A Nightmare on Elm Street (2010) นิ้วเขมือบ

A Nightmare on Elm Street (2010)
นิ้วเขมือบ
Director: Samuel Bayer
Genres: Crime | Drama | Horror | Mystery

โดยส่วนตัวไม่อยากบอกว่ารีเมคเลยแต่ก็นะพล็อตเรื่องยังสเต็ปเดิมไม่แตกต่าง แต่มีเปลี่ยนแปลงไปบ้างพอสมควรก็ถือเป็นเรื่องดีที่รู้จักเพิ่มลดให้ดูไม่ซ้ำซาก ทว่าสิ่งที่ตัวเองคิดคือภาคต้นฉบับของปี 1984 ดันทำดีไปหน่อย ยิ่งเป็นผู้กำกับ Wes Craven ที่ชอบทำหนังสยองขวัญด้วยแล้วยิ่งแสดงถึงระดับที่สุดยอดออกมาจนเป็นน่าจดจำในวงการหนังสยองขวัญและต่อยอดด้วยภาคต่อมาเรื่อยๆ ซ้ำยังมีทีเด็ดที่ไปฟัดกับเจสัน วอร์ฮีส์ใน Freddy vs. Jason (2003) มาด้วยแหนะ ดังนั้นการจะสร้างใหม่หรือจะหาความแตกต่างอะไรก็แล้วแต่นั้นจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยงพอสมควรกับของเก่าที่มีความแข็งแรงอยู่ก่อนแล้วโดยเฉพาะเรื่องของนักแสดงที่เล่นเป็นเฟรดดี้ ครูเกอร์ ในของดั้งเดิมคนที่เล่นคือ Robert Englund ซึ่งผูกขาดบทนี้มาตั้งแต่แรกและยังไม่มีใครมารับบทแทนเลย ดังนั้นการที่เจ้าตัวจะแสดงออกมากลมกลืนกับตัวละครนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แสดงไปไม่รู้ตั้งกี่ครั้งต่อกี่ครั้งจะเป็นที่น่าจดจำผู้ชม ถ้าถามว่ารู้สึกยังไงเมื่อไม่ใช่เจ้าเก่าเล่นอย่างเคย ก็จะบอกว่าน่าลองอยู่เหมือนกันเพราะบางทีการที่เห็นอะไรเดิมๆอาจเป็นความเคยชินซึ่งถ้าได้ของใหม่อาจจะได้อรรถรสไปอีกแบบ โดยครั้งนี้คนที่รับบทเป็นเฟรดดี้ ครูเกอร์คือ Jackie Earle Haley ตอนแรกไม่นึกคิดอะไรจนกระทั่งเห็นการเมคอัพเท่านั้นแหละ อารมณ์อยากหยิบของเก่ามาดูก็พลันฝุดในหัวขึ้นมาทันที


ไม่ใช่การแสดงนะที่ไม่ดีแต่ต้องบอกว่าใช้ได้เลยในแบบโหด ถ้าเลยในแบบโหดแต่ขาดความดั้งเดิมที่เรามักคุ้นเคยกันทุกภาคคืออารมณ์ขันแบบตลกร้าย ถ้าตามหลักแล้วเฟรดดี้ ครูเกอร์อาจจะด้านที่โหดอยู่เยอะแต่คาแรกเตอร์จะไม่ซีเรียสอะไรมากซ้ำยังเฮฮาอยู่เสมอเวลาจะฆ่าเหยื่อแต่ละรายในฝัน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมสไตล์การฆ่าแต่ละครั้งถึงไม่ซ้ำกันเลย นั้นเพราะส่วนหนึ่งตั้งใจทำมาให้เป็นเรื่องตลกขำๆที่ฮาเฉพาะเฟรดดี้ ครูเกอร์เจ้าของโลกแห่งความฝันที่อยากจะเซอร์ไพร์สในแบบที่ใครก็นึกไม่ถึง แต่ของฉบับนี้สิเรื่องของนิสัยที่รู้จักกันดีดันหายไปหมด มีแต่ความโหดที่กะเอาฆ่าอย่างเดียวโดยไม่นึกสนุกกับเหยื่อเท่าไหร่เลย ถึงแม้เหยื่อจะไม่ตายในทันทีเพราะมีการไล่ล่าประหนึ่งฝันร้ายที่กัดกินจิตใจ ทว่าสิ่งที่ได้ยังดูจืดชืดไร้การหักมุมที่ทุกทีเรามักได้มีโอกาสเห็นตัวละครที่โดนไล่ล่ามีจิตใจที่เข้มแข็งเพื่อต่อกรกับเฟรดดี้ ครูเกอร์ และสิ่งนี้ยังไม่มีปรากฎจนทำให้เราคิดว่านี่แค่หนังสยองขวัญเรื่องหนึ่งที่ไม่มีความเป็นเอกเทศในตัวเองเท่าไหร่นักเลยในแง่การดัดแปลง

น่าเสียดายเมื่อเทียบกับต้นฉบับจะกลายเป็นหนังสยองขวัญคนละชั้นไปเลย ยิ่งคนที่เล่นเป็นเฟรดดี้ ครูเกอร์ที่ไม่ใช่คนเดิมด้วยแหละยิ่งน่าคิดใหญ่เพราะเรื่องเมคอัพนี่แหละที่ตัดสินอารมณ์ผู้ชมเจ้าเก่าได้เลยในเรื่องความน่าดู อันที่จริงมันน่าบ่นมากเลยนะที่ตัวนักแสดงพยายามผลักตัวเองด้วยการแสดงให้ออกมาน่ากลัวแม้จะยังไม่ถึงระดับของเก่าที่น่ากลัวปนขี้เล่นจนเหมาะกับคำว่าฝันร้ายแต่ภาพลักษณ์ยังไม่ใช่อ่ะสิ หมายถึงเมคอัพนะ หน้าดูมั่วบวมๆยังไงก็ไม่ทราบไปๆมาๆจะดูตลกมากกว่าอีก แล้วรู้หรือไม่ว่า Jackie Earle Haley สมควรจะเล่น A Nightmare on Elm Street ตั้งแต่ภาคแรกโน้นแล้วด้วย แต่เพราะอะไรนั้นต้องไปโทษ Wes Craven ที่เห็นแวว Johnny Depp มาเล่นน่ะสิ เรื่องของเรื่องคือเป็นช่วงกำลังคัดนักแสดงและ Johnny Depp กำลังนั่งรอเพื่อนอยู่ซึ่งเพื่อนคนนั้นคือ Jackie Earle Haley อะไรกันเนี้ยแต่อย่าน้อยก็กลับมาเล่นเรื่องนี้จนได้อ่ะนะแถมเป็นเจ้าแห่งฝันร้ายซะด้วย


อย่างที่บอกพล็อตเรื่องคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงอะไรนักกับลุ่มวัยรุ่นที่เกิดฝันร้ายบ่อยๆ และในฝันมักจะเห็นชายท่าทางน่ากลัวมีหน้าเละเหมือนโดนไฟไหม้ สวมหมวกกับเสื้อที่มีสีเขียวกับแดงสลับกันแล้วยังมีกงเล็บที่นิ้วมือเป็นใบมีดโกน เจ้าฝันนี้รบกวนการนอนเป็นอย่างมากและนับวันยิ่งน่าสยดสยองขึ้นทุกทีจนพวกเขาที่ฝันถึงชายปริศนานี้ได้ตายไปทีละคนทั้งๆที่ยังหลับอยู่ นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้แนนซี่ ฮอลบรู๊ค (Rooney Mara) กับเควนติน (Kyle Gallner) ต้องสืบสาวเรื่องราวหาความจริงจากชายปริศนานี้ว่ามีปูมหลังเกี่ยวอะไรกับพวกเธอกันแน่ ในขณะเดียวกันต้องห้ามหลับด้วยเช่นกันเพราะถ้าหลับมีสิทธิ์เท่ากับความตายที่ไม่ใช่แค่ฝันร้ายแต่มันคือเรื่องจริง ทำนองเดียวกับภาคแรกแต่พอจะสังเกตเห็นความแตกต่างบ้างหรือเปล่าว่าแนวการเดินเรื่องนั้นได้เปลี่ยนไปจากไล่ฆ่ากลายเป็นผสมแนวสืบหาความจริง นั่นแหละข้อแตกต่างอย่างเด่นชัดที่ช่วยให้ภาคนี้ดูมีมิติที่น่าสนใจเชิงหลักวิทยาศาสตร์มากขึ้นด้วยการใช้ลูกเล่นเกี่ยวกับคนอดนอน ลูกเล่นนี้คืออาการของคนที่ไม่ได้นอนมาประมาณ 3 วันก็จะเกิดอาการคล้ายๆสมองสั่งให้ร่างกายพักโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวว่ากำลังหลับทั้งยังยืน ประมาณว่าฝันกลางวันเดินอยู่ดีๆก็เกิดเห็นสิ่งที่ไม่มีจริงพอรู้สึกตัวจริงๆก็กลายเป็นว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริงหากแต่เป็นการหยุดพักของสมองทำให้หลับไม่รู้ตัว ที่พิเศษคือเฟรดดี้ ครูเกอร์ก็เข้ามาได้แม้จะเป็นแค่อาการงีบหลับจึงกลายเป็นเรื่องที่นอกจากจะเหนื่อยล้าแล้วยังเผลอตัวไม่ได้อีกด้วย

แม้การลำดับเนื้อเรื่องจะเปลี่ยนไปแทบทุกอย่างและยังตัดตัวละครในฉบับเดิมออกไปอย่างพ่อของแนนซี่แล้วเปลี่ยนประเด็นใหม่จากปัญหาวัยรุ่นที่เกี่ยวโยงถึงพ่อแม่กลายเป็นปัญหาของวัยรุ่นเสียเองทั้งหมดจากการอดหลับอดนอน ทำให้มิติฉบับนี้มีอะไรหลายอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับคำถามที่ว่าทำไมวัยรุ่นถึงไม่ยอมนอนกันในแง่ของด้านวัยเดียวแบบไม่ต้องไปโยงหาพ่อแม่ที่เป็นตัวการทำให้เด็กอยู่ในกรอบหรือกระทั่งการตีความเกี่ยวกับความเป็นมาของเฟรดดี้ ครูเกอร์ก่อนหน้าที่จะเป็นปีศาจแห่งฝันร้ายว่าเคยทำอะไรมาก่อน


ในฉบับเดิมเฟรดดี้ ครูเกอร์คือใครไม่เป็นที่ทราบกัแน่ชัดแต่เท่าที่รู้คือโรคจิตที่ชอบเด็กและทำอะไรหลายอย่างกับเด็กจนฝ่ายพ่อแม่ต้องออกมาล้างแค้นไล่ล่าจนลงเอยด้วยเผาทั้งเป็น แต่ภาคนี้จะมีการปูพื้นหลังให้เป็นภารโรงของโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งโดยเหล่าเด็กอนุบาลนั้นไม่ใช่คนอื่นใดแต่เป็นกลุ่มของแนนซี่สมัยยังเด็กน้อยไม่ประสีประสา แรกๆไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนกระทั่งมีเรื่องราวที่ไม่ดีทั้งบาดแผลที่เด็กได้มาอย่างปริศนาหรือร่องรอยบางสิ่งบางอย่างที่ดูเป็นการรุกล้ำจนเกินไป พอเห็นสภาพของลูกๆตัวเองที่เต็มไปด้วยฝันร้ายจึงทำให้พ่อแม่ออกมาจัดการกับเฟรดดี้ ครูเกอร์โดยทำตัวเป็นศาลเตี้ยไล่ล่าไม่หมดล่ะจนลงเอยด้วยการเผาเช่นเดียวกับต้นฉบับ ที่นี่จึงเป็นคำถามนิดนึงว่าเฟรดดี้ ครูเกอร์ลงมือทำร้ายเด็กจริงหรือไม่เพราะตัวหนังได้สร้างภาพลักษณ์ในช่วงที่กำลังเล่นกับเด็กๆอย่างสนุกสนานโดยไม่มีฉากของความรุนแรงหรือสิ่งที่น่าเป็นภัยคุกคามได้เลยแม้แต่น้อย สิ่งที่เราเห็นสิ่งที่เรารู้มาจากปากของเด็กที่ยังไม่สามารถเป็นพยานได้เพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ดูเป็นเรื่องที่น่าสงสัยไม่น้อยอีกอย่างหนึ่งของฉบับนี้แต่ทว่ามุมมองนี้ดูละเลยไปหน่อยเกี่ยวกับความจริงที่อาจเป็นอย่างอื่นไปได้แต่ก็ไม่ได้เล่น ซึ่งถ้าเนื้อเรื่องเปลี่ยนไปทิศทางอื่นอาจเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของหนังชุดนี้มาตลอดก็ได้ แต่อย่างน้อยเรื่องประเด็นของศาลเตี้ยก็ช่วยให้ภาคนี้มีน้ำหนักพอสมควร

A Nightmare on Elm Street ฉบับนี้แม้จะให้ความรู้สึกที่ไม่น่าดูเพราะเปลี่ยนนักแสดง Robert Englund จนทำให้คาแรกเตอร์เปลี่ยนไปจากตลกร้ายชอบเล่นกับเหยื่อกลายเป็นว่าหนักไปทางโหดมีความจริงจังที่ดูซีเรียสในการลงมือฆ่าทำให้ในส่วนนี้จึงดูดาดๆธรรมดาไปหน่อยเพราะขาดจินตนาการในโลกของความฝัน แต่อย่างน้อยก็ได้ความสยองอีกมุมหนึ่งที่เข้มข้นทั้งบรรยากาศและความกดดันอันน่าอึดอัด โดยส่วนตัวว่าใช้ได้ดีเลยในแง่การวางฉากต่างๆที่ดูติดตาดีซ้ำยังวางตำแหน่งความสว่างกับความมืดได้เข้าท่าอีกด้วย อันที่จริงเรื่องการวางฉากต่างๆต้องยกให้กับผู้กำกับ Samuel Bayer ที่ทำงานโฆษณามากมายแต่กับหนังเนี่ยนี่คือเรื่องแรกเลยนะ ส่วนเรื่องของเอฟเฟคนับว่าดีตลอดรอดฝั่งให้ความรู้สึกหลอนได้ที่ จะมีเสียก็น่าจะเรื่องของเมคอัพที่ดูไม่เป็นที่น่าจดจำเท่าไหร่เพราะดูตลกเกินกว่าจะสยองแบบของดั้งเดิมที่ไม่ว่าจะทำหน้าโหดหรือตลกก็น่ากลัวไปหมด แต่นี่ยังไม่ค่อยเข้ากับลักษณะเท่าไหร่ และอีกอย่างคือเนื้อเรื่องที่จัดว่าง่ายไปหน่อยจึงไม่ตื่นเต้นอย่างที่หวังเอาไว้ทั้งที่มาแนวสืบสวนช่วยกระตุ้นคนดูแล้วแท้ๆแต่ปมก็วางโดยง่ายโดยเฉพาะใครที่เป็นแฟนหนังชุดนี้อยู่ก่อนจะเข้าถึงได้ง่ายมากๆ การดำเนินเรื่องง่ายและรวบรัดไปนิดนึงอย่างเรื่องการส่งต่อตัวละครที่ดูจะมุ่งไปเยอะบ้างขณะเดียวกันก็ดูเบาไปบ้าง ยิ่งตอนท้ายเรื่องให้ความรู้สึกโล่งๆชอบกลเหมือนที่ผ่านมาไม่ค่อยมีความหมายอะไรเลยเพราะจบง่าย การแก้ปัญหาก็ด้วยวิธีดั้งเดิมสุดคลาสสิคของหนังชุดนี้ด้วยการดึงความฝันมาสู่ความจริง ถ้าถามว่ามันดูน่าตื่นเต้นไหมถ้ากับแฟนๆเฟรดดี้ ครูเกอร์คงบอกเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่กับใครที่ยังใหม่ๆไม่คุ้นอาจดูแปลกดีและไอเดียก็ใช่ได้ด้วย ถือว่าสนุกระดับนึงแต่ยังอ่อนให้กับต้นฉบับอยู่หลายส่วน นี่ถ้าขับเน้นความเข้มข้นให้ซับซ้อนดูใหม่คงจะออกมาดีมิใช่น้อย

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)