนั้นคงเพราะรายได้จากภาคสามทำไปไม่น้อยถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจนเรียกว่ากอบโกยได้เยอะโครตรจากหนังหุ่นยนต์แปลงร่างชุดนี้ คงไม่แปลกใจถ้าเรื่องเกินคาดจะทำให้เกิดภาคใหม่ตามมาอีกครั้งซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายจริงเท็จแค่ไหนหลังจากดูจบสิ่งที่ได้คำตอบจะปรากฎให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้กำกับกำลังเล่นอยู่นั้นคือจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ถ้ารายได้งามทะลุเป้าเมื่อไหร่เราไม่ต้องคิดเลยว่าจะหาเนื้อเรื่องอะไรมาเล่าหากมีการทิ้งปมประเด็นเอาไว้ให้ผู้ชมเกิดอาการสงสัยจนใครๆต้องร้องขอเพราะเนื้อเรื่องยังเคลียร์ไม่จบนี่นา


เพราะไตรภาคก่อนจบลงแล้วและต้องการนำไปสู่อีกรูปแบบหนึ่งให้ออกมาแตกต่างจากครั้งก่อนด้วยเนื้อเรื่องที่แยกออกไป ทำให้ไม่ว่าจะตัวละครเอย หุ่นยนต์เอย อะไรก็แล้วแต่ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีล้วนถูกกำจัดไปเกือบหมดคล้ายเป็นการรีบูตตัวเองใหม่เพื่อเข้าสู่ประเด็นใหม่ให้สะดวกทางมากขึ้น แน่นอนว่าตัวละครก็ใหม่ทุกตัวตลอดจนถึงฝ่ายคนที่ไม่ใช่เด็กเรียนที่ชีวิตกำลังเข้าสู่มหาลัยแล้วบังเอิ๊ญบังเอิญไปได้รถที่แปลงกายเป็นหุ่นยนต์ที่ต่อมาหลายคนจดจำได้จากเอกลักษณ์ตัวสีเหลือง ใช้การพูดที่ตัดประโยคจากสัญญาณวิทยุ ซึ่งคือบัมเบิ้ลบีนั้นเอง แม้หลายคนยังติดภาพแซม วิทวิคกี้ ที่เล่นโดย Shia LaBeouf ผู้เป็นตัวละครเอกของไตรภาคชุดก่อน แต่ก็มีปัญหาเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ภาคสองที่เริ่มจะเป็นการรบกวนการดำเนินชีวิตที่ถูกหุ่นยนต์เข้าแทรกแซงอยู่บ่อยครั้งจนเป็นเรื่องน่ารำคาญที่ดูเป็นการชักจูงด้วยความไม่จำเป็นเท่าไหร่ที่ดึงฝ่ายมนุษย์เข้ามามีเอี่ยวด้วย(โดยเฉพาะพ่อแม่แซมที่เป็นหนึ่งในปัญหากวนใจกับผู้ชมจนดูน่าเบื่อและแสนหงุดหงิด) แม้ปัญหาเรื่องกวนใจนี้จะตามติดจนครบทั้งไตรภาคก็ตาม(จะเว้นหน่อยคงเป็นภาคแรกเพราะถึงยังใหม่ในทางเนื้อเรื่อง) แต่กับภาคนี้การเรียบเรียงเกี่ยวกับตัวละครทำได้ดีกว่ามากที่จัดปัญหากวนใจออกไปได้สำเร็จแล้วเปลี่ยนเป็นเส้นเรื่องของชีวิตครอบครัวหนึ่งในเท็กซัสที่จมอยู่กับของเก่าสนิทเขอะจนหลายคนเรียกว่าขยะเพื่อนำมารีไซเคิลในฐานะนักประดิษฐ์หรือเคด เยเกอร์ (Mark Wahlberg) ที่ใช้ชีวิตด้วยความเหนื่อยจากการพยายามหารายได้เข้าครอบครัวโดยมีเทสซ่า เยเกอร์ (Nicola Peltz) เป็นลูกสาวแสนสวยที่พึ่งหมดหวังไปกับการยืมทุนเรียนต่อ หลายสิ่งเริ่มเลวร้ายกับครอบครัวนี้เพราะเงินที่หาแทบไม่เข้ากระเป๋าเลยสักนิด จนกระทั่งเคดเหมือนได้แรงบันดาลใจสักอย่างเมื่อไปซื้อรถบรรทุกเก่าๆคันหนึ่งในสภาพที่โทรมหนักก่อนจะรู้สึกตะหงิดๆเมื่อเห็นกระสุนปืนใหญ่ในตัวรถราวกับว่าวิ่งลุยสงครามมายังไงอย่างงั้น แต่ด้วยสภาพการเงินที่ย่ำแย่ลงทุกทีบวกกับบ้านที่กำลังถูกยึดเพราะค้างค่างวดมาหลายเดือนทำให้เขาได้ลองซ่อมรถบรรทุกดังกล่าวดูก่อนจะพบว่าสิ่งที่อยู่ภายในไม่ใช่โลหะหรือเครื่องจักรธรรมดาๆอย่างที่คุ้นเคยเนื่องจากรถบรรทุกคันนี้คือออพติมัส ไพร์มหรือหุ่นทรานส์ฟอร์เมอร์


น่าแปลกเหมือนกันที่ตัวละครชุดเก่าถูกปลดออกไปราวกับไม่มีตัวตนอยู่เลยสักนิดทั้งที่น่าจะมีอยู่สักหน่อยโดยเฉพาะกลุ่มคนที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมากับศึกหุ่นยนต์พวกนี้มาก่อน แต่ถ้าให้พิจารณาซะหน่อยคงไม่ต้องคิดมากหากแต่เป็นช่วงที่สงครามได้ยุติลงไปแล้วและต่างคนต่างอาศัยในที่ๆของตัวเองกันหมดจึงคงไม่มีอะไรให้ค้างคาต่อกันอีกแล้ว มิหนำซ้ำสถานที่ในภาคนี้ก็ไม่ได้ลุยเข้าหาเมืองที่มีตึกโตสูงระฟ้าเช่นภาคก่อนที่ใช้ชีวิตตามผู้คนเพราะเรื่องเริ่มที่เท็กซัสในดินแดนที่เต็มไปด้วยหญ้าและทุ่งไร่ โดยส่วนตัวชอบทิวทัศน์ในต้นเรื่องพอสมควรเลย เนื่องจากดูสบายตาและอบอุ่นไปกับบรรยากาศดวงอาทิตย์ใกล้ตกซึ่งอารมณ์ออกแนวสบายๆเลยล่ะ ที่สำคัญเราจะได้รู้อะไรหลายๆอย่างก็ตอนต้นเรื่องนี่แหละเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกเยเกอร์ที่รักแน่นแฟ้นกันอย่างดี(และดีมากๆถ้าเอาไปเทียบกับครอบครัวในไตรภาคก่อนที่ต๊องไปเลย) ในขณะที่ถามว่าเรื่องนักแสดงเป็นยังไงบ้างกับรูปแบบนี้ อันนี้ต้องบอกว่าค่อนข้างพอใจที่ทำให้รู้ว่าเรื่องราวมันไม่ได้ดูเด็กอีกต่อไปแต่มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น อย่างเคดที่เล่นโดย Mark Wahlberg ในบทพ่อ หรือจะ Nicola Peltz ในบทลูกสาว เมื่อลองมองย้อนกลับไปอีกหน่อยทำให้เรารับรู้เลยว่าพระเอกไม่จำเป็นต้องมีนางเอกอีกต่อไปที่ต้องออกมาสไตล์รักหวานกลางดงสงครามหุ่นยนต์ บางทีความสัมพันธ์แบบนี้มันก็น่าเบื่อเกินไปเพราะขาดคำว่าร่วมชะตากรรมเช่นภาคนี้ที่ติดร่างแหร่วมจมท้ายไปตั้งแต่ต้นเรื่องยันท้ายเรื่อง จากเรื่องความรักเฉกเช่นวัยหนุ่มสาวตัดให้ลดลงเป็นการปกป้องจากคนที่เรียกว่าพ่อแทน จึงมีอารมณ์ดราม่าแอบแฝงเข้าไปบางส่วน

การได้ตัวละครใหม่เข้ามาจัดว่าเป็นมิติที่น่าสนใจแต่ปัญหาอยู่ที่ยิ่งเล่าเรื่องมากเท่าไหร่ตัวละครก็เริ่มโผล่มาเรื่อยๆจนแจกบทกันไม่พอในท้ายที่สุดและออกมาห้วนๆในบางอารมณ์ราวกับว่าแค่ตัวประกอบไฉนเด่นไปหรือเปล่า อย่างซู หยัวหมิง (Bingbing Li) ที่เหมือนจะไม่มีอะไรจนตัวหนังเริ่มจับมุมกล้องบ่อยมากขึ้นจนสุดท้ายคือตัวละครที่ออกมาแย่งซีนในฉากซิ่งมอไซค์พร้อมกับเป็นนักธุรกิจมีหุ้นส่วนกับโจซัว (Stanley Tucci) เพื่อซื้อสินค้าทรานส์ฟอร์เมี่ยม ก็ไม่แน่ว่าตัวละครนี้อาจจะมีบทบาทมากขึ้นก็ได้ในภายหลัง หรือจะแฮโรลด์ แอตทิงเกอร์ (Kelsey Grammer) อีกตัวละครที่เป็นอีกหนึ่งตัวร้ายหลักของเรื่องนี้ผู้บ่งการทุกอย่างในเรื่องเก็บหุ่นทรานฟอร์เมอร์ทั้งหมด น่าเสียดายที่ตัวละครนี้ทำท่าเหมือนจะมีปมแต่ก็เล่าได้ไม่สุดทางจนเรื่องก็วนเวียนอยู่กับพล็อตเดิมๆคือเรื่องของธุรกิจเพื่อความรวยเสียมากกว่า กระนั้นเมื่อมองดีๆเกี่ยวกับภาคนี้จะเห็นได้ว่ามนุษย์ผู้เป็นกลางของสองศึกนี้มักอยู่ในความเสี่ยงเสมอจนเกิดคำถามที่ว่าเราไปทำอะไรให้ การคงอยู่ของทรานส์ฟอร์เมอร์ทั้งสองพวกก็ดูจะเป็นหายนะของมวลมนุษย์ชาติที่ไม่อยากเป็นเป้านิ่งคอยวิ่งหนีจากการโดนโจมตีทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องเลยสักนิด จึงเป็นความตระหนักได้ว่าเราไม่ต้องการหุ่นยนต์ที่ทำสงครามพังบ้านเมืองอีกแล้วจึงเกิดการตามล่าทรานส์ฟอร์เมอร์ทุกตัวไม่สนว่าอยู่ฝ่ายไหน ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องราวก็มีข้อยกเว้นให้กับอีกพวกหนึ่งที่มาฉายเดียวนามว่าล็อคดาวน์ หุ่นยนต์ที่มีทักษะเป็นเลิศจากระยะไกลที่แปลงตัวเองเป็นปืนใหญ่ยิงด้วยความแม่นยำจนออพติมัสต้องพลาดไปหลายหน ในเมื่อทราส์ฟอร์เมอร์ทุกตัวเป็นปรปักษ์กับมนุษย์จนถูกตามเก็บชนิดล้างเผ่าพันธุ์แต่กับล็อคดาวน์ทำไมถึงเป็นข้อยกเว้นได้ นั้นเพราะความเป็นกลางของล็อคดาวน์ที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายไหนซ้ำยังช่วยเหล่ามนุษย์ที่ตามเก็บหุ่นยนต์ตัวอื่นอีกด้วย แน่นอนว่าเรื่องราวมีเงื่อนงำซ่อนอยู่ทั้งสองฝ่ายระหว่างล็อคดาวน์กับมนุษย์ที่ต่างต้องการบางสิ่งเช่นเดียวกัน


ถ้าพูดถึงล็อคดาวน์ทำให้ตัวเองรู้สึกได้ว่าเอาเข้าจริงนี่อาจไม่ใช่ตัวร้ายแบบร้ายบริสุทธิ์ซะเสมอไปเพราะมีการพูดจาที่มีเบื้องหลังบางอย่างซ่อนอยู่ อาทิ การต่อสู้ระหว่างออโต้บอทกับดิเซ็ปติคอนเป็นการทำให้จักรวาลปั่นป่วนไม่สมดุล เป็นกลางไม่เข้าฝ่ายไหนเมื่อภารกิจเสร็จก็ทำตามสัญญา กระทั่งยังเกริ่นๆถึงผู้สร้างที่ไม่พอใจในเรื่องที่เกิดขึ้นจนต้องส่งล็อคดาวน์มาจับตัวออพติมัสกลับไปหาผู้สร้าง ซึ่งผู้สร้างในที่นี่ไม่แน่ชัดว่ามีหน้าตาหรือคล้ายคลึงแต่อย่างใดนอกจากฉากเปิดเรื่องที่เห็นยานอวกาศนับสิบลำมุ่งตรงมายังโลกในยุคไดโนเสาร์ตามด้วยจุดระเบิดพื้นที่ต่างๆให้กลายเป็นโลหะ แม้ตอนเปิดเรื่องจะงงๆเพราะไม่รู้มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องยังไงแต่ก็เริ่มเข้าใจทันทีว่าการจุดระเบิดให้กลายเป็นโลหะเหลวนั้นก็เพื่อนำมาสร้างกองทัพหรือทรานส์ฟอร์เมอร์นี่แหละ และเมื่อกลับมาเข้าเรื่องก็พบว่าประเด็นนี้ได้ขยายมากขึ้นเมื่อล็อคดาวน์ได้มอบเมล็ดพันธุ์แก่คนที่ร่วมมือในเรื่องนี้ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโจซัวผู้ครองบริษัทยักใหญ่ที่ผลิตวิทยาการก้าวล้ำจากการเก็บตกซากจากทรานส์ฟอร์เมอร์มาสร้างทรานส์ฟอร์เมี่ยมก่อนจะมารู้ภายหลังว่าเจ้าเมล็ดพันธุ์คือหัวระเบิดที่มีพลังทำลายล้างระดับนิวเคลียร์ที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นโลหะเช่นยุคไดโนเสาร์ ส่วนเหตุผลที่ว่าล็อคดาวน์มอบเมล็ดพันธุ์ทำไมนั้นน่าจะมาจากข้อแลกเปลี่ยนเพื่อเจรจาต่อรองหลังจากภารกิจเสร็จสิ้นจะมอบวิทยาการให้แต่ต้องได้รับความมือจำกัดเหล่าออโต้บอทเสียก่อน เมื่อสัญญาได้ยุติลงผลที่ตามว่าก็คือทรานส์ฟอร์เมอร์ถูกไล่เก็บไปเรื่อยๆด้วยฝีมือมนุษย์จาก CIA ที่ไม่เห็นด้วยว่าโลกควรจะเหล่าหุ่นยนต์พวกนี้ในเมื่อเราคือเจ้าของโลกอย่างแท้จริง


ไหนจะเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่กลายเป็นไอเท็มของภาคนี้(สังเกตให้ดีแต่ละภาคมักจะมีไอเท็มที่เป็นต้นเหตุมาอยู่เสมอ = เดอะคิวบ์ > เมทริกซ์ > แท่งเสาประตูมิติ > เมล็ดพันธุ์) เรื่องของผู้สร้างที่ไม่รู้ว่าใคร และประเด็นอีกอย่างที่หาเรื่องเข้าจนได้ คือเรื่องทรานส์ฟอร์เมี่ยมที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ที่มีหน้าตาและต้นแบบจากทรานส์ฟอร์เมอร์ที่อาศัยเศษซากจากโลหะส่วนต่างๆมาหลอมละลายโดยการสร้างต้องอาศัยวิทยาการหนึ่งอย่างคือหัวของเมกะทรอนเข้าช่วยพัฒนาการทำงานนี้ แน่นอนว่าเป็นเส้นเรื่องใหม่แต่ขอให้เข้าใจอย่างหนึ่งว่าการที่หนังมาสู่ระดับนี้ได้ไม่ได้แปลว่าจะต้องทิ้งของเก่าแล้วเข้าเส้นเรื่องใหม่ทั้งหมดหากจะมีการหยิบยืมจากภาคก่อนบ้างเพื่อช่วยน้ำหนักของเนื้อเรื่องภาคนี้ ซึ่งถ้าหากเรามองไตรภาคก่อนจะเห็นว่าฝ่ายมนุษย์ผู้อยู่ดีๆก็กลายเป็นเหยื่อของสงครามหุ่นยนต์ไปซะดื้อๆจนชักไม่แน่ใจในความปลอดภัยต่ออนาคตที่เกือบหายนะกันมาแล้วในภาคสาม กระนั้นจะโทษฝ่ายผู้มาเยือนอย่างเหล่าทรานส์ฟอร์เมอร์ก็ไม่ได้เพราะมนุษย์เองได้กระทำเรื่องที่สร้างความเจ็บใจมิใช่น้อยราวกับหักหลังโดยเฉพาะกับเหล่าออโต้บอทที่โดนตามเก็บจนเกิดอาการช้ำใจมิใช่น้อยที่อุตส่าห์ช่วยเหลือมาโดยตลอดแต่ก็มนุษย์เล่นงานจนตาย นั้นเองที่ทำให้ออพติมัสในภาคนี้มีโทนที่แตกต่างจากภาคก่อนอย่างมากทางอารมณ์ที่เริ่มชิงชังกลุ่มมนุษย์บ้าง ซึ่งเห็นได้จากการเปิดตัวที่มีท่าทีตื่นกลัวและยังจ่อปืนใส่เคดเพราะตกใจกลัวราวกับคนละคนที่รักมนุษย์ชาติคนละเรื่อง จัดว่าเป็นอะไที่เข้าท่าเข้าทางดีที่ทำให้ตัวละครมีด้านมืดในใจและปรับเปลี่ยนมุมมองทัศนะคติไปเกือบหมด ส่วนเหตุผลที่ออพติมัสยอมรับเคดเป็นพวกด้วยเพราะเคดยินดีช่วยซ่อมออพติมัสที่กำลังหมดสภาพใกล้เสื่อม แม้จะรู้สึกแปลกที่ยอมช่วยง่ายๆทั้งที่คนรอบตัวไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะเรื่องกำจัดเหล่าทรานส์ฟอร์เมอร์เป็นที่รู้จักกันทั่ว ทว่าเคดไม่ใช่คนทั่วไปที่เห็นของแปลกตาแล้วจะเดินหนีเพราะเขาเป็นนักประดิษฐ์ที่ชื่นชมอุปกรณ์ต่างๆ โดยแล้วการสร้างคาแรกเตอร์ให้ตัวละครนี้เป็นนักประดิษฐ์ดูจะช่วยได้มากทีเดียวเพราะฝ่ายที่เข้าข้างออโต้บอทนอกจากเคดกับลูกสาวและแฟนของลูกสาว (Jack Reynor) ก็ไม่มีใครเข้าพวกเลยสักนิดในช่วงแรก เป็นข้อแตกต่างเล็กๆผิดจากภาคก่อนที่ยังมีกลุ่มทหารเข้ามาช่วยลุยอีกทาง แต่ภาคนี้ต้องพึ่งตัวเองมากกว่าเดิมมาก ดังนั้นตัวละครจึงออกมาฉลาดและยังเข้าใจอะไรง่ายไม่งี่เง่าชวนน่ารำคาญ


Transformers: Age of Extinction เป็นภาคที่มีเสน่ห์มากที่สุดในการเข้าเส้นเรื่องใหม่ที่ดัดแปลงทุกอย่างเกือบหมดอย่างแยบยลไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่เปลี่ยนไปจากเดิมทั้งฝ่ายคนและฝ่ายหุ่นยนต์ แต่จะชอบจริงๆคือการดีไซด์ของภาคนี้ที่ไม่เน้นรูปทรงออกมาดูเหลี่ยมให้สมกับคำว่าหุ่นยนต์หากจะเปลี่ยนแปลงให้ออกมาแนวเอเชียมากขึ้นทั้งสัดส่วน สีสัน และส่วนในลักษณะที่คล้ายคลึงความเป็นคนอย่างเรื่องวัฒนธรรมของญี่ปุ่นตามแบบฉบับซามูไรที่เห็นได้จากหุ่นยนต์ตัวสีฟ้าตัวหนึ่งที่ถอดแบบชุดเกราะและสำเนียงการพูดการจามาครบถ้วน หรือจะแนวมาเฟียรุ่นเก๋าที่มีบางอย่างอยู่ข้างหลังคล้ายผ้าคลุมจากหุ่นตัวสีเขียว แม้กระทั่งออพติมัสยังเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ให้ออกมาคล่องแคล้วยิ่งกว่าก่อนจากที่ดูใหญ่โตบ้ากำลังมาเป็นเน้นความเป็นนักรบไม่ใหญ่โตเกินไปซ้ำยังมีสัดส่วนโค้งเว้าที่ชัดเจน โดยส่วนตัวชอบสไตล์หุ่นยนต์ภาคนี้ไม่น้อยเลยที่ปรับให้ดูมีเอกลักษณ์มากขึ้นทั้งยังเรื่องสีที่แบ่งชัดเจนไปคนละสีเลย ที่สำคัญคือหุ่นยนต์น้อยลงกว่าก่อนมากจนแต่ละตัวมีความโดดเด่นขึ้นจากที่ภาคก่อนๆมากันไม่กี่นาทีซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ค่อยน่าประทับเท่าไหร่ แม้หุ่นยนต์จะน้อยลงเพราะศัตรูในภาคนี้มีแต่ล็อคดาวน์มาเดียว กระนั้นฝักฝ่ายในภาคนี้มีมากกว่าครั้งก่อนๆไม่ว่าจะคนที่คิดล้างบาง ตลอดจนตัวร้ายที่ตายแล้วแต่ไม่สิ้นอย่างเมกะทรอนที่คืนชีพแบบโกงๆด้วยการใช้ประโยชน์จากฝีมือมนุษย์สร้างทรานส์ฟอร์เมี่ยม และเพราะเป็นแบบนี้หนังจึงออกมายาวกว่าทุกภาคที่เล่นซะเกือบจะ 3 ชั่วโมงท่าจะได้อยู่แล้ว

ถึงหนังจะยาวกว่าที่คิดแต่ใช่จะออกมาน่าเบื่อเสมอไปเพราะความสนุกยังไหลมาไม่หย่อนกับฉากแอ็คชั่นที่หาเรื่องตีกันได้เสมอ แต่เป็นข้อเสียสำหรับบางคนที่เบื่อฉากแอ็คชั่นสไตล์ระเบิดเขาเผากระท่อมที่โชว์ความมันส์มากอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย แต่กับใครที่ชื่นชอบแอ็คชั่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้วคิดว่าไม่น่ามีปัญหาเมื่อเห็นชื่อผู้กำกับที่การันตีสายแอ็คชั่นว่ามันต้องมันส์ ระเบิดต้องระเบิด และบ้าพลังหลั่งอะดรีนาลีนตลอดเวลาให้เหนื่อยหลังดูจบไปข้างหนึ่งเลย ดังนั้นถามว่าบู๊แค่ไหนมันส์มากไหมไม่ใช่ประเด็นหรือปัญหาสำหรับผู้กำกับ Michael Bay เลย เพราะเขาจัดให้เสมอแม้ทุนสร้างจะน้อยลงแต่ความมันส์ไม่ด้อยกว่าทุกภาคเลยนะเออ


เอาสิเมื่อความมันส์ไม่ตกพร่องต้องมาพูดถึงเอฟเฟคที่จัดได้แม่นเสียจริงกับฉากระเบิดที่ยังขับแรงระเบิดได้กระจุยกระจายราวกับสงครามโลกได้ไม่เป็น เมื่อการเรียบเรียงฉากแอ็คชั่นยังมันส์และระเบิดยังเข้าที่ย่อมไม่ลืมที่จะต้องได้เทคนิค CGI งามๆเข้ามาสร้างทรานส์ฟอร์เมอร์หุ่นยนต์วิ่งสู้ฟัดที่ไม่ต้องพรรณนาอะไรให้ฟังในเมื่อภาคแรกออกมาดีและเนียนแบบไหนก็ดีไม่ลดลงแถมจัดได้หลากหลายมากขึ้นด้วยพรรคพวกใหม่อย่างไดโนบอทที่สร้างได้ถูกใจเด็กๆชอบไดโนเสาร์แน่นอน ก็ดูโดยรวมแล้วพวกฉากแอ็คชั่นต่างๆยังคงทำได้มันส์ไม่เลิกลาเช่นเคยแม้จะความรู้สึกที่อิ่มไปบ้างสำหรับใครที่ยังตราตรึงในภาคก่อนๆ เนื่องจากเวลาหุ่นยยนต์สู้กันนั้นลูกเล่นไม่ได้มีอะไรเยอะแยะเลยเพราะถูกใช้ไปเกือบหมดในแต่ภาคจนเรียกว่ากับบางคนคงออกแนวจำเจมิใช่น้อย แต่กับใครที่ทิ้งช่วงไปนานกับไตรภาคก่อนคิดว่าอรรถรสความมันส์น่าจะเอาไปเลยเต็มๆ

ทั้งการเปลี่ยนแปลงมุ่งเข้าหาเส้นเรื่องใหม่ ตัวละครชุดใหม่ที่คงคุ้นตาแค่ออพติมัสกับบัมเบิ้ลบี ประเด็นใหม่ที่ทำให้ฝ่ายมนุษย์คือผู้ร้าย สิ่งเหล่านี้อาจน่าสนใจก็จริงแต่จะเตะตาคงไม่พ้นหุ่นยนต์ตัวใหม่ที่เป็นการโชว์ในภาคนี้จนเรียกว่าเด่นมาก ก็คือเหล่าไดโนบอทที่นำทีมโดยกริมล็อก(ทีเร็กซ์ ไดโนเสาร์กินเนื้อ)และสมาชิกอื่นที่เข้าพวกออโต้บอทในตอนท้ายเรื่องจนสร้างความมันส์บวกอลังการงานสร้างได้อย่างจุใจด้วยการจัดเต็มอย่างเช่นทุกครั้งในตอนไคลแม็กซ์อย่างไม่ยืดเยื้อเช่นภาคสามที่มันส์อยู่ได้ตั้งนาน แต่น่าเสียดายที่สิ่งที่ต่างคนต่างเรียกหากลับเป็นมีบทบาทที่จำเป็นเฉพาะในช่วงท้ายเรื่องเท่านั้น โดยเฉพาะกับพวกไดโนบอทที่พึ่งมีบทบาทตอนรบประจันบานครั้งสุดท้ายตามความต้องการของออพติมัสที่พวกน้อยมีไม่กี่ตัวแล้วต้องการหาสมาชิกเพิ่มก่อนจะได้สมใจด้วยการปลดปล่อยกลุ่มไดโนบอทจากกรงขังจากยานล็อคดาวน์ที่ขโมยมา แม้บทบาทจะน้อยผิดคาดเพราะตั้งหน้าตาตารอจนไร้วี่แววแต่สุดท้ายก็มาจนได้คล้ายประหนึ่งตัวช่วยจริงๆ หลังจากนั้นจะเป็นใครมีตัวละครกี่ตัวก็มามีบทบาทกันหมดเลยตามฉากต่างๆที่พยายามแย่งซีนเข้าหากัน ทว่าตัวที่บทน้อยที่สุดแต่ก็แย่งซีนได้มากที่สุดคือเมกะทรอนที่คงเหลือแต่หัวจนแฟนหรังชุดนี้คงได้กรี๊ดที่เห็นตัวร้ายระดับเอ๋มีเอี่ยวกับภาคนี้


ถ้าหัวเฉยๆอย่างเดียวคงไม่ใช่หากยังฉลาดรู้วิธียืมมือมนุษย์มาสร้างทราส์ฟอร์เมี่ยมที่ค่อยใส่จิตสำนึกตัวเองลงไปทีละน้อยก่อนจะควบคุมร่างให่ได้เต็มตัวในชื่อใหม่กัลวาทรอนที่ทรงพลังและลูกเล่นมากกว่าตัวก่อนคนละเรื่อง นี่แหละเป้าหมายสำคัญของภาคนี้ที่พยายามเชื่อมโยงเนื้อเรื่องให้เข้าหากันจนหมดและตีเนียนถือกำเนิดตัวร้ายของเรื่องชุดนี้ตลอดกาลให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งเพื่อสานต่อในคราวหน้าได้อย่างลงตัว

ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาที่ยังจับสุดไม่ได้สักอย่างแต่สะกิดใจคือทรานส์ฟอร์เมอร์ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ร่างกายเป็นเหล็กอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจแล้วนำมาสร้างปฏิรูปใหม่เพื่อสร้างอาวุธอย่างทรานส์ฟอร์เมี่ยม พวกเขาไม่ใช่โลหะมีชีวิตอย่างที่มนุษย์เข้าใจเพราะทุกส่วนคือจิตวิญญาณมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ไม่ต่างกัน ถ้ามองในแง่ของหุ่นยนต์เราอาจไม่คิดอะไรแต่ถ้ามองกลับกันเป็นร่างกายของคนถูกจับหลอมละลายแล้วมารีไซเคิลสร้างนวัตกรรมใหม่ทจะรู้สึกยังไงบ้าง เพราะเหตุนี้ภาคนี้ออพติมัสที่เชื่อมั่นว่ามนุษย์ไว้ใจได้คือเรื่องที่น่าผิดหวังและจะไม่ปราณีลงมือกับมนุษย์ที่มุ่งร้ายอีกต่อไป คงจะดูซึ้งนิดนึงที่เห็นมนุษย์ทำกับเพื่อนออพติมัสได้อย่างลงคอทั้งที่ปกป้องช่วยเหลือพวกมนุษย์มาโดยตลอด ฝ่ายมนุษย์เองก็ใช่ย่อยกล้าทำทุกอย่างโดยไม่สนใจว่าจะเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมแค่ไหนแต่ขอซึ่งความก้าวหน้าก็ทำได้หมดและยิ่งเกี่ยวกับธุรกิจมันต้องทำได้เท่านั้น นอกจากฝ่ายหุ่นยนต์ที่ถูกปรับทัศนะให้จิตใจคับแคบมากขึ้นแล้วมนุษย์เองก็มีด้านมืดตัวเองไม่น้อยเช่นกัน ประเด็นนี้ดูจะเข้าท่าที่สุดแล้วของเรื่องที่พยายามกัดจิกแม้สุดท้ายจะลอยเป็นควันตามฉากแอ็คชั่นที่ประทุระเบิดได้เรื่อยๆก็ตาม ทั้งนี้จะไปว่าผู้กำกับ Michael Bay ว่าบ้าระเบิดยัดฉากแอ็คชั่นเป็นโหลก็ไม่ได้ซะเสมอไป


ก็ลองคิดดูล่ะกันว่าแกใช้ทุนสร้าง 165 ล้านดอลลาร์ทำได้ถึงขนาดนี้ได้ยังไง กับบางเรื่องที่ทุนบานปลายถึง 200 ล้านดอลลาร์ยังอลังการไม่เทียบเท่าเลยด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าใส่ใจกับฉากแอ็คชั่นมากแค่ไหนให้ออกมาสนุกและมันส์ไม่หยุดหย่อน ที่ติคงมีเรื่องเดียวคืออยากให้จับทิศทางเนื้อเรื่องให้ออกมาลึกซึ้งบ้างก็ดี ไม่ใช่เข้าประเด็นแล้วปล่อยทำหลุดประเด็นต้องมานั่งคิดวิเคราะห์กันเอาเองตลอด อันที่จริงบทเขียนมาดีแล้วแค่ขาดความลึกซึ้งที่ยังเรียบเรียงหาข้อสรุปไม่ลงตัวเท่านั้นเอง เพราะเช่นนี้ทางเนื้อเรื่องจึงไม่ค่อยเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชมเท่าไหร่ที่เนื้อหาเริ่มหลุดได้ง่าย ถึงอย่างงั้นก็อดคิดไม่ได้ว่าสิ่งที่ผู้ชมต้องการจริงๆคืออะไรระหว่างแอ็คชั่นแสนเมามันส์กับเนื้อเรื่องที่มีความสมเหตุสมผล ก็ในเมื่อหนังมันเอามันส์ตามลักษณะความบ้าพลังของผู้กำกับที่รู้ว่าใคร ดังนั้นการเสพเรื่องเพื่อเอามันส์อย่างเดียวคืออรรถรสที่ได้จากนี้คือความแน่นอน

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)