Godzilla x Mothra x Mechagodzilla: Tokyo SOS (2003) ก็อดซิลลา ศึกสุดยอดจอมอสูร

Godzilla x Mothra x Mechagodzilla: Tokyo SOS (2003)
ก็อดซิลลา ศึกสุดยอดจอมอสูร
Director: Masaaki Tezuka
Genres: Action | Adventure | Fantasy | Sci-Fi | Thriller

เกือบๆเป็นภาคสุดท้ายของก็อตซิลล่าที่ถ้าไม่มีภาค Godzilla: Final Wars (2004) มาต่อจะกลายเป็นภาคสุดท้ายของรุ่นนี้ไปจริงๆ ด้วยการดำเนินเรื่องที่สานต่อจากภาค Godzilla Against MechaGodzilla (2002) ที่คิริวบาดเจ็บสาหัสไปกว่าครึ่งจนต้องได้รับการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนให้กลับมาทันเวลาก็อตซิลล่าบุกในครั้งต่อไป ทว่าเกิดมีสัตว์ประหลาดม็อททร่ามาบุกโตเกียวพร้อมวัตถุประสงค์ข้อเรียกร้องบางอย่างเกี่ยวกับก็อตซิลล่าและคิริวที่เกี่ยวพันกันในเรื่องของกระดูกก็อตซิลล่าตัวแรกที่อยู่ตัวหุ่นคิริวที่ใช้เป็นเค้าโครงร่างกาย เนื่องจากกระดูกดังกล่าวเป็นการกระที่ไม่ควรจากการนำสิ่งที่ตายไปแล้วกลับมาใช้ ซ้ำยังจะเป็นปัญหาที่จะทำให้ก็อตซิลล่าไม่หยุดอาละวาดง่ายๆ ดังนั้นสองสาวควบคุมม็อททร่าจึงมาขอร้องให้นำคิริวไปไว้ใต้ก้นทะเลตามเดิม ทว่าก็อตซิลล่าที่บาดเจ็บมีรอยแผลตรงอกได้โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำอีกครั้งที่โตเกียวจนเป็นเหตุให้ต้องส่งคิริวออกไปต่อสู้ ซึ่งคิริวเองยังไม่สมบูรณ์พร้อมรบเต็มที่อยู่ก่อน ฉะนั้นม็อททร่าจึงต้องออกศึกเข้าสู้กับศึกครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แค่มอธร่ากับคิริวแค่นั้นที่ต้องลำบากในการต่อกรกับก็อตซิลล่าเพราะยังรวมถึงการเลือกแล้วว่าจะปล่อยไม้ตายสุดท้ายหุ่นคิริวของตัวเองทิ้งไปกับก็อตซิลล่าได้หรือไม่


บางคนออกอาการสงสัยเกี่ยวกับสัตว์นอกสารระบบที่ไม่ได้นัดแนะว่าจะเจอในเรื่องนี้กับเต่ายักษ์ที่มานอนเกยตื้นริมทะเลด้วยสภาพที่ตายแล้วพร้อมบาดแผลสาหัสตรงคอที่โดนกัด ซึ่งคาดเอาเองจากสิ่งที่ตัวละครพูดว่าน่าจะเป็นฝีมือก็อตซิลล่าคงไม่ผิด โดยเจ้าตัวยักษ์ดังกล่าวมาจากเรื่อง Yog: Monster from Space (1970) ที่ถ้าใครได้มีโอกาสได้ดูทันคงนึกออกกับเจ้าปลาหมึกยักษ์ที่เดินได้ด้วยหมวดแบบไม่ต้องสงสัยกันเลยว่าเป็นคนส่วมชุดอยู่ข้างในแล้วใช้เท้าเดิน(มันคงขยับด้วยหนวดทีละเส้นไม่ได้ถ้าไม่ใช่เพราะขาของนักแสดงกับทีมงานที่ต้องการให้ออกมาดูมีชีวิต แม้หน้าตาของเจ้าหมึกยักษ์ตัวนี้ไม่ต่างอะไรกับตุ๊กตาไร้ชีวิตเพราะตาของมัน) สำหรับเจ้าตัวนี้ไม่มีบทบาทอะไรมากมายนอกจากมาเป็นตัวความเห็นอย่างหนึ่งเกี่ยวกับก็อตซิลล่าในภาคนี้ที่กำลังบ่งบอกว่าเป็นตัวร้ายอย่างเต็มสูบไม่ต่างจากเนื้อหาในภาคก่อนหน้านี้ที่สรรหาหุ่นเหล็กมาจัดการก็อตซิลล่าเพราะมองว่าเป็นสัตว์ประหลาดแสนดุร้ายที่จ้องทำลายบ้านเมืองไม่เว้นแต่ละครั้งที่ขึ้นจากน้ำ หรือจะบนน้ำที่ทำลายเรือรบเป็นว่าเล่น แต่ด้วยระยะหลังการปรากฏกายของสัตว์ประหลาดตัวอื่นที่อยากทำลายบ้านเมืองก็หายไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดทางสู้ศึกระหว่างก็อตซิลล่ากับก็อตซิลล่าเหล็กหรืออีกนามว่าคิริว(ดัดแปลงมาจากกระดูกก็อตซิลล่าตัวแรกที่ตายไปใน Godzilla (1954) ด้วยระเบิดออกซิเจนจนเหลือแต่กระดูกกองอยู่ใต้มหาสมุทร) ซึ่งจะว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งของเนื้อหาภาคนี้ที่วกกลับไปหาตัวเองในภาคแรกที่เหมือนจะสะท้อนตัวตนบางอย่างออกมาด้วยการขยายเรื่องราวที่เป็นมากกว่าเข้าหาเรื่องสู้อย่างเดียวอย่างภาคที่แล้ว


ด้วยการเปิดเรื่องแบบก่ำกึ่งว่ามีสัตว์ประหลาดตัวใดโผล่มาจากฟากฟ้าทำให้อดคิดไม่ได้ว่าฝ่ายธรรมมะจะมาช่วยอีกแรงล่ะสินะ เหตุที่รู้ว่าเป็นฝ่ายดีเพราะมาจากเรื่องของเสียงกับลีลาการบินที่พอเห็นปีกก็รู้ทันทีว่าเป็นม็อททร่าผีเสื้อยักษ์ที่เป็นถึงเทพเจ้าแห่งท้องทะเล โดยการมาในครั้งนี้คล้ายต้องการส่งสารความจริงบางอย่างที่ไม่มีใครสังเกตในการสร้างคิริวจากกระดูกก็อตซิลล่าตัวเก่าเพื่อสร้างโครงคิริวขึ้นมา ด้วยการทักห้ามสร้างคิริวต่อแต่นำของที่นำมาไปไว้อย่างเดิม แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือการย้อนประเด็นตีความกลับไปหาสิ่งที่ตัวเองได้สร้างเอาไว้ในเรื่องเกี่ยวกับสงคราม ซึ่งอย่างที่รู้กันดีในภาคแรกว่าก็อตซิลล่าถือกำเนิดจากนิวเคลียร์ และในครั้งนั้นก็อตซิลล่าภาคแรกได้กระทำสร้างขึ้นเพื่อกระทบจิตใจชาวญี่ปุ่นเข้าอย่างจัง ด้วยการเสนอข้อเสนอนัยยะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิม่าและนางาซากิจนราบเป็นหน้ากอง โดยก็อตซิลล่าเปรียบดังอเมริกาที่มาถล่มญี่ปุ่น และในครั้งนั้นยังเป็นที่น่าถกเถียงกับพลังงานนิวเคลียร์ที่ส่งผ่านตัวก็อตซิลล่าในเชิงแง่การทำลาย ด้วยความเลวร้ายที่หยิบเอานิวเคลียร์มาใช้จึงไม่ต่างอะไรกับการที่ว่าหนังเรื่องนี้ถูกสร้างให้เกิดเรื่องต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์

กับสิ่งที่เนื้อเรื่องภาคนี้ต้องการมากที่สุดคงไม่พ้นการทำให้รื้อฟื้นความหลังเก่าๆจากภาคแรกที่เสนอนัยยะตัวก็อตซิลล่าที่เสมือนบาดแผลรอยใหญ่กับชาวญี่ปุ่นมามากนักต่อนัก ด้วยการหาข้อยุติเรื่องราวผ่านตัวคิริวที่หาวิธีการยุติด้วยการไม่ใช้กำลัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคิริวก็เสมือนตัวแทนของชาวญี่ปุ่นที่ไม่ยอมพ่ายแพ้อะไรง่ายๆเฉกเช่นในสงครามโลกจนต้องเป็นฝ่ายสูญเสียซะเอง และเช่นกันที่ผลออกมาจะเป็นแบบนั้นคือการเสียสูญทั้งสองอย่างไปทั้งก็อตซิลล่าและคิริว ส่วนจะยังไงนั้นต้องเริ่มตั้งคำถามกับชาวโลกสักหน่อยแล้วว่าการนำคนตายที่น่าสงบกับชีวิตหลังความตายคือหนทางแก้ไขที่ดีแล้วอย่างนั้นหรือ


ในภาคก่อนอาจจะนำมาเพื่อสร้างคิริวให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อจัดการก็อตซิลล่า แต่ด้วยครั้งนี้มีทิศทางแตกต่างไปจากเดิมทำให้น้ำหนักที่ว่าภาคที่แล้วทำสนุกจึงได้ดิบได้ดีกว่าในส่วนแอ็คชั่น ในขณะที่ภาคนี้เสนอมุมมองย้อนกลับตัวเองซะมาก(และบางจังหวะเกิดไปขัดกับฉากแอ็คชั่นต่อสู้จนออกมาไม่มันส์อย่างภาคก่อน) ซึ่งทำให้ผู้ชมเกิดอาการร่ำไร่กับคิริวในใจบางส่วนแล้วว่าอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้เห็นหุ่นยนต์ยักษ์หน้าตาเหมือนก็อตซิลล่าตัวนี้

ไม่ใช่ว่าจะย้อนรอยแค่ตัวก็อตซิลล่าเท่านั้นแต่ยังรวมถึงบทบาทของม็อททร่าผ่าน ดร.ชินอิจิ (Hiroshi Koizumi) ที่เคยประสบพบม็อททร่ามาแล้วเมื่อ Mothra vs. Godzilla (1964) ซึ่งดูเหมือนว่าภาคนี้จะให้ความสำคัญกับเนื้อหาเป็นหลักมากกว่าปล่อยให้ดูการต่อสู้กันจนผิวเผินเป็นว่ามีหลายอย่างที่ไม่มีแรงจูงใจทำคะแนนในส่วนแอ็คชั่นมากพอ แต่อีกแง่ก็คือเป็นมุมมองที่สนุกพอตัวเพราะต่างผ่านศึกหนักหน่วงมาก่อนในภาคที่แล้ว ภาคนี้จึงสู้แบบเหนื่อยๆเชิงปล่อยกันเต็มที่ อย่างม็อททร่าที่งัดท่าไม้ตายออกมาเร็วเกินกว่าที่คิดก่อนจะมีเซอร์ไพรส์ที่หลายคนน้อยนักจะเห็นในภาคก่อนๆ คือลูกของม็อททร่าที่ฟักออกจากไข่ที่มีถึง 2 ตัวด้วยกัน ใช่แล้วภาคนี้เราจะได้เห็นหนอนว่ายน้ำมาโตเกียวเพื่อช่วยแม่ของมันด้วยความรักอย่างแรงกล้า ก็นับเป็นอีกมุมมองที่ไม่ค่อยพบเห็นม็อททร่าในร่างหนอนออกต่อสู้ เพราะปกติในเรื่องส่วนใหญ่ก็ต้องกลายเป็นผีเสื้อในท้ายที่สุดซึ่งนี่เปล่าเลย แต่ก็เห็นจากสีตาที่เปลี่ยนไปจากสีน้ำเงินเป็นสีแดงที่กำลังบอกได้ว่าโมโหจะเอาจริงแล้ว โดยแน่นอนอีกว่าในร่างหนอนย่อมสู้ก็อตซิลล่าไม่ได้เพราะยังมีร่างกายที่อ่อนและท่าก็มีเพียงแค่พ้นใยเท่านั้น ซึ่งด้วยความพยายามที่จะสู้นี่ทำให้เราเห็นว่าสัตว์ประหลาดพวกนี้ก็ยังมีความรักอยู่เสมอต่อให้ต้องลุยน้ำลุยไฟยังไปหาได้ และบทบาทของม็อททร่าย่อมหนีไม่พ้นสาวๆทั้งสองที่ทำหน้าที่ดูแลม็อททร่าอย่างใกล้ชิดที่ได้นักแสดง Masami Nagasawa และ Chihiro Otsuka มาบรรเลงขับร้องเพลงม็อททร่าให้ฟังเช่นเคยจนเป็นคอนเซ็ปต์ประจำที่หาได้แทบทุกภาคเมื่อมีสองสาวผู้พิทักษ์ม็อททร่า น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีบทบาทให้พวกเธอเห็นหน้าเห็นตาเท่าไหร่นัก อาจเพราะเป็นนางฟ้าตัวเล็กด้วยแหละจึงมองยาก แต่ตอนร้องเพลงทำได้ดีในฉากหลังเป็นจุดผ่อนคลายเรื่องได้ขณะหนึ่งเลยทีเดียว


ในเรื่องยังมีตัวเอกสำคัญอีกคนคือโยชิโตะที่เล่นโดย Noboru Kaneko (ลักษณะหน้าคุ้นๆเหมือนเคยเจอในขบวนการห้าสีกาโอเรนเจอร์ ใช่ที่เล่นเป็นสีแดงหรือเปล่า) โดยจะเป็นตัวละครที่มีความผูกพันกับคิริวในฐานะคนสร้างหุ่นจนไม่อยากปล่อยให้ออกไปสู้ทั้งยังไม่พร้อม ซึ่งในเรื่องเราจะได้เห็นความสัมพันธ์กับคิริวที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆขนาดคิริวเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ชั่วขณะยังอุตส่าห์ลุยดี่ยวเข้าไปข้างในตัวคิริวเพื่อซ่อมให้ใช้งานได้ แง่การแสดงสีหน้าดูอารมณ์หนักไปทางญี่ปุ่นที่เน้นความรู้สึกลึกๆมากกว่าใบหน้าจึงดูมีมิติพอตัวกับตัวละครนี้ จะบอกว่าเจ็บที่อยู่ข้างในมันลึกซึ้งมากกว่าสีหน้าเสียอีก พอพูดถึงคิริวทำให้นึกถึงภาคที่แล้วที่ได้คนขับคิริวอย่างอากาเนะ (Yumiko Shaku) มาเป็นคนควบคุมสู้ก็อตซิลล่าได้ดุเดือดอย่างมากจนกลายเป็นภาคที่ระดมแอ็คชั่นได้มันส์ไปเลย และในตอนท้ายเรื่องต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บหนักกันทั้งคู่จนเรื่องราวต้องจบลงที่ฝ่ายก็อตซิลล่ายังมีชีวิตต่อไปและคิริวพังจนใช้การไม่ได้พร้อมกับสายตาอากาเนะที่ยังคงไม่หวั่นไหวในศึกครั้งนี้ น่าเสียดายที่ภาคนี้ถูกลดบทบาทจนเป็นได้แค่ตัวประกอบของเรื่องแล้วก็ไม่ได้เป็นคนขับคิริว จึงแอบผิดหวังตรงนี้ที่น่าจะใช้ตัวละครเดิมจะคุ้มค่ากว่าเพราะมิติตัวละครถูกถ่ายทอดมาสมเหตุสมผลดีแล้ว แต่นั่นก็ยังมีบทพูดออกมาในทำนองที่เบื่อการต่อสู้ที่บอกว่า"บางทีคิริวไม่อยากต่อสู้อีกแล้วก็ได้" ไม่ใช่ว่าอากาเนะจะยอมแพ้และตัดใจแค่ต้องการบอกถึงสิ่งที่คิริวเป็นว่าเกินจะรับไหวจากอาการบาดเจ็บที่เป็นมากกว่าเครื่องยนต์พัง เพราะมันเป็นจิตสำนึกที่เราไปควบคุมคิริวมากเกินไป และคิริวเองก็เป็นดั่งต้นตระกูลก็อตซิลล่าในอีกมุมมองหนึ่งที่ยอมรับการตายอย่างสงบใต้ทะเล


ในทางพวกเอฟเฟคต่างๆยังคงรักษามาตรฐานตัวเองไว้เช่นเคย ถึงยุคสมัยของ CGI จะเพิ่มมากขึ้นแค่ไหนตัวตนของก็อตซิลล่าและสัตว์ประหลาดตัวอื่นๆยังคงเป็นชุดให้นักแสดงส่วมบทบาท บ้างอาจจะว่าเก่าจนล้าสมัยและเชยเอามากๆ แต่เคยคิดไว้ไหมล่ะว่าอะไรคือเครื่องหมายของชีวิตก็อตซิลล่าที่สามารถขยับไปมาได้ยังไง ก็อตซิลล่าเองยังเป็นตัวแทนในหลายๆสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นแค่ตัวร้ายที่ไล่เหยียบเมืองแต่มันก็เคยมีวีรกรรมกู้โลกไม่ต่างกับการดำรงชีวิตของชาวญี่ปุ่นหรือจะทั้งโลกที่ต่างมีมุมที่เลวร้ายและดีของตัวเอง ดังนั้นสัตว์ประหลาดตัวอื่นๆก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเวทีสู้กับก็อตซิลล่าเฉยๆ เพียงต่างมีความหมายของตัวเองทั้งสิ้น เฉกเช่นม็อททร่าที่เปรียบกับความสงบสุขของโลกที่ต้องการรักษาวงจรผู้ที่ตายไปแล้วให้อยู่อย่างสงบของโลกของคนตาย ทั้งยังหนอนที่เป็นลูกของม็อททร่าที่เป็นตัวแทนแห่งการต่อต้านหรือยุติ ซึ่งเราจะเห็นได้จากการต่อสู้ที่ไม่ได้กระทำเพราะจำเป็นเพียงเป็นการปกป้องแม่ของตัวเอง และใยที่พ้นออกมาคือการห้ามหรือยุติให้จบลง่วนคิริวมีความหมายในสองแง่ที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่าอย่างแรกคือตัวแทนเสียงของชาวญี่ปุ่นที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำจัดภัย(ในที่นี่คือก็อตซิลล่า) อีกแง่หนึ่งคือการนำความริเริ่มไปสู่จุดจบ

ในเรื่องการนำพาริเริ่มคือสร้างคิริวด้วยกระดูกก็อตซิลล่า ในทางจุดจบคือการนำตัวเองสู่ข้อยุติเรื่องราวด้วยตัวเอง โดยเราจะเห็นในทางเรื่องที่คิริวปล่อยจิตสำนึกของตัวเองออกมาจนไม่สามารถถูกควบคุมได้อีกต่อไป และเพื่อการนั้นแล้วคิริวกับก็อตซิลล่าต่างมุ่งตรงไปที่ก้นทะเลทั้งคู่ในท้ายที่สุด โดยเราไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป แต่สำหรับคิริวนี่เป็นสิ่งที่ปรารถนามากที่สุดในการไปหาที่ๆควรจะไป ส่วนที่ต้องจับก็อตซิลล่าไปด้วยนั้นแสดงถึงความหาข้อยุติโดยเร็ว ก็อตซิลล่าตัวแรกยอมรับการพ่ายแพ้ ส่วนก็อตซิลล่าที่ยังมีชีวิตอยู่นี่ยังอาละวาดต่อไปด้วยจิตสำนึกเก่า จะว่าไปแล้วบางทีคิริวอยากทำให้จบเรื่องจบราวเพื่อความสงบสุขของโลกคนเป็นและคนตายก็เป็นได้


แม้จะรู้สึกได้ไม่เต็มในอารมณ์หลายด้าน แต่ก็อดคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างก็อตซิลล่ากับคิริวไม่ได้ว่ามีนัยยะสื่ออะไรมาบ้าง ซึ่งในภาคนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างต้องทำความเข้าใจสักเล็กน้อยจึงจะพอรู้ว่าทำไมคิริวที่เป็นเครื่องจักรจึงมีชีวิตขึ้นมาเองได้ พร้อมทั้งเราตัวละครที่มากับการห้ามเรื่องของคิริวที่ทั้งคราวก่อนยังสู้ได้สูสีกับก็อตซิลล่าจนเกือบเอาชนะได้ จะว่าไปก็อตซิลล่าในภาคนี้เป็นไตรภาคที่ 3 หรือก็อตซิลล่าตัวที่ 3 จึงจะถูกเพราะเดิมทีนั้นภาคแรกก็อตซิลล่าก็ตายไปแล้ว พอมีภาคต่อจึงได้ก็อตซิลล่าตัวที่ 2 ที่อยู่ยาวนานนับตั้แต่ภาค Godzilla Raids Again (1955) จน Godzilla vs. Destroyah (1995) ในภาคสุดท้ายของรุ่นที่ 2 นั่นเองที่ได้ถือกำเนิดรุ่นที่ 3 ที่เกิดเป็นว่ามีความดุร้ายมากกว่าภาคก่อนอย่างมากจนมีอยู่ภาคที่เกิดสติหลุดคลุ่มคลั่งในภาค Godzilla, Mothra and King Ghidorah: Giant Monsters All-Out Attack (2001) จนกลายเป็นตัวร้ายเต็มร้อยทั้งร้อย และต่อมาก็ได้เจอกับหุ่นคิริวในที่สุด

Godzilla x Mothra x Mechagodzilla: Tokyo SOS จัดว่าเป็นอีกหนึ่งภาคที่ดูสนุกพร้อมกับการดำเนินเรื่องที่เป็นไปอย่างลื่นไหล ไม่อืดเกินไป มีการย้อนรอยเรื่องอดีตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แม้จะไม่รู้สึกอิ่มเท่าไหร่ในฉากต่อสู้แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่ตัวหนังต้องการจะสื่อบางทีสิ่งนั้นยังสำคัญกว่าเห็นสัตว์ประหลาดสู้เป็นตายเพียงอย่างเดียว

รูปภาพของฉัน
เกิดปี 2538 (1995) แค่คนที่เรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ แต่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ที่เขียนรีวิวเพราะอยากแบ่งปันความรู้สึกที่ตัวเองมีให้อ่าน และกำลังทำช่อง YouTube เกี่ยวกับหนังสือ(การ์ตูนเป็นหลัก)