The Last House on the Left (2009) วิมานนรกล่าเดนคน

The Last House on the Left (2009)
วิมานนรกล่าเดนคน
Director: Dennis Iliadis
Genres: Horror | Thriller
Grade: B-

"I Spit On Your Grave ฉบับครอบครัว"

เป็นงานรีเมคจากเจ้าเก่า Wes Craven เมื่อปี 1972 โน่นแน่ะ เนื้อเรื่องยังคงมาแนวเดิมๆกับครอบครัวแสนอบอุ่นที่มีกันพร้อมหน้าอย่างจอห์น (Tony Goldwyn) ผู้นำครอบครัวที่มีอาชีพเป็นหมอ,เอ็มม่า (Monica Potter) แม่บ้านแสนอารี และมารี (Sara Paxton) ลูกสาววัยทีน กับการตัดสินใจหยุดพักผ่อนที่บ้านพักต่างอากาศริมทะเลสาบท่ามกลางเขาลำเนาไพร แต่การพักผ่อนครั้งนี้มารีได้ขออนุญาติพ่อแม่ไปหาเพื่อนที่เผอิญอยู่เมืองนี้ คือเพจ (Martha MacIsaac) เพื่อนสาว แต่ระหว่างนั้นก็บังเอิญได้ไปรู้จักกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่มาซื้อบุหรี่ในร้านที่เพจทำงานอยู่ชื่อจัสติน (Spencer Treat Clark) แล้วไม่รู้ด้วยความนึกสนุกทั้งมารีทั้งเพจจึงตามๆจัสตินไปที่บ้านของเขาโดยหารู้ไม่ว่าการไปในครั้งนี้ต้องแลกด้วยความเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัสชนิดไม่มีวันลืม เมื่อครุก (Garret Dillahunt) พ่อของจัสตินผู้เป็นนักโทษหลบหนีการจับกุมจากทางการมาเจอตัวเข้าและคิดว่าอาจเป็นต้นเหตุต้องถูกจับอีกครั้งเพราะสองสาวที่รู้ตัวจริงเข้าให้แล้ว ดังนั้นทั้งซาดี้ (Riki Lindhome) แฟนครุก และน้องชายฟรานซิส (Aaron Paul) จึงคิดจะร่วมมือกับครุกเพื่อเล่นเกมส์หฤโหดกับสาวทั้งสองด้วยความทรมานขั้นปางตายเพื่อให้รู้ถึงความโหดเหี้ยมที่โลกภายนอกมันโฉดขนาดไหน


ทั้งมารีและเพจต่างถูกย่ำยีชนิดไม่ต่างกับทาสที่ถูกทำร้ายร่างกายตลอดจนเหยียบความรู้สึกด้วยการข่มขืนทำลายความบริสุทธิ์ แต่ทว่ามีเพียงมารีที่รอดมาได้แบบปางตายจนไม่น่าจะรอดชีวิตมาได้ และการรอดของมารีได้เป็นการรส่งข่าวถึงคนในครอบครัวเมื่อพ่อและแม่ได้เห็นสภาพลูกของตัวเองจนไม่อยากเชื่อว่านี่คือลูกของตัวเองที่ดูดีในตอนไปแต่ทำไมตอนกลับมาถึงเลวร้ายเช่นนี้ได้ ทว่าก่อนที่มารีจะมาถึงบ้านของตัวเองก็มีกลุ่มคนที่คุ้นหน้ามาขอความช่วยเหลือพักอยู่ก่อนแล้วในค่ำคืนที่พายุเข้า ซึ่งคนกลุ่มนั้นหาใช่ใครแต่เป็นพวกที่มารีเจอก่อนหน้านี้ทั้งหมด แล้วความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นเมื่อพวกนั้นบางคนรู้ว่ามารียังไม่ตายและจอห์นกับเอ็มม่าเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว ทำให้ค่ำคืนแห่งความหฤโหดได้เริ่มขึ้นกับการเอาคืนอย่างสาสมด้วยการฆ่าและฆ่าเพียงอย่างเดียว!

จะว่ากันตามตรงในทางพล็อตเรื่องคงมาประมาณว่า I Spit On Your Grave ที่มาทำนองแค้นนี้ต้องชำระ เพียงมีจุดแตกต่างกันตรงที่ว่าไม่ได้มาแบบ One Show Girl เพราะหนนี้มากันเป็น Family กับแค้นที่ต้องเอาคืนหาไช่การชำระ คือมันเหมือนกันมากเลยเมื่อลองมาเทียบคร่าวๆในแง่การทรมานผู้หญิงด้วยการข่มขืนกันอย่างน่าสะเทือนใจ จะเว้นหน่อยตรงการเริ่มเรื่องกับบทสรุปของเรื่องที่เป็นการแสดงถึงความไม่ไว้หน้าวางใจคนตั้งแต่พวกโจรตลอดจนคนในครอบครัวระหว่างพ่อกับแม่ ผิวเผินแล้วนี่นับว่าเป็นการแสดงอะไรหลายอย่างที่ไม่ได้มาซึ่งมุมมองเดียวกับการแก้แค้นด้วยการเอาคืนแต่เป็นการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลของผู้เป็นหมอที่แทนจะทำหน้าที่รักษาคน แต่นี่เมื่อรู้ความจริงกลับบันดาลความแค้นลงอย่างไม่มีความปรานีแต่อย่างใด(ในกรณีนี้คือจอห์นพ่อของมารี) เป็นอะไรที่ผิดแปลกกับช่วงแรกที่ยินดียินดาเปิดรับคนนอกเข้าบ้านได้อย่างไม่ปฏิเสธพร้อมกับช่วยทำแผลให้เพราะคงคิดว่าไปเจออุบัติเหตุมาจริงๆ จะว่าแล้วถ้าตัดในแง่จรรยาบรรณความเป็นหมอออกคงจะได้เค้าความที่ว่าคนๆนี้คือพ่อที่กำลังแก้แค้นให้ลูกในขณะที่ลูกเองก็รู้ว่าคงจะเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุผลนั้นมาจากการแสดงกิริยาของลูกผู้สั่นไหวพร้อมกับหลักฐานบางอย่างที่โผล่ขึ้นมาผิดที่ผิดทางจนเป็นชนวนให้พ่อแม่ต้องทำมากกว่าปกป้องลูก นั่นคือกำจัดซะดีกว่า


อย่าไว้ใจคนแปลกหน้าคือสาระแรงๆที่ได้จากเรื่องนี้ในเชิงปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากตัวหนังใช้เวลาไปกับการทรมานหรือทำร้ายร่างกายค่อนข้างนาน ทั้งยังมีการข่มขืนชนิดทำลายพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อันก่อให้เกิดการพรากผู้เยาว์อีกด้วย กระนั้นใจความจริงๆยังคงเป็นหลายๆเรื่องที่ทับซ้อนกันอยู่อย่างการรู้จักใช้สมองกับอารมณ์ หรือใช้สติในการตัดสินใจ แม้แต่มุมมองทางสังคมที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามสภาพของสังคมไปซะทุกคน จากข้างต้นกล่าวได้เห็นชัดกับจัสตินที่ไม่ได้ตามน้ำอย่างพ่อหรือใครในกลุ่มเลย ซ้ำยังรู้สึกหวาดกลัวที่จะทำหรือแม้แต่นั่งดูเฉยๆโดยไม่สามารถห้ามหรือทำให้เรื่องราวยุติลงได้ ส่วนหนึ่งคิดว่าอารมณ์ของผู้ชมไม่น่าต่างไปกับจัสตินทั้งที่ไม่ได้มาร้ายอะไรทว่าผลลัพธ์ได้นำพาไปสู่หายนะของสองสาวได้อย่างไม่ทันตั้งตัวและตั้งใจใดๆทั้งสิ้น เสมือนการนำพามิตรไปหาพาลแล้วพาลก็เล่นงานมิตรยังไงอย่างงั้น ดังนั้นแล้วการที่จัสตินอยู่ในสังคมที่มีความรุนแรงและเสี่ยงไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นแบบนั้นตามไปด้วย ดังที่ว่าในสังคมที่เลวร้ายยังอยู่รอดได้เพราะมีคนดีและกับสังคมที่ดียังมีคนเลวปะปนอยู่ กระนั้นการที่ฝ่ายดีหรือเลวจะขึ้นเป็นใหญ่ได้นั้นขึ้นกับอิทธิพลล้วนๆ

ดูเอาล่ะกันว่าจัสตินไม่ยินดีอะไรกับการกระทำที่แสนเลวร้ายสักอย่างเดียวแต่ลึกๆนึกจะช่วยก็ไม่ได้เพราะถูกความเป็นผู้ใหญ่กดขี่เอาไว้ ซึ่งในที่นี่คือครุกพ่อของเขา ทว่าอิทธิพลอำนาจอะไรนั่นได้แสดงให้เห็นประจักษ์ต่อสายตาแล้วว่ามันเป็นวิถีความอยู่รอดของมนุษย์อย่างหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จต่อการควบคุมให้ฝังลงลึกถึงจิตใจได้เพียงเพราะสภาพแวดล้อม และเมื่อไรที่เจ้าตัวเกิดไม่ตามแวดล้อมนั้นๆจะรู้สึกอยากต่อต้านขึ้นมาทันที ปัญหาอยู่ที่โอกาสได้ระบายนั้นจะมาถึงตอนไหนเท่านั้นเอง ดูอย่างฉากที่จอห์นกับเอ็มม่าแอบเดินเข้าห้องครุกขณะนอนหลับเพื่อหวังจะจัดการให้เบ็ดเสร็จโดยง่าย ทว่ามีจัสตินนั่งดักรออยู่ก่อนพร้อมกับในมือที่มีปืนหนึ่งกระบอกพร้อมยิง ในความเป็นไปได้จัสตินสามารถยิงทิ้งทั้งพ่อแม่มารีได้อย่างสบายๆแต่เลือกจะใช้วิธีบอกนัยๆว่าไม่ขอเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเหล่านี้อีกแล้วด้วยการยื่นปืนกระบอกนั้นให้จอห์นโดยง่ายทั้งที่คนที่กำลังจะโดนฆ่าคือพ่อของเขาแท้ๆ


แต่แล้วอะไรเมื่อสังคมที่ถูกเลี้ยงให้รู้จักช่วยคนต้องกลายเป็นตรงกันข้ามเพื่อฆ่าคนล่ะ ในสังคมที่จัสตินอาศัยแสดงถึงหมู่สังคมคนเลวแต่เขาไม่ใช่ แสดงถึงว่าในที่ร้ายๆยังมีคนดีๆเก็บซ่อนเอาไว้อยู่ ในขณะที่คนดีๆย่อมร้ายได้ราวไม่น่าเชื่อ เช่นบุคคลสองท่านนี้ทั้งจอห์นกับเอ็มม่าที่ดำรงตำแหน่งในฐานะพ่อและแม่ในสิ่งที่หนังสื่อออกมา ทั้งสองต่างรับสภาพเป็นคนในบ้านที่ทำหน้าที่ต้อนรับได้อย่างมีมารยาทสมกับเจ้าบ้านได้อย่างถูกต้องตลอดจนมารับเรื่องสะเทือนใจเมื่อเจอลูกตัวเองในแบบที่ไม่ใช่อย่างที่เห็นหรือรับได้เลย แล้วเรื่องราวก็โยงใยจนเจ้าบ้านรู้ความจริงอันแสนน่าแค้นเข้าให้จนถึงกับขอฆ่าให้ตายซะเลยดีกว่า สำหรับช่วงแรกตัวหนังมีการดำเนินเรื่องแบบให้ไปเจอเรื่องสุดช็อกสะเทือนใจด้วยการทำทารุณกรรมต่างๆนาๆ ซึ่งในจุดนี้ทำให้ผู้ชมรับรู้สิ่งที่ตัวละครเป็นแล้วว่าใครดีใครเลวแค่ไหนกันอย่างเต็มสูบ ไม่มีคำว่าก่ำกึ่งอีกต่อไป แต่แล้วคำว่าก่ำกึ่งก็นำพาไปสู่บทบาทของพ่อและแม่ที่อยากฆ่าเพราะแค้นเป็นการสื่อถึงความสะใจว่าพวกนี้มันสมควรโดนเอาคืนบ้างแล้ว

ในแง่ความบันเทิงอาจเป็นการนำพาสู่ความสะใจได้อย่างเมามันส์ ทั้งความความรุนแรง การกระทำ ตลอดจนวิธีโหดๆเช่นตอนจบท้ายเรื่องด้วยเตาไมโครเวฟ(รับประกันความโหดได้ใจจริงๆ) ทว่าในแง่การเอาเป็นแบบอย่างคงบอกได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ผิดมหันต์ร้ายแรงเมื่อคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ควรเป็นตัวอย่างให้ลูกได้กระทำในเรื่องที่ผิดศีลธรรม โอเคอาจเป็นสถานการณ์บังคับจึงต้องเลยเถิดขนาดนี้แต่มันจำเป็นไหมที่ต้องทำกันรุนแรงเช่นตอนจบด้วย แล้วถ้าเป็นแบบนี้เราจะบอกได้ไหมว่าวิธีแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ถูกหรือผิดเพียงแค่เป็นการกำจัดความชั่วให้หมดๆไป ซ้ำการแบบอย่างเช่นนี้คนเป็นลูกจะรับได้หรือไม่เมื่อคนที่เคารพกลายเป็นคนที่ลงมือลงไม้ได้อย่างไร้ความปราณี หรือบางทีนี่คงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องถามแล้วตอบพยักหน้าเพราะเห็นสภาพก็คิดออกแล้วว่าควรจะทำอย่างไรให้สาสม และเพราะเป็นเช่นนี้จึงไม่แปลกใจอะไรนักถ้าทำไมผู้ชมเริ่มรู้สึกชอบในช่วงหลังของเรื่องที่มีอารมณ์ความบังเอิญตั้งแต่เข้าบ้านพ่อแม่ของคนที่ไปทำร้ายลูก ตลอดจนความจริงเปิดเผยแล้วลงสรุปด้วยการฆ่า อันที่จริงมันเป็นการเสียดสีความรู้สึกนึกอยากของคนเป็นพ่อเป็นแม่ด้วยอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคนที่มาทำร้ายลูกจนลึกๆอยากจะให้คนผู้นั้นตายๆไปซะ


ดูได้จากตามข่าวบางครั้งที่ทำไมในเมื่อคนร้ายถูกจับแล้วยังต้องมุ่งไปทำร้ายคนนั้นอีกแทนที่จะรู้สึกดีใจที่ว่าสมควรโดนจับไปซะดีกว่า เพราะมันง่ายเกินไปสำหรับเรื่องกรรมๆในเมื่อไปทำคนอื่นแรงขนาดนั้นแต่กลายเป็นว่าแค่ถูกจับติดตาราง แต่แล้วมันยังไงต่อล่ะ? ไม่มีอะไรแค่ถูกจำกัดการชีวิตเท่านั้นเองเหรอ?! ทำไมไม่ให้ลองมาโดนเองบ้างล่ะว่าจะได้รู้สึกยังไงกับคนที่ตัวเองทำเอาไว้ ซึ่งแน่นอนว่าเราทำแบบนั้นไม่ได้และต้องทนๆไปในสภาพที่อยากจะเอาคืนบ้าง ในทางกลับกัน The Last House on the Left ได้ตอบสนองในจุดนั้นด้วยการตั้งตนเป็นศาลเตี้ยไปเลย ไม่ต้องคอยใครมาจับกุมไม่ต้องหาหลักฐานหรือให้ปากคำใดๆ แค่ทำให้ผู้นั้นตายก็คือจบคดีความ ดังนั้นนี่คือการตอบสนองในสิ่งที่เป็นได้แค่คิดออกมาเป็นการกระทำจนผู้ชมรู้สึกพอใจและสะใจในช่วงหลังของเรื่อง เพียงปัญหาอยู่ที่ว่ามันถูกต้องและเหมาะสมจริงๆแล้วหรือไม่ คำตอบมันแดงขนาดนี้คงไม่ต้องอธิบายเพิ่ม

ก็ไม่รู้ว่าต้นฉบับเคยสร้างเอาไว้ยังไงบ้างจึงไม่อาจนำไปเปรียบเทียบชัดๆได้แต่เห็นว่าการรีเมคครั้งนี้ทำได้ยอดเยี่ยมกว่าของเดิมหลายเท่า ทว่าความเห็นโดยส่วนตัวคงมาจากยุคสมัยที่แตกต่างกันอย่างหนึ่งถ้านำ I Spit On Your Grave ฉบับปี 1978 กับรีเมคปี 2010 มาเทียบๆกันจะเห็นว่าลดความวิตกสะเทือนใจลงไปพร้อมกับเพิ่มความรุนแรงอันแสนจะซาดิสม์เข้ามามากเพื่อความสะใจโดยเฉพาะ ส่วน The Last House on the Left ฉบับรีเมคคงเป็นเช่นนั้นเหมือนกันเพราะจัดความโหดเหี้ยมได้อย่างไม่เกรงใจเลยในความดิบของเรื่องเป็นอะไรที่พอสมจริงเอาเรื่องอยู่ไม่ใช่น้อยเพราะได้นักแสดงดี ที่ชอบๆคือ Sara Paxton ที่แสดงได้ดีมากในหลายจุดแม้ว่าช่วงหลังจะลดบทบาทลงเพื่อโยนให้ Tony Goldwyn กับ Monica Potter ได้เล่นบทพ่อแม่ทวงแค้นก็ยังแสดงได้ดีไม่ต่างกัน ในขณะที่คนอื่นๆก็ใช่ย่อยทำได้ดีเหมือนกัน ที่สำคัญบรรยากาศยังใช้ได้เหมาะเจาะดีจนเสมือนสถานการณ์บีบบังคับที่ไม่ต้องคิดมากกันแล้วรีบลงมือเถอะ ส่วนการดำเนินเรื่องไปแบบไม่รีบเร่งเพื่อให้รับอรรถรสกับความโหดไปนานๆแบบเต็มอิ่ม ก็นับว่าสนุกระดับหนึ่งในความสะใจและความดิบโหดที่ตัวหนังถ่ายทอดกันแบบแรงได้ใจ จะติดที่เนื้อหาสาระที่สรุปจนไม่น่าเป็นแบบอย่างได้เลย แต่ถ้าดูเอาสะใจหวังมันส์โหดๆเลือดคลั่งนับเป็นคำตอบที่ดีในหมู่คอหนังสยองขวัญอีกเรื่อง แล้วสาระที่ดีคืออย่าไว้ใจคนแปลกหน้า ประเด็นนี่แหละที่ต้องระวังกันอย่างแรงเลยล่ะ


รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)